ภาคประชาชนเรียกร้อง UN ใส่ใจปัญหาการลงทุนข้ามพรมแดนของทุนไทยในประเทศเพื่อนบ้าน

10 มิ.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ คณะทำงานติดตามการลงทุนและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน(ETOs Watch) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน(UNBHR) เพื่อเรียกร้องการมีส่วนร่วมของชุมชนชายขอบที่เสี่ยงภัย และกระตุ้นให้มีความใส่ใจเป็นพิเศษต่อพันธกรณีข้ามพรมแดนของนักลงทุน รวมทั้งนักลงทุนไทยในประเทศเพื่อนบ้าน และการปฏิบัติตามหลักพันธกรณีตามหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน 

โดยจดหมายเปิดผนึกนี้ได้นำเสนอในการประชุมสหประชาชาติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในวันนี้ในหัวข้อ Present and Future of National Action Plans in Asia through the Eyes of Four Business and Human Rights Champions โดยเนื้อหาในจดหมายระบุถึง ปัญหาการลงทุนข้ามพรมแดนของภาคเอกชนของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบว่าการลงทุนและการดำเนินธุรกิจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนและสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน รวมถึงประชาชนในประเทศไทยหลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น กรณีของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โครงการสร้างถนนเชื่อมจากทวาย เหมืองถ่านหินบานชองในเมียนมา เขื่อนไซยะบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และการปลูกอ้อยในกัมพูชา

ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ตัวแทนองค์กรเอกชนและชาวบ้านจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีการร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐในประเทศไทย และบริษัทเจ้าของโครงการและการยื่นฟ้องต่อศาลในประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้เกิดการรับผิดชอบและเยียวยาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อคนท้องถิ่น

การปรองดองของทุน-ชุมชน(จบ): แผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ความหวังหรือกระดาษเปล่า

คณะทำงานฯ ระบุข้อเรียกร้องสำคัญว่า เรียกร้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นของชุมชนชายขอบเพื่อให้เข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการชดเชยและการเยียวยาอย่างเป็นธรรมและยุติธรรม สนับสนุนบทบาทที่เข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการสอบสวนการลงทุนข้ามพรมแดน รวมทั้งการลงทุนของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ผลักดันให้มีภาคธุรกิจและนักลงทุนปฏิบัติตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบที่เหมาะสม มีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมและชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง รวมถึงเรียกร้องเปิดช่องทางการสนับสนุนการฟ้องคดีแบบกลุ่มและการฟ้องคดีข้ามพรมแดน เพื่อเป็นกลไกที่จะเข้าถึงการเยียวยาอย่างเป็นผล โดยศาลควรปฏิบัติตามความเห็นทั่วไปฉบับที่ 24 ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีต้องขจัดอุปสรรคต่อการเข้าถึงการเยียวยาใด ๆ ทั้งในทางสาระบัญญัติ ขั้นตอนปฏิบัติ และในเชิงปฏิบัติ รวมถึงเรียกร้องบริษัทให้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการปรึกษาหารือกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการมากขึ้น โดยนักลงทุนควรทำการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนก่อนจะตัดสินใจดำเนินโครงการใด ๆ นอกจากนั้น ภาคธุรกิจต้องจัดทำกลไกรับข้อร้องทุกข์ในระดับบริษัท รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีข้ามพรมแดนของภาคธุรกิจ โดยควรมีข้อบทเกี่ยวกับระเบียบที่กำหนดให้ต้องตรวจสอบตามพันธกรณีข้ามพรมแดน รวมทั้งกำหนดให้มีความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิดการตรวจสอบที่เหมาะสมร่วมในกลไกรับข้อร้องทุกข์จากภายนอกหรือที่ได้รับการผลักดันจากชุมชน

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (แผน 
NAP) โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ระยะที่ 1 ช่วงระหว่างปี 2562-2565 เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ อันเป็นประเด็นที่ซับซ้อน แผน NAP จึงมุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านแรงงาน (2) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (3) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (4) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ เป็นหลัก

นารีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวในเวทีเสวนาว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 
ในฐานะหน่วยงานหลักในการผลักดันและนำแผนดังกล่าวไปผลักดันเพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดปฏิบัติการอย่างจริงจังมากขึ้นทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด ขณะมี 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่นำร่องในการผลักดันกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้มีความเข้าใจ เช่น พะเยา สุโขทัย สงขลา ฯลฯ เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักกับหน่วยงานระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง และมีแผนที่จะประสานงานเพื่อผลักดันประเด็นต่างๆร่วมกับภาคประชาสังคมและชุมชน ซึ่งได้รับความร่วมมือมาตลอดตั้งแต่กระบวนการเตรียมการแผน NAP แล้ว นอกจากนี้ยังมีแผนการส่งเสริมภาคธุรกิจด้วยการส่งเสริมการทำ BHR AWARD เพื่อมอบให้กับภาคธุรกิจที่มีปฏิบัติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่เป็นตัวอย่างที่ดี

ส.รัตนมณี พลกล้า ตัวแทนคณะทำงานฯ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการดังกล่าวยังเป็นลักษณะการสมัครใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและธุรกิจจึงยังไม่แน่ใจจะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะที่ผ่านมา ภาคธุรกิจยังใช้กระบวน SLAPP ด้วยการฟ้องร้องคดีกับชุมชนและนักปกป้องสิทธิมากกว่า 20 คดี ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ การผลักดันให้บังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองสิทธิและการทำธุรกิจไปพร้อมกัน ยังเห็นว่าการคุ้มครองสิทธิกับการทำธุรกิจที่ผ่านมาไม่ได้คำนึงถึงการปกป้องสิทธิของประชาชนที่แท้จริง สุดท้าย กระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียเป็นกุญแจสำคัญที่จะผลักดันให้แผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนให้เกิดการคุ้มครองและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนได้แท้จริง 

อนึ่ง คณะทำงานติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน เป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์การพัฒนาและสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งในกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยเฉพาะสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นผลมาจากการลงทุนทางตรงของหน่วยงานของรัฐหรือของเอกชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท