Skip to main content
sharethis

หน้าสถานทูตกัมพูชา ช่วงสาย กป.อพช. ร้องรัฐบาลกัมพูชาช่วยเหลือติดตามการหายตัวไปของ 'วันเฉลิม' ขณะที่ สถานทูตแจ้งว่าไม่สามารถรับหนังสือ ช่วงบ่าย 'นักศึกษา-ประชาชน' ร้อง รบ.กัมพูชา ชี้แจงข้อเท็จจริงคนร้ายอุ้มวันเฉลิม ระบุ 15 มิ.ย.นี้ จะกลับมาฟังความคืบหน้า

ที่มาภาพ เพจ Banrasdr Photo

8 มิ.ย. 2563 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' รายงานว่า วันนี้เวลาประมาณ 10.00 น. ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ถนนประชาอุทิศ ณัฐวุฒิ อุปปะ ตัวแทนคณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือที่มีการลงชื่อของกลุ่มองค์กรเอกชนกว่า 150 องค์กร เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาช่วยเหลือติดตามการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทย ที่ถูกกลุ่มชายพร้อมอาวุธนำตัวขึ้นรถสีดำออกไปจากบริเวณหน้าที่พักภายในประเทศกัมพูชาเมือช่วงเย็นของวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดยทางเจ้าหน้าที่สถานทูตแจ้งว่าไม่สามารถรับหนังสือได้ทางกลุ่มจึงได้วางหนังสือไว้ที่หน้าป้ายสถานทูตก่อนที่จะเดินทางกลับ

ขณะที่ช่วงบ่ายเวลา14.30น. ที่หน้า สถานทูตกัมพูชาฯ ประชาชน นักศึกษา ที่นัดหมายกันผ่านทางเฟชบุ๊กหลายสิบคนได้เดินทางมาชูป้ายมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาชี้แจงข้อเท็จจริงการลักพาตัว วันเฉลิม พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาจับคนร้ายและผู้บงการไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนกัมพูชา

โดยตัวแทนกลุ่มระบุว่าในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. จะเดินทางกลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อฟังความคืบหน้า

สำหรับแถลงการณ์ของ กป.อพช. มีรายละเอียดดังนี้ : 

แถลงการณ์ การอุ้มหาย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
“ต้องไม่มีอำนาจใดอยู่เหนือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่ต้องคงอยู่ทุกสภาวการณ์มิอาจถูกละเมิดได้”

มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด ซึ่งสิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย โดยความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์มิอาจถูกลดทอนหรือละเมิดได้ในทุกกรณี ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกระบุใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ว่าด้วยความพยายามที่จะธำรงศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ไว้ และในรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ฉบับปี 2540 ในมาตรา 4 มาตรา 26 และมาตรา 28

ดังนั้น ประชาชนต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐในการใช้สิทธิ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดเสรีภาพ และความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า ยังมีกรณีการคุกคาม ข่มขู่ รวมถึงการบังคับให้สูญหาย ต่อ นักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิ และประชาชนไทยที่ออกมาเคลื่อนไหว โดยเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ราวกับเป็นเรื่องปกติวิสัย ซึ่งในหลายกรณีผู้กระทำยังคงลอยนวลพ้นผิด โดยในการคุกคามสิทธิในการแสดงออกยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น กรณี เอกชัย อิสระทะ เลขาธิการ กป.อพช. ที่ถูกบังคับและปิดกั้นการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีเหมืองหินในจังหวัดพัทลุง ที่แม้กลุ่มผู้กระทำถูกลงโทษตามคำสั่งศาล แต่ในข้อเท็จจริงการเคลื่อนไหวของนักปกป้องสิทธิก็ยังไม่มีหลักประกันในความปลอดภัยและมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการปกป้องคุ้มครองพลเมืองใช้การใช้สิทธิและเสรีภาพ

รวมถึงล่าสุด ในกรณีการหายตัวอย่างมีเงื่อนงำของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” โดยยังไม่ทราบชะตากรรมในขณะนี้ ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐไทย อันเป็นสิทธิอันพึงมีในฐานะพลเมืองไทย ไม่ควรให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ตามหลักการของกฎหมายในการปกป้องสิทธิและความเป็นมนุษย์ขึ้น ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถเพิกเฉยต่อกรณีนี้ได้ เพื่อให้วันเฉลิมได้รับความปลอดภัย และป้องกันการผลิตซ้ำการบังคับให้สูญหาย เพียงเพราะการแสดงความเห็นที่ไม่เป็นไปในทิศทางของผู้มีอำนาจต้องการ

กป.อพช. จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ที่มีหน้าที่ในการดูแลรับใช้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนี้
1. ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ข้อเท็จจริง กรณีการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นลักษณะของการถูกอุ้มหาย และดำเนินการใดๆเพื่อให้วันเฉลิมได้รับความปลอดภัยกลับมา ตลอดทั้ง เปิดเผยข้อมูลการหายตัวดังกล่าวต่อสาธารณชน และนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายโดยเร็วที่สุด
2. ต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อยุติการข่มขู่ คุกคาม การบังคับให้สูญหาย ที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เข้ากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือการแสดงความคิดเห็น ตามสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายต่อต้านการบังคับให้สูญหาย หรือกฎหมายอื่นๆเพื่อคุ้มครองประชาชน และลงโทษผู้กระทำผิด
3. จะต้องยับยั้งการยุยง ปลุกปั่น บิดเบือนข่าวสาร ของคนบางกลุ่ม ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งเกลียดชังผู้แสดงความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่แท้จริง
4. ต้องเคารพและส่งเสริมให้เกิดการเคารพต่อ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น โดยประชาชนต้องรับความคุ้มครองจากรัฐในการใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวที่ยึดมั่นในหลักการของประชาธิปไตย

ด้วยความนับถือ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net