การเมืองไทยยุค New (ab)normal (1) กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

We Watch จัดเสวนาออนไลน์ “New (ab)normal ทางการเมือง?” กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อธิบายความสัมพันธ์รัฐจัดตั้งชุมชนสร้างกลไกสาธารณสุขในรอบหลาย 10 ปี วัฒนธรรมการเมืองแบบชวนเชื่อเรื่องความสงบ การกำจัดและควบคุมฝ่ายค้านหลังเลือกตั้งทั้งในและนอกสภา และการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีส่วนช่วยรัฐบาลประยุทธ์ประคองตัวได้ในช่วง COVID-19 ระบาด อย่างไรก็ตามมีปัจจัยท้าทายในอนาคตที่ต้องพิจารณาทั้งพลังคนรุ่นใหม่ คนจนเมืองที่ไม่มีภาคเกษตรรองรับ และพลังอดีตกองเชียร์รัฐบาลทหาร

ในเวทีเสวนาออนไลน์ “New (ab)normal ทางการเมือง?” โดยเครือข่าย We Watch  เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอหัวข้อ “การเมืองไทยก่อนหน้าโควิด ปัญหาอุปสรรคและการมีส่วนร่วมของประชาชน”

กนกรัตน์ เริ่มนำเสนอว่าก่อนหน้าและช่วงการระบาดของ COVID-19 นั้น การเมืองไทยโดยเฉพาะการตรวจสอบจากภาคประชาชน มีการประเมินสถานการณ์อย่างไรบ้าง ต่อทั้งรัฐในสถานการณ์ทางการเมือง ในระดับโลกและในประเทศไทย และพิจารณาว่า การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล การผลักดันนโยบายมีปัญหา อุปสรรค และความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง

ถ้ามองการเมืองเมื่อปลายปี 2562 หรือจะนับการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมานับว่าเป็น unpredictable year (ปีที่คาดเดาไม่ได้) มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก และมีเงื่อนไขหลายอย่าง มีผลการเลือกตั้งมากมายที่ทำให้เราคาดเดาไม่ได้ เราไม่รู้ว่าพรรคไหนจะโดนยุบ เราไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลไกรัฐจะเป็นอย่างไร

พอมาถึงช่วงปลายปีและต้นปีที่ผ่านมา ฝั่งที่สนับสนุนประชาธิปไตยก็คาดหวังความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่่ว่าจากผลการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งพรรคการเมืองหลายพรรคที่เคยเป็นของคนส่วนใหญ่ในประเทศชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ตั้งรัฐบาลเพราะกลไกของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา

หรือมองเห็นพลังของนักศึกษาที่เริ่มก่อตัวก่อนที่จะเกิดการระบาดของ COVID-19 เกิดความไม่พอใจของประชาชนต่อความชอบธรรมของรัฐบาลทั้งคอร์รัปชั่น และกรณีต่างๆ และเมื่อเกิด COVID-19 ระบาดคนก็รู้สึกไม่พอใจต่อรัฐบาลที่มีนโยบายแก้ปัญหาเน้นไปที่ผลประโยชน์ของชนชั้นกลางระดับบนและชนชั้นนำ เช่น การปิดเมืองเป็นระยะเวลานาน เพื่อรักษาจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ต่ำ โดยไม่สนใจผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คนเปราะบางไม่สามารถแบกรับต้นทุนเหล่านี้ มันก็สะท้อนคุณค่าที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการเมืองกับสุขภาพ มากกว่าผลกระทบต่อคนกลุ่มอื่นๆ เราเห็นคนประท้วงหน้ากระทรวงการคลังทำให้หลายคนคิดว่าอาจจะมีกระแสที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบรัฐบาลเติบโตมากขึ้น หรือมีคนประเมินว่ารัฐบาลอาจไม่ไปไม่รอดเพราะไม่สามารถจัดการวิกฤตที่ท้าทายแบบ COVID-19 ได้

แล้วเวลาทั่วโลกประเมินเรื่องประชาธิปไตย เผด็จการ ความสามารถของรัฐ ความชอบธรรมของรัฐ และความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนในช่วง COVID-19 อย่างไร? 

มีคำถามในงานวิจัยหลายชิ้นว่าระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตยกับเผด็จการ รัฐแบบไหนจัดการ COVID-19 ได้ดีกว่ากัน หลายคนยกตัวอย่างรัฐเผด็จการแบบจีนจัดการ COVID-19 ได้ดีกว่า หรือดูสิรัฐประชาธิปไตยในยุโรป มีคนตั้งคำถามกับประเด็นเรื่องรัฐประชาธิปไตยกับเผด็จการว่ารัฐแบบไหนสามารถจัดการกับ COVID-19 ได้ดีอย่างไร

ก็มีงานเสนอว่า เรื่องนี้ไม่ได้ดูความสามารถในการรับมือการระบาดว่าเป็นรัฐเผด็จการหรือประชาธิปไตย แต่ขึ้นอยู่กับ “state capacity” หรือความสามารถการจัดการของรัฐ รัฐเผด็จการในตะวันออกกลางก็ไม่สามารถจัดการโรคระบาดได้ ในขณะที่รัฐประชาธิปไตยอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จัดการการระบาดได้ดี

ถ้าพิจารณาประเทศในเอเชียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่าหลายรัฐเป็นรัฐอำนาจนิยม ช่วงต้นของการระบาด ก็มีคนเสนอว่า COVID-19 จะมาท้าทายรัฐอำนาจนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะก่อนหน้านี้รัฐเหล่านี้มีความชอบธรรมมาจากการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม พม่า หรือแม้แต่ไทย ปัญหาคือถึงแม้รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรับมือการระบาดของ COVID-19 ได้ แต่ก็จะมีความท้าทายตามมาก็คือรัฐเหล่านี้ที่เป็นรัฐอำนาจนิยมรวมทั้งไทยด้วยจะไม่สามารถจัดการปัญหาเศรษฐกิจหลังการระบาดได้เพราะมีความซับซ้อน

กนกรัตน์วิเคราะห์เมื่อกลับมาพิจารณาการเมืองไทย มีการประเมินในช่วงต้นของการระบาดว่ารัฐไทยคงต้องเผชิญวิกฤตความชอบธรรมมากขึ้นในการจัดการปัญหาตั้งแต่ การระบาดจากสนามมวย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปัญหาแรงงาน เพราะที่ผ่านมารัฐไทยมีลักษณะเปราะบางในการจัดการปัญหาซับซ้อนจากการจัดการปัญหาน้ำท่วม หมอกควัน PM2.5 หลายคนก็คิดว่ารัฐจะประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา COVID-19 ได้ แต่หลังเหตุการณ์ผ่านไป 2 เดือน สิ่งที่เราเห็นเป็นแบบนี้หรือเปล่า ต้นเดือนมิถุนายนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือ 0 ติดต่อกันมาหลายวัน เราจะทำความเข้าใจรัฐไทยที่เราเคยเข้าใจว่าไม่มีประสิทธิภาพ เป็นรัฐที่นำโดยผู้นำมาจากกองทัพ ไม่มีประสบการในทางนโยบายเพื่อจัดการปัญหาซับซ้อน อย่างไร

ที่รัฐบาลไทยยังมีความชอบธรรมในระยะสั้นมี 4 ประเด็นคือ

1. ประสบความสำเร็จในการจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อ ที่มาความสำเร็จมีคำอธิบายหลายอย่าง ซึ่งนอกจากกลไกรัฐและความสามารถของระบบสาธารณสุข แต่เป็นความสำเร็จของการเติบโตของการเมืองภาคประชาชนที่ทำงานร่วมกับรัฐ เป็นการพัฒนาชุดความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ภายใต้การเติบโตของรัฐที่พยายามจะสร้างความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็น co-optation หรือ collaborationก็ตาม แต่ในการเมืองชนบทและในท้องถิ่น คุณจะเห็นว่าการทำงานของ อสม. จริง ๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะความสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุขแต่เป็นความตื่นตัวของความต้องการที่จะอยากมีส่วนร่วมในการทำงานของกลไกรัฐของคนในท้องถิ่นด้วย

หรืออีกด้านหนึ่งอาจมองว่ามันเป็นความสำเร็จของรัฐไทยในการดึงคนในระดับรากหญ้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐเพื่อทำงานและสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐ

ในแง่นี้ก็ต้องทำความเข้าใจว่ารัฐไทยหรือรัฐบาลชุดนี้ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เพราะตัวรัฐบาลเองแต่เป็นประวัติศาสตร์ยาวนานของการทำงานร่วมกันระหว่างคนในชนบทกับกระทรวงสาธารณสุขที่มีนโยบายและความพยายามในการที่จะดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากรัฐไทยไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการจัดสรรทรัพยากรด้านสาธารณสุขลงไปในท้องถิ่นทุกท้องที่ เราไม่มีแพทย์เวชปฏิบัติ (GP) ในทุกหมู่บ้านแบบในยุโรป แต่การมีอาสาสมัครในหมู่บ้าน และใช้งบประมาณในระดับที่น้อยมาก เป็นความสำเร็จของรัฐไทยในการ co-opt กลไก คน หรือทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อทำให้รัฐประสบความสำเร็จในการทำงาน ความสำเร็จครั้งนี้ในการจัดการกับโควิด โดยเฉพาะการมอนิเตอร์การจัดการ COVID-19 ในท้องถิ่น มันสะท้อนเรื่องนี้มากๆ ในระยะสั้น

ความสำเร็จอันนี้ไม่ได้สะท้อนความสำเร็จของรัฐบาล แต่มันสะท้อนถึงเราต้องเข้าใจพัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ที่พัฒนามาในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา

2. กำจัดฝ่ายค้านไปหมด ในช่วงก่อน COVID-19 ระบาด ทั้งในและนอกสภา รัฐธรรมนูญ 2560 จัดการพรรคเพื่อไทย ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญทำให้ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นพรรคขนาดใหญ่ของชนชั้นกลางก็หมดสภาพ แม้แต่จะเป็นฝ่ายค้านภายในพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่มีความสามารถอีกต่อไป รวมทั้งการยุบพรรคอนาคตใหม่ คือรัฐบาลจัดการพรรคฝ่ายค้านในสภาและนอกสภา ไม่ต้องพูดถึงมวลชนเสื้อแดงที่ถูกปราบและแกนนำถูกเยี่ยมตลอดเวลาตั้งแต่หลังรัฐประหาร ก็คือรัฐบาลประสบความสำเร็จในการจัดการเสียงที่แตกต่าง ที่เคยเป็นมวลชนกลุ่มใหญ่ในช่วงก่อนหน้านี้

3. มาตรการในการจัดการทางสังคม ผ่านการจำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือ coercive state คือใช้กลไกกฎหมายและการเมืองจัดการ ผนวกกับกฎหมายที่ใช้ในการจัดการโรคระบาด  ทั้งสองอันมันผนวกกัน ถ้าในอดีตเวลาเกิดวิกฤตหรือปัญหาอะไรขึ้น เราจะเห็นคนบนท้องถนนทันที แต่ครั้งนี้มันไม่เป็นแบบนั้น มีเงื่อนไขพิเศษที่ทำให้รัฐสามารถใช้อำนาจและกลไลทางการเมืองและทางกฎหมายในการจัดการเพื่อไม่ให้เกิดการลุกขึ้นมาของพลังในการตรวจสอบ

4. การร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชนกับกลไกรัฐ เช่น ความสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุข หรือดึงกลไกท้องถิ่นมาเป็นกลไกสาธารณสุข อย่างที่ 2  และ อสม.  วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยง่ายที่จะชวนเชื่อเรื่องความสงบของสังคม ซึ่งรัฐใช้บ่อยเมื่อเกิดวิกฤตแต่ละครั้ง

การ co-optation ระหว่างภาคประชาชนและกลไกรัฐ ซึ่งมีหลายเรื่องที่เชื่อมกันอยู่ ตัวอย่างแรก เรื่องความสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐในการดึงกลไกในระดับท้องถิ่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกกระทรวงสาธารณสุข อย่างที่สองที่น่าสนใจคือ หลายประเทศถ้าอยู่ในช่วงวิกฤต มันอาจจะมีความพยายามนึกถึงการนำเสนออะไรที่มัน radical ทางเลือก แต่ในสังคมไทย เราเห็นตามประวัติศาสตร์มาโดยตลอดว่า วัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นอนุรักษ์ของไทยมันง่ายต่อการที่รัฐจะโปรโมทความสงบสุขและความมั่นคงทางการเมือง มันเป็นเงื่อนไข กลไกที่เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งเมื่อสังคมไทยต้องเผชิญกับวิกฤติกาล

นอกจากนั้น อีกประเด็นที่คิดว่าอยากจะทิ้งไว้ให้คิดกันต่อคือ

ความสำเร็จของรัฐของกระบวนการต่อต้านทักษิณ กระบวนการอนุรักษ์นิยมก่อนหน้านี้ ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนให้ “apolitical middle class” หรือ ชนชั้นกลางที่ไม่สนใจหรือเพิกเฉยต่อการเมืองกลายเป็นพลังอนุรักษ์นิยมและนิยมอำนาจ หรืออำนาจนิยมในห้วง 10 กว่าปีก่อนที่จะมีรัฐประหาร ความสำเร็จของขบวนการต่อต้านทักษิณทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจการเมืองตื่นตัวทางการเมืองแต่ไม่ใช่เป็นการตื่นตัวทางการเมืองแบบเสรีนิยม แต่ในฐานะกลไลสำคัญที่จะสนับสนุนพลังรัฐที่นิยมการใช้อำนาจ และส่งเสริมแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม

นี่เป็นจุดเริ่มต้นในการค่อยๆ ทำความเข้าใจว่าเรากำลังเผชิญอะไรอยู่ในฐานะภาคประชาชน นั่นคือสิ่งที่เห็นในระยะสั้น ท่ามกลางความสำเร็จของตัวเลขศูนย์ที่เราเห็นกันติดต่อกัน แต่ถ้าจะพูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว รัฐบาลจะต้องเจอกับ new normal politics คือการเมืองใหม่ที่เค้าไม่สามารถที่จะต้านทานได้ โดยภาพ 3 ภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ

1. คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะตื่นตัวทางการเมืองหลังจาก COVID-19 ค่อยๆ ได้รับการแก้ไขปัญหาไป คน generation ใหม่ที่กำลังจะตกงานทันทีหลังจบในปีนี้ และคน generation ใหม่ที่จะจบในปีหน้าและไม่มีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นพลังที่จะท้าทายอำนาจของรัฐบาลในอนาคตแต่ยังไม่ใช่ตอนนี้

2. คนจนในเมืองที่ไม่มีชนบทและภาคเกษตรรองรับเหมือนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 พลังเหล่านี้จะตื่นขึ้นมาอย่างไร จะเปลี่ยนรูปแบบอย่างไร พวกเขาไม่สามารถเคลื่อนไหวภายใต้การจัดตั้งเคลื่อนไหวแบบคนเสื้อแดงในอดีต พลังเหล่านี้ที่คนชนชั้นกลางระดับล่างในอดีตที่กลายเป็นคนจนไปแล้ว คนเหล่านี้จะเป็นพลังลุกขึ้นมาท้าทายและสร้าง new normal ทางการเมืองใหม่ ในช่วงอีก 1-2 ปีข้างหน้าอย่างไร

3. พลังอดีตกองเชียร์รัฐบาลทหาร ซึ่งดิฉันก็ยังรู้สึกว่าเป็นพลังที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างยากและช้า ท่ามกลางความสำเร็จของรัฐที่จะทำให้รู้สึกว่า ผีทักษิณยังอยู่ พลังของคนเสื้อแดงยังอยู่ พวกคุณยังจะต้องช่วยในการรักษาอำนาจของผู้นำในปัจจุบัน นี่คือภาพในระยะยาวที่เราเห็น

ทางออกสำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคม

หากใครที่สนใจทางเลือกในการมีส่วนร่วมทางการเมืองท่ามกลางวิกฤตกาล COVID-19 อยากให้ลองเข้าไปดูเว็บไซต์จำนวนมากที่น่าสนใจ รวบรวมชุดประสบการณ์และตัวอย่างของ social movement หรือขบวนการทางการเมืองในช่วงยุค COVID-19 มีตัวอย่างของหลายประเทศ ทั้งการสัมมนาออนไลน์ที่พยายามชวนเพื่อนๆ จากทั่วทุกมุมโลกที่มีประสบการณ์ไนการผลักดันการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้การล็อคดาวน์ มีนวัตกรรมทางการเมืองมากมายที่พวกเขาพยายามนำเสนอ

ทั้งนี้กนกรัตน์หยิบยกมาจาก 1 งานศึกษา ที่คิดว่าน่าสนใจและสามารถนำไปเป็นแนวทางในการค่อยๆ คิดว่า ในฐานะคนธรรมดา ภายใต้ยุค COVID-19 จะมีส่วนร่วมทางการเมืองอะไรได้บ้าง คือบทความของ Sobhi Mohanty หัวข้อ “From communal violence to lockdown hunger: emergency responses by civil society networks in Delhi, India” เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน (https://www.interfacejournal.net/wp-content/uploads/2020/04/Mohanty.pdf) ที่ศึกษารวบรวมชุดประสบการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลกและพยายามนำเสนอว่าอะไรคือทางเลือกในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบ้าง มีข้อเสนอ 4 ประเด็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำกันอยู่แม้จะไม่ใช่ช่วงโควิดก็ตาม เพราะบางทีเราอาจคิดว่าเราสามารถที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านออนไลน์ได้ การระดมมวลชน หรือการระดมรายชื่อเพื่อต่อต้านรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงมีข้อจำกัดเยอะมาก

โดย Mohanty เสนอ 4 เรื่องที่น่าสนใจ ก็คือ 1. คนที่สนใจเรื่องประชาธิปไตยควรสร้างช่องทางใหม่ๆ ให้คนตัวเล็กตัวน้อยมีพื้นที่ในการพูดเรื่องของตัวเองผ่านสื่อทางเลือกมากขึ้น เพราะในอดีต ประเด็นคือ เราสามารถไปหาเขาได้ มีนักข่าวพลเมือง แต่คนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จริงๆ หรือนโยบายของรัฐอยู่ในพื้นที่ที่เราเข้าไม่ถึง ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เราสามารถเป็นตัวเชื่อมและขยายพื้นที่ให้เค้ามีพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น

2. การจัดทำนโยบายทางเลือกคู่ขนานไปพร้อมกับการตรวจสอบและกดดันรัฐบาล

3. จัดตั้งรัฐบาลเงาโดยมีผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ด้านและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้ามาช่วยกันสร้างรัฐบาลเงาที่ทำงานและตรวจสอบรัฐบาล พร้อมกับนำเสนอนโยบายด้วย

4. การพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของคนในวงกว้างผ่านช่องทางออนไลน์ที่หลากหลายและสนุกสนานมากขึ้น

นี่เป็นข้อเสนอที่สนุกและง่ายที่จะทำให้เราเห็นว่าในท่ามกลางยุคโควิดนี้เราจะมีส่วนร่วมทางการเมืองกันได้อย่างไรบ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท