ประวัติศาสตร์การอุ้มหาย เริ่มจากรัฐประหาร และคงไม่จบด้วยคณะรัฐประหาร

รายงานของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ ระหว่างปี 2523-2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีบุคคลถูกบังคับให้สูญหายเท่าที่ได้รับรายงานจำนวน 86 คน

การบังคับสูญหาย หรือ ‘อุ้มหาย’ ตามรายงานข้างต้น มีนิยามตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) หมายถึง การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำอื่นที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือได้รับการอนุญาต สนับสนุน หรือยอมรับโดยปริยายจากรัฐ มักตามมาด้วยการปฏิเสธว่ามีการลิดรอนเสรีภาพ หรือปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลผู้สูญหาย

อาจกล่าวได้ว่า การอุ้มหาย คือ อาชญากรรมโดยรัฐ เพราะประชาชนถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้การยินยอมหรือเพิกเฉยของรัฐนั่นเอง

หลัง 2490 จุดเริ่มต้นของการอุ้มหาย คือ การรัฐประหาร

86 คน เป็นตัวเลขเท่าที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ ไปยังคณะทำงานขององค์การสหประชาชาติในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จะพบว่า การอุ้มหายเริ่มต้นอย่างชัดเจนจากรัฐประหาร 2490 ที่นำมาสู่การกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างกว้างขวางโดยใช้การอุ้มฆ่า เช่น กรณี 4 อดีตรัฐมนตรีอีสานที่ถูกฆ่าภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจ และหลายคนก็สูญหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรม เช่น

เตียง ศิริขันธ์

เตียง ศิริขันธ์ อดีตเสรีไทยสายอีสาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สกลนคร ระหว่างปี 2480-2495 และรัฐมนตรี 3 สมัย ในรัฐบาลของทวี บุณยเกตุ  ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังการรัฐประหาร 2490 โดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัน คณะรัฐประหารเฝ้าติดตามและกวาดล้างศัตรูทางการเมืองเรื่อยมา กระทั่งเหตุการณ์ 4 รัฐมนตรีอีสานถูกฆ่าในปี 2492 เตียงเลี่ยงการถูกล่าและจับกุมไปอยู่ที่เทือกเขาภูพาน ก่อนตัดสินใจกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2495 เขาถูกจับตัวไปฆ่าที่กรุงเทพฯ และนำศพไปเผาเพื่ออำพรางคดีในวันที่ 12 ธ.ค. 2495 พร้อมกับชาญ บุนนาค, เล็ก บุนนาค, ผ่อง เขียววิจิตร, และสง่า ประจักษ์วงศ์

หะยีสุหลง โต๊ะมีนา

หะยีสุหลง โต๊ะมีนา หรือหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ผู้นำศาสนา และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวไทยมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาถูกจับกุมหลังการรัฐประหารปี 2490 ด้วยข้อหาคิดทำการกบฎ และดูหมิ่นต่อรัฐบาล, ข้าราชการแผ่นดิน และจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงกับจะก่อความไม่สงบขึ้น เนื่องจากเป็นตัวแทนกลุ่มชาวไทยมุสลิมยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งเขตปกครองตนเองใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาถูกจำคุกอยู่ 4 ปี 6 เดือน

หลังได้รับการปล่อยตัว หะยีสุหลงกลับไปทำงานสอนหนังสือที่ จ.ปัตตานี แต่ยังคงถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ กระทั่งวันที่ 13 ส.ค. 2497 ตำรวจสันติบาลสงขลาเรียกหะยีสุหลงไปพบ เขาพร้อมเพื่อนอีกสองคน และอาหมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตวัย 15 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาไทย เดินทางจากบ้านพักส่วนตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลา ก่อนทั้งหมดจะหายสาบสูญไม่มีใครทราบชะตากรรมจนถึงปัจจุบัน

หลังทศวรรษที่ 2510 คนหายเพราะปราบคอมมิวนิสต์

7 ส.ค. 2508 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก และต่อสู้ด้วยอาวุธกับกองกำลังของรัฐบาลไทยมาตลอดจนถึงปี 2523 ขณะที่ พคท. ใช้วิธีรบแบบกองโจร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐก็ใช้วิธีการรุนแรงนอกระบบกฎหมาย เพื่อลงโทษผู้ต้องสงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์เช่นกัน

หนึ่งในปฏิบัติการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ในช่วงเวลานั้นรู้จักกันในชื่อ “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” คือ การจับกุมผู้ต้องสงสัยมาใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ซึ่งใส่น้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้ในก้นถังประมาณ 20 ลิตร แล้วจึงเผาผู้ต้องสงสัยเหล่านั้น โดยผู้ต้องสงสัยบางส่วนอาจถูกทรมานจนเสียชีวิตมาก่อนแล้ว ส่วนคนที่ยังไม่เสียชีวิตจะถูกเผาทั้งเป็น ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหารและเริ่มสูญหายเป็นจำนวนมาก เมื่อมีผู้มาสืบถามถึงผู้ที่สูญหายหลังจากการการถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็จะชี้แจงว่าได้ดำเนินการปล่อยตัวคนเหล่านั้นกลับบ้านไปแล้ว

ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการนี้ประมาณ 3,000 คน แต่ยังไม่มีการเอาผิดทางกฎหมายแก่ผู้เกี่ยวข้อง

นอกจากถีบลงเขา เผาลงถังแดงแล้ว ช่วงเวลานั้น ขบวนการชาวนาเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องการจัดสรรที่ทำกิน ต่อสู้เรื่องการควบคุมค่าเช่านาซึ่งทำให้ชาวนาต้องแบ่งผลผลิตกับเจ้าที่ดินคนละครึ่ง จนก่อเกิดเป็นสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย มีนักศึกษา นักกฎหมายเข้าร่วมขบวนจำนวนมาก และเพียงไม่นานก็เริ่มมีการสังหาร อุ้มหาย ผู้นำชาวนา สถิติช่วงปี 2517-2522 มีผู้ถูกสังหาร 33 คน บาดเจ็บสาหัส 8 คน และหายสาบสูญ 5 คน โดยไม่เคยมีการจับกุมลงโทษผู้กระทำผิดแม้แต่รายเดียว

คนหายหลังต้าน รสช. 2534-2535

ทนง โพธิ์อ่าน

ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานในฐานะประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่มีสมาชิกมากที่สุด และเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (ICFTU) ถูกอุ้มหายไปตั้งแต่  19 มิ.ย. 2534 ก่อนที่จะเดินทางไปร่วมประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

เขามีบทบาทนำในการต่อสู้เพื่อผู้ใช้แรงงาน และการต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดย ทนง ประกาศว่าจะจัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ 12 ก.ค. 2534 เพื่อคัดค้านคำสั่ง รสช. ที่ยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ควบคุมการเคลื่อนไหวของกรรมกรภาคเอกชน ฯลฯ แต่หายตัวไปก่อน

ผู้สูญหายพฤษภา 2535

หลังจากทนงหายตัวไป รสช. จัดให้มีการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. 2535 พรรคสามัคคีธรรม ที่ก่อตั้งโดยเครือข่าย รสช. ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเลือก พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางความไม่พอใจของชนชั้นกลางที่ออกมาชุมนุมตามท้องถนน โจมตี อดีตผู้บัญชาการทหารบกที่พูดว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" พร้อมกับเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง

รัฐบาลตัดสินใจปราบปรามการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 17-21 พ.ค. 2535 จนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 44 ราย บาดเจ็บรวม 1,728 ราย และสูญหายอีก 48 ราย แต่หลายฝ่ายคาดกันว่าตัวเลขจริง สูงกว่านั้นมาก

ยุคที่เฝ้าหวังว่าอาจจะ ‘หาย’ เป็นคนสุดท้าย

หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 นำไปสู่การร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ที่วางมาตรฐานเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองไปจากเดิม เกิดพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ต่อสู้กันด้วยนโยบายมากขึ้นกว่าเดิมที่ใช้บารมีในท้องถิ่นเป็นหลัก บรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ อาจมีส่วนทำให้การอุ้มฆ่าหรืออุ้มหายศัตรูทางการเมืองของรัฐดูเบาบางลงจากช่วงเวลาก่อนหน้า จนหลงคิดไปว่าคงจะไม่เกิดกรณีอุ้มหายขึ้นง่ายๆ อีกแล้ว

คดีเพชรซาอุฯ

เกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานไทยชาวลำปาง คนงานในพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด แห่งซาอุดีอาระเบีย โจรกรรมเครื่องเพชรหลายชิ้น รวมถึง "บลูไดมอนด์" เพชรเก่าแก่หายากสีน้ำเงินขนาด 50 กะรัต ประจำราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียในปี 2532 เขาถูกจับกุมและรับสารภาพในปี 2533 พร้อมกับมีการติดตามหาเครื่องเพชรบางส่วนส่งคืนเจ้าของ แต่ทางการซาอุดีอาระเบียพบว่า ของกลางที่ส่งคืนกว่าครึ่งเป็นของปลอม และไม่มีบลูไดมอนด์ถูกส่งคืนมาด้วย

พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ หัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวนคดีนี้ เริ่มต้นตามหาเพชรที่หายไปอีกครั้ง โดยมุ่งเป้าไปที่สันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าเพชรที่รับซื้อของต่อจากเกรียงไกร แต่เขายืนยันว่าได้ส่งคืนเพชรให้ตำรวจหมดแล้วและปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับเพชรบลูไดมอนด์

เดือน ก.ค. 2537 ชุดปฏิบัติการนำโดย พล.ต.ท. ชลอ ลักพาตัวและเรียกค่าไถ่ดาราวดีและเสรี ศรีธนะขัณฑ์ ภรรยาและลูกชายของสันติ เพื่อบีบให้เขานำเพชรมาคืน ก่อนฆ่าปิดปากเหยื่อทั้งสอง โดยจัดฉากให้ดูเหมือนประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิต ศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ และพวกในคดีนี้

นอกจากกรณีสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ ช่วงปี 2533 หลังเกิดเหตุการขโมยเครื่องเพชร ยังมีการลอบสังหารนักการทูตซาอุดีอาระเบียรวม 4 ศพ ขณะที่มูฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ซาอุดีอาระเบีย หายตัวไปจากลานจอดรถของโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน แม้จะมีการตั้งข้อหาต่อ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม และพวกอีก 4 คน แต่ศาลฎีการพิพากษายกฟ้อง เมื่อ 22 มี.ค. 2562 หลังอัลรูไวลีสูญหายเป็นปีที่ 29 

สงครามยาเสพติด​

ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทศวรรษ 2540 นโยบาย “สงครามยาเสพติด” โดนใจคนชั้นล่างอย่างมาก​ จากผลที่​ลูกหลานหลุดออกจากวงโคจรยาเสพติด ขณะที่อีกหลายคนรวมถึงกลุ่ม​นักวิชาการมองว่า​ นี่เป็นนโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง​ ส่งผลให้มีการอุ้มหายและฆ่าตัดตอน​ ไปจนถึงการฆาตกรรมผู้ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด "อย่างเป็นระบบ" เกิดขึ้นจำนวนมากดัวย

สมชาย นีละไพจิตร

ทนายความสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงผู้ต้องหาจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดโรงเรียนเมื่อ 4 ม.ค. 2547 หลังความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้น

สมชายหายตัวไปบน ถ.รามคำแหง เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2547 โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ 5-6 คน ขับรถสะกดรอยตามจงใจขับรถชน เพื่อให้เขาลงมาดูเหตุการณ์ ก่อนเข้าทำร้ายและลักพาตัวไป หลังเขาวางแผนยื่นรายชื่อคัดค้านการใช้กฎอัยการศึกต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่มีกำหนดการจะเดินทางไปปัตตานีในวันที่ 16 มี.ค.

ชาวปาตานี

ไม่เพียงทนายสมชายเท่านั้น ประชาชนหรือกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ปาตานีหรือจังหวัดชายแดนใต้ก็มีข่าวการหายตัวไปเป็นระยะ​ ทั้งที่ทราบชื่อและไม่ทราบชื่อ 

กมล เหล่าโสภาพันธ์

กมล เหล่าโสภาพันธ์ อดีตนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน เขาพบการทุจริตการเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ย่านสถานีรถไฟบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จึงแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้กำกับการสถานีตำรวจบ้านไผ่ในขณะนั้นเกลี้ยกล่อมไม่ให้แจ้งความ และให้เขาหยุดการตรวจสอบทุจริต กมลจึงแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กำกับการในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ก่อนถูกอุ้มหายไปจากสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2551 ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า

ผู้สูญหาย​สลายแดง 52-53

เช่นเดียวกับเหตุสลายการชุมนุม พ.ค.35 ช่วงสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงหรือ นปช. ปี 52 และ 53 มีข่าวการหายตัวของผู้อยู่ในเหตุการณ์อยู่เป็นระยะเช่น กรณี 15 เม.ย. 2552 หลังเสื้อแดงถูกสลายชุมนุม พบศพนัฐพงษ์ ปองดี หรือแก๊บ อายุ 24 ปี ชาวอุดรธานี และชัยพร กันทัง หรือโจ อายุ 30 ปี ชาวแพร่ กลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ปากถูกผ้าขนหนูขนาดใหญ่ผูกปิดปากอยู่ ส่วนมือทั้งสองข้างถูกมัดไพล่หลังด้วยเชือกไนลอนสีน้ำเงิน และมีร่องรอยถูกตีด้วยของแข็งบริเวณกลางศีรษะ ทั้งคู่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย และมีการยืนยันว่าทั้งคู่ร่วมกับกลุ่มเสื้อแดงด้วย เป็นต้น

เอกยุทธ อัญชันบุตร

ช่วงสถานการณ์ก่อนการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม กปปส. เพื่อขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเลยถึงการรัฐประหารของ คสช.นั้น กรณีอุ้มฆ่า 'เอกยุทธ อัญชันบุตร' นักธุรกิจและผู้มีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์การเมืองมาเป็นระยะผ่านเว็บไซต์ส่วนตัวถูกอุ้มหายไปช่วง มิ.ย. 2556 ซึ่งสังคมการเมืองขณะนั้นเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล เนื่องจากญาติเชื่อว่า มาจากประเด็นความขัดแย้งส่วนตัวที่มีอยู่จำนวนมาก ทั้งกรณีที่เอกยุทธ ฟ้องหมิ่นประมาท พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กับพวกกรณีที่มีความขัดแย้งกันก่อนหน้านั้น ถึงเรื่องกรณีทำร้ายร่างกายกันที่ร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่ง อีกทั้งยังมีเรื่องที่เอกยุทธออกมากล่าวหาในทางสาธารณะว่าได้พบเห็นยิ่งลักษณ์ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ พบปะกับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายคน ทั้งที่อยู่ในเวลาราชการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามภายหลังพบศพ เอกยุทธ ที่ จ.พัทลุง และคดีจึงอยู่ที่คนขับรถที่อยู่ด้วยก่อนจะหายตัวไปท่ามกลางความสงสัยของสาธารณะ เนื่องจากเขาสารภาพในเวลาต่อมาว่าฆาตกรรมเพื่อชิงทรัพย์ และโกรธแค้นเรื่องส่วนตัวก่อนหน้านั้น มิ.ย.59 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิต แต่เนื่องจากคำให้การมีประโยชน์ต่อรูปคดี จึงพิจารณาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต 2 จำเลยในคดี และให้ร่วมกันชดใช้ทรัพย์สินแก่ทายาทผู้เสียชีวิต 

พอละจี รักจงเจริญ

พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขาเป็นหนึ่งในพยานคนสำคัญ คดีที่ชาวบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ยื่นฟ้องว่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชนำกำลังเข้ารื้อทำลายเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านหลายครอบครัว

เขาหายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 โดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนั้น ยอมรับว่าจับตัวบิลลี่ไปจริง แต่ปล่อยตัวไปที่แยกหนองมะข้า ก่อนจะไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกเลย กระทั่งวันที่ 3 ก.ย. 2562  กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงพบหลักฐานกะโหลกมนุษย์ที่มีการเผาทำลาย  ถูกทิ้งบริเวณสะพานแขวน เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และตรวจสอบสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ตรงกับแม่ของบิลลี่ ยืนยันได้ว่ากะโหลกศีรษะที่พบเป็นของบิลลี่ และเสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรม นำไปสู่การออกหมายจับชัยวัฒน์และพวกรวม 4 คน ฐานร่วมกันฆ่า

อย่างไรก็ตาม อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมเพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำผิด

การอุ้มหายดำเนินต่อไป เพราะการรัฐประหาร

22 พ.ค. 2557 การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พาสังคมถอยหลังกลับไปอย่างน้อย 20 กว่าปี พร้อมกับความไม่มั่นคงทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย อย่างไรก็ตาม คสช. สามารถกุมอำนาจมาได้นานต่อเนื่องถึง 6 ปี โดยเครือข่าย คสช. รวบรวมเสียงในสภาหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. 2562 และเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างน้อย 102 คน ต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่การอุ้มหายก็เริ่มขยายปฏิบัติการออกไปนอกประเทศ

ภาพจากกล้องวงจรปิด จะเห็นรถปิคอัพสีบรอนซ์เงินจอดหน้าประตูเชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และมีเจ้าหน้าที่เดินลงมาอย่างน้อย 5 นาย เพื่อควบคุมตัวสิรวิชญ์ ที่กำลังเดินกลับเข้ามาในเขตมหาวิทยาลัย (มุมซ้ายของจอภาพ) ก่อนนำตัวขึ้นรถปิคอัพสีบรอนซ์เงิน ที่จอดขวางประตูเชียงราก (กลางจอภาพ) และขับรถมุ่งไปทางถนนพหลโยธิน ขณะที่มีรถปิคอัพสีน้ำเงิน ขับตามประกบ

ภาพจากกล้องวงจรปิด แสดงภาพเหตุการณ์ช่วงที่สิรวิชญ์ ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ระบุสังกัด ระหว่างปฏิบัติการใช้รถปิคอัพ 2 คัน ไม่แสดงแผ่นป้ายทะเบียน โดยหลังเกิดเหตุ รถปิคอัพ 2 คัน  มุ่งหน้าจากประตูเชียงราก ไปยังถนนพหลโยธิน

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว

สิรวิชญ์ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะติดตามการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่มีกองทัพรับผิดชอบ เวลาดึกของวันที่ 20 ต่อเนื่องวันที่ 21 ม.ค.59 เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 8 บุกอุ้มเขาที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีภาพวิดีโอเผยแพร่ทางสังคมออนไลน์พร้อมการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย จนทำให้เวลาต่อมา 1.10 น. วันที่ 21 ม.ค.59 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า สิรวิทย์ ว่าถูกนำตัวไปที่ สน.นิมิตรใหม่ และจะถูกนำตัวไปส่งที่ ส.รฟ.ธนบุรี ในตอนเช้าของวันดังกล่าว

สิรวิชญ์ กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการคลุมศีรษะ และนำตัวไปยังบริเวณป่าหญ้า บังคับให้นั่งลงโดยการเตะและถีบ ทั้งยังถามว่าเหตุใดจึงไม่ไปตรวจสอบทุจริตในการจำนำข้าว พร้อมทั้งด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย นอกจากนี้ กลุ่มบุคคลดังกล่าวยังนำวัสดุลักษณะคล้ายปืนมาจ่อบริเวณศีรษะและทำเสียงแก๊กๆ คล้ายการสับไกปืน ซึ่งตนไม่สามารถประมาณเวลาได้ แต่ภายหลังช่วงเวลาดังกล่าวตนได้ถูกนำตัวขึ้นรถมาส่งยังสน.นิมิตรใหม่ในเวลาประมาณ 01.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่นำตัวมาส่งนั้นได้สวมผ้าคลุมปกปิดใบหน้า และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดตาสิรวิชญ์หลังจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวกลับไปแล้ว อย่างไรก็ตามบันทึกจับกุมได้ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ทหาร ร. 2 พัน 2 รอ.ให้มารับตัว สิรวิชญ์

ซึ่งคดีก็ไม่ปรากฏความคืบหน้าและกลางปี 62 ตัวสิรวิชญ์ยังถูกคนร้ายดักทำร้ายอีก 2 ครั้ง จนบาดเจ็บสาหัส แม้จะมีภาพปรากฏในทางสาธารณะแต่คดีความก็ดูเหมือนจะไม่มีความคืบหน้า  ก.พ.ที่ผ่านมาตำรวจสอบสวนและส่งสำนวนให้อัยการแล้ว โดยอัยการ ''เห็นควรให้งดการสอบสวน" เหตุพยานหลักฐานไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นผู้ใดกระทำผิดได้ และระบุด้วยว่าหากตำรวจมีหลักฐานบ่งชี้ได้ว่า ผู้ใดกระทำผิด จะออกหมายจับและดำเนินคดีต่อไป

เด่น คำแหล้

เด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน และประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ผู้ต่อสู้กับการไล่รื้อชุมชนจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. หายตัวไปตั้งแต่ 16 เม.ย. 2559 หลังออกไปหาของป่าบริเวณสวนป่าโคกยาว เขตรอยต่อระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ปฏิบัติการค้นหาเริ่มวันที่ 18 เม.ย. 2559 ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และทหาร ร่วมกันค้นหาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน แต่ไม่มีผู้ใดพบเห็นเขา

กระทั่ง 24 มี.ค. 2560 ภรรยาของเด่นพบกางเกง รองเท้า ของใช้ที่น่าจะเป็นของเขา ก่อนจะพบกะโหลกศีรษะและกระดูกฝ่าเท้าเพิ่มเติมในภายหลัง หลังใช้เวลาตรวจสอบเกือบสองปีก็ยืนยันได้ว่า วัตถุพยานเหล่านี้เป็นของเด่น และเป็นหลักฐานยืนยันการเสียชีวิตของเขา

อิทธิพล สุขแป้น

อิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจเบียร์ หรือดีเจซุนโฮ นักเคลื่อนไหว นักจัดรายการวิทยุ ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศลาว เขาหายตัวไปตั้งแต่เดือน ก.ค. 2559 โดยมีข่าวลือว่าถูกทหารจากเมืองไทยคุมตัวไปกักขังในค่ายทหารแห่งหนึ่งที่ จ.เพชรบูรณ์ แต่ทีมโฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธว่า ฝ่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 36 (มทบ.36) จ.เพชรบูรณ์ ไม่ได้ควบคุมตัวเขาไว้ จึงยังไม่มีใครทราบชะตากรรมจนถึงปัจจุบัน

วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ

วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ หรือสหายหมาน้อย นักเคลื่อนไหว นักจัดรายการวิทยุ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญามาตรา 112 ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศลาว มีคนใกล้ชิดแจ้งว่า เขาถูกกลุ่มชายชุดดำ ประมาณ 10 คน คลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรม พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าจับตัวไป เมื่อเวลา 09.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นในลาว เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2560

จากนั้นโกตี๋ก็ไม่ปรากฏตัว และไม่มีใครทราบชะตากรรมอีก แต่ชื่อของเขายังปรากฏอยู่ในสื่อไทยผ่านการให้ข่าวของฝ่ายความมั่นคงว่า เขาหรือเครือข่ายโกตี๋มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง หรือคดีอาวุธต่างๆ

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน นักปฏิวัติและนักจัดรายการวิทยุใต้ดิน มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองยาวนานตั้งแต่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เมื่อปี 2519 ก่อนจะออกจากป่ามาเป็น “ทูตสันติภาพ” ทำหน้าที่เจรจาระหว่างทางการไทยกับ พคท. และถูกจับกุมตัว สุรชัยถูกคุมขังถึง 16 ปีก่อนจะถูกปล่อยตัวในปี 2539 และถูกคุมขังอีกครั้งระหว่าง 22 ก.พ. 2554 – 4 ต.ค. 2556 ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

สุรชัยหายตัวไปจากบ้านพักในลาว ช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2561 พร้อมกับผู้ลี้ภัยอีก 2 คน คือชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ และไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง ซึ่งต่อมาพบเป็นศพลอยขึ้นมาในแม่น้ำโขงช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2561 ส่วนสุรชัยยังคงสูญหาย ขณะที่ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือป้าน้อย ภรรยาของสุรชัย เชื่อว่าสุรชัยอาจเสียชีวิตและถูกทำลายศพแล้ว

ชัชชาญ บุปผาวัลย์

ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสนิทของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน เขาหายตัวไปจากบ้านพักในลาวช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2561 พร้อมกับสุรชัย และสหายกาสะลอง ก่อนถูกพบเป็นศพถูกฆ่าคว้านท้องและใช้เสาปูนถ่วงในแม่น้ำโขงช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2561

ไกรเดช ลือเลิศ

ไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสนิทของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน เขาหายตัวไปจากบ้านพักในลาวช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2561 พร้อมกับสุรชัย และสหายภูชนะ ก่อนถูกพบเป็นศพถูกฆ่าคว้านท้องและใช้เสาปูนถ่วงในแม่น้ำโขงช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2561

ชูชีพ ชีวะสุทธิ์

ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง นักจัดรายการวิทยุใต้ดิน แกนนำกลุ่มสหพันธรัฐไท มีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองยาวนาน เป็นที่รู้จักในหมู่ ‘สหายเก่า’ และประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารปี 2549 เขาเคยถูกออกหมายจับเมื่อเดือน ส.ค. 2551 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ คาดว่าเขาเดินทางออกนอกประเทศนับตั้งแต่นั้น

ลุงสนามหลวงเคยประกาศยุติการจัดรายการในเดือน ม.ค. 2562 หลังการหายตัวไปของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และผู้ลี้ภัยอีกสองคน ต่อมา มีข่าวว่าชูชีพถูกจับกุมตัวในเวียดนามและส่งตัวกลับไทยพร้อมกับผู้ลี้ภัยอีกสองคน คือสยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง และกฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2562

อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศ หรือการจับกุมตัวทั้งสามคน ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ปฏิเสธว่ายังไม่มีการจับกุมตัวลุงสนามหลวง รวมถึงไม่พบหลักฐานการเข้าออกประเทศจากทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และไม่ได้รับการประสานจากประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

กฤษณะ ทัพไทย

กฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด” เป็นอีกหนึ่งผู้ลี้ภัยที่หายตัวไปพร้อมกับสยาม ธีรวุฒิ และลุงสนามหลวง เมื่อเดือน พ.ค. 2562 จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม

สยาม ธีรวุฒิ

สยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง นักเคลื่อนไหวและนักจัดรายการวิทยุใต้ติน เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในระหว่างเป็นนักศึกษา เขาทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มประกายไฟ และกลุ่มประกายไฟการละคร  และร่วมแสดงในละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ทำให้สยามและผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำละครดังกล่าว เช่น ภรณ์ทิพย์ มั่นคง และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ นำไปสู่การลี้ภัยหลังรัฐประหาร 2557

สยามหายตัวไประหว่างเดินทางไปเวียดนามพร้อมลุงสนามหลวง และสหายยังบลัด หลังจากอยู่ในประเทศลาวมาหลายปี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา มีข่าวว่าทั้งสามถูกจับกุมและส่งตัวกลับไทย แต่ทางการไทยและเวียดนามต่างปฏิเสธการควบคุมตัวทั้งสาม

ครอบครัวของสยามเดินสายยื่นจดหมายถึงองค์กรต่างๆ ให้ช่วยตามหา แต่ก็ยังไม่พบร่องรอย

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหว-นักกิจกรรมที่ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กและเยาวชน รณรงค์ป้องกันเอชไอวี และอีกหลายด้าน เขาลี้ภัยไปยังประเทศกัมพูชาหลังถูก คสช. เรียกรายงานตัวเมื่อปี 2557 หลังจากนั้นยังถูกออกหมายจับในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นผู้โพสต์บทความบิดเบือนให้ร้ายรัฐบาลในเพจเฟซบุ๊ก “กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ”

เขาถูกกลุ่มชายติดอาวุธจับตัวไปจากที่พักในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ขณะยังคุยโทรศัพท์กับพี่สาว ปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม โดยตำรวจกัมพูชาปฏิเสธไม่รู้เห็น หรือเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของเขา

รายชื่อเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างความรุนแรงในสังคมการเมืองไทยเท่านั้น แน่นอนว่ายังมีผู้สูญหายอีกมากที่ไม่มีแม้แต่ชื่อให้ระบุ ยิ่งไปกว่านั้นกรณีอุ้มหายส่วนใหญ่ยังไม่มีใครต้องรับผิด ทำให้วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด  และเหตุการณ์เหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป กระทั่งถึงกรณีของวันเฉลิมและอีกหลายคนที่เรายังไม่ทราบชะตากรรม ที่ไม่แน่ว่าจะเป็นกรณีสุดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท