กลุ่ม 'นักเรียน-นศ.' ออกแถลงการณ์กรณีการหายตัวของ 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์'

กลุ่ม 'เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ' และ 'คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์' และ 'องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย' ออกแถลงการณ์กรณีการหายตัวของ 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์'

6 มิ.ย. 2563 เพจคณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่แถลงการณ์คณะกรรมการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณี การหายตัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ด้าน เพจเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ เผยแพร่แถลงการณ์ กรณีบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยทางการเมืองของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ระบุว่า "ต้นกล้าแห่งประชาธิปไตยต้นนี้จะไม่ยอมให้ใครมาพรากสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเราไป ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมาในรูปแบบใด หรือมีใครอยู่เบื้องหลังก็ตาม"

กรณีการบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยทางการเมืองของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์”

เนื่องด้วยเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ที่ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยถูกอุ้มหายไปจากหน้าที่พัก ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา การอุ้มหายครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ “ราคา” ที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยจำต้องจ่าย

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มีคนไทยที่คาดว่าถูกบังคับให้สูญหายไปแล้วอย่างน้อย 86 คน ส่วนมากเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารนี้มีผู้ถูกบังคับให้สูญหายมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

การบังคับสูญหายมิใช่เรื่องที่พ้นขอบเขตความรับผิดชอบของรัฐบาล หากแต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงที่จะต้องจัดการและต่อต้านอาชญากรรมที่ร้ายแรงนี้ เพื่อรับรองเสรีภาพในการแสดงออก และปกป้องสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการขอยืนหยัดในจุดยืนในการต่อต้านเผด็จการและอำนาจนิยม อันนอกจากจะเป็นต้นเหตุของความรุนแรงเช่นนี้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่ขัดขวางการตรวจสอบโดยภาคประชาสังคมอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้

1. รัฐบาลต้องผลักดันพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย โดยต้องรับฟังความคิดเห็นและรับรองการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

2. รัฐบาลต้องสอบสวนคดีบังคับสูญหาย ทั้งคดีใหม่และคดีเก่าซึ่งไม่มีอายุความ โดยไม่ละเลยที่จะขอความร่วมมือจากรัฐบาลต่างประเทศ รวมถึงเยียวยาครอบครัวของเหยื่อต่อไป ทั้งหมดนี้ต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส

กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการขอประณามการบังคับสูญหายและการเพิกเฉยของรัฐบาลที่มีต่ออาชญากรรมอันอุกฉกรรจ์ดังกล่าว ต้นกล้าแห่งประชาธิปไตยต้นนี้จะไม่ยอมให้ใครมาพรากสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเราไป ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมาในรูปแบบใดหรือมีใครอยู่เบื้องหลังก็ตาม

กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ

6 มิ.ย. 2563

ด้าน องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์เรื่อง กรณีอุ้มหาย “นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ระบุว่าจากกรณีการอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากกรณีการอนุมัติหมายจับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 โดยศาลทหาร ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังปรากฏว่า บนโลกโซเชียลได้มีการติด #Saveวันเฉลิม จนกลายเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงเป็นอันดับหนึ่งอย่างรวดเร็วนั้น
ต่อประเด็นข้างต้น ได้มีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ที่ได้ให้ความหมายของการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ “การอุ้มหาย” ว่าหมายถึง “การจับกุม การคุมขัง การลักพาตัว หรือ การลิดรอนเสรีภาพรูปแบบอื่น ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการภายใต้อำนาจหรือการสนับสนุนหรือการยอมรับจากรัฐ ตามด้วยการปฏิเสธไม่รับรู้การลิดรอนเสรีภาพดังกล่าว หรือโดยการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของผู้สูญหาย ทำให้ผู้สูญหายอยู่นอกการคุ้มกันของกฎหมาย” อนึ่ง แม้ไทยจะมิได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคี แต่ก็ได้มีการลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวไปแล้วมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 อันถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทยที่มีความตั้งใจจริงในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครอง ตลอดจนใส่ใจต่อปัญหาการอุ้มหาย อีกทั้งตามกฎหมายภายในและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่ ได้แก่ มาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อ 3 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และข้อ 6 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) นั้น ต่างก็ได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีมาตั้งแต่กำเนิด กล่าวคือ “สิทธิในชีวิต” ซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดสิทธิทั้งปวง และเป็นสิ่งที่รัฐไม่อาจปฏิเสธถึงความมีอยู่ของสิทธิดังกล่าวได้ จึงทำให้รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของประชาชนจากการละเมิดของบุคคลอื่น โดยเฉพาะหากการละเมิดนั้นตั้งอยู่บนความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนว่าเป็นการกระทำของรัฐแล้ว รัฐยิ่งจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีดังกล่าวโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำไปสู่กระบวนการเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) จึงขอประณามกรณีการอุ้มหาย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีดังกล่าวโดยเร็ว อบจ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่าทีของรัฐบาลในครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิในชีวิต และสิทธิขั้นพื้นฐานด้านอื่น ๆ ของประชาชน อันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลต่อไป

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6 มิ.ย. 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท