Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ใน ปัญหาของบทความสโมฯ ในยุคเปลี่ยนผ่าน ของอดีตสโมฯ สิงห์ดำท่านหนึ่ง (1) ดิฉันได้พูดถึงปัญหาของการอธิบายนิยามการทำกิจกรรม, การเป็นชุมชนนิยม-ปัจเจกนิยม, สนับสนุนวิชาการ-ต่อต้านวิชาการ หากลองตั้งข้อสังเกตและนำหลักฐานอื่นๆ มาพิจารณาประกอบจะพบว่าตำแหน่งและตัวแปรในกราฟอาจจะต้องเปลี่ยนแปลง ฝ่ายขวาในคณะควรจะเป็นผู้ที่ชื่นชอบในกิจกรรมสันทนาการไปจนถึงขวาจัดที่เป็นอนุรักษนิยมและโหยหาอำนาจนิยมอย่างเช่น โซตัส ฝ่ายซ้ายในคณะจะเป็นคนที่สนใจการเมืองไปจนถึงซ้ายจัดที่สุดโต่งทางการเมือง ฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาก็อาจจะสนใจชุมชนนิยมหรือเป็นปัจเจกนิยมได้ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่ อสส กล่าว ว่าฝ่ายขวาจะเป็นชุมชนนิยมและฝ่ายซ้ายจะเป็นปัจเจกนิยม แต่ฝ่ายซ้ายจะเป็นชาวชุมชนนิยมหัวก้าวหน้าและฝ่ายขวาจะเป็นชาวชุมชนนิยมหัวอนุรักษ์นิยมซึ่งดิฉันจะขยายความส่วนถัดไป กิจกรรมของฝ่ายขวาจะมีแนวโน้มไปทางบันเทิง ในขณะที่กิจกรรมของฝ่ายซ้ายจะเกี่ยวข้องกับสังคมการเมือง (หรืออาจจะบันเทิงหรือการเมืองสลับ/ผสมกัน ยกเว้นพวกขวาจัดและซ้ายจัด) และในตอนนี้ดิฉันจะพูดเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาอื่นในบทความของอดีตสโมฯ สิงห์ดำ หรือ อสส ก่อนเริ่มบทความใหม่ ดิฉันขอตอบประเด็นจากข้อถกเถียง


ตอบประเด็น

ดิฉันไม่เคยถามหาความเป็นกลางจากบทความ การเขียนบทความไม่ว่าจะงานวิชาการหรือเขียนอย่างอื่นก็ไม่จำเป็นต้องมีความเป็นกลาง (งานวิชาการมี Pros & Cons และบทความดิฉันก็มี) แต่ประเด็นที่ดิฉันตั้งข้อสังเกตคือบทความเลือกใส่ความสุดโต่งให้ฝ่ายตรงข้ามและชื่นชมตนเองเป็นอคติที่ดิฉันสังเกตเห็นได้ ทำให้เกิดจุดบกพร่องและความผิดพลาดจากการใช้อคติเขียน อสส ระบุเองว่าบทความของเขามีจุดประสงค์เพื่อปกป้องคุณค่าของเขา บทความของเขาจึงบ่งพร่องในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในคณะ เพราะเป็นการมุ่งหวังที่จะโจมตีฝ่ายตรงข้ามจนทำให้แปะป้ายและคิดแทนนิสิตคนอื่นในคณะบนอคติมากกว่าพยายามที่จะเข้าใจและอธิบายลักษณะของคนอื่นจริง หรือ โทษปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายนอกมากกว่าดูตนเอง รวมถึงการยกเหตุผลประกอบของเขาที่ฟังดูแล้วไม่สมเหตุสมผล ดิฉันถึงได้บอกว่ามี “ปัญหา” ในการอธิบาย

ส่วนเรื่องสโมฯ ที่ผ่านมาจะสนับสนุนการเมืองหรือไม่นั้น ในบทความที่แล้วดิฉันตั้งข้อสังเกตว่าหากมีผู้มีแนวคิดขอเก็บสติปัญญาและการใช้เหตุผลไว้ในห้องเรียน แล้วเลือกที่จะใช้อารมณ์แทนในสโมฯ ก็คงทำให้สโมฯ เลื่อนไปทาง Anti-Politics แต่หากยืนยันว่าไม่มีคนมีแนวคิดแบบนี้ดิฉันก็ยินดีด้วย อสส กล่าวว่า สโมฯ ที่ผ่านมามีภาพเป็นที่ประจักษ์ออกไปสู่ภายนอก แต่หากพูดในมิติภายในก็คงจะเป็นอีกมิติหนึ่ง แต่ทั้งนี้ดิฉันไม่ตัดสินประเด็นภายในในจุดนี้ เพียงแต่ขอทิ้งประเด็นเอาไว้ 

ประเด็น “นิสิตมองว่ากิจกรรมนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์กับตนก็เลยไม่เข้าร่วม ก็เป็นวิธีคิดแบบปัจเจกชนนิยม” ที่อสส กล่าว ไม่ใช่เป็นแค่วิธีคิดแบบกลุ่มปัจเจกนิยม แต่ยังเป็นวิธีคิดของกลุ่มชุมชนนิยมด้วย และทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการที่คนเข้าร่วมกิจกรรมน้อยลง ดิฉันจะลงรายละเอียดในตัวอย่างของสแตนด์งานบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ในส่วนต่อไป


Introvert & Extrovert Vs. Communitarianism & Individualism? 

อสส บอกว่าดิฉันตีความผิดประเด็นเรื่องความเป็น Individualism ไม่เท่ากับ Introvert ดิฉันจึงขอชี้แจงว่า ดิฉันได้ตีความตามที่ อสส นิยามไว้คือ “ตนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับสังคมไม่ว่าจะสังคมคณะหรือมหาวิทยาลัย” [1] ดิฉันกล่าวอีกครั้งว่า คนที่คิดจะพึ่งพาตนเองโดยไม่พึ่งความสัมพันธ์กับสังคมคงเลือกที่จะเรียนแล้วกลับบ้าน คงไม่คิดจะมาทำสโมสรนิสิตที่มีความสัมพันธ์กับสังคมสูง ต้องพบปะผู้คนมากมายที่ต้องอาศัยการเจรจาต่อรอง รวมถึงต้องจัดและเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มีความสัมพันธ์กับสังคมคณะ กล่าวคือ สโมฯ 63 อาจสนับสนุนเรื่องสิทธิของนิสิตในชุมชนในมิติหนึ่ง แต่จะตีความว่าเป็นปัจเจกนิยมเกือบทุกมิติได้จริงหรือ? หรือเรื่องสิทธิส่วนบุคคลควรเป็นเรื่องพื้นฐานในชุมชนสมัยใหม่อยู่แล้ว? ดิฉันเพียงตีความตามนิยาม “ความสัมพันธ์กับสังคม” อสส จึงเป็นคนที่นิยามคลาดเคลื่อนเองตั้งแต่แรกแล้วมาแก้ไขทีหลัง ดิฉันถึงได้ให้ชื่อว่าเป็น “ปัญหา”

ส่วนผู้ที่บอกว่าดิฉันบิดเบือน ดิฉันเชื่อว่าในทุกสถานการณ์ไม่ได้มีชุดความจริงชุดเดียวเสมอไป ความเห็นต่างภายใต้หลักการเป็นเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ดิฉันเชื่อในวิจารณญาณของผู้อ่าน การไม่เชื่อในบทความหนึ่งแล้วถูกตัดสินว่า “บิดเบือนและมีคนพร้อมเชื่อเสมอ” ถือเป็นการดูถูกการใช้เหตุผลและวิจารณญาณของผู้อ่านคนอื่น ดิฉันไม่เคยเรียกร้องให้ใครเชื่อในบทความของดิฉัน การดูถูกเช่นนี้คงไม่ต่างกับวาทกรรมว่า “คนในคณะคนอื่นมักถูกหลอก มีเพียงกลุ่มของเขาเท่านั้นที่คิดเป็น” เป็นเสียงคุณภาพ? หรือ ความจริงต้องออกมาจากกลุ่มของพวกเขาเท่านั้น? ดิฉันเพียงแสดงความเห็นในฐานะนิสิตคนหนึ่งที่มองเห็นปัญหา ซึ่งก็หวังว่าสโมฯ สมัยหน้าๆ จะใจกว้างรับฟังแทนการบอกว่าดิฉันบิดเบือน


สโมฯ มีนโยบายปัจเจกนิยมเลยทำให้นิสิตกลับมากดดันสโมฯ ให้ปัจเจกนิยมมากขึ้น?

อสส ได้กล่าวว่า “นโยบายและการดำเนินการของสโมฯ แต่ละสมัยที่มีส่วนสำคัญในการทำให้นิสิตมุ่งไปในแนวทางปัจเจกชนนิยมมากขึ้น และในขณะที่นโยบายของสโมฯ ทำให้นิสิตเป็นปัจเจกชนนิยมมากขึ้น นิสิตเหล่านั้นก็กลับมากดดันสโมฯ ให้ต้องยิ่งปรับนโยบายไปในแนวทางนั้นมากขึ้นอีก” [2] ดิฉันมองว่าสโมฯ ที่ผ่านมาก็ยังคงรูปแบบกิจกรรมชุมชนนิยม แต่ตัดการบังคับออกไป (สะท้อนปัจเจกนิยมตรงเรื่องสิทธิส่วนบุคคล) และลดจำนวนครั้งต่อปีลง งานที่หายไป เช่น freshy day/night จำนวนผู้เข้าร่วมของบางกิจกรรมจึงสะท้อนความน่าสนใจที่แท้จริงของบางกิจกรรมเมื่อไม่มีการบังคับ ที่เห็นได้ชัดคือ กิจกรรมร้องเพลงเชียร์หรือขึ้นแสตนด์ สแตนด์ของคณะรัฐศาสตร์มักมีจำนวนคนน้อยกว่าสแตนด์ของคณะอื่นอย่างชัดเจนในช่วงหลายปีผ่านมา หรือหากพูดในระดับมหาวิทยาลัยที่ อสส บอกว่าเป็นแนวโน้มทั้งมหาวิทยาลัย การไม่บังคับขึ้นสแตนด์งานบอลถือเป็นแนวทางปัจเจกนิยมหนึ่ง (ยกเว้นเด็กหอในที่มักถูกเกณฑ์มาช่วยงานบอลตั้งแต่เตรียมงาน) เหตุผลการไม่เข้าร่วมดิฉันเห็นด้วยในความเห็นที่ว่าไม่เป็นประโยชน์กับตนเอง แต่คำว่าประโยชน์ต่อตนเองนั้นรวมถึง ความสนุก, การได้เข้าสังคมกับคนอื่นๆ, ได้เป็นกลุ่มก้อน ฯลฯ จึงไม่ใช่แค่พวกปัจเจกนิยมเท่านั้นที่มองเรื่องผลประโยชน์ของตนเองตรงนี้ แต่เป็นมุมหนึ่งของพวกชุมชนนิยมเช่นเดียวกัน กล่าวคือชาวชุมชนนิยมมีประโยชน์ของตนเองที่ผูกติดกับชุมชน ชาวชุมชนนิยมย่อมเลือกเข้าชุมชนที่เป็นประโยชน์และตอบสนองต่อจุดประสงค์ของตน ชาวชุมชนนิยมหัวก้าวหน้ายังตั้งคำถามว่าอะไรเป็นประโยชน์ต่อชุมชนจริง (ชาวชุมชนนิยมที่มุ่งรักษากิจกรรมเดิมหรือชลอการเปลี่ยนแปลงให้เกิดช้าที่สุดน่าจะเป็นชาวชุมชนนิยมหัวอนุรักษ์นิยม) ปัจจัยที่ทำให้คนเข้าร่วมงานบอลลดลงดิฉันมองว่ามาจากความเบื่อหน่ายเป็นสำคัญ มีข้อวิจารณ์มากมายในทวิตเตอร์เกี่ยวกับงานบอล เช่น งานบอลทีมชาติ, ประชาสัมพันธ์งานเหยียดคนอื่น, หรือ Beauty Privileges ในงานบอล แต่ผู้จัดงานบอลยังคงรูปแบบกิจกรรมเดิมจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเข้าร่วมน้อยลง การไม่บังคับเข้ากิจกรรมทั้งในคณะและในมหาวิทยาลัยเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนิสิต นิสิตบางส่วนจึงเลือกไปทำกิจกรรมทางเลือกอื่นหรือมีนิสิตบางส่วนที่ไม่ทำกิจกรรมเลยก็มี แต่นิสิตที่ยังทำกิจกรรมคณะอยู่ก็มีไม่น้อยเช่นกัน เช่น ชมรมกีฬาคณะได้รับความสนใจอยู่ ในส่วนที่ อสส อ้างว่านิสิตกดดันให้ดำเนินนโยบายไปทางปัจเจกนิยมเพิ่มมากขึ้น (หรือต่อต้านกิจกรรม) ดังที่ดิฉันได้กล่าวไปในตอนที่ 1 ว่าคงไม่จริงเสมอไป เพราะ บางครั้งนิสิตอาจจะเรียกร้องเพื่อแนวทางชุมชนนิยมรูปแบบอื่นที่อาจไม่ตรงกับรสนิยมของ อสส ดังนั้นการที่คนมีส่วนร่วมกับคณะหรือมหาวิทยาลัยน้อยลงไม่ได้เกิดจากปัจเจกนิยมเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่รูปแบบกิจกรรมแบบเดิมที่ทำให้คนที่นิยมในชุมชนนิยมบางคนเองเบื่อและตั้งคำถามต่อกิจกรรมว่าเป็นประโยชน์ต่อชุมชนจริงหรือไม่? เป็นอัตลักษณ์ร่วมจริงหรือเป็นเพียงการอ้างเพื่อรสนิยมของตนเอง?

ภาพนี้เป็นตัวอย่างของการขอสปิริตความเป็นชุมชนนิยมในกิจกรรม [3] แนวคิดของนักชุมชนนิยมบางคนในปัจจุบันจึงสะท้อนออกมาผ่านความเห็นในภาพนี้ คือ มักอ้างเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลกับยุคสมัยอย่างเช่น สปิริต ทำให้แม้แต่นักชุมชนนิยมบางคนก็ไม่ศรัทธาอีกต่อไป และการที่นิสิตคนอื่นไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมหรือเข้าไม่ถึงกิจกรรมทั้งในมหาวิทยาลัยและคณะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย (กล่าวคือ พูดไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร) และทำให้บางส่วนก็หันไปทางปัจเจกนิยมมากขึ้น เพราะเสียงของพวกเขาไม่เคยถูกรับฟัง ประเด็นที่อยากฝากถึงสโมฯ ชุดต่อๆ ไปคือ การเปิดพื้นที่รับฟังมีอยู่ในสโมฯ, อบจ.ทุกสมัย แต่การเปิดใจรับฟังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


สรุปแล้วปัจเจกนิยมเกิดจากอะไร?

อสส กล่าวในบทความที่ 2 ว่าเป็นปัจจัยในระดับองค์กรและระดับโครงสร้าง คือ การมีกิจกรรมรวมกลุ่มที่น้อยลง นิสิตขาดการขัดเกลาทางสังคม ทำให้คนหันไปทางด้านปัจเจกนิยมมากขึ้น อสส ยังระบุว่าปัจจัยของความหลากหลายในตัวบุคคลก็มี แต่สำคัญน้อยกว่า และยังรวมถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ดิฉันมองว่า ปัจเจกนิยมเกิดจากกระแสเสรีนิยมประชาธิปไตยในรั้วมหาวิทยาลัย ดังที่ดิฉันยกตัวอย่างเรื่องการไม่บังคับเข้ากิจกรรมเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ดิฉันกลับมองว่าปัจจัยตัวบุคคลกลับเป็นปัจจัยสำคัญ สิทธิของปัจเจกบุคคลและกระแสในสังคมทำให้นิสิตกลับมาตั้งคำถามกลับกิจกรรมเก่าๆ หากไม่บังคับแล้ว ก็ไม่ขอเข้า (ชาวปัจเจกนิยมมองแบบนี้ได้และชาวชุมชนนิยมก็มองแบบนี้ได้เช่นกัน เพราะชาวชุมชนนิยมย่อมเลือกชุมชนที่ตนสังกัด) ดังนั้นอีกปัจจัยสำคัญที่ดิฉันนำเสนอ คือ รูปแบบของกิจกรรม ดังที่ดิฉันนำเสนอไปแล้วว่า หากกิจกรรมเก่าๆ ขัดต่อค่านิยมปัจจุบัน, ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ, คนในชุมชนรู้สึกไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (อบจ. และ สโมฯ มีนโยบายเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นอยู่ตลอด แต่หากดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจจะสะท้อนว่าแค่เปิดพื้นที่อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ) ทำให้พวกเขารู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หรือ รู้สึกเป็นอีกชนชั้นในชุมชนหนึ่ง เมื่อผสานกับประเด็นสิทธิเสรีภาพแล้วก็ทำให้นิสิตเลือกได้ที่จะเป็นพวกปัจเจกนิยม หรือ เป็นพวกชุมชนนิยมในที่อื่นๆ แทน


ปัญหาของการอธิบาย Internal & External factors

ในตอนที่ 5 ของบทความ อสส ได้อธิบายถึงการมุ่งเน้นภายในและการมุ่งเน้นภายนอก อสส ได้อ้างว่าในสโมฯ ในอดีตมุ่งเน้นภายในและสโมฯ 63 จะมุ่งเน้นภายนอกเพราะ สโมฯ 63 จะมุ่งแต่การพิทักษ์สิทธิ์ของประชาชนภายนอกจนละเลยกิจการภายใน และยังขาดความสามารถในการบริหารกิจการภายใน ดิฉันเห็นว่าการทำนายอนาคตที่ไม่แน่นอนอย่างน้อยอาจต้องยกหลักฐานประกอบ เช่น แนวนโยบายที่พรรคสโมฯ 63 ใช้หาเสียง ซึ่งเมื่อดิฉันไปค้นหาหลักฐานมา ดิฉันพบว่า นโยบายของสโมฯ 63 [4] เสนอกิจกรรมนอกหลักสูตรไว้พอสมควร ไม่ได้จะละทิ้งกิจกรรมภายในของคณะอย่างที่ อสส กล่าว (ซึ่งสโมฯ 63 จะทำได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) และสโมฯ 63 เป็นสโมฯ หน้าใหม่ในรอบหลายปีที่กลุ่มสโมฯ คณะเป็นคนกลุ่มเดิมมาโดยตลอด ในเรื่องของประสบการณ์สโมฯ ที่ผ่านมาย่อมเหนือกว่าเป็นธรรมดา แต่ดิฉันคิดว่าตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าสโมฯ ใหม่จะบริหารเรื่องภายในล้มเหลวหรือไม่ล้มเหลว จึงขอให้ร่วมจับตามองและร่วมวิจารณ์สโมฯ 63 หากมุ่งแต่ภายนอกและละเลยภายใน ดิฉันจึงเห็นว่าแก่นสารของตอนนี้คือความพยายามที่จะชื่มชมตนเองและดูถูกดูแคลนผู้อื่น อสส กล่าวว่า ในเรื่องภายในของคณะ สโมฯ ในอนาคตจะไม่ดีเหมือนเดิมหรือไม่เข้มข้นเหมือนเดิม [5] ซึ่งดิฉันสงสัยว่าเหตุใด อสส จึงอ้างว่าสโมฯ ที่ผ่านมา (หมายรวมถึงสโมฯ ชุดก่อนหน้าสโมฯ 62 อย่างน้อย 3 ยุคตามบทความของ อสส) บริหารงานภายในได้ดีและเข้มข้น? จึงอยากชวนตั้งคำถามว่า คำว่าดีและเข้มข้นของ อสส มีหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานใด? ความดีและเข้มข้นสามารถนับได้จากนโยบายที่หาเสียงไว้ทำได้จริงมากน้อยเพียงใดได้หรือไม่? นิสิตทุกคนในคณะได้รับประโยชน์จากนโยบายอันเข้มข้นสโมฯ ที่ผ่านมามากน้อยเพียงใด? กิจกรรมสโมฯ ที่มีนิสิตเข้าร่วมน้อยลงเป็นผลสะท้อนการทำงานของสโมฯ ที่ผ่านมาด้วยหรือไม่? และการวิจารณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้สะท้อนผลการทำงานของสโมฯ อย่างไรบ้าง? ดิฉันไม่ขอตัดสินว่าสโมฯ ชุดไหนจะเข้มข้นหรือดี แต่ขอให้ผู้อ่านลองพิจารณาดูเอง


Real Enemy, Real Target?

ในตอนที่ 8 อสส ได้กล่าวว่า “การขัดแย้งหรือสกัดอีกฝ่ายไม่เป็นประโยชน์อะไรกับนิสิตเลย” [6] ดิฉันมองว่า ไม่ควรมองการวิพากษ์วิจารณ์เป็นการสกัดกั้นอีกฝ่าย แต่คนเป็นสโมฯ ควรเปิดกว้างต่อคำวิจารณ์ เมื่อสโมฯ เปิดพื้นที่ให้แสดงความเห็นแล้ว ก็จะต้องให้พื้นที่ดังกล่าวเปิดกว้างจริง อสส ไม่ควรด่วนตัดสินว่าการวิจารณ์เป็นการสกัดของฝ่ายตรงข้ามบนความอาฆาตมาดร้าย มิเช่นนั้นการวิจารณ์การทำงานของสโมฯ ก็จะทำไม่ได้เลย เพราะจะถูกมองว่าเป็นการสร้างความขัดแย้งหรือการสกัดอีกฝ่ายไปเสียหมด ตอนที่ 8 จึงสะท้อนถึงทัศนคติที่ อสส มีต่อความเห็นต่างในคณะ ซึ่งดิฉันเสนอไปแล้วว่าการขาดการมีส่วนร่วมหรือคนรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะพูดหรือวิจารณ์มีส่วนให้คนเข้าร่วมกิจกรรมลดลง อสส ยังเสนอว่าควรสนับสนุนการทำงานของสโมฯ เพื่อร่วมกันต่อสู้กับโครงสร้างที่ใหญ่กว่า ซึ่งก็อาจถูกในส่วนหนึ่ง แต่อันที่จริงแล้วคนที่วิจารณ์สโมฯ บางทีก็วิจารณ์สโมฯ ที่ผ่านมาเรื่องแนวทางการต่อสู้กับโครงสร้างที่ใหญ่กว่าของ อสส หรือ Real Target 

ทั้งนี้ ดิฉันเห็นด้วยกับความเป็นปัจเจกนิยมในคณะที่สูงแต่ปัจเจกนิยมไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คนเข้าร่วมกิจกรรมน้อยลงอย่างแน่นอน และแนวโน้มการเกิดของปัจเจกนิยมก็ไม่ใช่มาจากปัจจัยสภาพแวดล้อมหรือภายนอกอย่างเดียว แต่เป็นปัจจัยภายในตัวกิจกรรมของคณะ/มหาวิทยาลัยเองด้วย ดังที่ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่ารูปแบบกิจกรรมของสโมฯ/มหาวิทยาลัย ที่ผ่านมามีปัญหาในตัวเอง เช่น ถ้าดาวเดือนไม่มีปัญหา คงจะไม่มีนิสิตเสียงข้างมากโหวตยกเลิกกิจกรรมไป หรือ ไหว้ครูเป็นกิจกรรมที่ถูกตั้งคำถามว่ามีกลิ่นอายของอำนาจนิยมและล้าสมัย กิจกรรมต่างๆ สะท้อนถึงปัญหาในรูปแบบกิจกรรมเอง เป็นไปได้ว่านิสิตบางส่วนอาจไม่ชอบกิจกรรมหลายกิจกรรมมานานแล้ว แต่เมื่อ 10 ปีก่อนมีการบังคับเลยต้องจำใจเข้าร่วม แต่เมื่อไม่มีการบังคับรวมกับกระแสเสรีนิยมประชาธิปไตย สิทธิ์ของปัจเจกบุคคลที่เข้ามา ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับกิจกรรมเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้น คนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมเพราะไม่มีประโยชน์ก็ไม่ใช่เฉพาะชาวปัจเจกนิยม แต่เป็นชาวชุมชนนิยมส่วนหนึ่งที่ตั้งคำถามต่อประโยชน์ที่ชุมชนจะได้หรือเสียจากกิจกรรมด้วยซึ่งสามารถเห็นได้ในทวิตเตอร์ และผลลัพธ์ของการต่อต้านก็ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยความเป็นปัจเจกนิยมเสมอไป เพราะดิฉันมองว่าบางครั้งการถกเถียงในคณะเป็นการถกเถียงระหว่างแนวคิดชุมชนนิยมฝ่ายซ้าย Vs ชุมชนนิยมฝ่ายขวา (ซ้าย-ขวาในคณะรัฐศาสตร์) หรืออาจจะเป็น ปัจเจกนิยม Vs ชุมชนนิยม ในบางครั้ง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า อสส ไปตีความการให้คุณค่าทางสังคมที่แตกต่างกับเขาเป็นปัจเจกนิยมไปเสียหมด ซึ่ง อสส ควรตั้งคำถามกับประเด็นนี้แทนที่จะชื่นชมผลงานที่ผ่านมาของตนเองเพียงอย่างเดียวหรือโทษว่านิสิตทำกิจกรรมน้อยลงเป็นเพราะปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เพราะสโมฯ ดำเนินนโยบายปัจเจกนิยมมากขึ้นทำให้โดนนิสิตในคณะกลับมากดดันให้เพิ่มความเป็นปัจเจกนิยม หรือปัจจัยภายนอกอื่นๆ หรือถ้าให้พูดสั้นๆ ก็คือ ควรที่จะเลิกโทษคนอื่นแล้วย้อนกลับมาดูตนเอง และดิฉันไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่สโมฯ 63 จะมีแนวโน้มที่จะคำนึงถึงปัจเจกนิยมกว่าเดิม สุดท้ายดิฉันอยากเรียกร้องให้นิสิตในคณะร่วมจับตามองและวิจารณ์สโมฯ 63 เหมือนที่เคยวิจารณ์สโมฯ ที่ผ่านมา หากสโมฯ 63 มีความสุดโต่งอย่างที่ อสส กล่าว ก็ขอให้ทุกคนลุกขึ้นมาวิจารณ์และเรียกร้องสิทธิ์ในคณะที่เราควรจะได้ 


เชิงอรรถ
[1] Phichaphob Seagames, “สโมฯ ในยุคเปลี่ยนผ่าน : ตอนที่ 1 ซ้ายขวาในรั้วสิงห์ดำ : เข้าใจ spectrum ความคิดนิสิตต่อกิจกรรมนอกหลักสูตร,” 21 พฤษภาคม 2020, https://www.facebook.com/notes/phichaphob-seagames/สโมฯ-ในยุคเปลี่ยนผ่าน-ตอนที่-1-ซ้ายขวาในรั้วสิงห์ดำ-เข้าใจ-spectum-ความคิดนิสิต/3097503213633249/
[2] Phichaphob Seagames, “สโมฯ ในยุคเปลี่ยนผ่าน : ตอนที่ 2 “พี่สิงห์น้องเสือชาติเชื้อรัฐศาสตร์” เริ่มเสื่อมมนต์ขลัง,” 22 พฤษภาคม 2020, https://www.facebook.com/notes/phichaphob-seagames/สโมฯ-ในยุคเปลี่ยนผ่าน-ตอนที่-2-พี่สิงห์น้องเสือชาติเชื้อรัฐศาสตร์-เริ่มเสื่อมมนต/3100256263357944
[3] Boonpachakasem Jung Sermwatanarkul, “CU Spirit: Believe it or not???? ใครจะเชื่อ..น้ำใจน้องพี่หนีสแตนด์,” https://www.facebook.com/660040453/posts/10163196497675454/?d=n
[4] พรรคสิงหราษฎร - Demosingh Party, https://www.facebook.com/demosinghparty/ 
[5] Phichaphob Seagames, “สโมฯ ในยุคเปลี่ยนผ่าน : ตอนที่ 5 Core policy ที่กรอบความคิดสโมฯ: Internal focus v. External focus,” 24 พฤษภาคม 2020, https://www.facebook.com/notes/phichaphob-seagames/สโมฯ-ในยุคเปลี่ยนผ่าน-ตอนที่-5-core-policy-ที่กรอบความคิดสโมฯ-internal-focus-v-e/3104943989555838
[6] Phichaphob Seagames, “สโมฯ ในยุคเปลี่ยนผ่าน : ตอนที่ 8 Remember who the real enemy is.,” 27 พฤษภาคม 2020, https://www.facebook.com/notes/phichaphob-seagames/สโมฯ-ในยุคเปลี่ยนผ่าน-ตอนที่-8-remember-who-the-real-enemy-is/3112365505480353
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net