Skip to main content
sharethis

ศูนย์หลักประกันสุขภาพประชาชน จ.นนทบุรี เตรียมช่วยเหลือยายวัย 68 ปี ป่วยโรคหัวใจรั่ว ให้รับการรักษาฟรี หลังพบเป็นคนไทย แต่ไม่มีบัตรประชาชน ด้าน สปสช. ร่วมมือ รพ.พระจอมเกล้า เตรียมเดินหน้ารับยาใกล้บ้านรูปแบบ 3 เพื่อลดภาระโรงพยาบาล ส่วนสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เผยประชาชน 60% เคยเห็นเฟคนิวส์โควิด แต่ส่วนมากรู้เท่าทันไม่แชร์ต่อ

11 มิ.ย. 2563 ข่าวศูนย์หลักประกันสุขภาพฯ จ.นนทบุรี รายงานว่า จินตนา กวาวปัญญา ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ร้องเรียน ตามมาตรา 50 (5) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จ.นนทบุรี หรือศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.นนทบุรี เปิดเผยว่า ได้รับการประสานให้ความช่วยเหลือ หนอม แก้วคำ อายุ 68 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจรั่ว เดิมทีเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลบางใหญ่แล้วถูกส่งตัวต่อไปที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และปัจจุบันเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทรวงอก แต่เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน ทางครอบครัวของนางหนอมจึงต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง รวมๆ แล้วเป็นเงินหลักหมื่นบาทและไม่สามารถรับการสงเคราะห์จากโรงพยาบาลได้เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน

จินตนา กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น หนอมเล่าว่าเคยมีบัตรประชาชน แต่เมื่อตรวจสอบแล้วกลับไม่พบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นไปได้จากหลายปัจจัย เช่น การสะกดชื่อหรืออ่านออกเสียงไม่ตรงกับตัวอักษร ส่วนข้อมูลอื่นๆ หนอมเล่าว่ามาจาก จ.ศรีสะเกษ มาอยู่กับลูกสาวที่ อ.บางใหญ่ ได้ 4-5 ปีแล้ว และเพิ่งป่วยเป็นโรคหัวใจรั่วได้ประมาณปีกว่าๆ

"ลูกสาวเขาไม่ได้อยู่กับแม่ตั้งแต่เด็ก เพราะว่าพอคุณยายหนอมเลิกกับสามีก็ให้ลูกๆอยู่กับสามี ส่วนตัวเองไปมีสามีใหม่อีกหลายคน ย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อสามีเก่าเสียชีวิต ลูกจึงตามหาคุณยายหนอมมาอยู่ด้วย ซึ่งลูกสาวก็ทำงานรับจ้างเย็บผ้าโหล ตอนนี้ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทจากรัฐบาลซึ่งก็จะเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายและค่าเดินทางพาคุณยายหนอมไปศรีสะเกษ" จินตนา กล่าว

นางจินตนา กล่าวอีกว่า จากการประสานไปยังเครือข่ายที่ จ.ศรีสะเกษ พบว่าบ้านเดิมที่นางหนอมเคยอยู่อาศัยกับสามีเก่าถูกขายไปแล้ว แต่ยังมีชาวบ้านในละแวกนั้นที่ยังจำได้ โดยบอกว่าเลิกกับสามีแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่นไปนานแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ยังแจ้งด้วยว่าบ้านเดิมของนางหนอมไม่ใช่ชาว จ.ศรีสะเกษ แต่มาจาก จ.อุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้ก็ได้ประสานไปยังเครือข่ายที่อุบลฯแล้ว แต่ยังไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็ได้ประสานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้านบอกว่าต้องพานางหนอมไปที่ศรีสะเกษให้ได้ก่อนเพื่อสืบหาต้นตอที่มาที่ไปให้ชัดเจน

"ตอนนี้ต้องรอพาไป จ.ศรีสะเกษ อย่างเดียว เพราะข้อมูลทะเบียนราษฎร์ต่างๆ ที่ จ.นนทบุรี ไม่มี ต้องรอการผ่อนปรนมาตรการเดินทางข้ามจังหวัดแล้วค่อยพาคุณยายไปเพราะเราไม่แน่ใจว่าจากนนทบุรีไปศรีสะเกษจะโดนกักตัวหรือไม่ ชาวบ้านยินดีต้อนรับเราหรือไม่" จินตนา กล่าว

สปสช.จับมือ รพ.พระจอมเกล้า เตรียมเดินหน้ารับยาใกล้บ้านรูปแบบ 3 ลดภาระ รพ.

วานนี้ ข่าวสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าร่วมบริหารจัดการคลังยาโดยร้านยา โดยโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้โครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) หรือ “โครงการรับยาใกล้บ้าน”

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า โครงการลดความแออัดของหน่วยบริการฯ โดยร้านยา ขย.1 เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล และ สปสช. เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยไม่ต้องรอคอยรับยาที่โรงพยาบาล โดยนำใบสั่งยาไปเบิกจ่ายยาที่ร้านยาแทน โดยมีการเชื่อมต่อระบบและข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล ร้านยา และ สปสช. นำไปสู่การลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดภาระด้านยาให้กับโรงพยาบาลในอนาคต ซึ่ง สปสช.สนับสนุนค่าบริหารจัดการเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาล จำนวน 33,000 บาท/ร้านยา และร้านยา 70 บาท/ใบสั่งยา กำหนดให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 4 กลุ่มที่สมัครใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช นอกจากนี้ยังมีโรคเรื้อรังอื่นที่ผู้ป่วยมีภาวะคงที่ โดยให้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ จากที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา ได้รับการตอบรับด้วยดี ขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมจำนวน 130 แห่ง ร้านยา (ขย.1) จำนวน 1,033 แห่ง ผู้ป่วยร่วมโครงการ 14,391 คน และจำนวนการรับยาที่ร้านยา 19,581 ครั้ง 

ทั้งนี้รูปแบบการกระจายยาไปที่ร้านยา ส่วนใหญ่ร้อยละ 80.77 เป็นรูปแบบที่ 1 หน่วยบริการจัดยาผู้ป่วยเป็นรายบุคคลและส่งให้ร้านยา และมีบางส่วนที่ดำเนินการในรูปแบบที่ 2 คือหน่วยบริการสำรองยาไว้ที่ร้านยา และให้ร้านยาจัดยา อย่างไรก็ตามทั้ง 2 รูปแบบ โรงพยาบาลยังต้องบริหารจัดการยา ยังไม่สามารถลดภาระงาน

ดังนั้น สปสช. ได้ผลักดันให้เกิดการนำร่องโครงการฯ กระจายยาไปร้านยาในรูปแบบที่ 3 คือ ให้ร้านยาจัดการด้านยาผ่านหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดหา (องค์การเภสัชกรรม/ร้านยาขายส่งระดับเขต) มุ่งลดภาระโรงพยาบาลในการจัดส่งยาไปร้านยา โดยมีการเชื่อมส่งต่อข้อมูลระบบ ระหว่างโรงพยาบาล ร้านยา หน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดหา และในปี 2563 นี้ สปสช.ตั้งเป้านำร่องโรงพยาบาล 6 แห่ง เพื่อดูผลการดำเนินงาน และนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการนำร่องโครงการในรูปแบบที่ 3 ได้ โดยมีร้านยา (ขย.1) ในพื้นที่ 14 แห่ง ร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการด้านยา สามารถกระจายผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาสูงเป็นอันดับ 2 ของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการในระบบทั้งหมด นอกจากทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดี ไม่ต้องรอรับยาห้องยาที่ใช้เวลานานแล้ว ผู้ป่วยยังได้รับคำแนะนำและข้อมูลการใช้ยาเพิ่มมากขึ้น

ด้าน นพ.ชุมพล เดชะอำไพ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลพระจอมเกล้า ได้เริ่มดำเนินการโครงการรับยาใกล้บ้านในเดือนธันวาคม 2562 ดำเนินการในรูปแบบที่ 1 ก่อนเริ่มโครงการ โรงพยาบาลได้จัดระบบส่งต่อข้อมูลและการจัดส่งยาไปที่ร้านยา บริการผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จิตเวช หอบหืด และโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล ร้อยละ 30 ในช่วงเริ่มต้นมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการไม่มาก แต่จากประชาสัมพันธ์ทำให้มีผู้ป่วยร่วมโครงการเพิ่มขึ้น จากเดือนธันวาคม 2562 มีผู้ป่วยรับยา 25 ครั้ง และขยับเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม 2563 เป็นจำนวน 64 ครั้ง 78 ครั้ง และ 140 ครั้ง (ตามลำดับ) และในเดือนเมษายนสูงถึง 598 ครั้ง เป็นผลจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยผลดำเนินการในช่วง 7 เดือน (18 ธ.ค. 62 – 5 มิ.ย. 63) โรงพยาบาลพระจอมเกล้ามีเครือข่ายร้านยา (ขย.1) ที่ผ่านเกณฑ์และเข้าร่วมโครงการฯ 14 แห่ง มีผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา 1,132 ครั้ง

“โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพชรบุรี แต่ละวันมีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมาก จึงมีนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาล และโครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้านเป็นกลไกหนึ่ง ที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการโครงการจนเกิดประสิทธิผล ซึ่งการร่วมนำร่องโครงการรับยาใกล้บ้าน รูปแบบที่ 3 โรงพยาบาลพระจอมเกล้ามีความยินดีและมีความพร้อมในความร่วมมือ เพราะจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาการระบบบริการดูแลผู้ป่วย ไม่แต่เฉพาะในส่วนของโรงพยาบาล แต่ในอนาคตยังขยายสู่โรงพยาบาลอื่นๆ ได้” ผอ.โรงพยาบาลพระจอมเกล้า กล่าว

สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เผยประชาชน 60% เคยเห็นเฟคนิวส์โควิด แต่ ปชช.ส่วนมากรู้เท่าทันและไม่แชร์ต่อ

วันนี้ อรณา จันทรศิริ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะข้อมูลล้นทะลักจนประชาชนแยกแยะข้อมูลข่าวสารจริงเท็จได้ยาก กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ทำการสำรวจการรับรู้ข้อความจริงและเท็จใน 2 สัปดาห์แรกช่วงวันที่ 4-14 พ.ค. และ 16-22 พ.ค. 2563 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 4,100 ราย และ 3,631 ราย ตามรายสัปดาห์ พบว่า ประชาชน 60% เคยพบเจอข้อความเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 บนโซเชียลมีเดีย เกือบครึ่งระบุว่าเห็นจากเฟซบุ๊

อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ดัชนีการรู้เท่าทันข้อความเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของประชาชนอยู่ในระดับสูง 78.2% และ 65.5% (ตามลำดับช่วงการสำรวจวันที่ 4-14 พ.ค. และ 16-22 พ.ค. 2563) โดยคำนวณจากความสามารถในการแยกข้อความจริงและเท็จ และการไม่แชร์ต่อข้อความเท็จ โดยประชาชน 64.2% และ 49.3% สามารถแยกข้อความ “จริง/เท็จ” ได้ถูกต้อง โดยกว่า 95.2% และ 87.0% รู้ว่าเป็นข้อความเท็จแล้วไม่แชร์ต่อ และมีจำนวนไม่มากนักคือ 4.8% และ 13% ที่แชร์ข้อความเท็จ โดยมากกว่า 70% แชร์ต่อทางเฟซบุ๊ค

อรณา กล่าวอีกว่า การสำรวจยังพบว่ามีประชาชนจำนวนไม่มากนักที่ปฏิบัติตามข้อความเท็จ (น้อยกว่า 1 ใน 3) โดยเฉพาะข้อความเท็จเกี่ยวกับการทดสอบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการกลั้นหายใจเป็นเวลา 10 วินาที มีผู้ลองทำตามข้อความดังกล่าวถึง 32.4 % แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่สามารถแยกแยะข้อความที่มีรายละเอียดลึกซึ้ง เช่น หากไม่ไอ หรือรู้สึกปกติ แปลว่าไม่ติดเชื้อ, ยาปฏิชีวนะ หรือแอนตี้ไบโอติก สามารถป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ได้ เป็นต้น 

อรณา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของข้อมูลเท็จที่ผู้ตอบแบบสอบถามเข้าใจผิดมากที่สุดคือเรื่องตำรวจมีอำนาจจับและปรับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ มีผู้ตอบแบบสอบถามที่รู้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จเพียง 30.5% เท่านั้น ขณะที่ข้อความเท็จที่ผู้ตอบแบบสอบถามรู้เท่าทันมากที่สุดก็คือเรื่องการดื่มเหล้าช่วยต้านโรคโควิด-19 โดยมีผู้รู้ว่าข้อความนี้เป็นเท็จถึง 85.6%

ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวจะดำเนินการต่อเนื่องไป 10 สัปดาห์จนถึงกลางเดือน ก.ค. 2563 โดยสามารถติดตามรายงานผลได้ที่ http://www.trueorfalse.ihppthaigov.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net