ประจักษ์ ก้องกีรติ: โฉมหน้ารัฐไทยในสถานการณ์โควิด-19

เข้าสู่เดือนที่ 3 ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่านายกรัฐมนตรี และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จะคืนสถานการณ์ปกติให้กับประเทศไทยเมื่อใด แม้ในระยะหลังจะมีการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ที่วางไว้อย่างเข้มข้นให้ลงตามลำดับ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารสถานการณ์ การแก้ไข จัดการ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ได้เปิดประตูให้กับปัญหาใหม่ๆ นับไม่ถ้วน 

ช่วงเวลาที่ผ่านภายใต้การล็อคดาวน์มีหลายหลากความคิดเห็นเกี่ยวกับ โควิด-19 ทั้งมองเห็นว่า ไวรัสชนิดนี้คือ ของขวัญ และต่างออกไปคือเห็นว่ามันเป็น หายนะ แต่มีการมองอีกแบบที่อาจจะยังพูดถึงกันไม่มากเท่าไหร่นัก คือ การมองรัฐภายใต้สถานการณ์โควิด-19 

มีคำกล่าวที่ว่า การจะรู้จักใครสักคนจริงๆ จะรู้ได้เมื่อภัยมาเยือน หากเปลี่ยนจากคนเป็นรัฐไทย ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเผชิญหน้ากับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 พร้อมกับปัญหาทางเศรษฐกิจ เรามองเห็นโฉมหน้าของรัฐไทยเป็นอย่างไร 

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชา การเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับประชาไท โดยชี้ว่า การอุบัติขึ้นของโรคติดต่อโควิด-19 ได้เข้าไปเปลือยรัฐทุกรัฐ ไม่ใช่เพียงรัฐไทย และไวรัสตัวนี้เหมือนกับเชื้อโรคที่เข้ามาโจมตีรัฐ และสังคม พร้อมทำให้เห็นว่าจุดอ่อน(จุดเปราะบาง) จุดเเข็ง(ภูมิคุ้มกัน) ของแต่ละรัฐอยู่ตรงไหน 

ใส่แว่นมองมองรัฐในสถานการณ์โควิด-19

ประจักษ์ ชี้ว่า ข้อถกเถียงที่เคยมีมาก่อนหน้านี้คือ ระหว่างรัฐประชาธิปไตย กับรัฐเผด็จการ รัฐแบบไหนรับมือสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีกว่ากัน ถือเป็นข้อถกเถียงที่ทำให้หลงทางในการทำความเข้าใจความสามารถในการรับมือของแต่ละประเทศในวิกฤติครั้งนี้ เพราะประสิทธิภาพในการรับมือกับสถานการณ์เป็นสิ่งที่มากไปว่าเรื่องของระบอบการเมือง แต่จำเป็นต้องเข้าไปดูที่ 3 ปัจจัยหลักๆ คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง (Political Infrastructure) ซึ่งกว้างกว่าคำว่า ระบอบการเมือง โดยระบอบการเมืองเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง 2.โครงสร้างพื้นทางทางสาธารณสุข ซึ่งต้องดูว่า ระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร มีสวัสดิการที่ถ้วนหน้าหรือไม่ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นไปได้ง่ายสำหรับคนทุกกลุ่มหรือไม่ จำนวนบุคคลกรทางการเพทย์มีเพียงพอหรือไม่ โรงพยาบาลมีเพียงพอหรือไม่ งบประมาณด้านการสาธารณสุขเป็นอย่างไร และ 3.โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม พูดง่ายๆ คือ ภาคประชาสังคมเข้มแข็งหรือไม่ หากสังคมเข้มแข็งไว้วางใจกัน ก็สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ และนอกจากจะช่วยเหลือกันและกัน ยังให้ความร่วมมือกันรัฐเป็นอย่างดี และถ้าสังคมเข็มแข็งและไว้ใจรัฐ รัฐก็ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจมาบังคับ คนก็จะทำตามมาตรการต่างๆ เอง  ซึ่งถ้าประเทศไหนมี 3 ปัจจัยนี้อยู่ในมาตรฐานที่ดี ก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ได้ดี และไม่ใช่มีเพียงปัจจัยใด ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เพราะวิกฤติครั้งนี้หนักมาก การมีดีแค่ปัจจัยเดียวไม่เพียงพอ 

“บางประเทศไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเขาถึงล้มเหลว อย่างสหรัฐอเมริกา ดูเป็นประเทศร่ำรวย เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ถ้าติดตามศึกษาดูจริงๆ จะรู้ว่า สหรัฐฯ มีปัญหามาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุข เพราะเป็นประเทศที่ privatize แปรรูปกิจการโรงพยาบาลเป็นของเอกชน ฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องของกำไร และการขาดทุน รัฐตัดงบสวัสดิการทางด้านการรักษาพยาบลทั้งหมด เป็นประเทศโลกที่หนึ่ง ที่มีคนบอกว่า ระบบสาธารณสุขแย่กว่าประเทศโลกที่ 3 หลายประเทศ มันไม่ระบบสวัสการรักษาพยาบาลถ้วนหน้าแบบบ้านเรา ฉะนั้นเมื่อเจอโควิด-19 คนดำ คนจน ไม่ต้องพูดถึง เพราะเขาเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ตายไปเยอะแยะ” 

ประจักษ์ ชี้ว่าการตั้งกรอบแบบนี้ จะทำให้ไม่นำไปสู่การถกเถียงที่ไร้ประโยชน์ เช่นระบอบการเมืองแบบไหนรับมือกับวิกฤติได้ดีกว่ากัน เพราะระบอบการเมืองเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ในสามปัจจัย และเมื่อกลับมาดูโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง ก็จำเป็นต้ององค์ประกอบอีก 3 ตัว คือ 1.ระบอบการเมือง เป็นประชาธิปไตย หรือเผด็จการ และมีลักษณะอย่างไร เช่น เป็นประชาธิปไตยแบบทรัมป์ก็เป็นอีกแบบ ประชาธิปไตยแบบบราซิลก็เป็นอีกแบบ 2.ระบบราชการ ซึ่งองค์ประกอบนี้คนมักจะลืม แต่เวลาเราพูดถึงรัฐ จริงๆ แล้วเรากำลังพูดถึงระบบราชการ เพราะมันคือหัวใจของรัฐ การจะชี้วัดว่ารัฐเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ ก็ต้องย้อนกลับมาดูที่ระบบราชการ ซึ่งเป็นฐานของรัฐ และรัฐจะใช้อำนาจอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับระบบราชการที่รัฐนั้นมี และ 3. ผู้นำ องค์ประกอบนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะต่อให้มีระบอบการเมืองที่ดี มีระบบราชการที่ดี แต่มีผู้นำแย่ ทุกอย่างก็พังลงได้ โดยมีตัวอย่าวที่ชัดเจนคือ สหรัฐอเมริกา โดยตัวระบอบการเมืองของสหรัฐฯ ไม่ได้เลวร้าย ระบบราชการมีศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งยังมีการกระจายอำนาจให้มลรัฐ มีการวางกลไกในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไว้อย่างดี แต่การที่มีผูู้นำแย่ ส่งผลให้สหรัฐฯ เป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

“ถ้าพูดถึงตัวผู้นำ ตัวแบบที่เราเห็นตอนนี้ กลายเป็นว่า ผู้นำที่ก่อนหน้านี้เป็นเทรนด์ขึ้นมา คือ พวกผู้นำผู้ชาย เป็นประชานิยมฝ่ายขวา หรือที่เรียกว่า Right-wing populist / Strong man มีความเข้มแข็ง ขายความดุดันเด็ดขาด แต่พอมาเจอวิกฤติแบบนี้ล้มเหลวหมด ตัวแบบ Strong man พิสูจน์แล้วว่ารับมือกับสถานการณ์ไม่ได้เรื่องผู้นำแบบนี้ที่เด่นๆ คือ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ , ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีของบราซิล , วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย และ โรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ 4 คนนี้เป็นตัวแบบของผู้นำประชานิยมฝ่ายขวา และตัวแบบของผู้นำผู้ชายที่เข้มแข็ง มีความเป็นชาตินิยม มีความดุดัน รุนแรง ปกครองด้วยความกลัว ทั้งหมดนี้เจ๊งหมดเลย ทั้ง 4 ประเทศ ถ้าพูดเฉพาะผู้นำ New Normal ของความเป็นผู้นำแบบนี้จะขายไม่ออกแล้ว เพราะคนเห็นว่าในยามวิกฤติคุณไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้เลย มีแต่โวหาร คำโฆษณาที่สวยหรู รักชาติ ปกป้องชาติ” 

ใส่แว่นมองรัฐไทยในสภาพเปลื่อยโฉม เรามองเห็นอะไรบ้าง

โครงสร้างสาธารณสุขของไทยดีอยู่แล้ว และต้องทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่หาจังหวะทำลาย

เมื่อใช้กรอบการมองข้างต้นมองเข้ามาที่รัฐไทย ประจักษ์ เห็นว่า การที่รัฐไทยสามารถควบคุมโรคได้ดี เพราะมีโครงสร้างทางสาธารณสุขเข้มแข็งอยู่แล้ว ซึ่งต้องให้เครดิตกับหมอ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุข ที่ทำงานอย่างแข็งขัน และได้รับบทบาทในการเข้ามากำหนดนโยบายกุมการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามส่วนที่มีความสำคัญไม่ได้มีแค่กลุ่มหมอ พยาบาลในระดับสูง แต่นับรวมไปถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) โรงพยาบาลชุมชน แพทย์ชนบท และหัวใจสำคัญโครงสร้างที่เข้มแข็งนี้คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคที่คนรู้จักกัน เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ 

“โครงสร้างทางด้านสาธารณสุขของไทย เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่ก็เกิดคำถามว่า คุณจะไปทำลายมันเหรอ ทำไมก่อนหน้านี้รัฐบาล คสช. มีความพยายามจะไปตัดงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บอกว่าใช้เงินเยอะ จะแปรรูปบางส่วนให้เป็นของเอกชน ตรงนี้ทำให้เห็นเลยว่า ดีนะที่ตอนนี้เราต่อสู้ปกป้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้อยู่มาถึงทุกวันนี้ ไม่งั้นเจ๊งเลย ดูตัวอย่างที่อังกฤษ ซึ่งไม่เชื่อเรื่องนี้ พรรคอนุรักษนิยม ก็แปรรูปสถานพยาบาลให้เป็นของเอกชน ค่ารักษาพยาบาลเเพง คนเข้าไม่ถึงการรักษา แต่ตอนนี้ผู้นำอังกฤษ ก็เริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะตัวเองเกือบตายจากการติดเชื้อ และต้องไปเข้า ICU ซึ่งปรากฎว่า โรงพยาบาลที่รักษาเขาจนรอดมาได้ เป็นโรงพยาบาลของรัฐ และเป็นโรงพยาบาลที่ตัวเองเป็นคนตัดงบประมาณ จนตอนนี้ บอริส จอห์นสัน ออกมาพูดว่า รัฐบาลจะทบทวนการให้งบด้านการสาธารณสุขมากกว่านี้”

เขาชี้ว่า การที่ไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดี ใช่ว่าจะไม่ต้องต่อยอดหรือ ไม่ต้องสร้างอะไรเพิ่มเติม แต่รัฐบาลควรทุ่มงบประมาณลงไปให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาแพทย์ พยาบาลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึง อสม. ด้วย 

สังคมไทยพร้อมช่วยเหลือกันและกัน จนทำให้คนตั้งคำถาม เราทำขนาดนี้ แล้วรัฐทำอะไร

ส่วนโครงสร้างทางสังคมของรัฐไทย ประจักษ์เห็นว่า มีโครงสร้างที่ดี โดยช่วงที่ผ่านมาพลังทางสังคมที่ปกติมักถูกดูแคลนว่า อ่อนแอ คนไทยเป็นพวกต่างคนต่างอยู่ เป็นสังคมที่รักสบาย ไม่มีวินัย ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกดูแคลน ภาคประชาชน ประชาชนคนเล็กคนน้อยทุกคนล้วนแต่เป็นฮีโร่ เพราะขณะที่การเยียวยาของรัฐล่าช้า และล้มเหลว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนต่างออกมาช่วยเยียวยากันเอง มีการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ มากมาย คนมีก็ออกมาแจกอาหาร วัดหลายแห่งทำโรงทาน เครือข่ายมหาวิทยาลัยทำเพจฝากร้าน โดยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐ แต่มาจากประชาชนที่เริ่มต้นยื่นมือออกไปช่วยเหลือกันและกัน

ขณะเดียวกันประจักษ์ เห็นว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงจนต่ำหลักหน่วย หรือเป็นศูนย์ได้ในบางวันนั้น เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้คือ ความเสียสละของประชาชนคนธรรมดาสามัญ ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐอย่างเต็มที่ ยอมหยุดอยู่บ้าน ทั้งที่การอยู่บ้านจะทำให้ขาดรายได้ แต่ประชาชนไม่เคยได้รับการพูดถึง ขอบคุณหรือให้เครดิตเท่าที่ควร ขณะที่การสื่อสารจากรัฐในหลายครั้ง มักจะมีน้ำเสียงที่เป็นการดุ สั่งสอนประชาชน ซึ่งแตกต่างจากการสื่อสารของผู้นำประเทศอย่าง นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ หรือเยอรมนี ที่สื่อให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจประชาชนที่ต้องแบกรับ และเผชิญหน้ากับวิกฤติครั้งนี้

“ผมแปลกใจที่การสื่อสารจากรัฐทำไมจึงสื่อสารในทำนองที่ดุ สั่งสอนประชาชน เป็นลักษณะของการเทศนา ขณะที่ประเทศอย่างนิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ เยอรมัน เขากลับมีวิธีการสื่อสารที่ทำให้เห็นว่า รัฐรู้สึกเห็นใจประชาชน ทั้งที่คนไทยให้ความร่วมมือเยอะมาก...จนทำให้เกิดคำถาม และมันแฟร์ที่คนทั่วไป ประชาชน คนหาเช้ากินค่ำ ตั้งคำถามว่า เขาเสียสละขนาดนี้ แล้วผู้นำรัฐเสียสละอะไรบ้างตลอดวิกฤติที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราเห็นน้อยมากบทบาทของชนชั้นนำที่เข้ามาร่วมทุกข์ ร่วมสุขกับสังคม ผมหมายถึงชนชั้นนำระดับสูงทุกระดับเลยนะ คือมันเห็นน้อยมาก ในแง่ของการทำอะไรเพื่อประชาชน”

เมื่อถามว่าโครงสร้างทางสังคมของไทยที่มองว่าเป็นสังคมที่พร้อมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนหยุดที่จะตั้งคำถามต่อหน้าที่ที่รัฐต้องทำหรือไม่ ประจักษ์เห็นต่างออกไป เขามองว่าที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้คนตั้งคำถามเพิ่มมากขึ้นว่า ทำไมเราต้องทำกันมากขนาดนี้ ทำไมเราต้องช่วยกันบริจาคมากขนาดนี้ ทุกครั้งที่มีวิกฤติทำไมเราต้องมาบริจาค และมันทำให้เกิดคำถามย้อนกลับไปที่รัฐ 

ประจักษ์กล่าวต่อว่า ต่อให้ประชาชนช่วยเหลือกันมากแค่ไหนก็ไม่เพียงพอ และไม่สามารถทดแทนการตอบสนองโดยรัฐที่มีประสิทธิภาพได้ หากรัฐมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือคน มีระบบสวัสดิการที่ดี ประชาชนคงไม่ต้องลำบาก และไม่ต้องมาช่วยเหลือกันมากขนาดนี้ 

“มันก็เป็นเรื่องดี ที่คนช่วยเหลือกัน แต่คนคนหนึ่งต่อให้คุณมีความเห็นใจกันมาขนาดไหน คุณไม่มีทางช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ได้มากพอ หรือช่วยได้ตลอดไป เราไม่มีกำลังมากพอขนาดนั้น ตัวที่จะมาช่วยได้อย่างยั่งยืนจริงๆ คือรัฐที่มีประสิทธิภาพ กับระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ดี เพราะมันประกันเรื่องการว่างงาน ประกันรายได้ขั้นต่ำ คุณไม่ต้องเห็นภาพคนยืนต่อแถวรอรับอาหาร เบียดเสียดเเย่งอาหาร ถ้าคุณมีความมั่นคงทางอาหาร มีสวัสดิการเหล่านี้ มันเลยยิ่งทำให้คนตั้งคำถามมากขึ้นกับรัฐที่เรามีอยู่”

เขากล่าวต่อว่า การควบคุมโรคให้อยู่หมัดในลักษณะนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจตามมา แต่ทีมทำงานของรัฐบาล กลับดูเหมือนให้ความสำคัญกับตัวเลขผู้ติดเชื้อเท่านั้น มองไม่เห็นตัวเลขอื่นๆ และมองว่าเลขศูนย์ คือความสำเร็จ และชัยชนะ แต่หารู้ไม่ว่า การควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เหลือศูนย์ แล้วทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา และต้องแก้ไขกันต่อในระยะยาว ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล

“ถามว่ามันคุ้มไหมกับการทำให้ตัวเลขนิ่งในระดับนี้ แต่ต้องมีคนตกงานหลักแสน หลักล้านคน จนเสียสมดุล ประเทศที่ประสบความสำเร็จเขาไม่ได้ดูที่ตัวเลขผู้ติดเชื้ออย่างเดียว เขามีเกณฑ์ในการวัดความสำเร็จว่า สามารถรักษาสมดุลได้หรือไม่ ระหว่างการคุมควมโรค และการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รัฐที่เก่ง คือรัฐที่รักษาสมดุลนี้ได้ ไม่ใช่รัฐที่กดตัวผู้ติดเชื้อจนเหลือศูนย์ แล้วก็ประกาศชัยชนะ แต่ปัญหาอื่นๆ งอกมาบานเลย คนตกงาน คนว่างงาน คนฆ่าตัวตาย คนมีปัญหาสุขภาพจิต นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน พัฒนาการทางการศึกษาหยุดชะงัก ตัวเลขเหล่านี้ต้องเอามาประเมินหมด ไม่ใช่ดูแค่ตัวเลขเดียว ผมคิดว่าเรายังถามกันไม่มากพอว่า ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้ตัวเลขผู้ติดเชื้อแบบนี้ เราต้องจ่ายอะไรบ้าง ทุกอย่างมีต้นทุน และมีคนที่ต้องจ่ายต้นทุนนั้นอยู่ และคนที่จ่ายหนักที่สุดคือ คนชั้นล่างของสังคม เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะ Work form Home ได้”

โครงสร้างการเมืองคือจุดอ่อนของรัฐไทย และเราอาจไม่ต้องเดินมาถึงจุดนี้ถ้า....
ถ้าเรามีรัฐบาลที่มีเอกภาพในการแก้ปัญหา

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง ประจักษ์มองว่า มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะปัจจัยนี้คือส่วนของการกำหนดนโยบาย มาตรการต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสเข้ามาในประเทศ รัฐบาลยังเลือกที่จะไม่ปิดประเทศ ยังเปิดให้มีการเดินทางเข้าออกของคนตามปกติ ทั้งที่หลายประเทศปิดประเทศไปก่อน อย่างเช่น เวียดนาม กรีก นิวซีแลนด์ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ไทยยังเปิดให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาได้ แม้แต่เดินทางมาจากอู่ฮั่นก็ยังสามารถเข้าประเทศไทยได้ หากรัฐบาลมีมาตรการเข้มข้นตั้งแต่แรกก็อาจจะควบคุมได้เร็ว และดีกว่านี้ ราคาที่ต้องจ่ายจะน้อยกว่านี้ เราอาจจะไม่ต้องเจอกับการล็อคดาวน์เข้มข้นขนาดนี้ ร่วมทั้งกรณีสนามมวย ซึ่งชี้ชัดให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบของชนชั้นนำ เพราะในขณะที่มีการขอความร่วมมือให้สถานประกอบการต่างๆ ให้ปิดทำการ แต่สนามกลับไม่ปิด ทั้งๆ ที่โรคเริ่มระบาดในไทยแล้ว และสถานที่อื่นๆ ต่างให้ความร่วมมือ ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารสนามมวยลุมพินีก็คือ กองทัพบก 

“มันชี้ให้เห็นว่าชนชั้นนำทั้งไม่มีความรับผิดชอบ และไม่เสียสละ ทั้งที่เรียกร้องให้คนอื่นเสียสละ แต่ตัวเองยังทำในสิ่งที่รู้อยู่ว่ามีความเสี่ยงต่อไป มันเป็นความเคยชินในการใช้อำนาจโดยที่ไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์”

เขากล่าวต่อไปถึง การตัดสินใจต่อสถานการณ์ที่ล่าช้าว่า เกิดจากโครงสร้างของรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง จึงทำให้เกิดการถกเถียงกัน จนขาดเอกภาพในการแก้ไขปัญหา จะปิดเมืองก็ยังห่วงเรื่องการท่องเที่ยว จึงเกิดความล้าช้าในการตัดสินใจ และทำให้สถานการณ์บานปลาย

ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการ

ประจักษ์ชี้ว่า สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อมาคือ ทำไมประเทศไทยจึงไม่มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ที่สามารถรองรับคนได้ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ยิ่งมีการควบคุม ล็อคดาวน์แบบเข้มข้น คนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือคนฐานรากของสังคมลักษณะพิเศษโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยคือ การมีแรงงานนอกระบบสูง มีคนอยู่ในกลุ่มนี้กว่า 10 ล้านคน และพวกเขาไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่มีตาข่ายรองรับใดๆ เลย สังคมใดก็ตามที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก เมื่อเจอโควิด-19 เข้ากระแทก และมีการล็อคดาวน์ที่เข้มข้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีความหนักหน่วง มหาศาล

“มีนักเศรษฐศาสตร์ ชอบเปรียบว่า เเรงงานนอกระบบเหล่านี้ เหมือนคนที่กำลังลอยคอปริ่มน้ำ มีขอนไม้เอาไว้เกาะไม่ให้จมลงไป ขอนไม้ก็คือ การที่เขายังสามารถไปทำงานได้ในแต่ละ แต่พอเจอโควิด-19 ล็อคดาวน์ กิจการปิดหมด งานทำไม่ได้ ก็คือ คุณกระชากขอนไม้เขาออกไป คราวนี้ก็จมน้ำกันหมดเลย ผลกระทบมันมหาศาล แต่เราไม่เห็นตัวเลขเหล่านี้ เพราะไม่ค่อยรายงาน เราไปรายงานแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ” 

ถ้าเราไม่มีรัฐราชการรวมศูนย์ที่ไร้ประสิทธิภาพ

ประจักษ์กล่าวต่อไปถึง ปัญหาของระบบราชการที่มีอยู่ว่า จะต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที เพราะมีการพูดถึงเรื่องนี้กันมานานตลอดเวลาที่เขาอยู่ในวงการรัฐศาสตร์มากว่า 20 ปี ทุกปีมักจะมีหลายหน่วยงาน จะวงเสวนาเรื่องการปฎิรูปภาครัฐ เพราะทุกคนตระหนักว่า ระบบราชการ ที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางสูง ไม่ยอมกระจายอำนาจ แต่ขาดประสิทธิภาพ และเอกภาพ ในการตอบสนองประชาชน เป็นปัญหาหลักที่มีอยู่มานาน 

อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่า วิกฤติครั้งนี้ ยังโชคดีที่เป็นวิกฤติสุขภาพ และกระทรวงที่มีความเข้มแข็งที่สุด และมีคุณภาพสูงของไทยคือ กระทรวงสาธารณสุข จึงสามารถประคับประคองวิกฤตินี้ได้ แต่ถ้าวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องอื่น ระบบราชการของไทย อาจจะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระนั้นก็ตามโจทย์เรื่องการปฎิรูประบบราชการยังคงอยู่ และจะต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

“ถ้าวิกฤติโควิด-19 ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นวิกฤติที่รุนแรงในรอบศตวรรษ ยังไม่สามารถกระแทกให้รัฐไทยต้องเปลี่ยน ผมว่าเราหมดหวังแล้ว แสดงว่ารัฐไทยมันเปลี่ยนไม่ได้แล้ว ถ้ามันเจอกับวิกฤติขนาดนี้ และยังไม่ยอมปรับตัว… ซึ่งคำตอบสำหรับโจทย์นี้มันคือ การกระจายอำนาจ หลายคนชื่นชมผู้ว่าฯ บางจังหวัดว่า รับมือสถานการณ์ได้ดี ขนาดผู้ว่าฯ เป็นโครงสร้างราชการในระดับภูมิภาค ลองคิดดูว่าถ้าให้อำนาจกับท้องถิ่นมากกว่านี้ ลงไปถึงระดับนายกเทศบาล นายก อบต. เขายิ่งจะสามารถออกมาตรการที่มันเฉพาะกับโจทย์ของชุมชนได้มากกว่านี้ และเร็วกว่านี้”

ประจักษ์ ยกตัวอย่างประเทศที่มีการกระจายอำนาจที่ดีคือ สหรัฐฯ แม้ในภาพใหญ่ สหรัฐฯ จะเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่เมื่อแยกย่อยมาวิเคราะห์ทีละมลรัฐ กลับพบว่า มีหลายมลรัฐที่รับมือกับวิกฤติได้อย่างดี เพราะผู้ว่าการรัฐมีวิสัยทัศน์ และไม่ฟังประธานาธิบดีที่มีปัญหาในการจัดการสถานการณ์ รวมทั้งหลายรัฐยังมีระบบสวัสดิการที่ดี จึงสามารถรองรับคนได้ ต่อให้รัฐบาลกลางจะล้มเหลวก็ตาม 

เขาชี้ว่าโจทย์เรื่องรัฐราชการ จริงๆ เริ่มเห็นปัญหาชัดๆ อีกครั้งในช่วง คสช. ครองอำนาจ เพราะสิ่งที่ คสช. ทำคือ การฟื้นรัฐราชการขึ้นมา bureaucratic polity ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ถูกรื้อกลับมาอีกครั้ง เพราะผู้มีอำนาจไม่ไว้ใจภาคการเมือง นักการเมือง ไม่ไว้ใจภาคประชาสังคม จึงเอาราชการเป็นตัวตั้งในการขับเคลื่อน แต่สิ่งเหล่านี้เห็นได้ชัดว่าล้มเหลว ในช่วง 5 ปี ภายใต้ คสช. แม้แต่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ เองก็หงุดหงิดกับระบบราชการ ที่ตัวเองเอาอำนาจไปใส่ไว้ให้ เพราะหลายครั้งระบบราชการไม่ตอบสนองตัว พล.อ.ประยุทธ์ เอง 

“ผมทำวิจัย และเขียนบทความร่วมกับอาจารย์ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่พูดถึงระบอบประยุทธ์ เราพยายามวิเคราะห์ตัวรัฐราชการในยุค คสช. สิ่งที่ผมพบและน่าทึ่งคือ การใช้มาตรา 44 ประมาณครึ่งหนึ่งใช้ไปในการจัดระเบียบราชการ โดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ มาตรา 44 ถูกเอามาใช้ปลดข้าราชการ โยกย้าย สลับตำแหน่ง แต่ตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ย้ายแค่ตำแหน่งเดียว รัฐบาลไปเลย โดนข้อหากลั่นแกล้งราชการ แต่ คสช. ย้ายไม่รู้กี่ร้อยตำแหน่ง บางคนโดนย้ายไปก็ไม่มีโทษชัดเจน จนตอนหลังผ่านไปอีกปี ก็ไม่ตั้งเขากลับมา เพราะหาคนที่ดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว”

ถ้าราชการไม่ถูกปลูกฝังให้เป็นเจ้าคนนายคน

ในวิกฤติครั้งนี้ ประจักษ์เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ช่วงแรก การทำงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ของราชการจึงไม่มีประสิทธิภาพ เพราะปัญหาเรื้อรังไม่เคยได้รับการแก้ไข แต่ภาพถูกกลบด้วยการทำงานของราชการกระทรวงสาธารณสุข แต่กระทรวงอื่นๆ ยังมีปัญหาอยู่ ฉะนั้นในแง่นี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ การจัดระเบียบรัฐราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ เพราะเมื่อใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลให้เกิดการรวบอำนาจมาไว้ที่นายกรัฐมนตรี มีการคาดโทษได้ เมื่อข้าราชการไม่ปฏิบัติตาม ไม่สามารถร้องเรียนได้เพราะคนสั่งไม่ต้องรับผิดชอบ

“การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ รัฐไม่ได้ต้องการจะควบคุมโรคอย่างเดียว เพราะเพียงแค่คุมโรคใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อก็พอ…. แต่ครั้งนี้เขาต้องการให้เกิดผลทางจิตวิทยาให้คนกลัว และกลุ่มเป้าหมายสำคัญกลุ่มข้าราชการ โดยนายกฯ ใช้อำนาจมากขึ้นในการจัดแถว คาดโทษ จัดระเบียบระบบราชการ กลายเป็นว่า มันคุมคน มากกว่าคุมโรค และไม่ใช่แค่คุมประชาชนอย่างเดียว มันคุมข้าราชการ และนักการเมืองด้วย”

ประจักษ์ ยังกล่าวต่อถึง วัฒนธรรมของระบบราชการแบบไทยๆ ว่า ถูกสร้างขึ้นมาโดยทำให้ข้าราชการรู้สึกห่างเหินจากประชาชน และถูกปลูกฝังมาให้เป็นเจ้าคนนายคน มากกว่าการปลูกฝังว่าเป็น ข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน ระบบคิดที่ว่า ข้าราชการคือ เจ้าคนนายคน มีปัญหาอย่างมาก แม้แต่คณะรัฐศาสตร์ในหลายสถาบันยังยึดมั่นในหน้าที่ของตัวเองคือ การผลิตนักปกครอง การสร้างคนให้ไปปกครองคนอื่น ซึ่งนี่คือ วาทกรรมตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เวลานั้นข้าราชการถูกฝึกตั้งเหมือนทหาร สอนให้ไปควบคุม ปกครอง มองเห็นประชาชนเป็นเด็ก เป็นลูกหลาน ไม่มีระเบียบวินัย จึงต้องไปปกครอง เพราะเชื่อว่าตัวเองรู้ดีกว่าประชาชน ซึ่งระบบคิดแบบนี้ผิดตั้งแต่ต้น เพราะแท้จริงแล้วราชการมีหน้าที่ในการรับใช้ และให้บริการประชาชน แต่เมื่อมีระบบคิดว่าเป็นเจ้าคนนายคน การทำงานเช้าชามเย็นชามก็เป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครมาทำอะไรได้ แม้แต่มีการคอร์รัปชันในหน่วยงานก็ตรวจสอบยาก เพราะมีการช่วยเหลือและปกป้องกันเอง นี่คือปัญหาใหญ่ของราชการไทย คือ ไม่มีความรู้สึกว่าต่อรับผิดชอบ 

“มันเป็นเหมือนแดนสนธยา มีคนบอกว่ากองทัพเป็นเหมือนแดนสนธยาอันนี้ถูก แต่มันไม่ใช่แค่กองทัพ ระบบราชการทั้งหมดก็เป็นแดนสนธยาเหมือนกัน ซึ่งไม่มีความยึดโยงกับประชาน และไม่มีช่องทางที่ประชาชนจะกำกับ และเอาผิดได้เลย”

ถ้าเราไม่ยึดจีนเป็นต้นแบบของการจัดการปัญหา

ส่วนเรื่องระบอบการเมือง ประจักษ์ชี้ว่า การดูเพียงว่ารัฐเป็น รัฐเผด็จการ หรือประชาธิปไตย แก้ไขปัญหาได้ดีกว่ากันนั้นอาจจะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ และเมื่อจะพูดถึงกันจริงๆ ระบอบประชาธิปไตยในโลกนี้ ก็มีหลายแบบหลายประเภท อย่างระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐ ภายใต้โดนัล ทรัมป์ ก็ถือว่า เป็นประชาธิปไตยที่ผุกร่อนไปแล้ว ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ฉะนั้นเมื่อมองไปที่สหรัฐเวลานี้แล้วบอกว่าเป็นแบบอย่างการแก้ไขปัญหาในระบอบประชาธิปไตยที่ล้มเหลว ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าใช่ แต่ไม่สามารถพูดเพียงแค่นี้ได้ เพราะมันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ล้มเหลว แต่เป็นประชาธิปไตยภายใต้ทรัมป์ต่างหากที่ล้มเหลว เช่นเดียวกันกับ บราซิล และอีกหลายประเทศ การจะบอกว่าประเทศประชาธิปไตยล้มเหลวได้ ควรจะต้องดูที่คุณภาพความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆ ด้วย 

“ถ้าคุณไม่มองไปที่คุณภาพของประชาธิปไตย แล้วไปพูดว่าประชาธิปไตยล้มเหลว คุณจะตอบอย่างไรกับกรณีเกาหลีใต้ ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ซึ่งทั้งสามประเทศเรียกได้ว่าเป็นโมเดลที่ทั่วโลกยกย่อง ว่ารับมือกับกับวิกฤติได้ดีในความหมายที่รวมทั้งการมีผู้ติดเชื้อน้อย รวดเร็ว ชับไว และรัฐยังดูแลประชาชนของตัวเองได้ดี สร้างสมดุลในเรื่องเศรษฐกิจกับสังคมได้ดีด้วย ซึ่งทั้งสามประเทศนี้เป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีคุณภาพมาก”

ในกรณีของเกาหลีใต้ มีความพิเศษกว่าประเทศอื่นๆ ประจักษ์ชี้ว่า ในขณะที่หลายประเทศยังจัดการกับสถานการณ์อยู่ เกาหลีใต้สามารถจัดการเลือกตั้งได้ด้วย และมีคนมาใช้สิทธิเยอะไม่ต่างจากการเลือกตั้งปกติ และผู้นำคนเดิมก็ได้รับการเลือกตั้งกลับมา เพราะประชาชนเห็นว่า เขาเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ และจัดการสถานการณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องทำลายประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ใช้เทคโนโลยี และการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา พร้อมกับการทำงานที่รวดเร็ว

“ข้อสรุปของสังคมไทยที่มักเชื่อว่าเราต้องการ รัฐอำนาจนิยมเด็ดขาด เป็นคำตอบ ไม่ใช่ ในการรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ทั่วโลกที่เขาทำสำเร็จ เราไม่ได้ต้องการรัฐอำนาจนิยม เราต้องการรัฐที่มีประสิทธิภาพ สองสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน และรัฐที่เป็นอำนาจนิยม อาจจะไม่มีประสิทธิภาพก็ได้”

เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการคือรัฐที่มีประสิทธิภาพ และยิ่งเป็นรัฐประชาธิปไตยด้วย ก็ยิ่งจะสอดรับกับความต้องการประชาชน เพราะหน้าที่ของรัฐแบบประชาธิปไตยคือ การรับผิดชอบต่อประชาชน และต้องห่วงใยประชาชนเป็นอันดับแรกในการออกมาตราการแก้ไขวิกฤติ ส่วนรัฐอำนาจนิยมนั้น ไม่มีประเทศไหนที่ประสบความสำเร็จในการแก้วิกฤติครั้งนี้

“มีจีนประเทศเดียวที่เป็นรัฐอำนาจนิยมที่ได้รับการยกมาเป็นต้นแบบในการแก้ไขสถานการณ์ แต่ไม่มีใครนอกประเทศไทยยกจีนในเรื่องนี้ มีแต่ไทยที่ยกย่องจีน ประเทศอื่นไม่มีใครเขาเอาจีนเป็นโมเดล และประเทศอื่นเขาสำเร็จเขาก็ไม่ได้ทำแบบจีน เขาทำอะไรที่มันต่างออกไป จีนเป็นโมเดลที่ล็อคดาวน์เบ็ดเสร็จ ใช้อำนาจควบคุมคนอย่างเข้มข้น และเราไม่รู้ว่าต้นทุนมันเท่าไหร่ ทุกวันนี้เรารู้หรือว่าราคาที่สังคมจีนต้องจ่ายไป เราไม่รู้ เพราะเขาปิดข้อมูลทั้งหมด ขนาดหมอที่มาเปิดเผยว่ามีไวรัสตัวใหม่คนแรก ยังถูกลงโทษเลย… รัฐอำนาจนิยมอาจจะเก่งในการควบคุม แต่ความโปร่งใสเรื่องข้อมูลคุณไม่มี และมันนำมาสู่หายนะ”

ประจักษ์ กล่าวถึงสาเหตุที่ จีน ไม่ได้เป็นโมเดลที่ทั่วโลกยกย่อง เป็นเพราะการเป็นรัฐอำนาจนิยมที่เซ็นเซอร์ข้อมูลของโรคในช่วงแรก ทำให้ทั่วโลกไม่สามารถตั้งรับได้ระยะเวลาที่เหมาะสม หากไม่เป็นรัฐอำนาจนิยมก็อาจจะทำให้ทั่วโลกรับมือได้ทัน และมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนจะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อการระบาดครั้งนี้ที่แพร่ไปทั่วโลก 

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ในฐานะส่วนเติมเต็ม รธน. 60 และถูกใช้จนกลายเป็นความผิดปกติใหม่ 

ประจักษ์ กล่าวต่อไปว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นแล้ว ยิ่งตอนนี้ ศบค. ขยับเวลาเคอร์ฟิวให้ลดลง และให้เปิดห้างสรรพสินค้าได้ ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ เท่ากับว่าเวลานี้ความเข้มข้นในการใช้กฎหมาย สวนทางกับสถานการณ์ในการควบคุมโรค หากไปดูทั่วโลกประเทศไหนที่คุมได้เท่ากับไทย ส่วนใหญ่มักคลายล็อคดาวน์แล้ว เพราะราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการล็อคดาวน์สูง และประเทศเหล่านั้นรู้และเข้าใจดี 

“โรคนี้สักวันมันก็จะจบ แต่สิ่งที่คุณทำไว้เพื่อควบคุมโรคนี้ มันจะยังอยู่ และส่งผลกระทบต่อไป 4-5 ปี เช่น คนที่ตกงานในวันนี้ไม่รู้กี่ล้านคน กว่าคนจะกลับเข้ามาสู่ตลาดงานใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ การล็อคดาวน์ที่เเรง จนทำให้เศรษฐกิจดิ่งเหว จนคนตกงานเยอะ กว่าที่คนเหล่านี้จะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีรายได้กลับคืนมา อาจจะอีก 5-6 ปี ไม่ใช่ทำวันนี้ แล้วเดี๋ยวคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม และจะมีบางคนที่อาจจะไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติอีกเลยจากมาตรการที่รัฐตัดสินใจในวันนี้”

ประจักษ์ กล่าวด้วยว่า หน้าที่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเวลานี้คือการจัดระเบียบ สร้างเอกภาพในรัฐราชการ และรัฐบาลผสม ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือ ราคาที่เราต้องจ่ายให้กับการมีรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้นี้ ต่อให้ไม่เกิดวกฤติอะไร ก็จะผลิตรัฐบาลผสมที่ไม่มีประสิทธิภาพโดยตัวมันเองอยู่แล้ว 

“สถานการณ์ก็หน้านี้มันสะท้อนให้เห็นว่า คุณเจอปัญหาต่างๆ แล้วคุณไปไม่เป็นแล้ว สุดท้ายก็ต้องรวบอำนาจกลับมาให้นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ก็กลับมาใช้อำนาจได้ เหมือนตอนที่เป็นหัวหน้า คสช. ไม่ต้องพึ่งพาการตัดสิน ไม่ต้องมีการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาล คนก็บอกว่านี่เห็นไหม พวกนักการเมืองมันทำเละ แต่อย่าลืมว่านี่คือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เอง จะโทษนักการเมืองได้อย่างไร ตัวคุณเองก็เป็นนักการเมืองแล้ว พล.อ.ประวิตร ก็เป็นนักการเมืองแล้ว แล้วมันก็เป็นรัฐบาลผสมที่คุณสร้างขึ้นเอง และเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คุณออกแบบขึ้นมาเอง”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท