#4: ความเงียบอันขมขื่นในที่ทำงาน เมื่อปัญหาคุกคามทางเพศถูกซุกไว้ใต้พรม

 

ซีรีส์ความรุนแรงทางเพศตอนที่ 4 ความเงียบงันอันขมขื่นในที่ทำงาน สถิติน้อยเมื่อเทียบกับการคุกคามทางเพศแบบอื่น เมื่อคนจำนวนมากไม่กล้าร้องเรียน เพราะกลัวถูกกลั่นแกล้งหรือให้ย้ายออก และกลไกแก้ปัญหาที่ไม่เป็นอิสระไม่อาจสร้างความไว้ใจแก่ผู้ถูกกระทำ แต่ก้าวต่อไปคือกลไกที่มุ่งสร้างทัศนคติความเท่าเทียมทางเพศ คุ้มครองและเยียวยาผู้กระทำ และมีระบบติดตามตรวจสอบ อาจเป็นความหวังให้ปัญหานี้ไม่เงียบอีกต่อไป

 

 

#1: หนึ่งร้อยปีแห่งประวัติศาสตร์การข่มขืนในไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงใต้กรอบ 'ผู้หญิงที่ดี'

#2: เมื่อการข่มขืนถูกทำให้เป็นเรื่องระหว่างบุคคล จึงไม่ต้องแก้เชิงโครงสร้าง

#3: 'เข้มแข็งไม่พอ ก็เป็นนักกิจกรรมไม่ได้' คำตอบต่อการถูกคุกคามทางเพศ?

#5: กม.ความรุนแรงทางเพศ แม้โทษแรงขึ้น เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ก็คุ้มครองไม่ได้

 

"ฉันนำเรื่องการถูกคุกคามทางเพศไปปรึกษากับหัวหน้า แต่พวกผู้บริหารเป็นผู้ชายทั้งหมดและพวกเขาบอกว่าฉันกำลังทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ มีผู้หญิง 5 คนที่ออกจากงานไปในช่วงเวลาแค่ 1 ปี เพราะผู้ชายคนเดียว"

นี่คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในการทำงานจากสาวอังกฤษคนหนึ่ง ในบทความ ‘เขาพยายามจะล้วงกางเกงในฉัน’ ของบีบีซีไทย 

สำหรับเรื่องนี้ประเทศไทยเองไม่ต่างกันนัก การคุกคามทางเพศ 'ในการทำงาน' ไม่ใช่เฉพาะแค่ ‘ในที่ทำงาน’ แต่คือทุกที่และทุกโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เป็นหนึ่งในประเภทการคุกคามทางเพศที่ปรากฎเป็นข่าวน้อย ยิ่งสถิติการร้องเรียนยิ่งไม่ต้องพูดถึง

“ก่อนหน้านี้เคยมีการสำรวจข้อมูลจาก 136 หน่วยงาน มีแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แจ้งเข้ามาว่ามีการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศในการทำงาน ซึ่งเราประเมินว่าน้อยเกินไป ไม่น่าจะตรงกับความเป็นจริง ขณะที่ในปัจจุบันมีสถานการณ์เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น” คือคำกล่าวของวิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

ตรงกับที่จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลระบุว่า ตัวเลขการคุกคามทางเพศหรือข่มขืนในการทำงานนั้นทางมูลนิธิรวบรวมได้น้อยเมื่อเทียบกับการคุกคามทางเพศแบบอื่น

“เข้าใจว่าเหตุที่ตัวเลขไม่เยอะน่าจะเป็นเพราะ คนที่ถูกคุกคามทางเพศในการทำงานมักมีอำนาจต่อรองค่อนข้างน้อย ขณะที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือกว่าในการให้คุณให้โทษ คนที่ถูกคุกคามทางเพศจึงกลัวตกงาน และบางคนก็มีครอบครัวพ่อ แม่ หรือลูกที่ต้องเลี้ยงดู ดังนั้นเขาจึงไม่กล้าร้องเรียน” 

จะเด็จเล่าว่ามีกรณีที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกข่มขืนจากเจ้านาย เมื่อเธอเปิดเผยเรื่องกลับเป็นฝ่ายต้องออกจากงาน เนื่องจากวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ พนักงานคนอื่นคิดว่าเธอให้ท่าเอง และเลือกที่จะเข้าไปหาเจ้านายในห้องเอง 

“อย่างแรกสังคมมองผู้ที่ถูกกระทำว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ไปยั่วเขาก่อน สองคือต้องการเงิน เพราะการต่อสู้ประเด็นข่มขืนหรือคุกคามทางเพศเรียกค่าเสียหายได้ด้วย ตราบใดที่ทัศนคติแบบนี้ยังไม่เปลี่ยน การลุกขึ้นมาพูดว่าตัวเองโดนคุกคามก็ยังเป็นสิ่งที่ยาก” จะเด็จกล่าว

การคุกคามทางเพศในการทำงานจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ซุกอยู่ใต้พรม มีโอกาสที่ทุกคนในวัยทำงานต้องเผชิญ แต่ไม่มีใครกล้าร้องเรียน หรือบางคนก็ไม่รู้ว่าควรจะร้องเรียนช่องทางไหน บางคนไม่มั่นใจว่าโดนกระทำแบบนี้ ร้องเรียนได้หรือยัง 

ก่อนอื่นชวนทำความเข้าใจนิยาม กฎหมาย และมาตราการที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามทางเพศว่ามีอะไรบ้าง

 

‘คุกคามทางเพศ’ ครอบคลุมตั้งแต่ใช้สายตา วาจา คุกคามทางโซเชียล

“อำนาจแบบชายเป็นใหญ่มันเริ่มจากเบาไปหาหนักนี่แหละ ผู้ชายเชื่อว่าผู้หญิงจะเริ่มค่อยๆ ชอบเขาถ้าทำไปเรื่อยๆ เราเจอเคสที่เริ่มจากเบาและนำไปสู่การข่มขืน มันมาจากคนใกล้ตัวนี่แหละ คำนิยามทางเพศจึงต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก” จะเด็จสะท้อนภาพรวม

กล่าวโดยสรุป คำนิยามการคุกคามทางเพศในปัจจุบันนั้นกินความตั้งแต่การใช้สายตาลวนลาม เช่น จ้องมองร่างกาย มองช้อนใต้กระโปรง ทางวาจา เช่น วิจารณ์รูปร่าง พูดตลกทางเพศ การกระทำทางกาย แสดงอาการในทางเพศ เช่น สัมผัส กอด จูบ ตื้อ ต้อนให้จนมุม ฯลฯ จนถึงการส่งรูป ส่งข้อความทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และการกระทำแบบอื่นๆ ที่ส่อเจตนาทางเพศ ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกเดือดร้อนรำคาญ โดยมีกฎหมายรองรับคือ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 สำหรับหน่วยงานราชการ และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 สำหรับภาคเอกชน 

และหากผู้ใดถูกกระทำตามคำนิยามการคุกคามทางเพศที่กล่าวมา ก็สามารถร้องเรียนได้ทันทีที่หน่วยงานของตัวเอง หรือจะเป็นกลไกอื่นๆ ที่จะกล่าวถึงเป็นลำดับต่อไป

การคุกคามทางเพศในที่ทำงานยังแบ่งออกเป็น หนึ่ง-กรณีที่นายจ้างหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่า ขอให้มีเพศสัมพันธ์ หรือขอจับต้องสัมผัสร่างกาย โดยเสนอผลประโยชน์เป็นการตอบแทน เช่น การขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง ได้สิทธิเข้ารับการฝึกอบรม ฯลฯ หากลูกจ้างไม่ยินยอมจะได้รับผลร้าย เช่น ถูกลงโทษทางวินัย กลั่นแกล้งโยกย้ายหน้าที่ ไม่ให้ทำงานล่วงเวลา ฯลฯ ทำให้ลูกจ้างตกอยู่ในภาวะต้องเลือกระหว่างยอมให้ถูกลวงเกินทางเพศหรือจะได้รับผลร้ายเกี่ยวกับการทำงาน การล่วงละเมิดทางเพศแบบนี้อาจเรียกว่า “sexual blackmail”

สอง-การสร้างสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศในการทำงานที่ไม่เป็นมิตร ก่อให้เกิดความอึดอัด ไม่สบายใจโดยมีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น การติดภาพหญิงในสภาพโป๊เปลือยไว้ในสถานที่ทำงาน (ทั้งนี้ต้องขึ้นกับความสบายใจและการทำความตกลงกันภายในที่ทำงานด้วย) การเขียนข้อความในเรื่องเพศไว้ในที่ทำงาน การนำภาพลามกอนาจารไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศหรือสรีระร่างกายของลูกจ้างหญิง ฯลฯ

กฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 และได้กำหนดรูปแบบการกระทำที่จะถือว่าเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศไว้ว่า 

“รูปแบบของการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในหน่วยงานราชการนั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าเป็นการกระทำด้วยการสัมผัสทางกายที่มีลักษณะส่อไปในทางเพศ เช่น การจูบ การโอบกอด การจับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ฯลฯ การกระทำด้วยวาจาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ร่างกาย การพูดหยอกล้อ พูดหยาบคาย ฯลฯ การกระทำด้วยอากัปกิริยาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น การใช้สายตาลวนลาม การทำสัญญาณหรือสัญลักษณ์ใด ๆ การแสดงหรือสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่ส่อไปในทางเพศ เช่น การแสดงรูปลามกอนาจาร ส่งจดหมาย ข้อความ หรือการสื่อสารรูปแบบอื่น ฯลฯ หรือการแสดงพฤติกรรมอื่นใดที่ส่อไปในทางเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์หรือเดือดร้อนรำคาญ”

ขณะที่ในภาคเอกชนก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 โดยมาตรา 16 ระบุว่า “ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงานหรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคามหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง” 

ซึ่งคำว่า ‘ล่วงเกิน’ หมายถึง แสดงอาการเกินสมควรต่อผู้อื่นโดยล่วงจารีตประเพณีหรือจรรยามารยาท ด้วยการลวนลาม เช่น พูดจาลวนลาม ถือโอกาสจับมือถือแขน ‘ดูหมิ่น’ หมายถึงแสดงกริยาท่าทางเป็นเชิงดูถูกว่าด้อยกว่าต่ำกว่า สบประมาท เป็นต้น ‘คุกคาม’ หมายถึง แสดงอำนาจด้วยกริยาหรือวาจาให้หวาดกลัว ทำให้หวาดกลัว และ ‘รำคาญ’ หมายถึง ระคายเคือง เบื่อ ทำให้เดือดร้อนเบื่อหน่าย นอกจากนี้คำว่า ‘ลูกจ้าง’ ยังครอบคลุมถึงลูกจ้างทุกเพศทุกวัย

 

มติ ครม. วางมาตรการป้องกันแก้ไขการคุกคามทางเพศ

ต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 เห็นชอบต่อมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ซึ่งเป็นการขอความร่วมมือกับภาคเอกชนในการวางแนวทางตามมาตรการดังกล่าวด้วย

วิจิตาอธิบายว่ามาตรการดังกล่าวแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือการให้หน่วยงานประกาศเจตนารมณ์ว่าจะต้องไม่มีการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยทุกหน่วยงานต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี 

ส่วนที่สองคือกลไกการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีการตั้งคณะทำงานจากในหน่วยงานนั้นๆ ​ไม่เกิน 5 คนเพื่อตรวจสอบเมื่อมีคดีการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศในการทำงาน คณะทำงานประกอบไปด้วย ประธานคณะทำงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าคู่กรณี (ผู้กระทำ) บุคคลจากหน่วยงานต้นสังกัดของคู่กรณี โดยมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคู่กรณี โดยอาจมีบุคคลที่มีเพศเดียวกับผู้เสียหายไม่น้อยกว่าหนึ่งคน และให้มีบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังในการสอบข้อเท็จจริงได้ หรือให้กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมดำเนินการสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ยังมีการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและพยาน ไม่ให้ถูกรังแก กลั่นแกล้ง หรือถูกโยกย้าย

ส่วนที่สามคือทุกหน่วยงานต้องรายงานผลการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติฯ อย่างต่อเนื่อง และมีการตั้งศูนย์ประสานป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) ซึ่งหน้าที่ของศูนย์คือให้คำแนะนำ ให้ความรู้ อบรมบุคลากร รวมถึงการติดตามว่าหน่วยงานมีการดำเนินตามมาตรการนี้หรือไม่ อย่างไร ถ้าไม่ดำเนินการต้องส่งข้อชี้แจง ข้อเสนอแนะ นำสู่คณะกรรมการระดับชาติเป็นวาระต่อไป

 

กลไกร้องเรียนไม่เป็นอิสระ

จะเด็จมองว่า มาตรการดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ตั้งข้อสังเกตว่ากลไกในการร้องทุกข์นั้นอาจยังมีปัญหาเนื่องจากในการตั้งคณะทำงาน องค์ประกอบของคณะทำงานยังเป็นคนในหน่วยงานเดียวกัน ทำให้บางครั้งผู้ถูกกระทำไม่กล้าที่จะร้องเรียน

“ระบบราชการก็เป็นระบบอำนาจนิยมแบบหนึ่ง หากกลไกในการร้องทุกข์ไม่มีคนข้างนอก ก็ทำให้หลายคนไม่กล้าไปร้องทุกข์ ร้องทุกข์ไปแล้วก็อาจถูกเล่นงานเรื่องเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง บางคนต้องถูกบีบให้ออกไปเลย ขณะที่กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในภาคเอกชนคนก็ไปใช้น้อย กรณีที่น่ากังวลคือมีหลายเคสที่ถูกหัวหน้าคุกคามทางเพศ เป็นกึ่งบังคับกึ่งได้ผลประโยชน์ เช่น ถ้ามีความสัมพันธ์กับหัวหน้าก็จะได้เลื่อนขั้น”

“นี่คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทย สถิติไม่มี สถานการณ์ก็ต่างกับที่อื่นที่เขาลุกขึ้นมาต่อสู้ กฎหมายยังไม่ช่วยเขาเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ กลไกมันควรรองรับเขา ปกป้องเขา โดยที่เขาไม่ต้องกล้าหาญ หรือเข้มแข็ง หรือต้องแบกรับแรงกดดันอะไร ถึงจะลุกขึ้นมาพูดได้ แต่อำนาจนิยมแบบไทยมันทำให้กลไกเหล่านี้เกิดไม่ได้ ตราบใดที่กลไกยังวนเวียนอยู่ในหน่วยงานเขาเอง จะไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมา” จะเด็จกล่าว

 

อีกหลายช่องทางในการร้องเรียน

ขณะที่วิจิตาเห็นว่า การที่มีกลไกดังกล่าวนั้นเป็นความพยายามที่จะให้แก้ปัญหาภายในหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อผู้ร้องเรียน และในองค์ประกอบคณะทำงานก็ได้กำหนดว่าประธานจะต้องเป็นคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าผู้กระทำ แต่หากผู้ร้องเรียนมีความไม่สบายใจที่จะร้องเรียนในกลไกดังกล่าวก็ยังสามารถร้องเรียนในกลไกอื่นได้ 

วิจิตายกตัวอย่างกลไกอื่นๆ เช่น กรมสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ก็มีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) 

หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็มีศูนย์ปฏิบัติการเรื่องการป้องกันการกระทำความรุนแรง เป็นศูนย์ที่ดูแล เยียวยา ช่วยเหลือ ซึ่งมีการจ้างคนภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการนี้ไว้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 คน เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ และจะเปิดให้รับเรื่องร้องทุกข์ได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงสายด่วน 1300 ก็สามารถโทรมาปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือในเรื่องการถูกคุกคามทางเพศได้เช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังสามารถร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือกระทั่งศาลได้ด้วย 

 

กลไกต้องหลากหลาย เป็นอิสระ มีคณะทำงานจากหลายภาคส่วน

จะเด็จเสนอว่า สิ่งที่ควรทำคือการมีองค์กรอิสระหรือกึ่งอิสระในการรับเรื่องร้องเรียนซึ่งมีสถานะทางกฎหมาย โดยคณะทำงานต้องเป็นคนที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ทั้งนักวิชาการ และภาคประชาสังคม ขณะเดียวกันกลไกร้องเรียนไม่ใช่ร้องเรียนอย่างเดียว แต่ต้องฟื้นฟูเยียวยา รวมถึงหากผู้ถูกกระทำต้องการดำเนินคดีก็ต้องช่วยในการสู้คดีด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะราชการหรือเอกชนก็สามารถร้องเรียนได้ นอกจากนี้จะเด็จเห็นว่าไม่ควรมีแค่กลไกเดียว แต่ควรมีหลากหลายกลไก กระจายตัว และร้องเรียนได้ง่าย สร้างความไว้ใจให้กับผู้ร้องเรียน

“ที่สำคัญคือไทยต้องมีบทเรียนจากกรณีเหล่านี้ไว้เป็นบรรทัดฐาน เพราะขณะนี้ยังไม่มีเคสคุกคามทางเพศจากการมอง หรือจากวาจา มีแค่เคสจับหน้าอกซึ่งเห็นชัด แต่ที่เห็นไม่ชัดก็ยังต้องเรียนรู้กันอีกเยอะ” จะเด็จกล่าว

จะเด็จมองว่า ในไทยยังให้ความรู้เรื่องการคุกคามทางเพศน้อยมาก ผู้ชายอาจถูกปลูกฝังมาว่าต้องเก่งเรื่องเพศ ต้องเจ้าชู้ ขณะที่ผู้หญิงบางคนก็ยังเชื่อว่าการถูกทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติ ถ้ามีมาตรการปรามแบบนี้จะทำให้ผู้ชายเริ่มระวังตัวมากขึ้น

“ในภาคเอกชนหลายบริษัทที่มีมาตรการก็สามารถเอาผิดได้ ทำให้ผู้ชายค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากทำก็โดนลงโทษ แต่ถ้าหากบริษัทเรายังไม่มีมาตรการ เราต้องรวมกลุ่มคนที่ถูกคุกคามด้วยกัน แสดงออกให้รู้ว่าเรื่องแบบนี้ทำไม่ได้ คนที่ถูกกระทำในที่ทำงานต้องรวมกลุ่มกัน สู้ด้วยกัน” จะเด็จระบุ

 

ทีละก้าวของกระบวนการคุ้มครอง

วิจิตากล่าวว่าตอนนี้เป็นช่วงที่กำลังดำเนินการตามมาตรการ และจัดทำแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ทุกหน่วยงานนำไปปรับใช้ ซึ่งตนยอมรับว่าอุปสรรคคือมีผู้ถูกละเมิดมาร้องเรียนน้อย ทางแก้คือให้ศูนย์ประสานป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) ติดตามทุกหน่วยงาน เชื่อมประสานระหว่าง 20 กระทรวงรวมถึงภาคเอกชน โดยต้องมีรายงานทุกเดือน และหากต้องการร้องเรียนก็สามารถทำได้ทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์ หากไม่ต้องการเปิดเผยชื่อก็ทำได้ และนอกจากนี้ทาง ศปคพ. ยังจะสอดส่องตามสื่อต่างๆ เช่นโซเชียลมีเดียด้วยว่ามีการคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ หากมีปรากฏในโซเชียลมีเดีย ก็จะใช้ข้อมูลเหล่านั้นสอบถามกลับไปที่หน่วยงานนั้นๆ ในกรณีที่มีข้อเท็จจริงปรากฎแต่ไม่ได้อยู่ในรายงาน

วิจิตากล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันศูนย์ปฏิบัติการเรื่องการป้องกันการกระทำความรุนแรงก็จะเป็นศูนย์ที่ให้คำปรึกษาเยียวยาเฉพาะกรณี และช่วยดำเนินคดีในกรณีที่อยากฟ้องร้อง 

“ยอมรับว่ามาตราการก็ส่วนหนึ่ง แต่วิธีปฏิบัติจริงๆ นอกจากแนวทางปฏิบัติแล้วต้องขึ้นกับความตั้งใจและจริงใจของหน่วยงานที่จะต้องปฏิบัติ ต้องสร้างความเข้าใจภายในหน่วยงาน ซึ่งเราหวังว่าเมื่อมี ศปคพ. แล้ว จะทำงานทั้งในเรื่องสถิติและในเชิงการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำอย่างใกล้ชิดและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาก็ยังมีผลในเชิงบวกบ้างในการรณรงค์เพื่อประกาศเจตนารมณ์ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ล่วงละเมิดทางเพศ หลายหน่วยงานก็ออกแนวทางวิธีการปฏิบัติในประเด็นนี้มากพอสมควร”

“เรื่องสำคัญคือต้องรื้อค่านิยมชายเป็นใหญ่ อำนาจนิยม และสังคมต้องช่วยกัน กรมกิจการสตรีฯ อาจทำได้ในมุมมองการใช้มาตรการ แต่ในภาพรวมของสังคม ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ต้องร่วมมือกันในการปรับทัศนคติ และสร้างทัศนคติใหม่ต่อสังคม” วิจิตากล่าว

 

งานที่ดีเกิดได้ต้องไม่มีการคุกคามทางเพศ

จะเด็จกล่าวสรุปว่า ประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศในการทำงานเป็นประเด็นเร่งด่วนที่รัฐต้องแก้ไข เนื่องจาก หนึ่ง-ที่ไหนมีการคุกคามทางเพศ ที่นั่นจะมีคนที่อยู่อย่างหวาดกลัว คนจะทำงานอย่างไม่มีความสุข หวาดระแวง ประสิทธิภาพการทำงานก็จะน้อย ไม่ว่าหน่วยงานไหนมีสภาพแบบนี้ ก็ไม่มีใครอยากอยู่ งานออกมาไม่ดี 

สอง-เป็นมาตรการสากลที่รัฐบาลได้รับอนุสัญญาต่างๆ มาเพื่อให้ประเทศมีบรรทัดฐานที่ดี หากยังมีการคุกคามทางเพศอยู่มาก ไทยก็จะถูกประเมินในเรื่องนี้ต่ำ

สาม-เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องคุ้มครองปกป้องไม่ให้ใครถูกทำร้าย ถูกละเมิด ถูกลดทอนศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์ 

สี่-นอกเหนือจากค่าแรงและสวัสดิการ การป้องกันการถูกคุกคามทางเพศก็เป็นมาตรการส่วนหนึ่งเพื่อคุ้มครองคนทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี 

“มันเป็นเรื่องสิทธิที่ต้องได้ รัฐบาลควรมองเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ และอยากให้สังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนควรได้รับการคุ้มครอง” จะเด็จกล่าวทิ้งท้าย
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท