Skip to main content
sharethis

6 มิ.ย. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2 คน เป็นนักศึกษาจากรัสเซียและพนักงานโรงงานจากคูเวต แยกตามอาชีพยังพบนักศึกษาติดเชื้อมากที่สุด รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,104 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 คน รวมรักษาหายสะสม 2,971 คน แท็กซีติดเชื้อ COVID-19 คนแรกในไทย เปิดเผยชีวิตหลังหายป่วย COVID-19 พบผู้โดยสารบางคนยังกลัวติดเชื้อจนขอลงจากรถกะทันหันเมื่อทราบว่าเคยป่วย ขอสังคมเปิดใจติดเชื้อ COVID-19 แล้วหายได้ ล่าสุดยังคงไปบริจาคพลาสมาทุก 14 วัน เพื่อส่งต่อภูมิคุ้มกัน

6 มิ.ย. 2563 พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ COVID-19 ว่าประเทศไทยพบติดเชื้อเพิ่ม 2 คน รวมสะสมมีผู้ป่วย 3,104 คน ไม่มีผู้ป่วยหายเพิ่ม คงที่จำนวน 2,971 คน รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 75 คน และผู้เสียชีวิตคงที่จำนวน 58 คน

“ผู้ป่วยใหม่คนแรกเป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 22 ปี เป็นนักศึกษาเดินทางกลับมาจากประเทศรัสเซีย เข้าพักที่ State Quarantine จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ตรวจพบเชื้อ COVID-19 เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.”

อีกคนเพศชาย อายุ 39 ปี เป็นพนักงานโรงงาน ในประเทศคูเวต เดินทางกลับไทยและเข้าพักที่ State Quarantine ในกรุงเทพฯ ตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ ก่อนตรวจพบเชื้อ COVID-19 ในวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา”

พญ.พรรณประภากล่าวว่า สำหรับประเทศคูเวตมีคนไทยเดินทางกลับมาแล้ว 174 คน พบติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 32 คน ขณะที่รัสเซียมีคนไทยเดินทางกลับมาแล้ว 342 คน พบติดเชื้อ 5 คน

เมื่อแยกผู้ป่วยยืนยันตามปัจจัยเสี่ยงจำแนกตามอาชีพ พบว่า 2 สัปดาห์ล่าสุด พบผู้ป่วยเป็น นักเรียน-นักศึกษามากที่สุด 14 คน รองลงมาคือ รับจ้างทั่วไป-ฟรีแลนซ์ 12 คน พนักงานนวด 11 คน พนักงานบริษัท-โรงงาน 8 คน และงานช่าง 2 คน

ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วย COVID-19 ทั่งโลก พบผู้ป่วยสะสมแล้ว 6,844,797 คน ป่วยเพิ่มวันเดียว 146,427 คน อาการหนัก 53,502 คน รักษาหายแล้ว 3,348,860 คน และเสียชีวิตสะสม 398,146 คน โดยสหรัฐอเมริกา ยังมีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด 1,965,708 คน รองลงมาคือ ประเทศบราซิล และรัสเซีย ส่วนประเทศไทย อยู่อันดับ 80 ของโลก

ส่วนสถานการณ์ในฝั่งเอเชีย ประเทศอินเดีย ยังมีผู้ป่วยสะสมมากสุด 236,184 คน โดยต้นเดือนพ.ค. ประเทศอินเดียมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละ 1,000-2,000 คน แต่ช่วงปลายเดือน พ.ค.อินเดียมีผู้ป่วยรายวันเพิ่มขึ้นหลักหมื่น ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นสูงมาก ส่วนประเทศที่มีผู้ป่วยสะสมมากในเอเชียรองลงมาคือ ปากีสถาน และบังกลาเทศ

ข่าวที่น่าสนใจคือ รัฐบาลบราซิลได้อนุญาตให้ทดลองวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ในประเทศ ซึ่งวัคซีนนี้ผ่านการทดลอง และใช้ได้ผลกับลิงในห้องวิจัย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทดสอบกับอาสาสมัคร 10,000 คน”

พญ.พรรณประภากล่าวต่อว่า ในเกาหลีใต้มีรายงานผู้ป่วยใหม่ 39 คน ส่งผลให้มีผู้ป่วย COVID-19 สะสม 11,668 คนแล้ว โดยเหลือผู้ป่วยในระบบอย่างน้อย 889 คน อาการหนัก 15 คน โดยการพบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการควบคุม COVID-19 ในเกาหลีใต้ หลังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีระบุว่า 25-35 % ของผู้ป่วยสะสมในประเทศเป็นกลุ่มไม่แสดงอาการ

ขอให้ประชาชนป้องกันตัวเอง ด้วยการสวมหน้ากาก และรักษาระยะห่าง หากต้องการไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ หลังมาตรการผ่อนปรน ขอให้งดไปสถานที่ที่มีความแออัด และให้ความร่วมมือเช็กอิน-เช็กเอาท์ ผ่านแอปฯ ไทยชนะ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 และให้สามารถสอบสวนโรคเพื่อเข้าสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็ว

แท็กซี่ป่วยคนแรก ขอสังคมเปิดใจ

นอกจากนี้ ศบค. ยังได้เปิดเผยชีวิตหลังหายป่วยของ "ทองสุข ทองราช" แท็กซีติดเชื้อ COVID-19 คนแรกในไทย โดยนายทองสุข ระบุว่า ประกอบอาชีพขับแท็กซี่มา 14-15 ปีแล้ว ช่วงที่เริ่มป่วยวันนั้นรู้สึกเพลียๆ ครั่นเนื้อ ครั่นตัว เหมือนเป็นหวัด รับประทานยาลดไข้ก็ไม่ดีขึ้น จึงรีบไปพบแพทย์ ผลจากห้องปฏิบัติการออกมาว่าติดเชื้อ "ไวรัสอู่ฮั่น" ในตอนนั้นยังไม่ไดเรียกว่า COVID-19

“พอรู้ว่าติดเชื้อก็ตกใจมาก เพราะเป็นคนไทยคนแรกที่ติดเชื้อ แล้วตอนนั้นก็ยังไม่มียารักษา พอรู้น้ำตาก็คลอ”
หลังจากเข้ารับการรักษาจนหายดี เมื่อออกจากโรงพยาบาลนายทองสุขก็ได้กักตัวเองในบ้านต่อเป็นเวลา 20 วัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในตัวเองว่าหาย 100% และเพิ่มความมั่นใจว่าตัวเองรอดแล้ว

“ผมกักตัวเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าหายแล้ว 100% ตัวผมไม่ประมาท เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้”

นายทองสุข ระบุอีกว่าก่อนหน้านี้มีผู้โดยสารขึ้นมาใช้บริการ 3 คน หลังจากบอกจุดหมาย เขาก็เริ่มคลับคล้ายคลับคา เพราะส่วนตัวก็เคยออกทีวี เขาคงกลัวติดจึงขอลงกะทันหัน แล้วพูดแบบไม่ถนอมน้ำใจ

“เที่ยวนั้นก็เสียใจ ท้อนะ เหมือนเราเป็นตัวเชื้อโรค แต่ก็เข้าใจเขาเพราะว่าโรคนี้มันก็เหมือนติดง่าย ไม่โกรธนะ เพียงแต่อยากให้เขาได้รับข้อมูลมากกว่านี้ เขาจะได้ไม่รังเกียจคนที่ติด COVID-19”

เมื่อบางคนไม่เข้าใจแต่ก็ยังมีบางคนที่พร้อมปลอบใจ นายทองสุข ระบุว่า ยังมีลูกค้าส่วนใหญ่ที่จะคอยให้กำลังใจ และปลอบใจอยู่เสมอ และมักจะบอกว่าอย่าท้อ ก็ทำให้มีกำลังใจขึ้นมาได้ โดยหลังหายจาก COVID-19 แล้ว นอกจากดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ก็ได้กลับไปบริจาคพลาสมาทุก 14 วัน หวังส่งต่อภูมิคุ้มกันให้ผู้อื่นหายป่วยแล้วกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง

ขณะที่ผู้โดยสารคนหนึ่ง ระบุว่าพอขึ้นไปใช้บริการบนรถแท็กซี่ของนายทองสุขสะอาดมาก คนขับก็สวมหน้ากากตลอดเวลา และมีเจลล้างมือให้ผู้โดยสารได้ใช้

“ลุงก็หายแล้ว และเขามีอุปกรณ์เซฟผู้โดยสารด้วย ตอนเขาป่วยก็รู้สึกแย่ พอเขาหายแล้วกลับมาทำมาหากิน เราก็อยากจะเป็นกำลังใจให้เขาสู้ชีวิตต่อไป”

ทั้งนี้ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การเก็บข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า คนไข้ที่มีอาการน้อยๆ ส่วนใหญ่จะสามารถแพร่โรคได้เพียงประมาณ 8-10 วันเท่านั้น เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลจึงกักตัวดูอาการผู้ป่วยประมาณ 14 วัน ซึ่งจะเห็นว่ามีระยะเวลาเผื่อไว้อีกค่อนข้างจะมาก 

“อยากจะบอกทุกคนว่า คนไข้ที่รักษาหายและออกจากโรงพยาบาลแล้ว โอกาสในการแพร่โรคในชุมชนน้อยมากๆ ขอให้ช่วยให้โอกาสเขาได้ออกไปใช้ชีวิตปกติด้วย”

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net