Skip to main content
sharethis

ประธาน กสม. แจง ที่ปรึกษา สสส. กรณี ‘วันเฉลิม’ ได้ประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อหาความจริงแล้ว หลังปรึกษาสมาคมสิทธิฯ ชี้ กสม.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการอุ้มหาย 'วันเฉลิม'

 

11 มิ.ย.2563 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนฉบับหนึ่งว่า ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เห็นว่า ข้ออ้างของ วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ว่า กสม. ไม่สามารถตรวจสอบกรณีการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเหตุเกิดนอกราชอาณาจักรไทย จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจที่ กสม. จะตรวจสอบได้ ไม่สามารถรับฟังได้ ด้วยเหตุผลสำคัญ 5 ประการ นั้น

ประธาน กสม. ขอแจ้งให้นายไพโรจน์ พลเพชร และสาธารณชนทราบ ดังนี้

1. รัฐแต่ละรัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตน รัฐธรรมนูญและกฎหมายของรัฐใดจึงย่อมมีผลใช้บังคับภายในดินแดนของรัฐนั้น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ของไทย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย (มาตรา 3 วรรคหนึ่ง) กสม. เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม (มาตรา 3 วรรคสอง) 

2. แม้ กสม. จะมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ล่าช้า (รัฐธรรมนูญ มาตรา 247(1)) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ( พรป. กสม. มาตรา 26(1)) ก็ตาม กสม. ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบภายในเขตประเทศไทย โดยมุ่งหมายที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ในกรณีที่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นแก่พลเมืองไทยนอกราชอาณาจักรไทย กสม. มีหน้าที่ประสานหรือแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน (มาตรา 27(3) และมาตรา 33วรรคสอง) กสม. ไม่มีอำนาจที่จะประสานความร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศอื่นโดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ

3. เมื่อมีกรณีนายวันเฉลิมเกิดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา กสม. ก็มิได้นิ่งนอนใจ และห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของคนไทยที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย จึงได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ  และ พรป. กสม.  โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2563 ได้มีหนังสือราชการขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและทำความจริงให้ปรากฏ ผ่านหน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศในราชอาณาจักรกัมพูชา แล้วแจ้งให้ กสม. ทราบ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

4. ต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 9 มิถุนายน 2563 มีตัวแทนของกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักสิทธิมนุษยชนมายื่นเรื่องขอให้ กสม. เร่งประสานงานกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบหาตัวนายวันเฉลิมโดยด่วน สำนักงาน กสม. ได้รับเรื่องไว้และดำเนินการต่อไปแล้ว

5. อนึ่ง เมื่อบ่ายวันอังคารที่ 9 มิถุนายน 2563 มีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนว่า พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ได้เข้ายื่นเรื่องต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหนึ่ง และโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อติดตามความคืบหน้า และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล และต่อมาเมื่อวันพุธที่ 10 มิถุนายน 2563 มีการยื่นกระทู้ถามสดต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

“หวังว่านายไพโรจน์ พลเพชร คงเข้าใจข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น” วัส กล่าว

ปรึกษาสมาคมสิทธิฯ ชี้ กสม.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการอุ้มหาย 'วันเฉลิม'

ทั้งนี้ ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส) และอดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ตั้งประเด็นต่อ ประธาน กสม. ไว้ 5 ประการ ต่อกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกสม. ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. ที่มีอำนาจหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตรวจสอบการอุ้มหาย วันเฉลิม โดยการขอให้รัฐมนตรีหรือข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นมาให้ข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในกรณีดังกล่าว อีกทั้งสามารถเชิญญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับ วันเฉลิม มาให้ข้อท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกสม.ในการทำข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

คณะกรรมการ กสม.มีอำนาจตรวจสอบการอุ้มหาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ได้หรือไม่ 

โดยเหตุที่ วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) แถลงความตอนหนึ่งว่าไม่ดำเนินการตรวจสอบการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์โดยอ้างว่า “กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของคนไทยในต่างประเทศ แต่เหตุการณ์ตามข้อกล่าวอ้างเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบได้.....” 

ข้ออ้างเช่นนี้ไม่สามารถรับฟังได้เมื่อพิจารณาจากกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกสม.ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย

1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง 

2. สิทธิมนุษยชนที่ต้องตรวจสอบคือสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ รัฐธรรมนูญ 60 ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตไว้ตามมาตรา 28 ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย”  เมื่อสิทธิเสรีภาพถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐไทยจึงไม่เพียงแต่มีอำนาจหน้าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น หากยังมีอำนาจหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย

3. เมื่อคณะกรรมการกสม.เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้คณะกรรมการกสม.ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและทำความจริงให้ปรากฏโดยไม่ล่าช้า และต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ทราบถึงสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องนั้นหรือลักษณะเดียวกันนั้นขึ้นอีก

4. ในการดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิเสรีภาพ คณะกรรมการกสม.มีอำนาจขอให้หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานดังกล่าว หรือ บุคคลใด มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาภายในระยะเวลา ที่คณะกรรมการกำหนด ในกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลใดไม่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการร้องขอ คณะกรรมการจะออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลนั้นดำเนินการดังกล่าวก็ได้

5. การอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์แม้จะเกิดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งรัฐกัมพูชาต้องมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักดินแดนอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันรัฐไทยมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักสัญชาติในฐานะพลเมืองไทย

ด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการ กสม. จึงมีอำนาจหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตรวจสอบการอุ้มหาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยการขอให้รัฐมนตรีหรือข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นมาให้ข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในกรณีดังกล่าว อีกทั้งสามารถเชิญญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์มาให้ข้อท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกสม.ในการทำข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

“การอุ้มหายบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุแรงจูงใจทางการเมืองหรือแรงจูงใจส่วนตัวก็ตาม ล้วนเป็นอาชญากรรมร้ายแรงนอกกฎหมายที่รัฐทุกรัฐต้องมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ถูกอุ้มหายทุกคน”
   
นายไพโรจน์ พลเพชร  
ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส)
อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)
11 มิถุนายน 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net