Skip to main content
sharethis

นักวิจัยเอเชียกับศาสตราจารย์ด้านความมั่นคง วิเคราะห์เกี่ยวกับแรงสะเทือนของปัญหา COVID-19 ที่มีต่อการเมืองในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำ ความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐ การฉวยโอกาสจากกองทัพและกลุ่มอำนาจนิยมของรัฐบาลต่างๆ เช่นประวิงเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน

6 มิ.ย. 2563 กรณีของโรค COVID-19 ที่เกิดมาจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้น ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนหน้าพื้นที่อื่นๆ ของโลก ส่งผลให้มีกรณีที่ตรวจพบว่ามีเชื้อมากกว่า 9,000 กรณี และมีกรณีที่ยืนยันการเสียชีวิตอย่างน้อย 2,700 ราย แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าทุกประเทศในเอเชียอาคเนย์ยกเว้นสิงคโปร์ต่างก็มีมาตรการตรวจวัดต่ำ ทำให้มีข้อกังขาว่าจำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะมีจำนวนมากกว่าตัวเลขของรัฐบาล และในอินโดนีเซียก็มีคำบอกเล่าว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าตัวเลขขอทางการ

นอกจากเรื่องความอยู๋รอดเชิงสุขภาวะแล้ว โรคระบาดในครั้งนี้ยังส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจขอเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออก ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวร้อยละ 3 และระบบเศรษฐกิจที่เป็นโลกาภิวัตน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยตะมัภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไทย, อินโโนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันก็หาแพะรับบาปเบี่ยงเบนความสนใจ

ในบทวิเคราะห์ที่นำเสนอผ่านสื่อดิโพลแมท โดยแซคารี อะบูซา ศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงจากวิทยาลัยเนชันแนลวอร์คอลเลจและมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในสหรัฐฯ กับ บริดเจต เวลช์ ผู้ช่วยนักวิจัยกิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮมมาเลเซีย วิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบของ COVID-19 ต่อการเมืองเอเชีนอาคเนย์เอาไว้ ถึงแม้ว่าดูเผินๆ แล้วจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ในมีในกลายแง่มุมที่ COVID-19 จะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

นักวิชาการระบุว่าในช่วงไม่กี่เดือนหลังจากนี้มัอยู่อย่างน้อย 3 ประเทศที่มีกำหนดการการเลือกตั้งหรือการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลคือสิงคโปร์ที่มีแผนการจัดเลือกตั้งทันทีหลังวิกฤตโรคระบาดหมดลง และพม่าที่จะมีการเลือกตั้งตามกำหนดการในสิ้นปีนี้ และเวียดนามที่จะมีการจัดประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในรอบ 5 ปีช่วงเดือน ม.ค. ปีหน้า และประเมินได้ว่าทางพรรคจะอ้างใช้ประโยชน์จากความสำเร็จเรื่องเกี่ยวกับ COVID-19 ขณะเดียวกันประเทศอินโดนีเซียเพิ่งจะมีการเลือกตั้งไปในปี 2562 จึงไม่น่าจะถึงขั้นมีการเปลี่ยนรัฐบาลถึงแม้ว่าประธานาธิบดี โจโค วิโดโด จะถูกวิจารณ์เรื่องแก้ไขปัญหา COVID-19 ได้ไม่ดีพอ

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าสำหรับในประเทศไทย, กัมพูชา และฟิลิปปินส์ นั้น การโต้ตอบ COVID-19 ของพวกเขาเป็นแค่การเร่งเครื่องระบอบอำนาจนิยมของตัวเองเท่านั้น มันกลายเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลกุมอำนาจไว้มากขึ้นและให้พื้นที่ตัวเองในการหาผลประโยชน์จากความกลัวของผู้คนและผลักไสคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลออกห่าง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเหล่าผู้นำจะรอดพ้นจากความไม่พอใจของประชาชนได้เสมอไป ภาวะภายใต้ COVID-19 บีบให้รัฐบาลที่ทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ต้องพยายามพะเน้าพะนอเอาใจผู้ต่อต้านพวกเขาไปด้วย ขณะเดียวกันทรัพยากรทางเศรษฐกิจก็เริ่มลดลงและค่าใช้จ่ายในการจัดการแก้ไขปัญหา COVID-19 ก็เพิ่มมากขึ่นเรื่อยๆ

อะบูซาและเวสซ์ระบุว่ากลุ่มอัลตรารอยัลลิสต์ในไทยก็เริ่มตั้งคำถามกับความสามารถของ นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ มาสักระยะหนึ่งแล้ว และมีความต้องการหลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกรัฐบาลปัจจุบันโดยที่ยังคงแนวร่วมรัฐฐาลสายทหารเอาไว้ อีกทั้งถึงแม้ว่าจะมีการประกาศเปิดให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้แล้วหลังจากโซเชียลล็อกดาวน์เพราะ COVID-19 แต่พวกเขาก็ยังคงสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้

ในมาเลเซียที่เพิ่งมีการโค่นล้มรัฐบาลใหม่จากฝ่ายอำนาจเก่าจนทำให้ มูห์ยิดดิน ยัสซิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ยัสซินเพิ่งรอดจากการโหวตไม่ไว้วางใจอย่างหวุดหวิดเมื่อไม่นานนี้ แต่นั่นก็ไม่ทำให้สถานการณ์ของเขาดีขึ้น นักวิเคราะห์มองว่าผู้นำการขาดอาณัติจากประชาชนและเผชิญกับผู้ท้าทายอำนาจในหมู่ชนชั้นนำจะตกที่นั่งลำบาก คนเหล่านี้ต้องเสียเวลาไปกับการเล่นการเมืองแทนที่จะได้เน้นแก้ไขปัญหาโรคระบาด ขณะเดียวกันสิ่งที่จะเป็นตัวตัดสินในการเมืองอย่างแท้จริงคือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมาหลังจากนี้

นักวิเคราะห์มองว่าในระยะกลางแล้วจะเกิดผลกระทบทางการเมืองต่อเอเชียอาคเนย์ 5 ประการ

ประการที่ 1 คือ ความล้มเหลวอย่างน่าสังเวชของการจัดการในหลายประเทศ ในชณะที่รัฐมีหน้าที่หลักๆ คือการให้ความมั่นคงปลอดภัย ให้การศึกษา และดูแลด้านสาธารณสุข และระบบกฎหมายให้กับประชาชน แต่ในหลายประเทศก็มีการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรดำเนินการด้านสาธารณสุข นอกจากสิงคโปร์, เวียดนาม และมาเลเซีย แล้ว ประเทศอื่นๆ ช้ามากในการวางระบบรับมือกับ COVID-19 โดยมีการผัดผ่อนด้วยข้ออ้างต่างๆ หรือการปฏิเสธ

ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่มีลักษณะการเมืองแบบพ่ออุปถัมภ์ซึ่งใช้อำนาจทำให้คนไม่ตั้งคำถามกับรัฐ เริ่มมีความสั่นคลอนจากการที่ประชาชนเริ่มเห็นว่ารัฐบาลไม่ใช่คุณพ่อผู้รู้ดีไปทุกอย่างแบบที่พวกเขาเข้าใจอีกต่อไป นักการเมืองที่เคยได้รับการยกย่องก็เริ่มตกจากจากหิ้งบูชา มีการเรียกร้องโดยเฉพาะจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพและใช้วิธีการแบบเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทั้งนี้ยังมีการขับเคลื่อนกันเองจากระดับท้องถิ่นในหมู่คนที่มีสำนึกทางพลเมืองเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย

นักวิเคราะห์ยังระบุถึงการที่ประเทศไทย, กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาการระบาดได้ แต่อีกนัยหนึ่งมันก็เป็นความพยายามขยายต่ออำนาจโดยเน้นใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อกลบฝ่ายต่อต้านมากกว่าจะใช้เพื่อเป็นมาตรการสำหรับแก้ไขปัญหา COVID-19

ประการที่ 2 ในบางประเทศเช่นอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ มีกองทัพฉวยโอกาสเข้ามาเป็นทีมโต้ตอบวิกฤตหลังจากที่รัฐบาลจัดการอะไรไม่ได้มาก ตัวอย่างในอินโดนีเซียมีการตั้งทีมโต้ตอบสถานการณ์เป็นเหล่านายพลทั้งที่ยังอยู่ในตำแหน่งและที่เกษียณอายุแล้วโดยอาศัยวิธีการแบบลักษณะการโต้ตอบจลาจล ซึ่งการใช้กองทัพเข้ามานั่งตรงนี้ส่งผลให้การยับยั้งโรคระบาดล้มเหลวอย่างน่าสังเวช

ในฟิลิปปินส์ รัฐบาลดูเตอร์เตก็ตั้งทีมแก้ไข COVID-19 เป็นกลุ่มนายพลทั้งที่ยังอยู่ในตำแหน่งและทีเกษียณอายุแล้วเช่นกันแทนที่จะแต่งตั้งแพทย์วิชาชีพ ทำให้มีลักษณะการโต้ตอบสถานการณ์แบบทหารๆ และไม่มีข้อมูลความรู้ทางสาธารณสุขเลย ทั้งนี้ดูเตอร์เตก็ยังแถลงในแบบส่งเสริมความรุนแรงอย่างการขู่จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ยิงคนที่ฝ่าฝืนการกักบริเวณเพื่อควบคุมโรค

อีกประเทศหนึ่งที่ตั้งทหารมาแก้ COVID-19 แทนที่จะเป็นผู้ทำงานสายสาธารณสุขคือพม่า ซึ่งเป็นทีมที่ตั้งมาประจัญหน้ากับพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีที่นำโดยอองซานซูจีในช่วงปีเดียวกับที่จะมีเลือกตั้งใหม่ อีกทั้งกองทัพพม่ายังฉวยโอกาสใช้เรื่องโรคระบาดมาเป็นเครื่องเบี่ยงเบนความสนใจจากการเพิ่มกำลังใช้ความรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่ๆ มีความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์

เรื่องนี้สรุปได้ว่าในขณะที่กองทัพอ้างจัดการความสบเรียบร้อยในขณะเดียวกันก็สั่งสมอำนาจและเงินตรา พวกเขาทำให้เกิดผลเสียหายคือทำให้จัดการเรื่องสาธารณสุขที่ไร้ประสิทธิภาพในช่วงโรคระบาด

ประการที่ 3 คือกองทัพเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการทำให้เกิดอำนาจนิยมมากขึ้น โดยอาศัยอ้างการรักษาความสงบในช่วงวิกฤตในการจัดการปราบปรามผู้ที่วิจารณ์ปฏิบัติการ เรื่องนี้เกิดขึ้นแม้แต่กับมาเลเซียซึ่งเคยมีเสรีภาพสื่อดีขึ้นบ้างในช่วงสองปีที่แล้ว แต่ในปีนี้กลับมีการเรียกตัวนักข่าวที่รายงานเรื่องการกวาดต้อนแรงงานข้ามชาติซึ่งถือเป็นการโจมตีเสรีภาพสื่ออย่างน่าตะลึงสำหรับมาเลเซีย

อีกประเทศหนึ่งคืออินโดนีเซียก็มีการใช้อำนาจฟ้องร้องนักวิจัย ราวิโอ พาตรา ผู้ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของโจโควี นอกจากนี้ยังมีบางประเทศอย่างไทย, สิงคโปร์ และกัมพูชา ต่างก็พยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรณ๊ COVID-19 โดยอ้างเรื่อง "การให้ข้อมูลเท็จ" หรือ "ข่าวปลอม" ในฟิลิปปินส์ก็มีการใช้กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ในการเล่นงานผู้ต่อต้านมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่เรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวถดถอยลงด้วยจากการที่รัฐบาลเป็นศูนย์กลางควบคุมการใช้โปรแกรมแอพพลิเคชันติดตามตัวประชาชน

ประการที่ 4 คือ การระบาดหนักของ COVID-19 ได้เผยให้เห็นสภาพความเหลื่อมล้ำอย่างชัดแจ้งในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เช่นกรณีในสิงคโปร์ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องอาศัยอยู่ในหอพักที่แออัดทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นแรงงานที่ทำให้สิงคโปร์พัฒนาจนสามารถมีคุณภาพชีวิตแบบประเทศโลกที่หนึ่งได้

นักวิเคราะห์มองว่าสำหรับไทย สิ่งที่ทำให้จัดการแก้ไขปัญหาวิกฤตได้นั้นไม่ใช่เพราะรัฐบาล แต่เป็นเพราะระบบการสาธารณสุขที่ดีอยู่แล้ว แต่ไทยก็ไม่สามารถและไม่มีใจจะพูดถึงปัญหาที่คนจนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้และเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ในช่วงที่สั่งให้มีการล็อกดาวน์เป็นเวลานานมาก ปัญหาเหล่านี้รวมถึงความหิวโหยและความรู้สึกอับจนหนทาง มีจำนวนคนฆ่าตัวตายสูงขึ้นในไทย

บทความของนักวิเคราะห์ระบุถึงข้อมูลที่ประเทศไทยเคยถูกจัดอันดับจากธนาคารเครดิตสวิสในปี 2561 ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในโลก ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้เลวร้ายลงหลังจากการรัฐประหารในปี 2559 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำและอัลตรารอยัลลิสต์ไม่สนใจชนชั้นล่างเลย และรัฐบาลก็ไม่ทำอะไรที่จะสนับสนุนช่วยเหลือพวกเขา มีการประเมินว่าอาจจะมีจำนวนคนว่างงานมากถึงราว 14 ล้านคนในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้

ในบางประเทศที่พยายามจัดหาเงินทุนช่วยเหลือภาคส่วนที่ยากจนที่สุดของสังคมก็ขาดแคลนทรัพยากรที่จะให้ช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นในฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยในกรณีของมาเลเซียนั้นมาจากการที่รัฐบาลสมัย นาจิบ ราซัค เคยทำเงินคลังประเทศสูญไปเพราะกรณีอื้อฉาว 1MDB

"การที่ COVID-19 แพร่กระจายผ่านการโลกาภิวัตน์นั้น นับเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าสิ่งที่ทำให้เกิดการเติบโตทาเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็วนั้นมีการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม ถ้าหากคนยากจนที่สุดและชายขอบที่สุดของสังคมไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมแล้ว ก็ไม่มีใครเลยที่จะได้รับการคุ้มครอง" อะบูซาและเวลช์ระบุในบทความ

ประการสุดท้ายคือ เรื่องการเมืองที่มีการแบ่งขั้วกันมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นรวมถึงการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ด้วย เรื่องนี้ทวีความหนักข้อขึ้นสาเหตุเพราะความตกขอบของสายศาสนากับลัทธิชาตินิยมเกลียดกลัวคนนอก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพุทธสุดโต่งในพม่าที่โหมไฟเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การที่จู่ๆ ลัทธิคลั่งชาติของมาเลเซียก็กลับมา รวมถึงการเมืองอิสลามสุดโต่งในอินโดนีเซีย

รัฐบาลเหล่านี้พยายามหาแพะรับบาปเพื่ออ้างว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มบางชุมชนที่เป็นผู้แพร่โรคระบาด ในไทยก็มีการกล่าวหาว่านักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเป็นผู้แพร่เชื้อโดยละเลยการแพร่เชื้อภายในประเทศของตัวเอง ในสิงคโปร์และมาเลเซียก็กล่าวหาแรงงานข้ามชาติ ในอินโดนีเซียกลุ่มอิสลามสุดโต่งก็หันไปกล่าวหาชุมชนคนเชื้อสายจีนแบบที่พวกเขามักจะทำเสมอมา

ทั้งนี้ นอกจากรัฐบาลจะไม่แก้ไขปัญหาใดๆ จากการหาแพะรับบาปเหล่านี้แล้ว รัฐบาลยังมักจะเอามาใช้เสียเองเพื่อเบี่ยงเบนความรับผิดชอบและความไร้ประสิทธิภาพในการรับมือวิกฤตของตัวเอง

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่ชนชั้นนำของประเทศเอเชียอาคเนย์มีข้อได้เปรียบในช่วงที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกำลังอ่อนแรงอยู่แล้ว เช่นในไทยเพิ่งจะมีการใช้ศาลที่มีอำนาจหนุนหลังจากกองทัพสั่งยุบพรรคการเมือง อ้างใช้กฎหมายเล่นงานคนมีชื่เสียงในฝ่ายค้าน และใช้กฎหมาย พรบ. คอมพ์ กับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผู้คนตามอำเภอใจ

ในฟิลิปปินส์ก็มีการขยายอำนาจตัวเองในการทำลายเสรีภาพสื่อและเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมาเป็นเวลายาวนาน รวมถึงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามยาเสพติด ซึ่งในช่วง COVID-19 ดูเตอร์เตก็ทำลายฝ่ายตรงข้ามหนักข้อขึ้นและทำให้เกิดการไม่ต่อสัญญาสื่อใหญ่แห่งหนึ่งของฟิลิปปินส์

ในอินโดนีเซียมีการหลอมรวมฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลส่วนใหญ่มาไว้กับพรรครัฐบาลเองทำให้ฝ่ายตรข้ามทางการเมืองอยู่อย่างกระจัดกระจายโดยไม่มีอุดมการณ์หรือนโยบายเกี่ยวดองใดๆ ในมาเลเซียพรรคแนวร่วมรัฐบาลเดิมที่เพิ่งถูกโค่นล้มไปก็มีความแตกแยกกันในหมู่ผู้นำพรรคและพยายามเรียกฐานคะแนนเสียงกลับมาจากที่ฐานคะแนนเสียงเหล่านั้นไม่พอใจการปฏิรูปที่ล้าช้าของพวกเขา ส่วนในสิงคโปร์ถึงแม้พรรคฝ่ายค้านจะขยายตัวมากขึ้นบ้างแต่การโหวตพรรคฝ่ายค้านก็ยังคงเหมือนเป็นวิธ๊การแสดงความไม่พอใจรัฐบาลของผู้คนมากกว่าการที่จะโหวตเพื่อให้ได้พรรคทางเลือกอื่น

นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่า รัฐบาลเหล่านี้มีความสามารถในการเบี่ยงเบนความสนใจและจัดฉากเหตุการณ์ความมั่นคงกับวิกฤตการเมืองขึ้นมาเอง ไม่มีประเทศใดในเอเชียอาคเนย์ที่มีเสรีภาพสื่ออย่างแท้จริง รัฐบาลใช้สื่อกระแสหลักในการผลักดันเรื่องเล่าของตัวเอง รวมถึงใช้ทรัพยากรไปกับการจ้างเกรียนเบี่ยงเบนความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ภาวะ COVID-19 ยิ่งทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลขาดโอกาสในการจัดประท้วงใหญ่ บีบให้ต้องหันไปวิจารณ์ในโลกออนไลน์หรือในระดับท้องถิ่นแทน

นักวิเคราะห์มองเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลเหล่านี้คือระบบอุปถัมภ์ในมือของพวกเขา แต่ทว่าระบบอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมหดตัวลงในช่วง COVID-19 ถึงแม้ว่ารัฐบาลอาจจะต้องเผชิญกับภาวะขาดดุลในเร็ววันนี้ แต่ฝ่ายรัฐก็จะยิ่งดำเนินการแบบเล่นพรรคเล่นพวกมากขึ้นเพราะพวกนี้มีนโยบายในเชิงเน้นปกป้อกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันมากกว่าประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว

อะบูซา และเวลช์ระบุว่า ถึงแม้รัฐบาลเหล่านี้จะไม่ล่มสลายไปได้ง่ายๆ ในช่วงเวลาอันสั้น แต่ผลสะเทือนทางการเมืองต่อรัฐบาลเหล่านี้ก็มีนัยสำคัญ ปัญหาการระบาดหนักเปิดเผยให้เห็นความอ่อนแอของการบริหาร การนำที่ไม่ดี และความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ดำเนินนโยบายแบบเน้นใช้เครื่องมือฝ่ายความมั่นคงปราบปรามผู้คนและสร้างเรื่องให้มีแพะรับบาปเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ พวกเขาอาจจะรอดและได้ประโยชน์ในระยะเวลาอันสั้น แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมาหลังจากนี้อาจจะยิ่งทำให้เห็นโรคร้ายภายในตัวรัฐบาลเหล่านี้มากขึ้นก็ได้


เรียบเรียงจาก
The Politics of Pandemic in Southeast Asia, The Diplomat, 02-06-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net