Skip to main content
sharethis

ผอ.สำนักนโยบายฯ กลาโหม ยอมรับเอกสารขอข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจริง ใช้เพื่อติดตามผู้ติดโควิด-19 ย้ำเป็นความหวังดี ทำได้เพื่อสอบสวนโรค ชี้อยู่ระหว่างทดสอบ ไม่ได้นำข้อมูล ปชช.ไปทำอะไร ขณะที่'โฆษกกลาโหม' กลับยืนยันไม่เคยขอข้อมูลตำแหน่งมือถือ ปชช.

8 มิ.ย.2563 จากกรณีที่ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เผยแพร่เอกสารของสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ที่ระบุถึงการขอข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการสนับสนุนการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น

ผอ.สำนักนโยบายฯ กลาโหม รับเอกสารขอข้อมูลมือถือเป็นฉบับจริง ย้ำหวังดี

สื่อหลายสำนัก เช่น ผู้จัดการออนไลน์ มติชนออนไลน์และไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน (ผอ.สนผ.) กระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเอกสารที่สฤณีออกมาเปิดว่า ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค เนื่องจากเราได้มีการพูดคุยในที่ประชุมวงเล็ก โดยเรียกฝ่ายทางเทคนิคของกระทรวงกลาโหมมาสอบถามว่าสามารถเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอติดตามสัญญาณโทรศัพท์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ใกล้ชิดทั้งหมด โดยที่ประชุมได้ยกตัวอย่างกรณีสนามมวยที่มีคนเข้าร่วมชมมวย 2,800 คน แต่จากการสอบถามกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามมาได้เพียง 800 คน ส่วนที่เหลือไม่ยอมมาตรวจและไม่สามารถติดตามตัวได้ ทั้งนี้ หากเรารู้ข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์ทั้ง 2,800 คนที่อยู่ในสนามมวย เราก็จะสามารถส่งข้อความไปแจ้งเตือนได้ทันที จนเป็นที่มาของการเชิญผู้ประกอบการค่ายมือถือทั้ง 5 ค่าย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เข้ามาควบคุมอีกชั้นหนึ่ง โดยการทำโปรแกรมกรม ดังกล่าวควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ดำเนินการ

“ในส่วนของกระทรวงกลาโหมถือว่าเป็นความหวังดีที่บูรณาการจัดการประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ จนได้ข้อสรุปว่าสามารถทำได้ จึงดำเนินการทำหนังสือแจ้งไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค” พล.อ.รักศักดิ์กล่าว

ต่อกรณีคำถามที่ว่าถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น พล.อ.รักศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมไม่ได้นำข้อมูลของประชาชนไปทำอะไร เป็นเพียงการระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการป้องกันการระบาดของโรค และที่สำคัญโปรแกรมดังกล่าวยังไม่ได้บังคับใช้เพราะเพิ่งทำเสร็จเมื่อ 15 วันที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบของรายแรกอยู่เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดของโรคในรอบสอง

ต่อคำถามที่ว่าต้องขอข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์คนทั้งประเทศใช่หรือไม่ เพราะทุกคนมีความเสี่ยงทั้งหมดนั้น พล.อ.รักศักดิ์กล่าวว่า สมมติมีผู้ติดเชื้อเดินทางโดยมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปขึ้นรถสองแถว โดยบุคคลเหล่านั้นไม่รู้จักผู้ติดเชื้อ โปรแกรมดังกล่าวจะส่งข้อความไปบอกว่าบุคคลเหล่านั้นอยู่ในข่ายติดเชื้อโควิด-19 ต้องเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวัง

'โฆษกกลาโหม' ยันไม่เคยขอข้อมูลตำแหน่งมือถือ ปชช.

อย่างไรก็ตามเพจ โฆษกกระทรวงกลาโหม รายงานว่า พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมยืนยันว่า กระทรวงกลาโหมไม่เคยทำหนังสือไปถึง กสทช. ขอข้อมูลตำแหน่งมือถือประชาชน เพื่อการควบคุมป้องกันโรค COVID - 19 ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้การให้ข้อมูลของ พล.อ.รักศักดิ์ เพียงกล่าวถึง ความร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน ที่ประชุมระดมความคิดเห็นแก้ปัญหาการแพร่ระบาดในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่มีอัตราผู้ติดเชื้อภายในประเทศสูงกว่า 100 คนที่ผ่านมา

โดยมีการพิจารณาถึงประโยชน์ของข้อมูลตำแหน่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือของผู้ติดเชื้อ เพื่อขยายผลการสอบสวนโรคกับผู้สัมผัสหรือใกล้ชิด ซึ่งสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ได้สรุปผลการประชุมถึงหน่วยงานต่างๆที่เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

กระทรวงกลาโหม ย้ำว่า กระทรวงกลาโหมไม่มีหน้าที่ในการดำเนินการกับข้อมูลโทรศัพท์มือถือประชาชน และไม่เคยขอ หรือได้รับข้อมูลดังกล่าว จาก กสทช.เพื่อการควบคุมโรคที่ผ่านมาแต่อย่างใด

สำหรับเอกสารดังกล่าว สฤณี โพสต์ว่า มีคนส่งเอกสารชุดนี้มาให้ เป็นหนังสือจากกระทรวงกลาโหมถึง กสทช. และหนังสือจากกรมควบคุมโรคถึง กสทช. ขอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือส่งข้อมูลตำแหน่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ย้อนหลัง 14 วัน ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมถึงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของทุกคนที่เคยอยู่ในบริเวณเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ เพื่อส่ง SMS แจ้งเตือน และเพื่อดำเนินการสอบสวนโรค ทั้งหมดนี้อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ. ควบคุมโรค ประกอบ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

สฤณี ระบุว่า อ่านแล้วก็เกิดคำถามสามข้อทันที อยากให้ช่วยกันถามดังๆ และอยากให้สื่อมวลชนไปถามกระทรวงกลาโหม กสทช. กระทรวงดีอี กรมควบคุมโรค และ TRUE, AIS, DTAC ด้วย

1. กระทรวงกลาโหมเกี่ยวอะไรด้วยกับเรื่องนี้ กระบวนการสอบสวนโรคควรเป็นเรื่องของกรมควบคุมโรคล้วนๆ และหนังสือนี้มีมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แล้ว ทำไมกระทรวงกลาโหม / กสทช. / กรมควบคุมโรค ถึงไม่เคยเปิดเผยกระบวนการนี้ให้ประชาชนรับรู้เลย ทั้งที่จะใช้ข้อมูลส่วนบุคคล?

2. หนังสือทั้งสองฉบับออกตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ก่อนวันเปิดตัวโครงการ "ไทยชนะ" เกือบหนึ่งเดือน เกิดคำถามทันทีว่าแล้วทำไมต้องมีโครงการ "ไทยชนะ" อีก ในเมื่อข้อมูลเบอร์และสัญญาณมือถือที่ขอตามหนังสือนี้ก็มากเกินพอแล้วต่อการสอบสวนโรค (แถมละเอียดและครอบคลุมกว่าข้อมูล QR code ที่ได้จาก "ไทยชนะ" หลายเท่า)

เชื่อว่าจนถึงวันนี้คนไทยทั้งประเทศไม่รู้เลยว่ามีกระบวนการนี้อยู่ นึกว่ามีแต่ "ไทยชนะ" เท่านั้นที่เป็นการใช้ข้อมูลมือถือช่วยกระบวนการสอบสวนโรค (และอย่าลืมว่า สามสัปดาห์ผ่านไป "ไทยชนะ" ก็ไม่ได้โปร่งใสแม้แต่น้อย เรายังคงไม่รู้ว่าใครใช้ข้อมูลเหล่านั้นบ้างและเอาไปทำอะไรบ้าง)

3. วันนี้บริษัทมือถือทั้งสามเจ้ามีการส่งข้อมูลให้กรมควบคุมโรคทุกวัน ตามขั้นตอนที่ระบุในหนังสือนี้แล้วหรือไม่ การส่งข้อมูลเป็นไปตามระบบและนโยบายการคุ้มครองข้อมูล (data governance) ขององค์กรหรือไม่ (ที่ผู้ให้บริการทุกเจ้าได้ปรับปรุงแล้วเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล)

 

หนังสือกระทรวงกลาโหมขอข้อมู... by Sarinee Achavanuntakul on Scribd

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net