Skip to main content
sharethis

อัยการสวีเดนปิดคดีลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรี โอลอฟ พัลเมอ หลังเกิดเหตุนานถึง 34 ปี เนื่องจากผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน

10 มิ.ย. 2563 คริสเตอร์ เปียเตอร์สสัน หัวหน้าคณะอัยการสวีเดน แถลงยุติการสืบสวนหลังพบว่า ผู้ต้องสงสัยรายใหญ่ที่น่าจะเป็นผู้ลอบสังหารโอลอฟ พัลเมอ อดีตนายกรัฐมนตรี คือ สติก เองสตรอม กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ผู้เป็นทั้งพยานและตกเป็นผู้ต้องสงสัยมาอย่างยาวนาน เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2543

โอลอฟ พัลเมอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสวีเดน

เหตุการณ์ลอบสังหารพัลเมอในครั้งนั้นถูกเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ที่สวีเดน "สูญเสียความไร้พิษภัยของตนเอง" ส่วนหนึ่งเพราะพัลเมอเป็นผู้นำที่พยายามใช้ชีวิตแบบสามัญชนและทำให้ประชาชนเข้าถึงตัวเขาได้ง่าย ขณะที่ความยาวนานในการสืบสวน และการคว้าน้ำเหลวของตำรวจขัดขวางโอกาสที่จะยุติความเศร้าโศกของประชาชน

หัวหน้าอัยการสวีเดนกล่าวว่า เนื่องจากเองสตรอมเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีต่อเขาได้ จึงตัดสินใจว่าจะยุติการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้

สามเดือนก่อนหน้านี้ เปียเตอร์สสันชะลอการสืบสวนที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ท่ามกลางการสอบปากคำพยานมากกว่า 10,000 ราย มีการตั้งสมมติฐานความเป็นไปได้อยางน้อย 5 รูปแบบสำหรับคดีที่เกิดขึ้น มีคน 134 คน อ้างตัวว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ในคดีที่ดำเนินมายาวนาน 34 ปี และเป็นคดีที่มีการสืบสวนยาวนานที่สุดของสวีเดน

ลูกชาย 3 คน ของพัลเมอกล่าวถึงข้อสรุปคดีครั้งล่าสุดจากปีเตอร์สันว่า "น่าเชื่อได้" แต่ก็บอกว่าพวกเขาผิดหวังที่ทางการไม่อาจหาข้อสรุปจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ลิสเบต ภรรยาของพัลเมอผู้อยู่ในเหตุการณ์และถูกกระสุนนัดที่สองยิงถาก ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีก่อน ชี้ตัวคนร้ายอีกคน แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2531 เนื่องจากไม่พบอาวุธที่ใช้สังหาร

ลิสเบตและโอลอฟ พัลเมอ

พัลเมอมีแนวทางแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ผลงานในช่วงที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี คือ ปรับเปลี่ยนระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้สวัสดิการสังคมให้เข้าถึงผู้คนในวงกว้าง รวมถึงกลุ่มคนชายขอบอย่างผู้พิการ, ผู้อพยพ, ผู้มีรายได้น้อย, ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว, และผู้สูงอายุ รวมถึงมีการขยายสวัสดิการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันการทำฟันแบบถ้วนหน้า เบี้ยเลี้ยงสำหรับครอบครัวที่มีลูก และเบี้ยเลี้ยงผู้มีรายได้น้อย ทำให้แรงงานผู้สูงอายุและคนพิการเข้าถึงสวัสดิการได้ง่ายขึ้น

ในแง่การเมือง พัลเมอเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เขาโจมตีทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียว่าเป็นพวกบ้าสงคราม อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ในประเทศของเขาช่วงก่อนหน้าจะถูกลอบสังหาร มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกสนับสนุนโซเวียตและไม่ยอมรักษาผลประโยชน์ของสวีเดน ทำให้พัลเมอเดินทางไปเยือนกรุงมอสโก เพื่อเจรจาเรื่องที่โซเวียตเอาเรือดำน้ำรุกเข้ามาในพื้นที่สวีเดน

ในวันเกิดเหตุ พัลเมอและภรรยาออกจากโรงภาพยนตร์ และกำลังเดินทางกลับบ้านบนถนนซียาเวเกนในกรุงสต็อกโฮล์ม เวลาประมาณ 5 ทุ่ม คนร้ายปรากฏตัวจากด้านหลัง ขณะที่พวกเขากำลังเดินชมร้านค้าและยิงพัลเมอในระยะเผาขน ก่อนที่จะยิงภรรยาของเขาในนัดที่สอง จากนั้นผู้ก่อเหตุก็วิ่งหนีไปทางถนนทันเนลกาทัน

มีทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับคดีนี้หลายทฤษฎี ซึ่งตามแนวทางการสืบสวนสรุปว่าเองสตรอมน่าสงสัยมากที่สุด สื่อมักจะเรียกเองสตรอมว่า "ชายสแกนเดีย" เพราะเขาทำงานที่บริษัทประกันชีวิตสแกนเดีย ใกล้กับที่เกิดเหตุ ก่อนหน้านี้เองสตรอมเคยเป็นพยานที่ถูกสอบปากคำหลายครั้ง ก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องสงสัยรายสำคัญเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เองสตรอมฆ่าตัวตายไปตั้งแต่ปี 2543 แล้วทำให้เปียเตอร์สสันบอกว่า "ผมเชื่อว่าพวกเรามาได้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วในเรื่องการสืบสวน"

เองสตรอมเคยเข้ารับราชการเป็นทหารและได้รับยศระดับสิบเอก ต่อมาก็เรียนกราฟฟิกดีไซน์และทำงานให้กับสื่อสถานีโทรทัศน์กระจายเสียงสวีเดน ก่อนที่จะมาเป็นที่ปรึกษาด้านโฆษณาของบริษัทประกันภัยสแกนเดีย อดีตภรรยาของเองสตรอมเคยให้การกับตำรวจเมื่อปี 2560 ว่า เองสตรอมเป็นคนที่ "ขี้ขลาดเกินไป" ที่จะเป็นฆาตกร และบอกว่า "เขาไม่แม้แต่จะตีแมลงวัน"

เมื่อปี 2525 ก่อนหน้าการเกิดเหตุสังหารพัลเมอ 4 ปี เองสตรอมเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเคยผ่านวิกฤตชีวิตส่วนตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแต่ก็รู้สึกสงบลงกว่าเดิม เวลาไล่เลี่ยกันนั้นเองเองสตรอมเข้าร่วมการเมืองท้องถิ่น เป็นผู้แทนของพรรคสายอนุรักษ์นิยม หลายคนมองว่าแม้เองสตรอมจะมีความคิดแง่ลบกับพัลเมอ แต่ก็ไม่น่าจะสามารถสังหารพัลเมอได้

ด้านตำรวจที่สืบสวนคดีนี้ระบุว่า ในการสอบสวนครั้งล่าสุด ตำรวจพุ่งเป้าไปที่คำให้การของพยานหลายๆ คน แม้จะมีส่วนน้อยที่สามารถอธิบายลักษณะใบหน้าของผู้ก่อเหตุได้ แต่ก็ยังมีส่วนที่พยานให้การตรงกัน เช่น รูปลักษณ์บางส่วนของผู้ก่อเหตุและทิศทางที่ใช้หลบหนี ทำให้ตำรวจพบว่า เองสตรอมให้การขัดกับพยานคนอื่นทั้งหมด จึงลงความเห็นว่าเองสตรอมเป็นผู้ต้องสงสัยรายใหญ่ที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ตำรวจไม่สามารถระบุอาวุธที่ใช้ก่อเหตุได้ แม้จะทดสอบอาวุธปืนกว่า 700 กระบอก แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับกระสุดสองนัดที่พบในที่เกิด ทั้งนี้ มีหลักฐานว่าเองสตรอมสามารถเข้าถึงอาวุธปืนที่มีลักษณะคล้ายปืนที่ใช้ก่อเหตุได้ จากการที่เขาเคยเป็นทหาร สมาชิกชมรมยิงปืน และเป็นนักสะสมปืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net