Skip to main content
sharethis

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแถลงเลื่อนกำหนดการสรุปกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า โครงการเขื่อนหลวงพระบางออกไปเป็น 30 มิ.ย.2563

5 มิ.ย.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ว่า วันนี้ (5 มิ.ย.63) เว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) โพสต์ข่าวที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า คณะกรรมการร่วมของ4 ประเทศสมาชิก (Joint Committee) ได้มีการจัดประชุมแบบทางไกล เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ที่กรุงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว เพื่อตัดสินใจร่วมต่อกรณีกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ของโครงการเขื่อนหลวงพระบาง โดยระบุว่า สมเกียรติ ประจำวงศ์ ประธานคณะกรรมการร่วมกล่าวว่า เนื่องจากข้อกังวลและความคิดเห็นของสมาชิก ได้แก่ประเทศกัมพูชา ไทย เวียดนาม และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ของลุ่มน้ำโขง และความเห็นร่วมของตัวแทน สปป. ลาว จึงตัดสินใจที่จะสรุปกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ไปเป็นวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพื่อให้มีเวลาในการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเป็นการสรุปกระบวนการ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะที่รอบด้านต่อ สปป.ลาว ในฐานะเจ้าของโครงการได้พิจารณาและหาแนวทางแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสำนักเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้มีเอกสารตอบกลับของรัฐบาลไทยต่อกระบวนการแจ้งปรึกษาหารือล่วงหน้า ถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งครบระยะเวลา 6 เดือนเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2563 มีเนื้อหาสำคัญระบุว่า รัฐบาลไทยมีความกังวลและมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลลาว ในฐานะเจ้าของและผู้พัฒนาโครงการ ปรับปรุงพัฒนาและการบริหารโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในประเด็นสำคัญ 8 ข้อ ประกอบด้วย

1. การเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ (ระดับน้ำขึ้น-ลงอย่างฉับพลันและช่วงเวลา) ที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนท้ายน้ำด้านการประมง การเกษตรริมฝั่ง การท่องเที่ยว ภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วมโดยฉับพลัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสัณฐานของตัวลำน้ำและตลิ่งแม่น้ำโขง

2. มีความห่วงกังวลต่อการลดลงของตะกอนและสารอาหารที่มีผลต่อระบบนิเวศและธรณีสัณฐานและส่งผลกระทบโดยตรงต่อแม่น้ำโขงสายประธาน ห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติและความมั่นคงด้านอาหาร

3. การเปลี่ยนแปลงด้านการให้บริการของระบบนิเวศ  ข้อกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฎการณ์แม่น้ำเปลี่ยนสี จึงต้องศึกษาหาปัจจัยและสาเหตุหลักมาจากอะไร รวมทั้งต้องการทราบข้อมูลการกำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ข้อเสนอเกี่ยวกับการศึกษาเพิ่มเติมและติดตามผลกระทบข้ามพรมแดน และผลกระทบสะสมต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำจากการบริหารจัดการโครงการเขื่อนขั้นบันไดอย่างเป็นระบบและครอบคลุมตลอดช่วงลำน้ำ

4. ด้านการประมงและทางปลาผ่าน มีข้อกังวลอย่างมากต่อโครงสร้างทางปลาผ่านและการบริหารจัดการเขื่อนแบบขั้นบันไดว่าจะสามารถเอื้อต่อการอพยพขึ้น-ลงของปลาตามฤดูกาลหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณการทดแทนของปลา ทำให้ปริมาณ ชนิดพันธุ์ ขนาดและความหลากหลายของพันธุ์ปลาลดลงและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทยและอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงโดยรวม มีข้อเสนอให้มีการดำเนินงานถอดบทเรียนด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติทางปลาผ่านของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรีเพื่อปรับแบบทางปลาผ่านของโครงการเขื่อนหลวงพระบาง

5. มีข้อเสนอให้ศึกษาวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมเพิ่มเติมในพื้นที่ท้ายน้ำที่มีผลกระทบจ่อประชาชนและชุมชนในประเทศท้ายน้ำและกำหนดมาตราการและแผนการปรับตัวของชุมชนที่ชัดเจนต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

6. การแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร การเปิดเผยข้อมูลและการติดตามผลกระทบในช่วงการก่อสร้างและระหว่างการปฏิบัติการของเขื่อนแบบขั้นบันได เพื่อให้ทราบถึงสภาพและการเปลี่ยนแปลงด้านทุกวิทยาและชลศาสตร์ รวมทั้งมาตรการการสื่อสารที่จำเป็นระหว่างการก่อสร้างและในช่วงการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ แผนการเตรียมความพร้อมฉุกเฉิน (Emergency Preparendness Plan) ที่มีการสื่อสารกับพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำ

7. มาตราการเยียวยาผลและบรรเทาผลกระทบ โดยมีข้อเสนอให้สปป.ลาวและผู้พัฒนาโครงการฯ จัดตั้งกองทุนชดเชย (Endownment Fund) กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนในด้านเศรษฐกิจ สังคม/ชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรา 7 การป้องกันและการหยุดยั้งผลกระทบที่เป็นอันตราย และความรับผิดชอบของรัฐต่อความเสียหาย ตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2538

8. คือการถอดบทเรียนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ผ่านมา เนื่องจากมีประเด็นข้อห่วงกังวลจากกระบวนการ PNPCA ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ผานมายังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้อย่างชัดเจน และยังไม่มีการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี ที่ได้ดำเนินการแล้วอย่างเป็นรูปธรรมก่อนที่จะเริ่มกระบวนการ PNPCA ของโครงการใหม่

ทั้งนี้เว็บไซต์ของ MRC ระบุว่ากรณีโครงการเขื่อนสานะคาม ที่ สปป.ลาว ได้ยื่นเอกสารเพื่อเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า จะเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือต่อหลังจากมีข้อสรุปของโครงการเขื่อนหลวงพระบางเสร็จสิ้นลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net