นิธิ เอียวศรีวงศ์: ปัญญาชนอนุรักษนิยม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าว่า มีคำกล่าวมาแต่ก่อนว่า ความโปรดปรานในแต่ละรัชกาลนั้นต่างกัน ในรัชกาลที่ 1 โปรดคนที่รบเก่ง รัชกาลที่ 2 โปรดกวี รัชกาลที่ 3 โปรดผู้ทำนุบำรุงพระศาสนา รัชกาลที่ 4 โปรดคนที่รู้เรื่องของตะวันตก

แน่นอนนะครับ คนที่ได้รับความโปรดปรานย่อมต้องเป็นคนที่ทอดพระเนตรเห็น ไม่ใช่ชาวบ้านร้านตลาดในสมัยนั้นซึ่งไม่มีสื่อมวลชนพอจะนำเรื่องราวของเขาให้เป็นที่รู้แพร่หลายได้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ คนที่จะอนุวัตรตามพระราชนิยมให้เป็นที่ประจักษ์ได้ก็คือคนที่ปัจจุบันเรียกว่า “ชนชั้นนำ” นั่นเอง

ที่เรียกว่า “พระราชนิยม” นั้น ฟังดูเหมือนเป็นอุปนิสัยส่วนพระองค์ของกษัตริย์ในแต่ละรัชกาล แต่ความหมายในสมัยนั้นน่าจะกินความมากกว่านั้นมาก เพราะที่จริงเป็นเหมือนนโยบายสาธารณะในแต่ละรัชกาล

ยิ่งกว่านโยบายสาธารณะเสียอีกครับ เพราะมันน่าจะมีผลไปถึง “ความคิดนำ” ที่กำหนดวิธีมองโลก มองชีวิต และมองความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดด้วย และด้วยเหตุดังนั้นจึงเท่ากับกำหนดแนวทางความคิดของปัญญาชนไปด้วยในตัว

นับตั้งแต่ ร.5 ลงมา ความคิดนำของกษัตริย์คือการเปิดรับทั้งความคิดและแนวปฏิบัติของตะวันตกมากขึ้น โดยต้องมีการกำกับการรับตะวันตก มิให้เป็นผลบั่นรอนอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำเอง แม้กระนั้นก็ยังจำเป็นต้องเปิดกว้างกว่าความคิดนำที่ผ่านมา เพราะความคิดและแนวปฏิบัติของตะวันตกนั้นยังไม่กระจ่างชัดนักในทุกเรื่องว่าพึงประยุกต์ใช้อย่างไร

จึงเป็นอีกช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่บรรยากาศทางปัญญาของไทยเปิดให้มีการสร้างสรรค์ ตามความคิดริเริ่มของชนชั้นนำแต่ละคน ทั้งด้านดนตรี, วรรณกรรม, ระบบบริหารสาธารณะ, วัฒนธรรม และวิชาการ อีกทั้งเครือข่ายของชนชั้นนำเองก็เปิดกว้างขึ้น ด้วยเหตุของการสร้างระบบราชการและกองทัพแบบใหม่ จึงดึงเอาคนระดับรองลงมาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำจำนวนเพิ่มขึ้น เท่ากับเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในบรรยากาศทางปัญญา จากกลุ่มคนที่มีความหลากหลายกว่าที่เคยผ่านมา

บรรยากาศเปิดทางสติปัญญาเช่นนี้ ดำรงอยู่ได้ก็เพราะในรัชกาลที่ 5 แกนกลางของชนชั้นนำ คือกษัตริย์และข้าราชบริพารใกล้ชิดมีทั้งความสามารถและความเชื่อมั่นในตนเองพอจะรักษาการกำกับให้ความคิดความอ่านใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นประสานลงรอยกับความคิดนำได้โดยไม่ขัดแย้งกันนัก เมื่อใดที่ความคิดใหม่ท้าทายหรือขัดแย้งกับความคิดนำ (เช่น คำกราบบังคมทูลของเจ้านายและขุนนางใน ร.ศ.103) ก็สามารถประนีประนอมประสานประโยชน์ให้ลงรอยกับความคิดนำจนได้

ถึงขนาดที่เกิดปัญญาชนสาธารณะที่เป็นอิสระขึ้นในสังคมเป็นครั้งแรก (ก.ศ.ร.กุหลาบ และ ต.ว.ส. วรรณาโภ) แม้เสนอความคิดอิสระที่อาจไม่เป็นที่พอใจของชนชั้นนำนัก แต่ว่าที่จริงก็ไม่ถึงกับต่อต้านหักล้างความคิดนำอย่างถึงรากถึงโคน

ความสามารถและความเชื่อมั่นเช่นนี้ในรัชกาลต่อๆ มาลดถอยลง ในขณะที่กลุ่มคนหน้าใหม่ปลายแถวของเครือข่ายความสัมพันธ์กับชนชั้นนำ กลับมีบทบาทเด่นขึ้นในสังคมที่กำลังเปลี่ยนสู่ความเป็นสมัยใหม่ โดยเฉพาะในวงการสื่อ ซึ่งรวมการศึกษามวลชนด้วย ความคิดนำที่ชนชั้นนำเคยยึดกุมไว้ได้แต่ฝ่ายเดียวสูญเสียอำนาจนำลงไปทุกที เพราะถูกท้าทายด้วยความคิดที่แตกต่างขนาดสวนทางกัน

จนเกิดการปฏิวัติใน 2475 และดังผลการศึกษาของนักวิจัยทั้งไทยและเทศหลายท่าน การปฏิวัติไม่ได้ถูกนำเข้าจากต่างประเทศโดยคนกลุ่มเล็กๆ แต่มีฐานทางความคิดและสังคมในประเทศไทยที่พร้อมจะรองรับอยู่แล้ว

นับตั้งแต่ 2475 จนถึง 2490 เป็นอย่างน้อย (หรืออาจรวมเวลาหลังจากนั้นจนถึง 2501) ความคิดนำที่ตกทอดมาจากอดีตขาดอำนาจการเมืองหนุนหลัง สถานะของความคิดนั้นจึงสูญเสียการ “นำ” ไปด้วย เกิดการแข่งขันกันของความคิดด้านต่างๆ ในสนามเปิดของไทยสืบมาอีกหลายสิบปี (สนามอาจไม่เปิดเท่ากับในประเทศตะวันตก แต่ก็เปิดมากกว่าที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด) บรรยากาศของการแข่งขันกันทางความคิดอย่างค่อนข้างเสรีนี้ ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน

บรรยากาศอย่างนี้แหละที่ “ผลิต” ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีคุณภาพสูง เช่น คนอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมด้วยว่าปัญญาชนฝ่ายปฏิปักษ์ก็มีคุณภาพสูงเช่นกัน (ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับความคิดของเขาหรือไม่) ทั้งนี้ ไม่นับปัญญาชนฝ่าย “อภิวัฒน์” เท่านั้น แม้แต่ปัญญาชนที่สนับสนุนระบอบเผด็จการเช่น หลวงวิจิตรวาทการ ก็ต้องนับว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถมากในการนำเสนอความคิดของตนได้หลายรูปแบบ และอย่างได้ผลด้วย

ความขัดแย้งทางสติปัญญาเช่นนี้ ทำให้คนที่เคยชินกับ “ความสงบ” ภายใต้ความคิดนำที่ใช้อำนาจทางการเมืองกำราบฝ่ายตรงข้าม เห็นว่าเป็นความแตกร้าวของคณะราษฎรหรือของสังคม แต่ที่จริงแล้วเป็นปรากฏการณ์ปรกติธรรมดาซึ่งเกิดขึ้นในสังคมที่เปิดให้มีการแข่งขันกันทางความคิดในสนามเสรีทั้งนั้น ไม่ว่าสนาม “เสรี” นั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือจำยอมก็ตาม

จะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับความคิดชาตินิยมของเหล่าปัญญาชนในประเทศอาณานิคมทั้งหลาย อย่าได้เข้าใจผิดว่า นักชาตินิยมที่ประสบความสำเร็จในบั้นปลายแต่ละคนครอบครองความคิดชาตินิยมไว้แต่ฝ่ายเดียวมาแต่ต้น เพราะความคิดของเขาถูกท้าทายต่อต้านโดยปัญญาชนคนอื่นตลอดมา

นอกจากแนวคิดแบบคานธีแล้ว อินเดียยังมีนักชาตินิยมที่มีแนวคิดแตกต่างจากคานธีอีกมาก สายที่ไม่เห็นด้วยกับสันติวิธีของคานธีเลย ต้องการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมด้วยกำลังอาวุธก็มีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในแคว้นเบงกอล (เช่น สุภาส จันทรโพส) สายศาสนาสุดโต่งที่เชื่อว่าต้องรักษาความเชื่อแบบฮินดูให้แน่นแฟ้นก็มี สายคอมมิวนิสต์ที่ต้องการปฏิวัติพลิกแผ่นดินก็มี สายสังคมนิยมที่ไม่อาจยอมรับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของคานธีก็มี รวมทั้งแกนนำบางคนของพรรคคองเกรสเอง เช่น เนห์รู เป็นต้น

ในอินโดนีเซีย ซูการ์โนอาจเป็นวีรบุรุษในสายตาของประชาชน เพราะกล้าเสนอแนวคิดอินโดนีเซียที่เป็นเอกราชอย่างเด็ดขาดจากฮอลันดา แต่ก็มีนักชาตินิยมสายอื่นที่เห็นว่าควรอาศัยความสัมพันธ์อย่างอาณานิคมของฮอลันดาต่อไปเพื่อพัฒนาประเทศก่อน สายที่ท้าทายยิ่งกว่าคือสายคอมมิวนิสต์ซึ่งก่อการปฏิวัติขึ้นเลย และสายอิสลามซึ่งไม่อาจยอมรับแนวโน้มไปสู่ “รัฐฆราวาส” ของสายซูการ์โนได้ ในที่สุดขบวนการคนหนุ่มสาวซึ่งหัวรุนแรงเสียยิ่งกว่าซูการ์โนต่างหาก ที่บังคับให้ซูการ์โนต้องประกาศเอกราชเมื่อสิ้นสงคราม

ในเวียดนามก็เช่นเดียวกัน พรรคแรงงานของเวียดนามภายใต้ลุงโฮมีคู่แข่งที่สำคัญคือพรรค VNQDD (พรรคก๊กมินตั๋งเวียดนาม) ยังไม่นับกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาเช่นเกาได๋ซึ่งต่อต้านฝรั่งเศสมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว

ขบวนการทะขิ่น (thakhin) ในพม่าก็ไม่ใช่ขบวนการชาตินิยมเดียวของพม่า ก่อนที่อองซานจะยกกำลังร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นกลับสู่พม่า ขบวนการทะขิ่นถูกนักชาตินิยมสายอื่นมองว่าเป็นเพียงความบ้าเลือดของคนหนุ่ม ที่ไม่มีทางจะนำอิสรภาพมาสู่พม่าในทางปฏิบัติได้

ในกัมพูชา นักชาตินิยมมีความแตกแยกระหว่างกลุ่มปัญญาชนเก่าซึ่งเชื่อในบารมีของสถาบันกษัตริย์ กับปัญญาชนกลุ่มที่มองว่าสถาบันกษัตริย์กัมพูชาคือฝรั่งเศส ฉะนั้น ถ้าขจัดฝรั่งเศสออกไปได้ ก็ต้องขจัดสถาบันกษัตริย์ออกไปด้วย เช่น Son Ngoc Thanh นายกรัฐมนตรีคนแรกที่ญี่ปุ่นตั้งขึ้น ปัญญาชนสายนี้เกือบประสบความสำเร็จในการสถาปนาความคิดของตนเป็นความคิดนำด้วยซ้ำ หากไม่มีเจ้าชายนโรดม สีหนุ ซึ่งฝรั่งเศสเลือกให้ขึ้นครองราชย์เป็นหุ่นให้แก่ฝรั่งเศส แต่กลับเปลี่ยนพระองค์เองเป็นผู้นำชาตินิยมที่ต่อสู้กับฝรั่งเศสอย่างได้ผล (แม้ไม่มีกำลังทหารในมือเลย)

การปฏิรูปซึ่งทำในอาณานิคมต่างๆ ของอุษาคเนย์โดยเจ้าอาณานิคมเอง และในช่วงเวลาใกล้ๆ กันกับการปฏิรูปของ ร.5 เปิดให้ความคิดของปัญญาชนสาธารณะในอาณานิคมแข่งขันกันเอง โดยความคิดนำที่เจ้าอาณานิคมพยายามสถาปนาไว้ไม่สามารถกำกับควบคุมได้อย่างในเมืองไทย ก่อให้เกิด “ความแตกแยก” ทางความคิดหลายสายในแต่ละอาณานิคม

เฉพาะในเมืองไทยซึ่งไม่ตกเป็นอาณานิคมโดยตรงเท่านั้นที่การแข่งขันทางความคิดเช่นนั้นเห็นได้ไม่ถนัดจนสักสองทศวรรษก่อนการปฏิวัติ 2475 ถึงตอนนั้นแล้วต่างหาก “ความแตกแยก” ทางความคิดจึงเกิดขึ้นได้อย่างค่อนข้างเสรี

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศเสรีทางความคิดเช่นนี้เริ่มอันตรธานไปในกระแสสงครามเย็น ซึ่งทำให้ระบอบปกครองของประเทศในอุษาคเนย์หันกลับไปสู่อำนาจนิยมอย่างเข้มข้นมากขึ้น ระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสยึดกุมประเทศไทยอย่างเด็ดขาดสืบเนื่องกันมา 16 ปีเต็ม

นับตั้งแต่ปลายสมัยซูการ์โนในอินโดนีเซีย ปฏิปักษ์ทางความคิดของซูการ์โนก็สูญเสียอิสรภาพหรือต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ตามมาด้วยระบอบซูฮาร์โตอีก 33 ปี

พรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเหนือและรัฐบาลของเวียดนามใต้ ใช้อำนาจทางการเมืองปิดกั้นความคิดอิสระอย่างเต็มที่ และด้วยการลงโทษอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับพรรคสังคมราษฎร์นิยมของสีหนุ และเผด็จการทหารในพม่า

ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 บรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างขึ้นในหลายประเทศ (เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย หรือแม้แต่สิงคโปร์) มีสภาวะที่มั่นคงยั่งยืนกว่าในประเทศไทย ทำให้สนามเสรีทางความคิดขยายตัวขึ้นในประเทศเหล่านั้น ในประเทศไทยสภาวะเปิดกว้างทางการเมืองเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ไม่เคยมั่นคงยั่งยืนจนทุกวันนี้ ทำให้สนามความคิดไม่ปลอดภัยพอที่จะประกันเสรีภาพได้แม้ในระดับพื้นฐาน

ความคิดนำซึ่งสืบทอดมาจากชนชั้นนำรุ่นเก่าก่อน 2475 ยังมีอำนาจทางการเมือง (ทั้งในและนอกกฎหมาย) รองรับอยู่อย่างหนาแน่นพอสมควร

นี่คือเหตุผลที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมนับตั้งแต่หลัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้นมา ขาดพลังในการ “นำ” เพราะ (บางคนเชื่อว่า) ด้อยคุณภาพ

เพราะความเป็นอนุรักษนิยมในเมืองไทยปัจจุบันนั้นง่ายเกินไป ได้รับผลตอบแทนอย่างแน่นอนเกินไป ง่ายและแน่นอนเสียจนไม่จำเป็นต้องทำให้ความคิดนั้น “แข่งขัน” ได้ หรือช่วงชิงสถานะ “นำ” เหนือบรรดาความคิดต่างๆ ที่ถึงอย่างไรก็ปิดกั้นได้ไม่หมด (ในโลกไซเบอร์เป็นอย่างน้อย แต่ที่จริงมีนอกเหนือกว่านั้นอีกมาก เช่น ละคร, ภาพยนตร์, เพลง-ดนตรี, หรือศิลปะแขนงอื่น และงานวิชาการ)

ความคิดและแบบปฏิบัติอนุรักษนิยมในเมืองไทยจึงอ่อนพลังลงอย่างมาก เพราะนับวันต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองเพื่อค้ำจุนไว้เพียงอย่างเดียว ซ้ำต้องเป็นอำนาจทางการเมืองที่มีลักษณะเผด็จการอยู่มากพอสมควร นี่คือผลของการทำให้ความเป็นอนุรักษนิยมง่ายเกินไป และแน่นอนเกินไป มาเป็นเวลานานแล้วอย่างต่อเนื่อง

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_311402

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท