Skip to main content
sharethis

วุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้อดีต สนช. เป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่กรรมการสรรหา กสม.เห็นว่าอดีต สนช. เป็น กสม.ไม่ได้ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 246 และ พ.ร.บ.กสม.มาตรา 10(18) จะต้องไม่เคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการเมือง นักการเมืองท้องถิ่นในระยะสิบปี

ซึ่งในกรณี ป.ป.ช. รัฐธรรมนูญมาตรา 216,202(4) และ พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 11(18) ก็บัญญัติไว้เหมือนกันเป๊ะ ทำไมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ งงไหม

มีคำอธิบายว่า กรรมการสรรหา 2 ชุด มีที่มาไม่เหมือนกัน กรรมการสรรหา ป.ป.ช.ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด และกรรมการที่องค์กรอิสระอื่นแต่งตั้ง กรรมการสรรหา กสม. 4 คนแรกเหมือนกัน แต่ที่เหลือมาจากผู้แทนองค์กรสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ สภาวิชาชีพทางการแพทย์ และสภาวิชาชีพสื่อ

สมชาย แสวงการ บอกว่ากรรมการสรรหา กสม.ตีความผิด นักกฎหมาย 2 ท่านเห็นว่า สนช.ไม่ใช่ ส.ส. ส.ว. แต่อีก 5 คนที่ไม่ใช่นักกฎหมาย เห็นว่า สนช.ถือเป็น ส.ส. ส.ว.

สมชายยืนยันว่า สนช.ไม่ถือเป็น ส.ส. ส.ว. เป็นองค์กรพิเศษที่ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาระหว่างรัฐประหาร ไม่ใช่ข้าราชการการเมืองเพราะยังให้ทหารมาเป็นได้ ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาทำหน้าที่แทน ส.ส. ส.ว.เท่านั้น

โดยสมชายยังวางเดิมพัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สนช. เป็น ส.ส. ส.ว. พวกตัวเอง 80 คน รวมทั้งประธานวุฒิสภา ที่เคยเป็น สนช.มาก่อน ก็ตกเก้าอี้หมด เพราะจะขาดคุณสมบัติทันที แต่เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้

คำพูดสมชายก็ชัดเจนดี สนช.ที่รัฐประหารตั้ง เป็นองค์กรพิเศษ มีสิทธิพิเศษ ได้รับยกเว้น ไม่ต้องมีข้อห้ามเหมือน ส.ส. ส.ว.จากเลือกตั้ง สามารถดำรงตำแหน่งอันบริสุทธิ์โปร่งใส ต้องห้ามสำหรับนักการเมืองชั่ว แต่ถือเป็นครั้งแรกเลยนะ ที่มีการตีความว่า สนช.รัฐประหารตั้ง ไม่ถือเป็น ส.ส. ส.ว. รัฐประหารครั้งก่อนๆ ไม่เคยมี

รัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนว่า ให้ สนช. “ทำหน้าที่แทน ส.ส. ส.ว.” ซึ่งก็ตลกดี ตัวอักษรตีความได้หมดแหละว่าเป็น ส.ส. ส.ว.หรือไม่ แต่เจตจำนงและความชอบธรรมอยู่ตรงไหน

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย เถียงกันไปก็ไลฟ์บอย ถ้าหน้าดำค่ำเครียดถือเอากฎหมายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็เปลืองแรงเปล่า เพราะเอาเข้าจริง กฎหมายไม่ได้มีความหมายอะไรเลย

รัฐประหาร คสช.ที่ประยุทธ์เป็นหัวหน้า ตั้ง สนช.ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ส.ส. ส.ว. เป็นองค์กรพิเศษ แต่บอกว่าประเทศมีสภา คสช.ตั้งรัฐบาลขึ้นมา ประยุทธ์เป็นนายกฯ สนช.โหวตรับรองประยุทธ์ แล้วบอกว่าถูกต้องตามระบอบแล้วนะ

รัฐประหารตั้ง กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญ สนช.บวกคำถามพ่วง ทำประชามติมัดมือชก กรธ.ร่างกฎหมายองค์กรอิสระ ให้ สนช.เห็นชอบ แล้ว สนช.ก็ตั้งองค์กรอิสระ ป.ป.ช. กกต. คตง. ผู้ตรวจฯ โดยบอกว่าอิสระจริงๆ นะ ประยุทธ์สั่งไม่ได้

ประธาน ป.ป.ช.มาจากหน้าห้องประวิตร แต่ ป.ป.ช.ชี้ว่า “นาฬิกาเพื่อน” เป็นการยืมใช้คงรูป นี่ก็อิสระจริงๆ นะ

คสช.โดยประยุทธ์ ตั้ง 250 ส.ว.โหวตประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็อย่าดูที่หน้า ติ๋งต่างสิว่าคนละคนกัน

250 ส.ว. มี 80 คนมาจาก สนช.รวมทั้งประธาน ตั้งอดีต สนช.มาเป็น ป.ป.ช. มาตรวจสอบรัฐบาลประยุทธ์ ตรวจสอบทรัพย์สิน ส.ส. ส.ว. ก็อย่ามองอย่างเจษฎ์ โทณวณิก ว่าเพื่อนช่วยเพื่อน

เดี๋ยวส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตุลาการ 5 คนให้ความเห็นชอบโดย 250 ส.ว. อีก 2 คนให้ความเห็นชอบโดย สนช.

ถามจริงว่าระบบตรวจสอบที่แต่งตั้งกันวนไปวนมาเป็นงูกินหาง ผลัดกันเกาหลัง นี่ยังถือเป็นระบบตรวจสอบหรือไม่ ตีความกฎหมายออกมาอย่างไรต่างกันตรงไหน

เราอยู่ในระบอบลวงตา อ้างว่าถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น เหมือนรัฐประหารอ้างว่ารัฐบาลออกกฎหมายผ่านสภา ถูกต้องตามระบอบ แต่สมชายเพิ่งบอกว่า ไม่ใช่ ส.ส. ส.ว.นะ เป็นองค์กรพิเศษที่รัฐประหารตั้ง

งั้นกฎหมาย 444 ฉบับที่ออกในยุค สนช.มาบังคับประชาชน ต่างจากคำสั่ง คสช.ตรงไหน ก็ต่างกันตรงที่มีระบอบลวงตา

แม่น้ำ 5 สาย 10 สาย ที่แตกไลน์มาเป็น 250 ส.ว. องค์กรอิสระ ก็มาจากต้นธารเดียวกันหมด คือ คสช. ซึ่ง 250 ส.ว.ยังมีอำนาจเห็นชอบแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดด้วยซ้ำ

ขณะที่อำนาจบริหาร อำนาจแต่งตั้งข้าราชการทหารตำรวจ ผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็อยู่ในมือรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ซึ่งตั้งมาตลอด 6 ปี

ระบบกฎหมาย อำนาจตรวจสอบ ถ่วงดุล จึงหมดความหมาย สภาผู้แทนราษฎรหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็เสื่อมและอ่อนแอ

เราอยู่ในระบอบอะไร ยังไม่พ้นระบอบรัฐประหารด้วยซ้ำ เพราะยังไม่พ้นจากการผูกขาดอำนาจ แม้ทางนิตินัยดูเหมือน “สั่งไม่ได้” แต่ในแง่เครือข่ายความผูกพัน ไม่มีคำถามเลยหรือ

พวกที่ตั้งความหวังเรื่องปราบทุจริต จึงได้แต่อ้างตัวบุคคล เช่น ผบ.ทบ.ตรงไปตรงมา ปราบทุจริตศูนย์ซ่อมสร้าง ไม่ปกป้องคนทำผิด แต่หมู่อาร์มต้องติดคุกหัวโตฐานหนีทหาร

ระบอบนี้จึงเป็นชนวน เพราะประชาชนเปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้ ต้องไล่ทั้งยวง แต่ไม่รู้จะไล่อย่างไร ยิ่งสั่งสมความไม่พอใจ

บทเรียนจากอเมริกาคือ ความเหลื่อมล้ำยากลำบากทางเศรษฐกิจและโรคระบาด สั่งสมความโกรธอัดอั้น แต่ยังไม่ลุกฮือจนเกิดความอยุติธรรม

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_4263065

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net