Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรื่องอันโด่งดังในขณะนี้ก็เรื่องคู่ขนานระหว่างการตายของนายจอร์จ ฟลอยด์คนผิวดำที่ถูกตำรวจกดคอจนหายใจไม่ออกและการหายตัวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ในกัมพูชาที่บอกว่าหายใจไม่ออกก่อนสายโทรศัพท์ถูกตัด อันก่อให้เกิดการปะทะคารมและความคิดระหว่างคนไทยด้วยกันสำหรับท่าทีต่อชะตากรรมของคนทั้งคู่ นั่นคือมีการโจมตีว่าคนไทยจำนวนหนึ่งรู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นแทนฟลอยด์ แต่กลับไม่อินังขังขอบต่อวันเฉลิม จนกลายเป็นดรามาบนโลกโซเชียลมีเดียในขณะนี้

จริงๆ แล้วคนไทยมีมุมมองอันหลากหลายต่อกรณีของคนทั้ง 2 นั้นคือเฉยๆ ทั้ง 2 กรณีก็มี เพราะวันๆ หนึ่งในโลกนี้มีคนตายจากการใช้ความรุนแรงของรัฐเป็นจำนวนไม่รู้จักเท่าไร โดยเฉพาะในสังคมไทย หรือคนที่สงสารและเห็นใจทั้ง 2 กรณีก็มี หรือที่ไม่เห็นใจนายฟลอยด์ แต่สงสารนายวันวันเฉลิมก็น่าจะมีบ้าง แต่ที่ดังที่สุดอย่างที่กล่าวไว้ข้างบนคือเห็นใจนายฟลอยด์ แต่เฉยๆ กับนายวันเฉลิม ซึ่งเกิดกับดาราหลายคนในโลกโซเชียลมีเดีย ล่าสุดคือปู ไปรยา ซึ่งเป็นทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติซึ่งไม่ยอมประกาศเซฟวันเฉลิม ทั้งที่เธอก็ไปดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนหลายเรื่องตามหน้าที่จนถึงซีเรียโน้น การจะมาตัดสินว่าเธอรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนจริงๆ หรือไม่ อันนี้ผมคงไม่กล้า แต่ผมอยากจะเสนอแนวคิดว่าปัจจัยที่มีผลต่อมุมมองของคนไทยจำนวนมากอย่างเช่นปูต่อฟลอยด์ และวันเฉลิม คือ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยมีปัจจัยเสริมคือเรื่องของ "สื่อ"

นั่นก็คือเราลองมาคิดดูว่าคนนั้นรู้จักสังคมอเมริกันมากน้อยเพียงไหน คนที่รู้จักจริงๆ ก็คงเป็นคนที่เคยอยู่ที่นั้นนานๆ ได้เดินทางไปหลายสถานที่และพบปะกับคนอเมริกันจริงๆ ซึ่งกรณีนี้คงมีน้อยมากถ้าเทียบกับคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นคนไทยจึงมักรู้จักสังคมอเมริกันผ่านการศึกษา (ซึ่งถือว่าเป็นสื่ออย่างหนึ่ง) และสื่อแบบประชานิยมคือข่าว ภาพยนตร์ หนังซีรีย์ ในฐานะที่เป็นประเทศเสรี ข่าวสาร มุมมองต่างๆ ของอเมริกาและคนอเมริกัน จึงได้รับการถ่ายทอดไปทั่วโลก ทำให้คนทั่วโลกได้เห็นภาพของอเมริกาได้ชัดเจนในระดับหนึ่ง (จริงๆ มันก็มีดีเบตอยู่เหมือนกันว่าสื่ออเมริกันสามารถสะท้อนภาพของอำนาจและสถาบันที่ซ้อนนักการเมืองคือ non-elected institution ได้จริงๆ ไหม มีองค์กรที่ทรงอิทธิพลอย่างเช่นเพนตากอนหรือซีไอเอเก็บงำความลับไว้ได้เยอะแยะ โดยสื่อไม่กล้าแตะหรือไม่)

ตัวอย่างเช่นกรณีการเหยียดสีผิว การที่ตำรวจซึ่งเป็นคนผิวขาวเน้นการจับกุม วิสามัญฆาตกรรมหรือทำร้ายร่างกายคนสีผิวเป็นหลัก ภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็มีส่วนอย่างมาก หลายเรื่องก็เกี่ยวกับการต่อสู้อันเข้มข้นของคนผิวดำอย่างเช่น Malcolm X และ Selma ซึ่งตรงนี้ทำให้คนไทยมองสหรัฐฯเป็นสังคมที่เต็มไปความขัดแย้ง ความป่าเถื่อน และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่รัฐบาลอเมริกันชอบยกเป็น agenda ในการกดดันประเทศอื่นๆ

่ในทางกลับกันคนไทยจำนวนมากซึ่งถูกครอบงำโดยสื่อไทยที่ถูกควบคุมโดยรัฐและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไทยกลับมองประเทศตัวเองเป็นเชิงโครงสร้างหน้าที่นิยมนั้นคือสังคมเป็นหนึ่งเดียวกัน คนและกลุ่มทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินต่อไปบนความสามัคคี อันนี้เป็นภาพที่ชนชั้นนำไทยปลูกฝังมาตั้งแต่ไหนแต่ไรเพื่อเป็นการสร้างภาพของชุมชนในจินตกรรมหรือ Imagined community แบบไทยๆ ที่แตกต่างจากสหรัฐฯ ซึ่งเคยเข้าครอบงำสังคมไทยมาหลายทศวรรษ

ดังนั้นคนไทยจำนวนมากจึงมักไม่ค่อย "อิน" กับนักต่อสู้ทางการเมือง (อาจยกเว้นกรณีดังๆ เช่น 14 ตุลา แต่นั้นก็มีเรื่องบทบาทชนชั้นนำแทรกเข้ามาด้วยมาก) เหมือนกับจะมองคนพวกนี้เป็นภาพที่บิดเบี้ยวไปจากภาวะที่เป็นจริงของรัฐไทย คนพวกจำนวนมากจึงมักมองว่าการเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ก็คือการปฏิบัติตนและกิจกรรมไปตามที่รัฐบอก รวมไปถึงการแสดงออกทางการเมืองที่ไม่เป็นภัยต่อชนชั้นนำอย่างไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การยื่นฎีกาหรือไม่ก็โอนเอียงไปตามระบบสังคมไทยที่เป็นแบบอุปถัมภ์ คอรัปชั่นเสียเลย

ดังนั้นสื่อดั้งเดิมเช่นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์จึงไม่ได้นำเสนอการต่อสู้ของนักต่อสู้ทางการเมืองที่เน้นวิธีอื่นเช่นการล้อเลียน เสียดสี โจมตีรัฐจารีตมากเท่าที่ควร ยิ่งในช่วงแห่งความขัดแย้งระหว่างเสื้อสีด้วยแล้ว อันทำให้ชะตากรรมของพวกเขาจำนวนมากเช่นถูกอุ้มหาย ลักพาตัว ไม่เป็นที่น่าสนใจสำหรับคนไทยนัก เหมือนอย่างที่ปูไปรยา และคนอีกเป็นจำนวนมากบอกว่าไม่รู้จักวันเฉลิม จำนวนไม่น้อยคิดว่าเขาเป็นอาชญากรที่หนีไปอยู่กัมพูชา ที่สำคัญคือชะตากรรมของคนเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำเสนออย่างชัดเจนว่าเกิดจากน้ำมือของรัฐ อันเป็นธรรมชาติของรัฐเผด็จการมาเป็นร้อยปีที่จัดการกับปรปักษ์แบบซ่อนเร้น (ตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาในทศวรรษที่ 60 ถึง 80 ซึ่งมีการร่วมมือกันของผู้นำเผด็จการในการกำจัดปรปักษ์ทางการเมืองที่หลบหนีไปประเทศของกันและกัน ดังที่เรียกว่า Operation Condor และได้รับการช่วยเหลือจากซีไอเอของสหรัฐฯ ) เรื่องเช่นนี้ตรงกันข้ามกับกรณีของฟลอยด์ซึ่งมีภาพเห็นชัดเจนว่าความตายเกิดจากน้ำมือของตำรวจ

ซ้ำร้ายเมื่อนักกิจกรรมทางการเมืองของไทยถูกมองว่าเป็นผู้วิพากษ์ละเมิดสถาบัน พวกเขายิ่งกลายเป็นคนชั่วช้า สมควรตาย จึงกลายเป็นว่าอุดมการณ์เป็นตัวกลั่นกรองคุณค่าของความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงเสรีภาพในการคิดการแสดงออกทางการเมืองซึ่งตามจริงแล้วน่าจะเป็นสากล (universal) แต่ในสายตาของคนไทยคือสิ่งสัมพันธ์ ต้องมีขีดจำกัด หรืออาจไม่มีคุณค่าอะไรเลย นอกจากการแสดงความเถื่อนถ่อยในการจาบจ้วงเบื้องบน (ซึ่งต้องมาตีความ พิสูจน์อีกว่าการแสดงออกของพวกเขาเป็นเช่นนั้นหรือไม่แต่ด้วยบริบททางการเมืองและกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถพิสูจน์ตัวเองได้) ในขณะเดียวกันการเห็นใจนายฟลอยด์ซึ่งเป็นเหยื่ออธรรมในสังคมที่ห่างจากไทยไปหลายหมื่นไมล์จะสามารถทำให้ผู้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวดูเป็นคนดีได้โดยไม่ขัดแย้งกับอุดมการณ์หลักของไทยและยังทำให้ตัวเองเป็นพวกเสรีนิยมที่อยู่ตรงกันข้ามกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หรือพวกอนุรักษ์นิยมที่เลวทราม กดขี่คนสีผิว โดยที่ตัวเองไม่ต้องเสี่ยงอะไร (ในทางกลับกัน คนพวกนี้จำนวนมากจะเฉยๆ กับกรณีที่จีนกดขี่ชนกลุ่มน้อยอย่างเช่นทิเบตหรืออุยกูร์ ไม่ต่างจากสหรัฐฯ กดขี่คนผิวดำและละติน เพราะสื่อไทยส่วนใหญ่มักอวยจีน การเมืองจีนก็เป็นอำนาจนิยมคล้ายคลึงกับไทยและจีนมีอิทธิพลต่อการเมืองไทย) เหมือนกับคุณปูไปกอดเด็กๆ ถึงซีเรีย เพราะปลอดภัยต่ออาชีพการเป็นดาราของตัวเองดี

ดังนั้นหากไม่มีสื่อใหม่อย่างเช่นโซเชียลมีเดียที่รัฐเข้าไปควบคุมได้ยากและนำเสนออุดมการณ์อื่นนอกเหนือไปจากลัทธิราชาชาตินิยม กรณีของวันเฉลิมและนักต่อสู้ทางการเมืองก่อนหน้้านี้คงจะเงียบเชียบ และหายไปเหมือนกับคลื่นกระทบฝั่งในที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net