Skip to main content
sharethis

กสม. ห่วงกรณี ‘วันเฉลิม’ สูญหาย – ประสาน กต.แสวงหาข้อเท็จจริง แนะ รบ.เร่งออกกฎหมายป้องกันการทรมาน-บังคับสูญหาย สร้างหลักประกันคุ้มครองสิทธิฯ ปชช. ขณะที่คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.เรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือ วันเฉลิม และพลเมืองคนอื่นที่อยู่ในสถานการณ์อย่างเดียวกันให้รอดพ้นจากภยันตรายอย่างจริงจังและทันท่วงที

8 มิ.ย.2563 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยปรากฏข่าวตามสื่อต่าง ๆ และแถลงการณ์ของผู้เกี่ยวข้อง กล่าวอ้างว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา วันเฉลิม หรือตาร์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมการเมืองชาวไทยที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ถูกกลุ่มบุคคลนำตัวขึ้นรถหายไปในขณะที่กำลังซื้อสินค้าที่หน้าอาคารที่พักในกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าข้อเท็จจริงเป็นประการใด แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และมีองค์กรต่าง ๆ ออกมารณรงค์เรียกร้องความยุติธรรม และเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกรณีดังกล่าว

ประธาน กสม. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกรณี วันเฉลิมแล้ว ยังมีกรณีกล่าวอ้างว่า นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทยที่ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศถูกบังคับให้สูญหายอีกหลายกรณี ได้แก่ 1) กรณีสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ กับพวกอีกสองคน คือ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศ ได้หายตัวไปจากบ้านพักขณะที่อาศัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2) กรณีสยาม ธีรวุฒิ กับพวกอีกสองคน คือ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และกฤษณะ ทัพไท ถูกจับกุมที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและส่งตัวกลับมายังประเทศไทยแล้วไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด แต่กองบังคับการปราบปรามได้ยืนยันว่ายังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดทำการจับกุมตัวนายสยามมาส่งมอบแก่พนักงานสอบสวน นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และได้รับแจ้งเป็นการภายในว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามายังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามของนายสยามและพวกอีกสองคนแต่อย่างใด ในเรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนะไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องแล้ว

วัส ย้ำว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของคนไทยในต่างประเทศ แต่เหตุการณ์ตามข้อกล่าวอ้างเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบได้  แต่สมควรดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรง ดังนั้น จึงได้ขอความร่วมมือให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือพยานหลักฐาน เพื่อทำความจริงให้ปรากฏและเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบโดยทั่วกัน ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศอาจประสานกับครอบครัวของนายวันเฉลิมให้ส่งข้อมูลหรือพยานหลักฐานทั้งปวงที่แสดงว่ามีการถูกบังคับให้สูญหายไปยังกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป

“ที่ผ่านมา กสม. มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการตรากฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ภายใต้เจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว พร้อมทั้งขอให้คณะรัฐมนตรีเร่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) ด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันที่ชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน” ประธาน กสม. กล่าวทิ้งท้าย

คณาจารย์คณะนิติ มธ. ร้อง รบ.ให้ความช่วยเหลือ 'วันเฉลิม-พลเมืองอื่น' ให้รอดพ้นจากภยันตรายอย่างจริงจังและทันท่วงที

วันเดียวกัน คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีนี้ด้วย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างจริงจังและทันท่วงที ในการให้ความช่วยเหลือ วันเฉลิม และพลเมืองคนอื่นที่อยู่ในสถานการณ์อย่างเดียวกันให้รอดพ้นจากภยันตราย สืบหาข้อเท็จจริง ติดต่อประสานงาน รวมถึงรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการดังกล่าวให้กับสาธารณชนได้รับทราบอย่างรวดเร็วและชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติตามหน้าที่ขั้นพื้นฐานของรัฐในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างถูกต้องครบถ้วน

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

แถลงการณ์คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อกรณีของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในระหว่างพำนักอยู่ในกัมพูชา แม้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและชะตากรรมของบุคคลดังกล่าวจากหน่วยงานราชการของไทยและกัมพูชา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวที่ได้รับการนำเสนอออกไปโดยสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ก่อให้เกิดความสงสัยและความวิตกกังวลอย่างยิ่งแก่ประชาชนจำนวนมากต่อชะตากรรมของบุคคลดังกล่าวและต่อบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังเกิดคำถามและข้อถกเถียงกันในวงกว้างว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาและหลบหนีการดำเนินคดีควรได้รับการป้องคุ้มครองสิทธิโดยระบบกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายของไทยหรือไม่และเพียงใด และรัฐบาลและหน่วยงานรัฐในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนควรดำเนินการเช่นไรในสถานการณ์เช่นว่านี้

ต่อคำถามและข้อถกเถียงข้างต้น คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ มีความเห็นร่วมกันว่า ประชาชนชาวไทยทั้งหลายย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้ทรงสิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิที่จะใช้ความคิด สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น รวมถึงสิทธิที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมไปตามแนวทางที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยินยอมพร้อมใจกัน อาจกล่าวได้ว่า สิทธิตามรัฐธรรมนูญในประการสำคัญดังกล่าวทั้งหลายเป็น “คุณค่าพื้นฐาน” ในการอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองประชาธิปไตย ซึ่งทำให้การดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมมีคุณค่า มีความหมาย และมีความหวัง รัฐที่เป็นนิติรัฐมิได้มีแต่เพียงหน้าที่ที่จะต้องงดเว้นจากการกระทำการทั้งหลายที่เป็นการกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ยังมี “หน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน” ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐในการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าพื้นฐานของสังคมการเมืองประชาธิปไตยและของระบบรัฐธรรมนูญ การที่รัฐได้ดำเนินการอย่างจริงจังในปกป้องชีวิตและร่างกายของประชาชน การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี การส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีทัศนคติทางการเมืองอย่างไรก็ตาม ย่อมเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้ถืออำนาจรัฐมีความตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะพิทักษ์รักษาคุณค่าพื้นฐานดังกล่าวของสังคม และย่อมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทั้งหลายว่าจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขอย่างแท้จริง

ประชาชนชาวไทยทั้งหลายไม่ว่าอยู่ในสถานะใดก็ตามย่อมมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและได้รับการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญดังที่กล่าวมาข้างต้น แม้บุคคลนั้นจะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาและอยู่ระหว่างการหลบหนีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ก็ยังคงเป็นผู้ทรงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างบริบูรณ์ในฐานะที่เป็นประชาชนชาวไทย และมีสิทธิเรียกร้องให้รัฐปกป้องคุ้มครองชีวิตและร่างกาย มีสิทธิใช้ความคิดของตน รวมถึงการแสดงออกทางการเมือง การที่รัฐให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและปกป้องชีวิตของบุคคลดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ขั้นพื้นฐานในฐานะนิติรัฐ แต่ยังเป็นการแสดงออกในเชิงคุณค่าว่า ประเทศไทยมีกลไกในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐที่ปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังมีรายนามท้ายแถลงการณ์จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างจริงจังและทันท่วงที ในการให้ความช่วยเหลือนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์และพลเมืองคนอื่นที่อยู่ในสถานการณ์อย่างเดียวกันให้รอดพ้นจากภยันตราย สืบหาข้อเท็จจริง ติดต่อประสานงาน รวมถึงรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการดังกล่าวให้กับสาธารณชนได้รับทราบอย่างรวดเร็วและชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติตามหน้าที่ขั้นพื้นฐานของรัฐในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างถูกต้องครบถ้วน

1. รองศาสตราจารย์ ดร. มุนินทร์ พงศาปาน
2. รองศาสตราจารย์ ดร. สุปรียา แก้วละเอียด
3. รองศาสตราจารย์ ดร. ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รณกรณ์ บุญมี
5. รองศาสตราจารย์ ดร. นิรมัย พิศแข มั่นจิตร
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอมผกา เตชะอภัยคุณ
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จารุประภา รักพงษ์
9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ตามพงศ์ ชอบอิสระ
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพร โพธิ์พัฒนชัย
11. อาจารย์ ดร. ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี
12. อาจารย์ ดร. นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล
13. อาจารย์ ดร. พนัญญา ลาภประเสริฐพร
14. อาจารย์เมษปิติ พูลสวัสดิ์
15. รองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา
สายสุนทร
16. ศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์
17. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
18. ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ศิริคุณโชติ
19. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระ สุธีวรางกูร
20. อาจารย์นาฏนภัส เหล็กเพ็ชร
21. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
22. อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ
23. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวตรี สุขศรี
24. อาจารย์ฉัตรดนัย สมานพันธ์
25. อาจารย์ ดร. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
26. อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์
27. อาจารย์คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร
28. อาจารย์สหรัฐ อกนิษฐศาสตร์
29. อาจารย์มาติกา วินิจสร
30. อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล
31. อาจารย์ภัทรพงษ์ แสงไกร
32. อาจารย์กิตติภพ วังคำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net