สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 31 พ.ค.-6 มิ.ย. 2563

เตรียมเสนอเงินเพิ่มพิเศษให้ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามงานระบายน้ำ

นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวกรณี นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย เสนอให้เพิ่มสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่งานระบายน้ำ เขตคันนายาว เนื่องจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนน้อย ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตว่า ในส่วนของลูกจ้างสำนักการระบายน้ำ ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง บำเหน็จและเงินช่วยเหลือลูกจ้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2557 ประกอบด้วย เงินทำขวัญ บำเหน็จปกติ บำเหน็จพิเศษ บำเหน็จรายเดือน บำเหน็จพิเศษรายเดือน บำเหน็จตกทอด และเงินช่วยเหลือค่าทำศพ เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร เงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ การประกันสังคมเงินทุนสนับสนุนการศึกษาแก่บุตรข้าราชการและลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร อาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างประจำของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นชอบในหลักการกำหนดเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับผู้ปฏิบัติงานเสี่ยงภัยตามแผนงานจัดการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการรับมือกับอุทกภัยทั้งจากน้ำฝน น้ำหนุน และน้ำหลาก เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม หากได้รับความเห็นชอบ จะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับผู้ปฏิบัติงานกู้ภัย พ.ศ.2548 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

นางช่อทิพย์ สิทธิพูล ผู้อำนวยการเขตคันนายาว กทม. กล่าวว่า อัตราลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว กลุ่มงานระบายน้ำ ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตคันนายาว มี 72 อัตรา ประกอบด้วย ลูกจ้างประจำ 39 อัตรา โดยได้รับค่าจ้างในการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำครั้งแรก เดือนละ 12,696 บาท อีกทั้งจะมีการเลื่อนตามอัตราเงินเดือนของแต่ละปี ส่วนลูกจ้างชั่วคราว กลุ่มงานระบายน้ำ ฝ่ายโยธา จำนวน 33 อัตรา ได้รับอัตราค่าจ้างเป็นรายเดือนๆ ละ 12,000 บาท นอกจากนี้ ทั้งลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว ยังได้รับเงินค่าตอบแทนค่าอาหารนอกเวลาราชการเฉลี่ยทุกคน เดือนละ 2,000 บาท รวมทั้งได้จัดทำประกันอุบัติเหตุกรณีเสียชีวิต วงเงินคนละ 100,000 บาท ตลอดจนได้รับการช่วยเหลือตามสิทธิต่าง ๆ ที่พึงได้รับจากกรุงเทพมหานคร รวมทั้งครอบครัวด้วย

ที่มา: RYT9, 5/6/2563

'ยูเอสเอด-ยูนิเซฟ' เร่งช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุด และแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย สู้วิกฤต COVID-19

สหรัฐอเมริกา โดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอด (USAID) และ องค์การยูนิเซฟ ประสานความร่วมมือในการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และบรรเทาผลกระทบในกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดในประเทศไทย เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มประชากรไร้สัญชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์

โดยยูเอสเอดได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 700,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22.3 ล้านบาท) ให้แก่ยูนิเซฟ เพื่อใช้ดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดในประเทศไทย เช่น กลุ่มรายได้น้อย แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมักมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการทางสาธารณสุขที่จำเป็น

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และประชากรกลุ่มเปราะบางล้วนเผชิญกับอุปสรรคมากมายในชีวิตมาตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาด เนื่องจากสถานภาพทางสังคม ข้อจำกัดทางภาษา หรือการถูกตีตราและแบ่งแยกในสังคม การรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ เราจะต้องไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดคือการปกป้องสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือสถานะ และให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นได้ เงินสนับสนุนจากยูเอสเอดจะช่วยให้ยูนิเซฟเข้าถึงเด็กและครอบครัวที่กำลังต้องการความช่วยเหลือที่สุดได้มากขึ้น โดยไม่มีใครต้องตกหล่น”

นายปีเตอร์ เอ. มัลนัค ผู้อำนวยการยูเอสเอด สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า “ยิ่งไปกว่าผลกระทบด้านสุขภาพ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนต่าง ๆ ในสังคมทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดจะเป็นผู้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งในด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่ต้องหยุดชะงัก ทั้งนี้ ยูเอสเอดพร้อมร่วมมือกับยูนิเซฟและรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีต่อชุมชนที่เปราะบางที่สุดทั่วประเทศไทย การร่วมมืออย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะช่วยให้เราสร้างวิถีใหม่ในการฟื้นคืนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในไม่กี่เดือนข้างหน้าต่อจากนี้”

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ยูนิเซฟได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติและรัฐบาลไทย เพื่อประสานความช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็ก ๆ และครอบครัวในชุมชนแรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมและทันท่วงที

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ยูนิเซฟได้ดำเนินงานร่วมกับองค์กรพันธมิตร เช่น มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสุขภาพและแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยแก่ประชากรข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ราว 120,000 คนใน 22 จังหวัดทั่วประเทศไทย พร้อมชุดข้อมูลในภาษาพม่า ภาษาเขมร และภาษาลาว ตลอดจนให้คำแนะนำด้านวิธีดูแลสุขภาพจิตและการดำเนินชีวิตแก่พ่อแม่และผู้ปกครองในชุมชนเหล่านี้

นอกจากนี้ ยูนิเซฟและองค์กรพันธมิตรยังได้จัดอบรมเยาวชนข้ามชาติให้สามารถเป็นแกนนำสนับสนุนการป้องกันโรคโควิด-19 และป้องกันการตีตราแบ่งแยกในชุมชนข้ามชาติ พร้อมจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยให้เยาวชนเหล่านี้สามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะได้อย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจากโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นประชากรข้ามชาติแล้ว เงินสนับสนุนจากยูเอสเอดจะช่วยให้ยูนิเซฟและรัฐบาลไทย ดำเนินงานเพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านการพัฒนาบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา อาทิ การจัดส่งเครื่องมือวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดให้ศูนย์ต่าง ๆ กว่า 3,000 แห่ง เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานสงเคราะห์เด็ก และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยูเอสเอดยังได้สนับสนุนยูนิเซฟในการพัฒนาช่องทางการให้บริการต่าง ๆ เช่น สายด่วนบริการสังคมและสุขภาพจิต ให้สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบคุ้มครองเด็กในชุมชน ทั้งในด้านการเฝ้าระวังสถานการณ์ การรายงาน และส่งต่อเมื่อเกิดเหตุรุนแรงต่อเด็ก การล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์จากเด็ก ซึ่งอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากมาตรการล็อคดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ที่มา: RYT9, 5/6/2563 

จ๊อบส์ ดีบี สัญญาณดีมานด์แรงงานเดือน พ.ค. 2563 ฟื้นรับคลายล็อคดาวน์เฟส 3 ชี้ 5 ธุรกิจต้องการคน

จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เผยภาพรวมความต้องการงานทั่วประเทศไทย 3 เดือนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แม้จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนส่งผลกระทบในหลายภาคส่วนจนทำให้เกิดอัตราคนว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในวิกฤตดังกล่าวพบว่ามีภาคธุรกิจที่ยังคงมีความต้องการแรงงาน อาทิ ธุรกิจไอที ธุรกิจขายปก ธุรกิจบริการด้านการเงิน ธุรกิจจัดจำหน่าย ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ และล่าสุดข้อมูลสิ้นเดือนพฤษภาคมพบสัญญาณการรับสมัครงานเพิ่มขึ้นใน 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจโลจิสติกส์ เพิ่มขึ้น 23% 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 13% 3.ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจการตลาด ธุรกิจประชาสัมพันธ์ เพิ่มขึ้น 6% 4.ธุรกิจประกันภัย เพิ่มขึ้น 5% และ 5.ธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก เพิ่มขึ้น 2% นอกจากนี้อัตราการสมัครงานยังเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับในเดือนเมษายน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นไปตามกลไลของสถานการณ์ที่เริ่มดีขึ้นตามลำดับ

ขณะที่ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรคนไทยเมื่อเดือนมีนาคมจะแสดงให้เห็นถึงจำนวนคนว่างงานกว่า 3.92 แสนคน (ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบในหลายภาคส่วนทำให้เกิดอัตราคนว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีการคาดการณ์จากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย(กกร.) ว่ามีพนักงาน 7 ล้านคนที่จะออกจากงานภายในเดือนมิถุนายน เนื่องจากการปิดตัวลงของภาคธุรกิจและส่งผลกระทบต่อคนทำงานที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยภาคคนหางานและภาคธุรกิจให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง จ๊อบส์ ดีบี ได้เปิดตัวโครงการ “ทูเก็ตเทอร์อเฮด” (#TogetherAhead) ช่วยเหลือผู้หางานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยผู้ประกอบการสามารถลงประกาศงานฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่ผู้หางานที่ได้รับผลกระทบสามารถมองหาตำแหน่งงานใหม่ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตดังกล่าว ถือเป็นอีกช่องทางให้ผู้ประกอบการได้คนทำงานที่ตรงใจ รวมถึงผู้หางานได้พบงานที่ดี มีคุณภาพจากองค์กรชั้นนำที่น่าเชื่อถือ ล่าสุดได้รับความสนใจจากองค์กรและผู้ประกอบการชั้นนำเข้าร่วมกว่า 600 บริษัท มีประกาศงานที่เปิดรับกว่า 1,500 อัตรา และมีใบสมัครเข้ามาในระบบแล้วมากกว่า 30,000 ใบสมัคร ซึ่งองค์กรหรือผู้ประกอบการที่สนใจสามารถรับขอสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://th.jobsdb.com/togetherahead

น.ส.พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจรวมถึงธุรกิจเกือบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งองค์กร ผู้ประกอบการ ตลอดจนฝั่งคนหางาน แต่ในวิกฤตดังกล่าวก็ยังพบว่ามีธุรกิจหลายประเภทที่ยังมีความต้องการแรงงาน เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถข้ามผ่านสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ ด้วยเหตุนี้ จ๊อบส์ ดีบี จึงได้เผยภาพรวมความต้องการคนทำงานทั่วประเทศไทยช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2563 พบข้อมูลดังนี้ 5 ธุรกิจที่ยังมีความต้องการคนทำงานได้แก่ 1.ธุรกิจไอที (Information Technology) 2.ธุรกิจการผลิต (Manufacturing) 3.ธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก (Wholesale / Retail) 4.ธุรกิจบริการด้านการเงิน (Financial Services) 5.ธุรกิจ Trading ธุรกิจจัดจำหน่าย (Trading and Distribution)

ส่วน 5 สายอาชีพที่ยังคงมีความต้องการคนทำงาน ได้แก่ 1.งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ (Sales, CS & Business Devpt) 2.งานไอที (Information Technology) 3.งานวิศวกรรม (Engineering) 4.งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ (Marketing / Public Relations) 5.งานธุรการ งานทรัพยากรบุคคล (Admin & HR)

โดยจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจและสายงานไอทีเป็นกลุ่มที่มีความต้องการคนทำงานสูง เนื่องจากหลายองค์กรมีการปรับตัวรับ New Normal รวมถึงการทำงานให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่าย มีการเตรียมความพร้อมรับคนกลับมาทำงานหลังภาพรวมต่างๆเริ่มส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น

ขณะที่จากข้อมูลล่าสุดสิ้นเดือนพฤษภาคมพบว่ามีตัวเลขความต้องการแรงงาน เริ่มฟื้นตัวกลับมา แบ่งตามกลุ่มธุรกิจได้แก่ 1.ธุรกิจโลจิสติกส์ (Logistic) เพิ่มขึ้น 23% 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property Development) เพิ่มขึ้น 13% 3.ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจการตลาด ธุรกิจประชาสัมพันธ์ (Advertising/Public Relations/Marketing Services) เพิ่มขึ้น 6% 4.ธุรกิจประกันภัย (Insurance/Pension Funding) เพิ่มขึ้น 5% 5.ธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก (Wholesale/Retail) เพิ่มขึ้น 2%

“จะเห็นได้ว่าการเติบโตของของภาคธุรกิจเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่มีการเติบโตจากการขนส่งสินค้าออนไลน์ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการสั่งอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น ส่วนธุรกิจประกันภัยมีการเติบโตเนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับประกันสุขภาพมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก ที่มีแน้วโน้มเติบโตอันเป็นไปตามเทคโนโลยีดิจิทัล”

ขณะที่ 5 กลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนประกาศงานลดเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ธุรกิจท่องเที่ยว (Tourism/Travel Agency) ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจจัดเลี้ยง (Hospitality/Catering) ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจสถาปัตยกรรม (Architecture/Building/Construction) ธุรกิจยานยนต์ (Motor Vehicles) ธุรกิจวิศวกรรมก่อสร้าง-ธุรกิจวิศวกรรมโยธา-ควบคุมอาคาร (Engineering - Building, Civil, Construction/Quantity Survey)

สำหรับภาพรวมของฝั่งคนหางาน พบว่าในเดือนพฤษภาคมผู้สมัครงานมีจำนวนการสมัครงานเพิ่มขึ้น คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ทั้งจากคนทำงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ รวมถึงผู้สมัครงานบางส่วนเริ่มมีความเชื่อมั่นในสถานการณ์และมองหาโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งพิจารณาจากใบสมัครเติบโตสูงพบว่า 1.ธุรกิจ Trading ธุรกิจจัดจำหน่าย (Trading and Distribution) เพิ่มขึ้น 32% 2.ธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ ปิโตรเคมี (Chemical / Plastic / Paper / Petrochemical) เพิ่มขึ้นสูงถึง 13% 3.ธุรกิจไอที (Information Technology) เพิ่มขึ้น 10% และ 4.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจจัดเลี้ยง (Food and Beverage / Catering) เพิ่มขึ้น 2%

ทั้งนี้ในช่วงเวลาเดียวกันยังแสดงให้เห็นถึง 5 กลุ่มสายงานเป็นที่ต้องการของผู้สมัครงานสูงคือ 1.อีคอมเมิร์ซ (E-commerc) เพิ่มขึ้น 75% 2.งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ (Sales, CS & Business Development) เพิ่มขึ้น 3% 3.งานบัญชี (Accounting) เพิ่มขึ้น 3% 4.งานไอที (IT) เพิ่มขึ้น 3% 5.งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ (Marketing / Public Relations) เพิ่มขึ้น 2% ตามลำดับ ซึ่งการแข่งขันเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการจ้างงาน ให้สามารถเลือกคนทำงานได้ตรงตามเป้าหมาย โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องการก้าวสู่ดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซในอนาคตต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 2/6/2563

ครม. ผ่อนปรนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ อยู่ในไทยและทำงานต่อได้อีก 2 เดือน

2 มิ.ย. 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 กรกฎาคม 2563 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

สืบเนื่องจากตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ที่ผ่อนผันให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 พฤษภาคม 63 แต่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังมีแนวโน้มอยู่อย่างต่อเนื่องอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น กระทรวงแรงงาน จึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองการต่างประเทศ

ทางด้านสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง เห็นควรผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานใน 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ แรงงานกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานไทย ภายใต้ MOU ด้านแรงงาน และแรงงานกัมพูชาและเมียนมาที่ถือบัตรผ่านแดน ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64 โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงการกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากแรงงานที่เดินทางเข้ามาใหม่ ลดความสุ่มเสี่ยงที่แรงงานบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ลดสภาวะการขาดแคนแรงงานของสถานประกอบการที่ยังต้องการจ้างคนต่างด้าว รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายหลังจากการสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย โดยกระทรวงมหาดไทยจะได้ออกประกาศกระทรวงตามมติ ครม. ต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 2/6/2563 

มูลนิธิปวีณาพบอธิบดี กสร.ร้องช่วยลูกจ้างขนซากเครื่องบิน

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุล เพื่อเด็กและสตรี ได้นำลูกจ้าง จำนวน 4 ราย มาพบเพื่อขอความช่วยเหลือกรณีนายจ้างประกอบกิจการถอดแยกชิ้นส่วนอุปกรณ์และอะไหล่ ย่านบางกะปิ เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ สั่งให้ลูกจ้างขนซากเครื่องบินจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างถูกไฟดูดเสียชีวิตและบาดเจ็บรวมทั้งให้ตรวจสอบกรณีนายจ้างมีการใช้แรงงานเด็กไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และค้างจ่ายค่าจ้าง

ซึ่งกรณีดังกล่าวลูกจ้างได้มายื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานไว้แล้วเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยในเบื้องต้นพนักงานตรวจแรงงานได้สอบข้อเท็จจริงลูกจ้างไว้บางส่วนแล้ว และอยู่ระหว่างการเรียกนายจ้างมาสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งหากพบว่านายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะดำเนินการเอาผิดกับนายจ้างรายนี้ทันที

อธิบดี กสร.กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงาน ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานประสานกับสำนักงานประกันสังคมในการเยียวยาลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการให้ชี้แจงสิทธิประโยชน์และให้ความช่วยเหลือลูกจ้างและญาติของลูกจ้างเสียชีวิตแล้ว

และขอฝากเตือนไปยังนายจ้างว่า การจ้างลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งมีโทษในอัตราสูง โดยมีโทษปรับ 4-8 แสนบาทต่อลูกจ้างเด็ก 1 คน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี และหากจะจ้างลูกจ้างอายุ 15 -18 ปี จะต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานก่อนการจ้างงานด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 2/6/2563 

Blognone เผยตลาดแรงงานไอทีปี 2020 ผลจาก COVID ตำแหน่งงานลดลง 3 เท่า การสมัครงานเพิ่ม 2 เท่า

Blognone มีบริการหางานด้านไอที Blognone Jobs มาประมาณหนึ่งปีกว่า ตัวบริการเปิดให้ใช้ฟรี และตลอดเวลาที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานเข้ามาใช้บริการประกาศหางานมากกว่า 1,200 แห่ง

จากสถานการณ์ COVID-19 และปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมา เราเห็นบริษัททั่วโลกออกมาตรการลดค่าใช้จ่าย ทั้งปลดพนักงาน ลดเงินเดือน รวมถึงหยุดการจ้างงานใหม่ด้วย

Blognone Jobs เห็นข้อมูลเชิงสถิติแรงงานด้านไอทีในช่วงนี้ น่าจะสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานได้พอสมควร จึงนำข้อมูลมากฝากกัน

ตำแหน่งงานไอที ลดลง 3 เท่าในรอบ 3 เดือนล่าสุด โดยข้อมูลนับจาก 1 มีนาคม 2563 จนถึง 1 มิถุนายน 2563 จำนวนตำแหน่งงานว่างของสายงานไอทีที่ประกาศผ่าน Blognone Jobs ลดลงประมาณ 3 เท่า คือ จากประมาณ 1,300 ตำแหน่ง ลดลงเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ประมาณ 400 ตำแหน่งเท่านั้น

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นบริษัทจำนวนมากเริ่ม "หยุด" จ้างงานใหม่ (อย่างน้อยก็สายงานด้านไอที) ซึ่งอาจมีเหตุผลมาจากการประหยัดค่าใช้จ่าย หรือไม่มั่นใจในสถานการณ์เบื้องหน้า

จำนวนการสมัครงานเติบโตสวนทาง ถ้าพิจารณาจากช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนครั้งของการยื่นสมัครงานผ่าน Blognone Jobs กลับเติบโตเพิ่มขึ้นสวนทางกัน จากค่าเฉลี่ยที่แกว่งตัวอยู่ประมาณ 100-200 ครั้งต่อสัปดาห์ในช่วงเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นมาถึงระดับ 400 ครั้งต่อสัปดาห์ในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ล่าสุด (ปลายเดือนพฤษภาคม 2563) หรือเพิ่มประมาณ 2 เท่า

ข้อมูลตรงนี้อาจตีความได้ว่า มีแรงงานด้านไอทีจำนวนหนึ่งที่มองหางานใหม่ๆ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการตกงานจากนายจ้างเดิม, ถูกลดเงินเดือน หรือไม่มั่นใจในอนาคตเบื้องหน้าเช่นกัน

ที่มา: Blognone, 1/6/2563 

'ไทยซัมมิท' ประกาศลดพนักงาน จ่ายสูงสุด 18.3 เดือน

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค บริษัทชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดโครงการสมัครใจลาออก พร้อมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย+เงินช่วยเหลือตามระเบียบบริษัท+เงินช่วยเหลือพิเศษ รวมสูงสุด 18.3 เดือน โดยเปิดให้พนักงานสมัครเข้าโครงการตั้งแต่ 26 พ.ค.-16 มิ.ย.2563 และพนักงานจะทำงานวันสุดท้าย 20 มิ.ย. 2563

โดยให้เหตุผลว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรง บริษัทมีความจำเป็นต้องปรับสมดุลจำนวนพนักงานของบริษัท ให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตตามความต้องการของลูกค้า จึงได้เปิดโครงการสมัครใจลาออก ผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ต้องเป็นพนักงานประจำทุกระดับของบริษัทในกรุ๊ปเท่านั้น

ทั้งนี้ กลุ่ม บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค ประกอบด้วย บริษัทไทยซัมมิท พีเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค จำกัด บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค บางปะกง จำกัด

พนักงานที่ได้รับการพิจารณาเข้าโครงการจะได้รับรับเงินชดเชยและเงินช่วยเหลือพิเศษดังนี้
- อายุครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย 30 วัน เงินช่วยเหลือพิเศษ 30 วัน รวมเป็น 60 วัน
- ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปไม่ครบ 3 ปี ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย 90 วัน เงินช่วยเหลือพิเศษ 30 วัน รวมเป็น 120 วัน
- ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปไม่ครบ 6 ปี ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย 180 วัน เงินช่วยเหลือ 30 วันพิเศษ รวมเป็น 210 วัน
- ตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย 240 วัน เงินช่วยเหลือพิเศษ 30 วัน รวมเป็น 270 วัน
- ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปไม่ครบ 15 ปี ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย 300 วัน เงินช่วยเหลือพิเศษ 30 วัน รวมเป็น 330 วัน
- ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปไม่ครบ 20 ปี ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย 300 วัน เงินช่วยเหลือตามระเบียบบริษัท 30 วัน เงินช่วยเหลือพิเศษ 30 วัน รวมเป็น 360 วัน
- ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปไม่ครบ 25 ปี ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย 400 วัน เงินช่วยเหลือตามระเบียบบริษัท 60 วัน เงินช่วยเหลือพิเศษ 30 วัน รวมเป็น 490 วัน
- ตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปไม่ครบ 30 ปี ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย 400 วัน เงินช่วยเหลือตามระเบียบบริษัท 90 วัน เงินช่วยเหลือพิเศษ 30 วัน รวมเป็น 520 วัน
- ตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย 400 วัน เงินช่วยเหลือตามระเบียบบริษัท 120 วัน เงินช่วยเหลือพิเศษ 30 วัน รวมเป็น 550 วัน

ที่มา: คมชัดลึก, 1/6/2563 

'คุ้มขันโตก' ร้านอาหารดังเชียงใหม่ ประกาศปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงานทั้งหมด

1 มิ.ย. 2563 ร้านอาหาร "คุ้มขันโตก" ร้านอาหารแบบขันโตกที่มีชื่อเสียงโด่งดังของเชียงใหม่ ออกประกาศเผยแพร่แจ้งหยุดประกอบกิจการ และเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้บริศัทไม่สามารถประกอบกิจการ หรือดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ส่งผลกระทบกับความสามารถหารายได้ บริษัทจึงไม่สามารถประกอบกิจการได้ต่อไป จำเป็นต้องหยุดประกอบกิจการ และเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้เว็บไซต์ cm108.com รายงานว่า คุ้มขันโตก เปิดบริการเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2543 ก่อตั้งโดย คุณวัชระ ตันตรานนท์ โดยต้องการให้นักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติได้สัมผัสกับวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา

ที่มา: ข่าวสด, 1/6/2563 

สภาหอการค้าฯ เปิดตัวแพลตฟอร์ม 'PEOPLE+ WORK CONNECT' ช่วยเหลือผู้ว่างงาน ระบุวิกฤตโควิดทำคนตกงาน 7 ล้านคน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย เปิดตัวแพลตฟอร์ม “PEOPLE+ WORK CONNECT” แฟลชรอมกลางใช้ในการจับคู่ความต้องการระหว่างธุรกิจกับผู้ว่างงานในช่วงโควิด-19 โดยในเบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากสมาชิกหอการค้าและพันธมิตรต่างๆจำนวน 29 บริษัท ช่วยเหลือภาคแรงงานให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ โดยแรงงานถือเป็นการส่วนที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในขณะนี้แพลตฟอร์มสามารถใช้งานได้แล้ว โดยล่าสุดมีตำแหน่งงานกว่าพันตำแหน่งที่อยู่ในแพลตฟอร์ม และจะทยอยนำข้อมูลเข้าในแพลตฟอร์มมากขึ้น และในช่วงแรกจะอยู่ในรูปแบบของบริษัทต่อบริษัท หรือ B2B แลกเปลี่ยนความต้องการแรงงานระหว่างกัน

ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการนำเข้าข้อมูลในส่วนของแรงงานที่ต้องการมีงานทำมากขึ้น โดยมั่นใจว่าจะสามารถดูดซับแรงงานที่ตกงานในเวลานี้ได้จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ทั้งหมดว่าจะอยู่ที่จำนวนเท่าใด โดยภาพจะเห็นชัดขึ้นหลังจากมาตรการช่วยเหลือในส่วนของ 5,000 บาทหมดลง เวลานั้นจะชัดเจนว่าจะมีแรงงานต้องการกลับเข้าระบบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งล่าสุดทางหอการค้าไทยได้ประเมินไว้มากในช่วงวิกฤติโควิด-19 จะมีแรงงานตกงานอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านคน

ที่มา: สยามรัฐ, 1/6/2563 

สมาคมโรงแรมไทย ยอมรับผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างแรงงานกลับมาได้ทั้งหมด มีบางส่วนต้องปิดกิจการถาวร

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่าหลังจากรัฐบาลปลดล็อกธุรกิจระยะที่ 3 จะทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ ภายในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า แต่ยอมรับว่า ผู้ประกอบการจะไม่สามารถจ้างแรงงานในธุรกิจกลับมาได้ทั้งหมด ซึ่งในช่วงระยะแรกจะสามารถจ้างงานได้ประมาณร้อยละ 30- 40 จากผู้ประกอบการที่สามารถกลับมาเปิดกิจการได้ประมาณร้อยละ 90 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 อาจต้องปิดกิจการถาวร

ขณะที่นโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เช่น โครงการไทยเที่ยวไทย จะช่วยกระตุ้นคนไทย ตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น พร้อมมองว่า จะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมให้กลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ มาตรการของรัฐบาลที่เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ จะทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่อง ให้สามารถพยุงธุรกิจของตนเองต่อไปได้ โดยแรงงานในภาคธุรกิจโรงแรมประมาณ 2 ล้านคน ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่ามีคนตกงานแล้ว 8-9 แสนคน

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 1/6/2563

เผย 'ฟรีแลนซ์-ค้าขาย' ยังเป็นอาชีพเสี่ยง COVID-19

1 มิ.ย.2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่าพบมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1 คน รวมสะสม 3,082 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 2 คนรวมหายป่วยกลับบ้าน 2,965 คน รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 60 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม คงที่ 57 คน

นพ.ทวีศิลป์ สำหรับผู้ป่วยใหม่ 1 คน เดินทางมาจากประเทศรัสเซีย เป็นผู้ป่วยหญิง อายุ 43 ปี เข้าพักที่ State Quarantine ใน จ.ชลบุรี ตรวจเชื้อครั้งแรกวันที่ 24 พ.ค.ไม่พบเชื้อ แต่ตรวจพบเชื้อครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่มีอาการป่วย

“ภาพรวมการติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์คนมาแล้ว 7 วัน โดยพบผู้ติดเชื้อมาจาก State quarantine แต่ 7 วันยังไม่น่าไว้วางใจ ต้องจับตา 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3”

โฆษกศบค.กล่าวอีกว่าสำหรับผู้ป่วยที่พบจาก State Quarantine พบผู้ป่วยรวม 145 คน ในส่วนของรัสเซียที่พบผู้ป่วยเพิ่มในวันนี้ 1 คน มีผู้เดินทางมาสะสม 292 คน พบป่วยแล้ว 4 คน รวมรายใหม่

นอกจากนี้หากจำแนกผู้ป่วยสะสมตามปัจจัยเสี่ยง 5 อันดับแรก ได้แก่ พบสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้ามากสุด 1,191 คน รองลงมาคืออาชีพเสี่ยง 284 คน สนามมวย 274 คน คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 269 คน และสถานบันเทิง 227 คน

ขณะที่ในรอบ 2 สัปดาห์ล่าสุด พบปัจจัยเสี่ยงผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine มากสุด 45 คน รองลงมาคือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 3 คน และไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 3 คน

ส่วนผู้ป่วยยืนยันจำแนกตามอาชีพ พบมากสุด รับจ้างทั่วไป หรือฟรีแลนซ์ 412 คน รองลงมา ค้าขายธุรกิจส่วนตัว 363 คน พนักงานบริษัท โรงงาน 272 คน นักเรียน นักศึกษา 206 คน และพนักงานในสถานบันเทิง 199

“ในช่วง 2 สัปดาห์พบอาชีพเสี่ยง รับจ้างทั่วไป ฟรีแลนซ์มากสุด 12 คน รองลงมาคือพนักงานนวด 11 คน”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับจำนวนการตรวจ COVID-19 โดย RT-PCR มีการตรวจแล้วจำนวน 420,529 ตัวอย่าง โดยมีการวางแผนตรวจเชิงรุกเพิ่มเติม

ที่มา: Thai PBS, 1/6/2563 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท