Skip to main content
sharethis

รายงานบทสัมภาษณ์ อำไพ วิวัฒนสถาปัตย์ ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย และอัสริน แก้วประดับ เจ้าหน้าที่โครงการโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ และผู้ประสานงานสาขาการบินของสหพันธ์แรงงาน (ITF London) ต่อสถานการณ์แรงงานยุคโควิดสู่รากปัญหาการจ้างงานไม่มั่นคงในการบินไทย:  กรณีพนักงานวิงสแปนเซอร์วิสเซส

ภาพเครื่องบินของการบินไทย (ที่มาภาพวิกิพีเดีย)

  • คนงานเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงมากกว่าใครในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา คือการถูกสั่งให้หยุดงาน ตกงาน ขาดรายได้ไปจนถึงการจบชีวิตตัวเอง
  • การจ้างงานเหมาช่วงเป็นการจ้างงานไม่มั่นคงทำให้สถานะความเป็นอยู่ของแรงงานสั่นคลอนในยามวิกฤต

สถานะเปราะบางของแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปรากฎข่าวผู้ใช้แรงงานฆ่าตัวตายหลายสิบคน หนึ่งในนั้นคือ ลลิต ณรงค์หนู พนักงานหญิงของบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด (Wingspan Services) ฝ่ายการโดยสารของการบินไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เธออายุเพียง 24 ปี กระโดดจากห้องพักคอนโดมิเนียมชั้น 7 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ในช่วงหยุดงานชั่วคราวของบริษัทด้วยเหตุสุดวิสัยจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งบริษัทกำหนดหยุดงานตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 ทั้งนี้ประกอบกับเธอมีปัญหาส่วนตัวพ่วงด้วย จากรายงานข่าวระบุว่าเธอเลิกกับแฟนเพียง 1 เดือนและพักอยู่ในห้องลำพัง แต่ในสถานการณ์ตึงเครียดนี้ ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง

เหตุการณ์นี้ทำให้เพื่อนพนักงานต่างตกใจและเศร้าใจ โดยสภาพการณ์แล้วพนักงานหลายคนมีความเครียดจากการไม่มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย มีการกล่าวตัดพ้อผู้บริหารทางสื่อสังคมออนไลน์บนหน้าเฟซบุ๊กของสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทยว่า

“ยามเฟื่องฟูเราทำงานให้เต็มที่ ยามเกิดสภาวะวิกฤต คุณกลับมองว่าเราเป็นคนอื่น ไม่สนใจ ไม่ถามสารทุกข์สุกดิบ....”

เมื่อสอบถาม อำไพ วิวัฒนสถาปัตย์ ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทยต่อกรณีนี้ พบว่า ลลิตเป็นพนักงานกลุ่ม CSA (Customers Service Agent) ซึ่งในกลุ่มนี้ พนักงานส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจบใหม่มีความรู้ความสามารถด้านภาษา หลายต่อหลายคนเดินทางมาจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่สุดท้ายตกอยู่ในสภาพถูกเลิกจ้าง ได้รับผลกระทบจากโควิด กอปรกับมีภาระหนักอึ้ง เช่น ค่าหอพัก ค่าบัตรเครดิต เงินส่งกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ไม่เพียงลลิตคนเดียวแต่มีอีกหลายต่อหลายคนที่อยู่ในสภาพการณ์เช่นนี้

อำไพ วิวัฒนสถาปัตย์ ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย

จากคำบอกเล่าของอำไพ ล่าสุดเกิดกรณีคล้ายคลึงกันคือ พนักงานคนหนึ่งกำลังมีอาการเครียด ซึมเศร้าและอยากจบชีวิตตัวเองเช่นเดียวกับลลิต เพราะคาดหวังในการทํางานสูงมาก ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและเปราะบางเช่นนี้ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป อำไพยังกังวลด้วยว่า สถานการณ์ของพนักงานจะแย่ลงอีกเพราะจะมีการเลิกจ้างพนักงานบริษัทในเครือของการบินไทย ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการจากการขาดทุนมหาศาลติดต่อกัน รวมทั้งการเลิกจ้างพนักงานสายการบินแห่งอื่นด้วย หลังจากสัมภาษณ์อำไพ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีหนังสือเลิกจ้างถึงพนักงานวิงสแปนที่มีอายุงานไม่ถึง 1 ปี จำนวน 896 คน เป็นการเลิกจ้างย้อนหลัง 2 เดือนซึ่งทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิ และต่างเป็นกังวลในเรื่องค่าชดเชย

แม้ผู้บริหารของบริษัทวิงสแปนฯ จะสมทบเงินช่วยเหลือแก่พนักงานในช่วงหยุดงานชั่วคราว 13% เพื่อให้ครบ 75% ของค่าจ้างพื้นฐาน โดยพนักงานต้องไปลงทะเบียนขอเงินทดแทนว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม จำนวน 62% ไม่เพียงพอในการดำรงชีพอย่างแน่นอน เพราะโดยปกติแล้ว พนักงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานรายวัน อยู่ได้เพราะการทำงานโอที มีรายได้แตกต่างจากพนักงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยอย่างมาก จึงเป็นกลุ่มแรงงานเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการหยุดงานของบริษัทฯ และเสี่ยงถูกเลิกจ้างเพิ่มอีกในอนาคต

พนักงานเหมาช่วงกับการจ้างงานไม่มั่นคง

พนักงานหนุ่มสาวแต่งตัวสวยหล่อประจำเคาน์เตอร์เช็คอิน ในความเป็นจริงเป็นพนักงานจากวิงสแปนซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทการบินไทย ที่มีรายได้ไม่มาก ทำงานหนัก มีความรับผิดชอบสูง

พนักงานที่ทำงานให้แก่การบินไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 30,000 คน แต่ในจำนวนนี้เป็นพนักงานจากบริษัทลูกและบริษัทเหมาช่วง (Outsource) รวมกันแล้วประมาณ 10,000 คน ในส่วนของบริษัทวิงสแปน การบินไทยถือหุ้นอยู่ 49% ที่เหลือถือหุ้นโดยภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทครัวการบินภูเก็ต (ซึ่งการบินไทยถือหุ้น 30%, การท่าอากาศยานไทย, กลุ่มบริษัทเพิร์ลภูเก็ต)

วิงสแปนฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2553 จากการที่การบินไทยจ้างบริษัทเหมาช่วงมากเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดี มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีบางบริษัทรับเงินแล้วไม่มาจ่ายลูกจ้าง ทำให้เกิดการฟ้องร้อง สุดท้ายการบินไทยต้องรับผิดชอบ จึงคิดว่าการตั้งวิงสแปนฯ จะช่วยเป็นที่รวมของกำลังคนที่มีทักษะฝีมือให้แก่การบินไทยซึ่งทำธุรกิจหลายอย่าง

พนักงานที่ทำงานในการบินไทยจะสวมเครื่องแบบของสายการบินไทย ที่หากเราไม่สังเกตบัตรที่ซ่อนไว้ด้านหลังของพนักงาน จะไม่ทราบเลยว่า พวกเขาไม่ได้เป็นพนักงานของสายการบินแห่งชาตินี้ ด้วยเครื่องแบบที่พวกเขาใส่นั้นทำให้พนักงานภูมิใจเป็นอย่างมาก และวาดฝันว่าวันหนึ่งจะได้เป็นพนักงานการบินไทยตัวจริง แต่บริษัทมองไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ

วิงสแปนฯ สามารถจัดหากำลังแรงงานให้การบินไทยได้ประมาณ 5,000 คน ทำงานในฝ่ายครัวการบินที่สุวรรณภูมิและดอนเมือง ฝ่ายบริการภาคพื้นที่สุวรรณภูมิ ภูเก็ตและกระบี่ ฝ่ายช่างที่ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ฝ่ายคลังสินค้า (cargo) ฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้นที่สุวรรณภูมิและภูเก็ต สายการบินไทยสไมล์ พนักงานอ๊อฟฟิศ แต่เมื่อปีสองปีที่ผ่านมาวิงสแปนต้องประมูลแข่งกับบริษัทเหมาช่วงรายอื่นทั้งที่เป็นบริษัทลูก เพราะการก่อตั้งวิงสแปนมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนด้านบุคลากรอยู่แล้ว หากเทียบกับวิงสแปนบริษัทเหมาช่วงเหล่านั้นจ้างงานแย่กว่า พนักงานทำสัญญาจ้างระยะสั้น 1 ปี บางคนทำงานในการบินไทยมากว่า 20 ปี วนเวียนอยู่ในบริษัทเหมาช่วงมากว่า 10 บริษัท ท้ายสุดก็ได้มาอยู่ที่วิงสแปนฯ เพราะมีสภาพการจ้างดีกว่าและจะมีการผลักดันให้เป็นพนักงานรายเดือน 

กล่าวคือ ในมุมของคณะกรรมการบริษัทการบินไทย โดยมติ EMM การก่อตั้งบริษัทวิงสแปนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของการบินไทย ไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไร พนักงานจะได้รับสวัสดิการตามกฎหมายแรงงาน รวมทั้ง ต้องการลดต้นทุนด้านบุคลากรในระยะยาว เพื่อให้เกิดความคล่องตัวสอดคล้องกับแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กร โดยเน้นยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคล มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างความสำเร็จให้การบินไทย สร้างศักยภาพในการแข่งขันระยะยาว ดังนั้น การให้บริการของวิงสแปน มีดังนี้

  • เป็นลักษณะงานให้บริการที่ต้องมีความเชี่ยวชาญ ผ่านการอบรมเฉพาะด้าน
  • เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะด้าน เช่น ด้านบริการ
  • ต้องการเฉพาะบุคลากรที่มีอายุน้อย สภาพร่างกายพร้อมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยไม่มีอัตราการลาออกสูง
  • เป็นงานที่ต้องการจ้างในระยะยาว จ่ายค่าตอบแทนสูง มีความก้าวหน้าในอาชีพ
  • งานที่จ้างแรงงานภายนอก ทำอยู่ในปัจจุบันแล้วไม่เป็นผลดีต่อการบินไทย
  • ต้องการพนักงานที่ติดต่อบริการลูกค้าโดยตรง

แต่สิ่งที่เป็นอยู่คือ มีการจ้างรายวัน จ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เริ่มต้นที่ 331 บาท หากทำงานมาเป็นเวลาหลายปี ค่าจ้างจะถูกปรับขึ้นเป็น 410 บาท เงินเดือนขั้นต่ำในบางแผนกอยู่ระหว่าง 11,000-12,000 บาท พนักงานเช็คอินมีเงินเดือนประมาณ 15,000 บาท ผู้ประสานงานดูแลพนักงานส่วนต่าง ๆ มีเงินเดือนประมาณ 9,000 บาท พนักงานออฟฟิศ 10,000 บาทขึ้นไป 

สวัสดิการได้แก่ ประกันสังคม อุปกรณ์ความปลอดภัย (PPE) ชุดยูนิฟอร์ม สิทธิลาป่วย 30 วัน ลาพักร้อน 6-12 วันแตกต่างตามอายุงาน ลากิจ 5 วัน โดยได้รับค่าจ้าง วันหยุดตามประเพณี 15 วัน เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของฝ่ายนายจ้าง 2% ค่ากะ ค่าเดินทาง แต่ไม่มีโบนัส

กรณีตัวอย่าง อำไพทำงานในฝ่ายครัวการบินสุวรรณภูมิ แผนกตัดแต่งผลไม้ มาเป็นเวลา 8 ปีเป็นพนักงานรายวัน ไม่ได้สวัสดิการเช่นเดียวกับพนักงานรัฐวิสาหกิจ หากไม่ทำงานจะไม่ได้เงิน (no work no pay) ทั้งที่ลักษณะงานเหมือนกัน วันทำงาน 5 วัน วันหยุด 2 วัน คือวันจันทร์และอังคาร การทำงานทั้งหมดแบ่งเป็น 3 กะ คือ กะเช้า บ่ายและดึก การบินไทยมีหนังสือแจ้งให้บริษัทวิงสแปนงดส่งแรงงานชั่วคราว ตั้งแต่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 มาจากการที่การบินไทยยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด ทำให้วิงสแปนขาดรายได้ จึงอาศัยกฎกระทรวงเรื่องการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งกระทรวงแรงงานประกาศเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ให้พนักงานไปรับเงินทดแทนว่างงาน 62% ของค่าจ้างพื้นฐาน แต่ก่อนจะใช้มาตรการชดเชยของกระทรวงแรงงานนี้ บริษัทฯ ได้แจ้งให้พนักงานว่าจะจ่ายเงินเดือนในอัตรา 75% ท้ายสุดยกเลิกและหันมาใช้กองทุนเงินทดแทนดังกล่าว

การสร้างอำนาจต่อรองของพนักงานเหมาช่วงในนามสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ฯ

แม้พนักงานบริษัทลูกจะทำงานประเภทเดียวกันกับพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่มีรายได้แตกต่างกันมาก มีความเหลื่อมล้ำภายในระหว่างพนักงานสองประเภทนี้ ซ้ำมีการกลั่นแกล้ง ย้ายงานเพื่อให้บริษัทเหมาช่วงรายอื่นเข้ามาทำแทน เช่นกรณีอำไพ สหภาพแรงงานจึงจำเป็นต้องจัดตั้งเพื่อผลักดันให้พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ภาพเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 ตัวแทนสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ฯเข้าเจรจาข้อเรียกร้อง ครั้งที่ 2 กับฝ่ายนายจ้างบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด

พนักงานวิงสแปนจำนวนมากทำงานให้กับการบินไทย แต่สภาพการจ้างเป็นเหมาช่วงมาเกือบทั้งชีวิต หลายคนทำงานมากว่า 25 ปี ไม่เคยได้รับการบรรจุ ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้คือมือ-เท้า เป็นกำลังแรงงานสำคัญของการบินไทย แม้แต่คนในการบินไทยเองยังบอกว่า ถ้าไม่มีคนงานเหมาช่วง พวกเขาแย่แน่ ๆ ต้องล้างครัวล้างห้องน้ำ ทำความสะอาด ซึ่งเป็นงานที่พวกเขาไม่เคยทำกันมาก่อน เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา งานเหล่านี้ทำโดยคนงานเหมาช่วงทั้งสิ้น คนทำงานการบินไทยที่อายุมาก ไม่มีการรับพนักงานประจำเพิ่ม รับแต่เหมาช่วง ดังนั้น ความสำคัญของเหมาช่วง 10,000 คนจากบริษัทเหมาช่วงจึงเป็นกำลังหลักของการบินไทย

การจัดตั้งสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ฯ จึงเกิดขึ้นด้วยสภาพการณ์ข้างต้น เริ่มจากพนักงานขับรถแทร็กเตอร์ลากจูงในสนามบิน (แผนก 2TP) ซึ่งเป็นพนักงานเหมาช่วงหรือลูกจ้างรายวัน ถูกถ่ายโอนมาเป็นพนักงานวิงสแปนฯ ในช่วงที่มีการก่อตั้งบริษัท ผู้บริหารขณะนั้นสัญญาจะปรับเป็นพนักงานรายเดือน และเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจในอนาคต แต่เมื่อมาปฏิบัติงานแล้ว ยังไม่ถูกปรับเป็นรายเดือน จึงนัดหยุดงานประท้วงร่วมกับหัวหน้างานบางส่วน อีกทั้งมีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยสนับสนุน เจรจาต่อรองกับผู้บริหารจนสำเร็จ และจัดตั้งสหภาพแรงงานวิงสแปนฯ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 เป็นบริษัทเหมาช่วงแห่งแรกที่มีสหภาพแรงงาน มีสมาชิกขณะนั้นประมาณ 1,000 คนจากพนักงานทั้งหมด 2,000 คน ยื่นข้อเรียกร้องครั้งแรกเมื่อปี 2557 เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เช่น ขอลาพักร้อน 6-12 วัน ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 1,600 คนจากพนักงานจำนวน 4,400 คน

การจ้างงานของลูกจ้างรายวันในอดีต หากมาสายจะถูกปรับ 500 บาท (คล้ายกับพนักงานรักษาความปลอดภัย) ลาป่วย 1 วันต้องมีใบรับรองแพทย์ มีระเบียบให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานแต่ไม่มีการบังคับใช้ เป็นต้น 

ส่วนกรณีการกลั่นแกล้งอำไพและพนักงานคนอื่น ๆ ให้ย้ายแผนกทั้งหมด 108 แรงไปให้บริษัทเหมาช่วงอื่น จึงขอความช่วยเหลือจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหพันธ์แรงงานการขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) เจรจากับผู้บริหาร ทั้งนี้ อำไพได้สะท้อนว่า เธอทำงานมาเป็นเวลา 8 ปี มีประวัติดีมาตลอด มีทักษะฝีมือในการทำงาน เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของบริษัท แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยังเห็นถึงความไม่ชอบธรรมของการกลั่นแกล้งเธอในครั้งนั้น  ในขณะที่พนักงานบางคนที่เพิ่งเข้ามาทำงาน 1 ปีถูกนำมาแทนที่ จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเธอก็สามารถกลับเข้ามาทำงานเดิม

เมื่อกล่าวถึงบริษัทเหมาช่วงรายอื่น อำไพเล่าว่า มีการเอารัดเอางเปรียบลูกจ้าง จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการที่แย่กว่าคือ ลูกจ้างเหมาช่วงต้องจ่ายค่าชุด 5,000 บาท ผ่อนส่งเดือนละ 500 ทำงาน 2 ปีจึงจะได้เงินคืน ลาป่วย 1 วันต้องมีใบรับรองแพทย์ หากมาสายและขาดงานจะถูกหักเงิน (คล้ายกับ รปภ.) เหมาช่วงบางแห่งไม่ให้พักร้อน สัญญาจ้างปีต่อปี ทำงานในวันหยุดประเพณีได้รับค่าจ้างไม่ถึง 2 เท่า (แรง) บางแห่งหากลากิจ ลาป่วยมากจะถูกตัดพักร้อน 6 วัน  สำหรับเหมาช่วงรายอื่นนั้น สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ยังมีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้

สหภาพแรงงานวิงสแปนฯ มีการเรียกร้องให้พนักงาน เช่น พนักงานแผนกขับอุปกรณ์ประชิดเครื่องและพนักงานที่ทำงานในลานจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิและภูเก็ต ซึ่งต้องการอุปกรณ์ความปลอดภัย (PPE) ที่มีคุณภาพเพียงพอ รวมทั้งหูฟังอย่างดี เสื้อกันฝนที่พวกเขาซื้อมาจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เสื้อสะท้อนแสง พนักงานเหล่านี้มีเงินเดือนประมาณ 12,000 บาท แต่ทำงานหนักตากแดดตากฝน นอกจากนี้มีการยื่นข้อเรียกร้องเมื่อปี 2557 และ 2562 ให้แผนกอื่น ๆ มีชุด PPE ที่เหมาะสมกับลักษณะงาน

การจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมสถานะเปราะบางของแรงงานเหมาช่วง

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของพนักงานวิงสแปนหดหาย เนื่องจากรายได้หลักมาจากการทำงานโอที 5-8 ชั่วโมง ค่ารถวันละ 43 บาท ค่าเข้ากะกลางคืน 30 บาท ซึ่งหายหมด ในแผนกตัดแต่งผลไม้ อำไพเล่าว่า ปกติจะมี OT (ล่วงเวลา) แทบทุกวัน เพราะงานหนัก ผลไม้ต้องทำวันต่อวัน เช่นมะละกอ ปอกวันละ 2-3 ตัน โต๊ะหนึ่งมี 4 คน โดย 2 คนปอก อีก 2 คนแล่ ใส่ถาดกระบะ มีเพียง 4-5 โต๊ะ อุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงมีดซึ่งต้องคมมากเพื่อให้ทำงานอย่างรวดเร็ว เธอเข้าทำงาน 7.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวันเวลา 13.30 น. เข้างานต่อในเวลา 14.30 น.-15.30 น. ครัวการบินสุวรรณภูมิส่งอาหารขึ้นเครื่องให้แก่สายการบินลูกค้าประมาณ 60 สายการบินจากต่างประเทศ รวมทั้งเครื่อง TG และเครื่องไทยสไมล์ จำนวนทั้งหมด 84,000 มื้อต่อวัน บริษัทวิงสแปนฯ ส่งกำลังคนสนับสนุนการทำงานให้การบินไทยและการบินไทยทำธุรกิจกับสายการบินลูกค้าจากต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก 

แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 กับมาตรการหยุดงาน ชีวิตของพนักงานวิงสแปนฯ บางส่วนต้องหารายได้เสริม ข้อดีประการหนึ่งคือ พวกเขาได้รับการหยุดพักชำระหนี้ ผ่อนรถผ่อนบ้าน ส่วนพนักงานเหมาช่วงแห่งอื่นถูกบังคับให้ลาออกโดยไม่ได้ค่าชดเชย สำหรับวิงสแปน พนักงานกำลังรอเงินทดแทนว่างงานซึ่งล่าช้าเพราะยื่นไปแล้วเป็นเวลา 1 เดือน บางคนต้องเดินทางไปทวงถามยังสำนักงานประกันสังคม และสหภาพแรงงานฯ กำลังเร่งติดตาม อีกทั้งบางส่วนถูกเลิกจ้าง

อำไพและคณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 14 คนทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สมาชิกและคนทำงานสนามบิน สายการบินแห่งอื่นด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้พนักงานอยู่รอดในช่วงนี้

ทั้งนี้ อัสริน แก้วประดับ เจ้าหน้าที่โครงการโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ และผู้ประสานงานสาขาการบินของสหพันธ์แรงงาน (ITF London) ให้สัมภาษณ์ปิดท้ายว่า รัฐวิสาหกิจของไทยมีจำนวน 55แห่ง (ณ วันนี้ไม่รวมการบินไทยเพราะพ้นสภาพไปแล้ว) แต่มีสหภาพแรงงานจำนวน 48 แห่ง รัฐวิสาหกิจถูกลดขนาดลงมาเมื่อ 15-20 ปีที่แล้วจากนโยบายของรัฐที่ต้องการลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกิจการของรัฐ ให้เอกชนเข้ามาบริหารกิจการของรัฐ แต่ก่อนมีพนักงานประจำ 600,000 คน เหลืออยู่ประมาณ 200,000 คนและจ้างงานเหมาช่วงเป็นจำนวนมาก และมีสภาพการทำงานย่ำแย่ ในอนาคตผู้บริหารรัฐวิสาหกิจอาจฉวยโอกาสถ่ายโอนพนักงานรัฐวิสาหกิจไปอยู่บริษัทเอกชนอีก ซึ่งจะทำให้พนักงานที่เป็นสัญญาจ้างในบริษัทรัฐวิสาหกิจ ไปเป็นคนงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน รายได้ของพนักงานจะลดลง จากตัวอย่างของการบินไทย แม้การบินไทยไม่ได้ถูกแปรรูป แต่ลักษณะที่เกิดขึ้นคือการแปรรูป เพราะรัฐลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง ให้ต่ำกว่า 51% ทำให้การบินไทยหมดสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจทันที ซึ่งต้องการสร้างกำไรให้มากและให้เอกชนเข้ามาแบกรับความเสี่ยงหากขาดทุน แต่สุดท้ายผู้ที่แบกรับความเสี่ยงมากกว่าใครคือ แรงงาน ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net