Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น (1) เชื้อชาติ (2) ศาสนา (3) สัญชาติ (4) สมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม (5) สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง

อย่างที่พูดไปในด้านบนที่ประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นการเมือง ที่การลี้ภัยเกิดจากการใช้อำนาจของรัฐ หรือรัฐไร้ความสามารถในการควบคุมความรุนแรงของกลุ่มอำนาจภายในต่อบุคคล และเมือบุคคลต้องหนีออกจากรัฐที่ตนเองมีสัญชาติ ชุมชนระหว่างประเทศก็คาดหวังให้รัฐสมาชิกให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยที่เข้าไปแสวงหาที่พักพิงก็แม้ว่าจะรัฐนั้นจะเป็นสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 มีกฏหมายภายในหรือไม่ก็ตาม

เรามักไม่เห็นผู้ลี้ภัยชาวไทย ชาวจีนหนีเข้าไปขอความช่วยเหลือจากประเทศพม่า ประเทศที่ซึ่งบังคับให้กลุ่มชาติพันธ์หลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย ชาวโรฮิงญาที่ต้องหนีไปบังคลาเทศ ชาวกะเหรี่ยงที่หนีเข้ามาอยู่ในฝั่งไทย ขณะที่จำคุกนักข่าวที่นำเสนอข้อเท็จจริง ยิงนักการเมืองฝ่ายมุสลิมกลางสนามบิน ประเทศที่ซึงไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาผู้ลี้ภัยจึงมีความชัดเจนว่าการปกป้องผู้ลี้ภัยไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ ในทางตรงข้าม การใช้อำนาจของรัฐเป็นเหตุผลที่จะสร้างให้คนในประเทศตนเองต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย แต่การเมืองก็ไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจนเช่นนั้นไปทั้งหมด

การเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 คือการให้คำมั่นสัญญาของรัฐต่อประชาคมโลกว่าจะปกป้องคุ้มครองผู้ลี้ภัย ประเทศสมาชิกภาคจึงมักไม่มีสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเข้าไปทำงาน การปกป้องคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศภาคีเป็นไปตามกฏหมายและความรับผิดชอบของรัฐในประเทศนั้นๆ

ในอาเซียนมี 2 ประเทศที่ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 คือ กัมพูชา และ ฟิลิปปินส์ แต่อนุสัญญานี้พึ่งพากลไกกฏหมายภายในของประเทศสมาชิกในการปกป้องคุ้มครองผู้ลี้ภัย หากรัฐสมาชิกไม่ได้มีการปกครองด้วยกฏหมาย มีการละเมิดกฏหมายของผู้มีอำนาจรัฐอยู่เป็นประจำ ผู้ลี้ภัยในประเทศเหล่านี้ก็ตกอยู่ในความเสี่ยง การเป็นภาคี อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ไม่ได้หมายความว่าตัวผู้ลี้ภัยจะปลอดภัย

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ต่างหากที่สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชนจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยภายใต้ข้อจำกัดทางกฏหมายภายในของประเทศนั้น

ประเทศอาเซียนที่รับผู้ลี้ภัยมากที่สุดคือ ไทย กับ มาเลเซีย แม้จะไม่ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 แต่ก็อนุญาติให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้ามาตั้งสำนักงานและดำเนินการช่วยเหลือตัวผู้ลี้ภัย ตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีน

การเมืองของผู้ลี้ภัยในประเทศไทยแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อดูสถานะของผู้ลี้ภัยในประเทศ ที่ตามกฏหมายคนเข้าเมืองของไทยแล้ว ไทยไม่เคยมีผู้ลี้ภัยตามนิยามสากลอย่างเป็นทางการเลย แต่เรามีผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าที่อยู่ในพื้นที่พักพิง เรามีคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฏหมาย (ที่ไ้ดรับการรับรองว่าเป็นผู้ลี้ภัยและรอไปประเทศที่สาม) มากกว่าแสนคน น้อยกว่ามาเลเซียเป็นเท่าตัว

"ผู้ลี้ภัย" จึงเป็นคำที่มีหลายความหมาย ตั้งแต่ บุคคลที่อยู่ในความห่วงใย (Person of concern หรือ PoC) ที่ได้รับการรับรองจาก UNHCR หรือรัฐใดรัฐหนึ่ง ให้เป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 เช่น คนต่างด้าวที่ถือบัตร UNHCR ในประเทศไทย ที่สถานะของเขาก็ขึ้นกับกฏหมายคนเข้าเมืองของเรา หรือ กฏหมายของประเทศนั้นๆ เช่นกรณีหญิงสาวชาวซาอุดิอาระเบียที่รัฐบาลแคนนาดาเข้ามาให้ความช่วยเหลือและให้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยระหว่างที่รอเปลี่ยนเครื่องบินในประเทศไทย

และบุคคลที่อ้างว่าตนเองเป็นผู้ลี้ภัย แต่ยังไม่ได้รับการรับรองตามกระบวนการของ UNHCR หรือ ของรัฐที่ขอเข้าไปพักพิง กระบวนการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยทั้งของ UNHCR หรือของรัฐภาคี มีเป้าหมายนอกเหนือจากการปกป้องคุ้มครองผู้ลี้ภัย ก็ยังต้องคัดกรองคนที่แอบอ้างเอาสถานะการเป็นผู้ลี้ภัยหลบหนีจากการกระทำความผิดในประเทศสัญชาติของตนเองที่ไม่ได้เป็นตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ฉะนั้นการเป็นผู้ลี้ภัยจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไปด้วย โดยไม่มีข้อยกเว้น

รวมถึงบุคคลที่ไม่ได้รู้จัก กระทั่งการ "เป็นผู้ลี้ภัย" แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่า พวกเขาคือผู้ลี้ภัยโดยข้อเท็จจริง เช่น ชาวโรฮิงญา อุยเกอร์ ที่เพียงแค่บอกว่าเป็นใคร มาจากที่ใหน ก็เข้าข่ายการเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว แต่การคุ้มครองตามกฏหมายจะคลุมไปถึงหรือไ่ม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กรณีของไทย แม้ว่าจะอนุญาตให้ UNHCR เข้ามาตั้งสำนักงาน และให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เคยรับรองการทำงาน และสถานผู้ลี้ภัยภายในประเทศ ไทยใช้ประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งในภูมิภาคและในระดับโลกมาโดยตลอด และกฏหมายไทยเองก็เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐที่ยิดหยุ่นไปตามนโยบายความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก

ขณะเดียวกันที่รัฐบาลไทยได้ออกไปในเวทีโลก แล้วบอกว่า แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นภาคอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย แต่ไทยก็ช่วยผู้ลี้ภัยจากพม่าหลายแสนคนในหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ก็จะไม่ยกกรณีการไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญา และอุยกูร์

วันนี้ ไทยได้เขยิบไปอีกหลายก้าวจากสถานะเดิมที่เป็นประเทศทางผ่านของผู้ลี้ภัย คือการกลายเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกผู้ลี้ภัยสัญชาติไทยมากยิ่งขึ้น เดิมที่ผู้ลี้ภัยชาวไทยจะเป็นคนมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่

การปกป้องผู้ลี้ภัยทั้งคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศ และคนสัญชาติไทยในต่างประเทศไม่ใช่การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 แต่เป็นการนำประเทศกลับเข้าไปอยู่ภายใต้การปกครองที่กฏหมายเป็นใหญ่ และถูกใช้เพื่อกำกับผู้มีอำนาจ ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของผู้ใช้อำนาจ

ผู้ลี้ภัย และคนย้ายถิ่นจำนวมากเผชิญกับความรุนแรงจากรัฐมาเป็นเวลานานจนกลายเป็นเรื่องปกติมานาน จนคนทำงานหลายคนก็ตกใจกับความสามารถที่เราจะยอมรับความรุนแรงได้มากขึ้นเรื่อยๆ และกดความมนุษย์ของเราลงต่ำลงมากพอที่จะมีชีวิตรอดต่อไปกันไปได้อย่างไร

 

ที่มา: Facebook Siwawong Sooktawee 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net