Skip to main content
sharethis

การผลักดันประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดการปัญหายาเสพติด โดยอาศัยฐานคิดใหม่ที่เน้นการลงโทษที่ได้สัดส่วน มุ่งจัดการกับพ่อค้ารายใหญ่และขบวนการ และมองผู้ใช้-ผู้พึ่งพิงยาเป็นผู้ป่วย ‘ประชาไท’ พาสำรวจกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดียาเสพติด ผ่านซีรีส์ ‘คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง’

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (1): ที่ไหนๆ ก็มีแต่ ‘พวกค้ายา’?, 21 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (2): กฎหมายปิดปาก, 22 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (3): เมื่อกฎหมายปิดปาก ความยุติธรรมก็เงียบงัน, 23 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (4): ยอดต้องได้ เป้าต้องถึง, 24 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (5): การกำจัดปีศาจร้ายโดยไม่เกี่ยงวิธีการ, 26 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (6): ผู้หญิงในคดียาเสพติด ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน’, 27 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (7): บนเส้นทางสู่โลกหลังกำแพง, 29 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (8): ยา คน คุก และสาบสางที่ล้างไม่ออก, 1 มิ.ย. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (9): ‘ทุจริต’ ปัญหาของกฎหมาย ตัวบุคคล หรือทั้งสองอย่าง?, 2 มิ.ย. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (10): Zero Tolerance vs. มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษทางอาญา, 4 มิ.ย. 63

เดือนพฤษภาคม 2561 ร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.... ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... อยู่ในการพิจารณาวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ไม่นาน ร่างกฎหมายเหล่านี้ก็ตกหายไป

มองในแง่หนึ่งเป็นเรื่องดีที่กฎหมายสำคัญเหล่านี้ไม่ผ่านกระบวนการของสภาหุ่นเชิด

ประมวลกฎหมายยาเสพติดถือเป็นฉบับที่สำคัญที่สุด เพราะมันจะสร้างแนวทางใหม่ในการจัดการปัญหายาเสพติดในไทย จากตอนก่อนๆ มันยืนยันชัดเจนแล้วว่าแนวคิด Zero Tolerance มาตรการทางอาญา และการลงโทษอย่างหนักแทบไม่มีผลต่อการปราบปรามยาเสพติด ซ้ำยังให้ผลกระทบกว้างขวางในหลากมิติ

“ที่ผ่านมา เราปราบยาเสพติดโดยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยเชื่อว่าเป็นวิธีเดียวที่ได้ผล ในความเป็นจริงกลับพบว่าเราไม่เคยได้ตัวการเลย ได้แต่คนขนยา การขนยาทีละ 1 ล้านเม็ดไม่ใช่นายทุน เป็นแค่คนรับจ้างขน พวกนี้มีตัวตายตัวแทน เวลาโดนจับไป นายทุนที่อยู่เบื้องหลังก็หาคนรับจ้างคนใหม่ได้เรื่อยๆ เพราะค่าจ้างสูงพอที่จะล่อใจคนใหม่ๆ ให้ยอมเสี่ยง” จิตรนรา นวรัตน์ ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยอมรับ

หลักคิดใหม่ในประมวลกฎหมายยาเสพติด

ประมวลกฎหมายยาเสพติดมีหลักคิดอยู่ 3 ประการสำคัญ ได้แก่ การปรับอัตราโทษให้สัมพันธ์กับความผิด การมุ่งดำเนินคดีกับคนที่มีบทบาทนำในขบวนการค้ายาเสพติด และการใช้มาตรการอื่นแทนมาตรการทางอาญากับผู้เสพและผู้ครอบครองเพื่อเสพโดยถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาในทางสาธารณสุข ยกเลิกความผิดในทางอาญา

จิตรนรา กล่าวว่า การจัดทำประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นการปรับเปลี่ยนหลักการแบบรื้อทั้งระบบ เพื่อสร้างการบริหารจัดการรูปแบบใหม่จึงไม่สามารถแก้กฎหมายแบบเป็นส่วนๆ ได้

“กฎหมายนี้ตั้งใจเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมทั่วไปและผู้ใช้กฎหมายโดยตรง ทัศนคติของประชาชาทั่วไป ไม่ยอมรับผู้ที่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เราต้องการชี้ให้เห็นว่าในคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ค้าต้องจัดการแบบหนึ่ง ผู้เสพถือว่าเป็นเหยื่อของอาชญากรรมต้องจัดการด้วยวิธีอีกแบบ ซึ่งสังคมต้องเข้าใจก่อน ไม่อย่างนั้นการออกกฎหมายจะต้านสังคม จะทำให้ขับเคลื่อนยาก”

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นโอดีซี (United Nations Office on Drugs and Crime & World Health Organisation: UNODC) ยังมีข้อแนะนำว่าให้ใช้วิธีการเชิงสุขภาพสําหรับ ผู้ใช้และผู้พึ่งพายาเสพติด อย่างการให้การศึกษา การให้คําปรึกษา การสร้างแรงบันดาลใจ และมาตรการที่ช่วยผู้พึ่งพิงยาสามารถคืนสู่สังคม ลดการกีดกันทางสังคม แทนการลงโทษ
เมื่อได้ประมวลกฎหมายยาเสพติดแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการทำให้ยาเสพติดถูกควบคุมโดยข้อบังคับทางกฎหมายหรือ Legal Regulation เป็นการมุ่งทำลายระบบตลาดยาเสพติดของขบวนการค้ายาลง ซึ่งวิธีการนั้นอาจทำให้คุณและสังคมรู้สึกไม่สบายใจ หากคุณยังเชื่อว่ายาเสพติดและผู้เกี่ยวข้องทุกๆ คนคือปีศาจ

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (10): Zero Tolerance vs. มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษทางอาญา

 

ทำลายตลาดยาเสพติด

จิตรนรา อธิบายดังนี้ จากเดิมที่ใช้วิธีปราบปรามซึ่งจับเท่าไหร่ก็ไม่หมด ซ้ำยังได้แต่ผู้ที่มีบทบาทรองๆ ในขบวนการค้ายา แทนที่จะเป็นตัวผู้ผลิตรายใหญ่ ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนยุทธวิธี ถ้าต้นทุนการผลิตยาบ้า 1 เม็ดเท่ากับ 50 สตางค์ ขายปลีกในราคา 200 บาทต่อเม็ด มีส่วนต่างกำไรถึง 400 เท่า ต่อให้ผ่านกลไกการกระจายจากผู้ผลิตหรือผู้ค้ารายใหญ่ลงมาเป็นทอดๆ จนถึงมือผู้เสพ ส่วนต่างกำไรที่แต่ละทอดได้รับก็ยังสูงอยู่

ในทางกลับกัน ถ้าราคาขายปลีกลดเหลือแค่ 1 บาท ส่วนต่างกำไรหายไปทันที 399 เท่า หากเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีเหตุผล กำไร 50 สตางค์เทียบกับความเสี่ยงในการถูกจับดำเนินคดีไม่มีทางคุ้ม

“เราจะลดมูลค่ามันลงเพราะเราถือว่ายาเสพติดเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ คนค้ายาทุกคนอยากได้เงิน เป็นอาชญากรรมที่มีผลประโยชน์จูงใจด้านการเงินเท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องทำให้ระบบการเงินของยาเสพติดหมดไป คือทำให้มูลค่ามันหมด แต่จะลดราคาลงอย่างไรก็ต้องมีกลไกอีกหลายอย่าง

“อย่างคนที่ติดเฮโรอีนสามารถเปลี่ยนไปใช้เมทาโดนแทนได้ แล้วถ้าคนที่ติดเมทแอมเฟตามีนเปลี่ยนไปใช้แอมเฟตามีนเฉยๆ พอเป็นไปได้หรือไม่ เพราะการใช้แอมเฟตามีนก็ไม่อันตรายนัก อย่างไรก็ตาม แอมเฟตามีนยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 อยู่ จะใช้แอมเฟตามีนหรือเมทแอมเฟตามีนก็ติดคุกเท่ากัน ดังนั้น ก็ใช้เมทแอมเฟตามีนต่อไป แต่ถ้าใช้แอมเฟตามีนแล้วไม่ติดคุก ไม่ต้องเสียเงิน 200 บาท ซื้อแค่บาทเดียว หรือรัฐจัดให้คุณในฐานะยารักษาโรคเพื่อทดแทนจะดีหรือไม่ ทั้งยังมีอันตรายน้อยกว่าเมทแอมเฟตามีน ผู้เสพก็ไม่ต้องทำผิดกฎหมายอาญาอื่นๆ เพื่อนำเงินมาซื้อ แล้วคนค้ายาก็ค้าไม่ได้ เพราะจะไม่มีคนซื้อยาเม็ดละ 200 บาทอีกต่อไป”

ทว่า การจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องแก้กฎหมายเพื่อจัดประเภทยาเสพติดใหม่ โดยคงให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดประเภท 1 ต่อไป ส่วนแอมเฟตามีนย้ายจากประเภทที่ 1 ไปเป็นประเภทที่ 2 วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์เป็นยาได้ ทำให้แอมเฟตามีนเปลี่ยนบทบาทเป็นยารักษาผู้พึ่งพิงเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า ผู้ใช้จะไม่มีความผิดทางอาญา

สังคมคงยอมรับได้ยากกับวิธีการที่ว่ามา เพราะยาเสพติดก็คือยาเสพติดวันยันค่ำ มันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ปี 2553 มีงานศึกษาของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษเกี่ยวกับอันตรายของยาเสพติด พบว่า ระบบการจัดประเภทยาเสพติดตามอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติด้านยาเสพติด ‘ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานการพิสูจน์โดยพยานหลักฐาน’

นอกจากนี้ การจะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อจัดประเภทยาเสพติดยังเป็นเรื่องยุ่งยาก มิพักต้องกล่าวถึงคุณภาพในการประเมินอันตรายของยาเสพติดที่ไม่สามารถระบุได้แม่นยำ เพราะอันตรายจากการใช้สารเสพติดมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณ วิธีการใช้ ความถี่ในการใช้ การใช้ยาเสพติดหลายตัวร่วมกัน รวมถึงสภาพแวดล้อมขณะใช้ยาเสพติดด้วย

ผู้เสพ-ผู้พึ่งพิงยาคือผู้ป่วย

“พอแก้กฎหมายได้ เมื่อเวลาเหมาะสมอาจจะปรับให้แอมเฟตามีนไปอยู่ประเภทที่ 2 ส่วนเมธแอมเฟตามีนซึ่งไม่มีประโยชน์ก็อยู่ในประเภทที่ 1 เหมือนเดิม แต่ต้องทำโครงสร้างกฎหมายรองรับไว้ก่อน แล้วย้ายแอมเฟตามีนมาอยู่ใน พ.ร.บ.ยา ก็จะถูกควบคุมแบบยา การครอบครอง การผลิต การจ่ายเป็นยา ก็จะถูกควบคุมด้วยกฎหมายอีกแบบหนึ่ง หลักการเดียวกับ harm reduction

“คุณก็จัดแอมเฟตามีนเป็นยาบัญชีหลักได้ ให้กับคนที่ต้องการจะเลิกเมธแอมเฟตามีน รัฐจัดให้ได้เลย ต้องทำหลายกลไก เช่น อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) โดยให้องค์การเภสัชฯ ควบคุมระบบการผลิต ไม่ให้เอกชนผลิต เดี๋ยวรั่วไหล แล้วให้ขึ้นบัญชีเป็นยาที่แจกจ่ายได้ ถ้าตรวจพิสูจน์แล้วว่าคุณติดยาเสพติดเมธแอมเฟตามีนจริงและสมัครใจขอรับการรักษา คุณก็มาที่โรงพยาบาลรับยาแอมเฟตามีนไปกินทดแทน ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ไม่ช้าคนขายยาก็ขายไม่ได้เอง และคนก็จะสุขภาพดีขึ้นเพราะแอมเฟตามีนไม่ถึงกับอันตราย แต่อาจจะกินแล้วไม่สนุกเท่าเมธแอมเฟตามีน

“ทั้งหมดที่ผมพูดมันฟังดูง่ายๆ แต่กระบวนการจะถึงตรงนั้นอีกยาว ต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเยอะ ทำความเข้าใจกับผู้คนจำนวนมาก” จิตรนรา กล่าว

ด้านวีระพันธ์ งามมี ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน พูดถึงประมวลกฎหมายยาเสพติดว่า กระบวนการทบทวนและปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดเกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย ซึ่งยอมรับว่ายังอยู่ภายใต้ความกลัว อคติ และการมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน เขาจึงไม่ได้คาดหวังว่าเนื้อหากฎหมายจะสมบูรณ์แบบ แต่ถือว่าหลายอย่างมีทิศทางและพัฒนาการในทางบวก คืออยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงหรือมีอคติน้อยกว่าที่ผ่านมา

“แต่สิ่งที่ตนเองคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์ในกระบวนการจัดทําร่างกฎหมายนี้ที่สุด คือกระบวนการพูดคุยถกเถียงทำกันหลายรอบ หลายครั้ง หลายฝ่ายมีความอดทน ใช้เวลา มีความเห็นที่แตกต่าง แต่ก็ยังมีการคุยกัน อันนี้ต่างหากที่ผมคิดว่ามันเริ่มจะเกิดการแลกเปลี่ยน ถ่วงดุลข้อมูลข้อเท็จจริงกัน ทำให้เกิดองค์ความรู้และสิ่งนี้จะช่วยเป็นหลักประกันว่าพัฒนาการเรื่องนี้จะไปในทิศทางที่บวกและจะไม่มีอำนาจลับใดๆ พากลับไปสู่การปฏิบัติเหมือนรูปแบบในอดีตที่ผ่านมา”

ด้านปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นด้วยกับประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ปัจจุบันกระจัดกระจายจนทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ก็สับสน การประมวลจึงมีข้อดีในเชิงรูปแบบ  เขายังเห็นด้วยในเชิงหลักการที่ควรดูพฤติการณ์มากกว่าปริมาณยา และผู้เสพคือผู้ป่วยที่ควรได้รับการบำบัดรักษาไม่ใช่การจำคุก

“เราควรลงทุนกับสถานบำบัดผู้ติดยาอย่างครบถ้วน ไม่ใช่เฉพาะร่างกาย แต่รวมถึงจิตใจและสังคมด้วย ควรมีเจ้าภาพหลักเริ่มทำแบบจริงจัง แล้วอย่าไปคาดหวังว่าบำบัดไป 90 เปอร์เซ็นต์ต้องหาย ในโปรตุเกสถ้าบำบัดแล้วไม่หาย เขาก็บำบัดอีก เขาไม่ได้มองผู้เสพเป็นอาชญากร บ้านเราไม่ได้คิดอย่างนั้น บำบัดไม่หาย หนีออกมา จับฟ้องเป็นอาชญากรติดคุกเลย เรายังมีภาพว่ายาเสพติดเป็นปีศาจร้ายที่ต้องทำสงครามอยู่มาก แต่ผมเชื่อว่าเวลาจะค่อยๆ พัฒนาและองค์ความรู้ต่างๆ จะช่วยปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ปกป้องมีข้อเสนอเพิ่มเติม

เพิ่มบทบาทของอัยการ

ปกป้องกล่าวว่าเขาไม่ติดใจกรณีที่คดียาเสพติดจบที่ศาลอุทธรณ์และหากจะฎีกาต้องขออนุญาต เนื่องจากหลักการสิทธิมนุษยชนในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไอซีซีพีอาร์ (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) กำหนดให้จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลที่สูงกว่า 1 ชั้น จึงถือว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว

“แต่ประเด็นที่ผมชวนคิดคือประเทศไทย ศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่ทำหน้าที่รีวิว แปลว่าเป็นศาลที่ทำหน้าที่อ่านเฉพาะสำนวนที่ศาลชั้นต้นเขียนโดยที่ไม่ได้เห็นหน้าพยาน ไม่ได้สืบพยาน ไม่ได้เห็นอะไรเลย ผมไม่ได้พูดเฉพาะคดียาเสพติด แต่ทุกคดีที่เป็นคดีอาญา ถ้าศาลชั้นต้นตรวจหลักฐาน สืบพยานทุกปากแล้ว ดูหน้าพยาน ดูพฤติกรรมทั้งหมดแล้ว ยังมีข้อสงสัยจึงยกฟ้อง คราวนี้อุทธรณ์อ่านทุกอย่างที่ศาลชั้นต้นเขียนซึ่งบางทีก็เขียนครบบ้างไม่ครบบ้าง แล้วไปพิพากษากลับลงโทษจำเลย แล้วถ้าคุณไม่เปิดโอกาสให้เขาฎีกา ผมว่ามีปัญหา เพราะกลายเป็นว่าศาลอุทธรณ์เป็นศาลเดียวที่ลงโทษเขา แล้วไม่เปิดโอกาสให้เขาสู้ในศาลที่สูงกว่าอีก

“เคยมีประเด็นขึ้นไปยังศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ไม่ใช่เรื่องยาเสพติดแต่เป็นเรื่องบทบาทของศาลอุทธรณ์ เขาบอกว่าศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ซึ่งอ่านสำนวนอย่างเดียว ไม่มีการสืบพยานใหม่ ไม่เห็นหน้าพยาน แล้วพิพากษากลับให้ลงโทษจำเลย ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเห็นว่าเป็นการขัดหลักพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมเพราะว่าศาลไม่ได้สัมผัสพยานและมาลงโทษจำเลย”

ปกป้องจึงเสนอว่าศาลอุทธรณ์ควรทำการสืบพยานในปากสำคัญๆ บ้างหรือต้องเปิดโอกาสให้จำเลยฎีกา ในกรณีที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษ

นอกจากนี้ อัยการควรมีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่ ปกป้องยกกรณีที่ฝ่ายหญิงถูกจับร่วมกับฝ่ายชายโดยที่ไม่รู้มาก่อนว่าฝ่ายชายค้ายาเสพติด แต่ด้วยพยานหลักฐานแวดล้อม อัยกายจึงจำเป็นต้องส่งฟ้อง เขาเห็นว่ามีทางออกในทางกฎหมายอยู่ เพียงแต่ยังไม่ถูกนำมาใช้มากนัก 

“มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 บอกว่าคดีใดก็ตามที่อัยการเห็นว่าการฟ้องไปแล้วไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อัยการสามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องได้ ขณะที่ในต่างประเทศ บทบาทของอัยการจะมีเยอะมาก ถ้าเขาจับพ่อค้ายาได้พร้อมกับภรรยาและลูกสมุนเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหลายเขาจะฟ้องตัวใหญ่ ไม่สั่งฟ้องตัวเล็ก แต่ใช้วิธีการอื่น เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะเหมาฟ้องทุกคน ในอังกฤษยิ่งชัด เขามีแนวปฏิบัติสำหรับอัยการในการสั่งฟ้องว่าคนที่มีความชั่วร้ายน้อยควรสั่งฟ้องให้น้อย คนที่มีความชั่วร้ายเยอะกว่า ควรสั่งฟ้องเยอะ ทั้งที่ถูกจับได้พร้อมยาเสพติดในบ้านเดียวกัน”

ปกป้องยังเสนออีกว่าอัยการควรมีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่ คือมีบทบาทในการสืบสวนสอบสวนหาความจริงร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกทำกัน หากอัยการลงไปดูข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นจะช่วยให้สามารถใช้ดุลพินิจได้ว่าควรแจ้งข้อหาใคร ควรสอบสวนอย่างไร แต่ทุกวันนี้อัยการอ่านเฉพาะสำนวนที่ตำรวจเขียนมา อัยการจึงแทบทำอะไรไม่ได้

“ผมไม่ได้บอกว่าไม่ไว้ใจตำรวจ แต่บอกว่าแนวทางที่ดีที่สุดควรจะร่วมมือกันทำไม่ใช่หรือ มันก็จะเกิดการคานกันอย่างสมดุล เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถคานตำรวจ ถ้าตำรวจตั้งสำนวนมาแบบนี้ อัยการจะทำอะไรได้เพราะทุกอย่างอยู่ที่สำนวนที่ตำรวจทำ”

จิตรนราเองก็เห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้น แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าอัยการยังไม่พร้อมที่จะทำทุกคดี ต้องเลือกคดีสำคัญสำคัญก่อน จนกว่าจะมีความพร้อมและสังคมเห็นด้วยเต็มที่จึงค่อยพัฒนาและทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมรับด้วย

อีกข้อเสนอหนึ่งของปกป้องคือเรื่องรางวัลนำจับคดียาเสพติดซึ่งควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมและควรมีเพื่อคุณภาพมากกว่าปริมาณ ควรเป็นการปราบปรามรายใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะรายเล็กรายย่อย

แน่นอนว่าการจัดทำประมวลกฎหมายาเสพติดบนฐานคิดใหม่อาจไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูปในการจัดการปัญหายาเสพติดในสังคมไทย แต่ต้องถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ ปัญหาอยู่ที่ว่ากฎหมายนี้ถูกปัดตกไปเสียก่อนจากผลักดันเรื่องกัญชาของพรรคภูมิใจไทย นำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562

“กฎหมายประมวลยาเสพติดจะเสร็จอยู่แล้ว แต่การแก้ไขกฎหมายกัญชาเข้ามาแทรก เพราะเดิมถ้าประมวลกฎหมายยาเสพติดเสร็จ มันจะยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วมาใช้ประมวลแทนกฎหมายแทน เรื่องกัญชาที่แก้แทรกเข้าไปก็จะหายไปด้วย เขาจึงตัดประมวลกฎหมายยาเสพติดทิ้ง” จิตรนรา เผย

หากเรายังมองยาเสพติด ผู้ใช้ยา และผู้พึ่งพิงยาเป็นปีศาจในทุกกรณี ยามที่เรานำพวกเขาขึ้นชั่งบนตราชั่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มันไม่ยากเลยที่เราจะเลือกกำจัดปีศาจก่อนมองเห็นว่าพวกเธอและเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวกันเรา

ซีรีส์ชุด คนกับยา 'ปีศาจ' บนตาชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net