Skip to main content
sharethis

การบินไทย ระบุยังไม่มีแผนปลดคน ขอเวลาศึกษาโครงสร้าง 1 ปี

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังให้ข้อมูลแก่พนักงานการบินไทยเกี่ยวกับ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ในการประชุมพนักงาน ผ่านระบบออนไลน์ ว่า ได้แจ้งแนวทางการปฏิบัติของบริษัทฯ และพนักงานจนกว่าจะถึงวันที่ 17 ส.ค.ปีนี้ ซึ่งเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลาง นัดไต่สวนครั้งแรกก่อนที่จะมีคำสั่งต่อไปว่า จะสั่งให้การบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูเมื่อใด รวมทั้งมีการแต่งตั้งผู้บริหารแผนฯใครบ้าง โดยมีการแจ้งให้พนักงานทราบว่า ขณะนี้มีการเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ ทั้งผู้ให้เช่าเครื่องบิน เงินกู้ การค้า โดยฝ่ายบริหารย้ำให้พนักงานต้องประหยัดค่าใช้จ่ายทุกด้านต่อไป

สำหรับกรณีที่การบินไทยมีเครื่องบินหลายแบบ ต้องมีการทบทวนมีเครื่องบินทั้งหมดกี่เครื่อง และควรมีเครื่องบินกี่ลำเพื่อให้เหมาะกับการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งเมื่อหมดการระบาดของโควิด19 แล้วก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ ว่าธุรกิจการบินจะเป็นยังไง

ส่วนประเด็นสถานะของพนักงานทุกคน ย้ำว่าพนักงานทุกคน ยังอยู่ในสถานะพนักงานของบริษัท และช่วงนี้ ยังไม่มีการเอาคนออกแน่นอน ต้องรอรายละเอียดแผนฟื้นฟูที่ชัดเจน เมื่อแผนชัดเจนแล้ว ถึงจะมาดูเรื่องโครงสร้างองค์กร คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถึงจะมีความชัดเจน แล้วจึงจะมีมาตรการมาแจ้งอีกที โดยย้ำว่าการปรับโครงสร้าง และการมีทิศทางของธุรกิจที่แน่นอน อาจจะทำให้ไม่ต้องปลดพนักงานออกเยอะก็ได้ แต่อาจจะมีการย้ายคน แบบหมุนเวียนไปเทรนนิ่ง เพื่อไปช่วยงานในหน่วยงานที่ทำรายได้ได้ดี และอาจจะขาดกำลังคน โดยปัจจุบันไม่อยากให้กังวล อยากให้ร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหากันไปเรื่อยๆ

ขณะที่เรื่องการลดเงินเดือน โดยความสมัครใจ ฝ่ายบริหารแจ้งว่าเป็นการขอความร่วมมือ เพื่อพยายามรักษากระแสเงินสดให้อยู่ได้หลายๆเดือน เพราะตอนนี้ บริษัทฯจะไปกู้ที่ใดคงไม่ได้ ส่วนคำถามที่ว่า ถ้าพนักงานไม่ลดเงินเดือนจะอยู่ได้นานแค่ไหน ฝ่ายบริหารแจ้งว่าการลดเงินเดือน 3 เดือน จะยืดให้มีสภาพคล่องจ่ายเงินเดือนได้อีก 1 เดือนทหรือเงินเดือน 1 เดือน จะลดเงินไปได้ประมาณ 300 ล้าน

ที่มา: Bright Today, 12/6/2563

สรส.-คสรท.บุกสสถานทูตสหรัฐจี้ยุติการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติกับคนผิวสี

12 มิ.ย. 2563 ที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) และ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส.ยื่นหนังสือต่อ นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัคราชทูตประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐยุติการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติกับคนผิวสี เพื่อแสดงความสมานฉันท์สากลต่อต้านการเหยียดสีผิวกรณีตำรวจทำเกินกว่าเหตุจนทำให้นายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำอายุ 46 ปี จนเกิดกระแสต่อต้านการเหยียดผิวและการกระทำที่รุนแรงละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า จากการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวสีชาวอเมริกันผู้ซึ่งเป็นพ่อ อายุ 46 ปีที่เสียชิวิตจากการฆาตกรรมโดยตำรวจผิวขาวโดยการใช้เข่ากดคอจนขาดอากาศหายใจอย่างช้า ๆ และเสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ณ เมือง Minneapolis รัฐเมนิโซต้า ขณะที่วิดีโอความโหดร้ายของการเสียชีวิตของเขาในครั้งนี้ถูกบันทึกไว้เป็นระยะเวลากว่า 8 นาที 46 วินาที เป็นบันทึกวิดีโอการตายของจอร์จ ที่บาดหัวใจเป็นอย่างมาก และเป็นภาพที่เจ็บปวดไปทั่วโลก ขณะที่จอร์จร้องเรียกแม่ของเขาในขณะที่ตำรวจคนอื่น ๆ ไม่ช่วยเหลือปกป้องชีวิตและเสรีภาพของเขาแต่อย่างใด

แต่พวกเราได้รับแรงบันดาลใจจากการตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา เราเห็นถึงพลังของประชาชนชาวสหรัฐและจากทั่วโลกหลายล้านคนที่ลงมาเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อสนับสนุน “Black Lives Matter”เพื่อประท้วงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ การเหยียดสีผิว และการเลือกปฏิบัติในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การขับเคลื่อนของพวกเราในวันนี้ หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย พวกเราต้องการที่จะแสดงพลังสมานฉันท์ไปยัง AFL-CIO และประชาชนชาวอเมริกัน พี่น้องแรงงาน และคนผิวสีทุกคนที่ต้องเผชิญกับความอัปยศของการเหยียดสีผิวและความโหดร้ายจากการกระทำของตำรวจ

การต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรงของตำรวจในการเหยียดสีผิว การเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำและกลุ่มคนผิวสีอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงชาว Hispanic และชาวเอเชีย ถือเป็นการต่อสู้ที่พวกเรายืนหยัดต่อสู้ไปด้วยเช่นกัน และในนามขององค์การสมาชิกสหภาพแรงงานในระดับสากลซึ่งเป็นครอบครัวเดียวกันกับ AFL-CIO พวกเราขอร่วมยืนหยัดต่อต้านความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำในทุกรูปแบบ รวมทั้งความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่กลายเป็นการหยามเหยียดคนผิวดำที่ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับความยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น พวกเราขอยืนหยัดอย่างภาคภูมิใจเพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและความเสมอภาคทางเพศ และต่อต้านอำนาจเผด็จการทั้งหลายที่ขัดขวางการได้มาซึ่งสิทธิทางประชาธิปไตยของพวกเราทั้งในประเทศไทยและนานาประเทศ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)ขอเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกายุติการกระทำต่อการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำทันทีพร้อมทั้งปฏิรูปเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะไม่มีที่ว่างใดในระบอบประชาธิปไตยสำหรับตำรวจ ที่อาศัยการคุกคามและการข่มขู่สร้างความหวาดกลัว การครอบงำ การเหยียดสีผิวและความรุนแรง วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำจากอำนาจเผด็จการ ดังนั้น พวกเราจึงขอให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้รูปแบบและมาตรการด้านความปลอดภัยที่สอดคล้องกับค่านิยมและหลักการตามแนวทางของประชาธิปไตยในทันที

ที่มา: ไทยโพสต์, 12/6/2563

สำนักงานประกันสังคมแจงกรณีเงินประกันสังคมตกงานโควิด-19 ที่ จ.กระบี่ ล่าช้าเพราะเป็นเงินรอบ 2

จากกรณีโลกออนไลน์เผยแพร่คลิปเหตุการณ์ผ่านโลกโซเชียล ในเฟซบุ๊ก ชื่อ “K. Sốm” ซึ่งเป็นเชฟโรงแรมดังแห่งหนึ่งใน จ.กระบี่ ได้เดินทางไปที่สำนักงานประกันสังคม จ.กระบี่ เพื่อทวงถาม เงินประกันสังคม 62% ของลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในงวดที่ 2 แต่เมื่อไปถึงกลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดความโมโห และพูดจาต่อว่าต่างๆ นานา โดยมีพนักงานในสำนักงาน คนหนึ่งแจ้งว่า เดี๋ยวได้ ให้ใจเย็นนั้น

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เรื่องเร่งรัดให้จ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงานให้แก่ผู้ประกันตนที่ว่างงานจากการระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันมีผู้ประกันตนมาลงทะเบียนขอรับสิทธิที่ได้รับการตรวจสอบสิทธิแล้ว ข้อมมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย.63 มียื่นขอใช้สิทธิทั้งสิ้น 1,557,046 คน และขณะนี้จ่ายเงินชดเชยให้เสร็จได้แล้วประมาณ 1,513,125 คน รวมเป็นเงินที่จ่ายแล้วกว่า 10,192 ล้านบาท เหลืออีกประมาณ 5 หมื่นคน จะพยายามเร่งรัดจ่ายเงินให้เร็วที่สุด ทางกระทรวงแรงงานจะยึดเอาตามที่นายจ้างเป็นผู้ร้องมา จากนั้นจะไปตรวจสอบกับลูกจ้างว่าข้อมูลถูกต้องตรงตามที่นายจ้างแจ้งมาหรือไม่

ส่วนข้อถามว่ากลุ่ม 5 หมื่นคนที่เหลือนี้จะสามารถจ่ายได้เมื่อใดนั้น รมว.แรงงาน กล่าวว่า หากเอกสารหลักฐานครบถ้วน ถูกต้อง จะสามารถจ่ายเงินได้ภายใน 5-7 วัน แน่นอน ส่วนจะครบจบเมื่อไหร่ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้เพราะกระทรวงแรงงาน เปิดให้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันตน ยื่นเรื่องได้ถึงสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ขณะนี้มีผู้ยื่นมาใหม่เพิ่มเติมอีก 15,763 ราย (ข้อมูล 9 มิ.ย. 2563) สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นที่ จ.กระบี่ นั้นขณะนี้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมเร่งตรวจสอบแล้วว่าความล่าช้า เกิดจากอะไร

ด้าน น.ส.บุปผา เรืองสุด รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า กรณีที่ จ.กระบี่ หากฟังคลิปเสียงให้ดีๆจะเข้าใจว่าเป็นการจ่ายเงินประกันสังคม ในงวดที่ 2 เพราะลูกจ้างในสถานที่ประกอบการที่เป็นข่าว ทางนายจ้างได้มาแจ้งสำนักงานประกันสังคม เป็นช่วงๆ คือแจ้งมารอบแรกจะขอปิดสถานประกอบการ 1เดือน รอบนี้จ่ายเงินไปเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่หลังจากนั้นสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายจึงมาแจ้งปิดเพิ่มอีก 1 เดือน เมื่อประมาณเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ตรงนี้จึงต้องขอเวลาตรวจสอบ จากการรายงานเข้ามาล่าสุด พบว่าเงินที่ต้องจ่ายมีแค่ 1 รายเท่านั้น และเงิน 62% ของเงินเดือนที่ลูกจ้างรายนี้ คือจะได้วันที่ 12 มิ.ย. อย่างแน่นอน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 11/6/2563

แกร็บฟู้ดจันทบุรีรวมตัวหยุดวิ่งเรียกร้องความยุติธรรม เรื่องรายได้และอยากให้บริษัทหาร้านเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าเพิ่ม

ที่บริเวณหน้าบริษัทแกร็บฟู้ดจันทบุรี มีกลุ่มคนขับรถแกร็บฟู้ด (Grab Food) ประมาณ 30 รายได้รวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องไปยังบริษัทใหญ่พิจารณาแก้ปัญหาเซลล์หาร้านได้น้อย ที่ผ่านมาต้องขับขี่รถไปส่งของให้ลุกค้าไกลแต่ได้ค่าแรงจากขั้นต่ำเพียงเที่ยวละ 15 บาท และถูกหักเงิน 2 บาท เข้าบริษัท ซึ่งเปรียบเทียบได้ว่า ถ้าขับขี่รถรับอาหารจากพื้นที่ตัวเมืองจันทบุรี ไปส่งเขาไร่ยา ระยะทาง 10 กิโลเมตร เมื่อส่งของเสร็จจะต้องขี่รถเปล่ากลับมาในตัวเมือง แทนที่จะมีร้านค้าระหว่างทางเพิ่มขึ้น กลับไม่มี

ซึ่งร้านค้าต่างๆในระหว่างเส้นทางดังกล่าวก็ได้มีการสอบถามและสนใจใช้บริการผ่านแอป แต่เซลล์ที่มีประจำสาขากลับไม่ออกไปหาลูกค้าทำให้ผู้ที่ขับขี่รถส่งอาหารทั้งหมดได้รวมตัวปิดระบบการรับออเดอร์ส่งของทั้งหมด จนกว่าจะมีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน และจะกลับมารับออเดอร์อาหารตามปกติ

โดยตัวแทนพนักงาน Grob Food จันทบุรี กล่าวถึงสาเหตุที่ได้มารวมตัวหยุดรับออเดอร์ และมารวมตัวที่หน้าบริษัท เกิดจากอยากเรียกร้องไปยังบริษัทใหญ่ให้กระตุ้นการทำงานเซลล์ในพื้นที่ในการกระตือรือร้นในการออกหาร้านค้าเพิ่ม เพราะที่ผ่านมามีเพียงร้านค้าในตัวเมืองแต่ต้องขี่รถไปส่งอาหารนอกเมืองระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร แต่ได้เพียงเที่ยวละ 15 บาทในระยะทาง 3 กิโลเมตร และถูกหักเงิน 2 บาท เขาบริษัท ทำให้ไม่คุ้มค่าน้ำมัน จึงอย่างเรียกร้องไปยังบริษัทให้ทำระบบใหม่ และขอเพิ่มค่าแรงตามระยะทางเพิ่มขึ้น

ที่มา: ส.ปชส.จังหวัดจันทบุรี, 11/6/2563

12 บริษัทร้อง กมธ.แรงงานช่วย หลังถูกเลิกจ้างไม่ได้เงินชดเชย เซ่นพิษโควิด-19

10 มิ.ย. 2563 ที่รัฐสภา นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน รับหนังสือจาก น.ส.ลัดดา ทึบสูงเนิน ผู้แทนจาก 12 บริษัท ที่มายื่นเพื่อขอความช่วยเหลือกรณีถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและไม่ได้รับเงินค่าชดเชย จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และปัญหาการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎกระทรวง

นายสุเทพ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสถานประกอบการหลายแห่งประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ จึงต้องปิดกิจการ จนนำไปสู่ปัญหาการเลิกจ้างงาน แต่สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานด้วย เราได้อภิปรายไปหลายรอบแล้วว่ารัฐบาลสอบตกในเรื่องการเยียวยาแรงงาน โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง(รมว.)แรงงาน ซึ่งวันนี้ทางกมธ.แรงงาน ได้เชิญ รมว.แรงงาน พร้อมสำนักงานประกันสังคม มาประชุมปรึกษาหารือร่วมกันในช่วงบ่าย

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ความเดือดร้อนนี้ได้ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จากการออกกฎกระทรวงที่ปลดล็อกเหตุสุดวิสัยมาใช้ ทำให้เกิดปัญหาการบังคับใช้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ที่ต้องจ่าย 75% ของค่าจ้างพนักงาน ทำให้ประชาชนที่ใช้แรงงานได้รับกระทบจากค่าจ้างที่น้อยลงมาที่ 62% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงเท่าเดิม ซ้ำการดำเนินการก็ยังคงล่าช้ามาก เช่น การเบิกจ่ายตามกฎกระทรวงที่ใช้เวลามากกว่า 2 เดือน

"ขอวิงวอนทุกภาคส่วนของกระบวนการแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาแรงงานเครือข่ายแรงงานเราต้องร่วมมือกัน ต้องทำให้องค์กรแรงงานเข้มแข็ง ทางกมธ.ยืนยันว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยจะเสนอเพิ่มการประชุมกมธ.แรงงานในวันพฤหัส(11 มิ.ย.)อีก 1 วัน เพื่อแก้ไขปัญหาได้ครบถ้วน ยืนยันว่าเราจะต้องได้สิทธิที่เราควรจะได้" นายสุเทพ กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 10/6/2563

มูลนิธิ LPN ร่วมกับซีพีเอฟ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิ LPN กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน หรือ Labour Voices Hotline by LPN จากความร่วมมือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวได้รับรู้สิทธิของตนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและมาตรฐานสากล รวมทั้งได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องค่าจ้างค่าตอบแทน สุขภาพอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าถึงสิทธิแรงงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี และจัดการอบรมพนักงาน (Worker Training) ของซีพีเอฟ จำนวนมากกว่า 1,800 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 75 เป็นพนักงานต่างด้าว ซึ่งจะทำให้สามารถทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นต้น

ในปี 2562 ซีพีเอฟได้รับรายงานจากศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน จำนวน 4 สาย จากพนักงานคนไทยและต่างด้าว เป็นเรื่องการสอบถามข้อมูลและการร้องเรียน โดยสอบถามข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับเงื่อนไขตามกระบวนการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MoU) และในส่วนของการร้องเรียนจากการตรวจสอบพบว่ามีสาเหตุมาจากความกังวลและความเข้าใจผิดของแรงงานเรื่องกฎระเบียบ และขั้นตอนการปฏิบัติงาน

“ปัจจัยที่ทำให้มีข้อร้องเรียนจากแรงงานซีพีเอฟผ่านช่องทาง Labour Voices Hotline by LPN ค่อนข้างน้อย เป็นผลจากบริษัทฯ มีล่ามประจำสถานประกอบการของบริษัทฯ คอยเป็นผู้ให้คำแนะนำและปรึกษาพนักงานต่างชาติเบื้องต้น รวมถึงการจัดการแก้ไขปัญหาโดยฝ่ายบุคคลและหัวหน้างานอย่างเป็นระบบและทันท่วงที ประกอบกับการจัดอบรมช่วยให้พนักงานมีความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากขึ้น” นายสมพงค์กล่าว

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนในองค์กรอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน แรงงานต่างชาติทุกคนเป็นพนักงานของบริษัทฯ ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับพนักงานคนไทย การดำเนินงานร่วมกับ LPN ช่วยสนับสนุนบริษัทฯ ให้เข้าใจความต้องการของแรงงานทุกคนและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว สร้างความพึงพอใจและความเข้าใจอันดีระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง

“ซีพีเอฟมีการทำแบบสำรวจการรับรู้ช่องทางการร้องเรียนผ่านศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน ในพื้นที่ 6 โรงงาน ครอบคลุมทั้งพนักงานไทยและต่างด้าว ผลสำรวจพบว่า 75% ของแรงงานมีการรับรู้และทราบช่องทางการร้องเรียนผ่านศูนย์นี้ ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานและลดผลกระทบที่อาจมีต่อธุรกิจ” นายปริโสทัตกล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2562 บริษัทฯ ได้ทบทวนและดำเนินกระบวนการตรวจประเมินสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ทุกสายธุรกิจในกิจการประเทศไทย ครอบคลุมทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) เช่น ชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติและศาสนา ผู้บกพร่องทางร่างกาย เป็นต้น โดยให้ความสำคัญ เช่น เรื่องสภาพการจ้างงาน สุขภาพและความปลอดภัยในสถานประกอบการ ข้อมูลส่วนบุคคล มาตรฐานการครองชีพและความปลอดภัยของคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน ฯลฯ

ซีพีเอฟยังยกระดับความปลอดภัยอย่างเข้มข้นสำหรับแรงงานทุกคนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งจัดการอบรมให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาด และการป้องกันแก่พนักงานต่างด้าว รวมทั้งทำแผ่นป้ายแนะนำในภาษาต่างๆ การจัดเพิ่มจำนวนรถตามแนวทาง social distancing เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจและทำงานด้วยความมั่นใจในมาตรการความปลอดภัย จนถึงปัจจุบันไม่มีพนักงานในสายการผลิตติดเชื้อโควิด-19

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/6/2563

สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ยื่นหนังสือเรียกร้องเร่งจ่ายเงินผู้ประกันตน ม.33 ได้รับผลกระทบโควิด

9 มิ.ย. 2563 ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับผู้แทนจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ในโอกาสเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เรื่อง การเร่งรัดสั่งจ่ายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนร่วมกับภาคธุรกิจในระยะยาว ณ ห้องประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน

ผู้แทนจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมควรเร่งรัดให้สั่งจ่ายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนร่วมกับภาคธุรกิจในระยะยาว

โดยได้รวบรวมความเห็นขององค์กรภาคประชาสังคมด้านแรงงาน นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกันตนมาตรา 33 และจัดทำเป็นข้อเสนอต่อเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการบอร์ดประกันสังคม เช่น ให้ขยายการช่วยเหลือเยียวยาในการจัดส่งเงินสมทบผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ 1 จากเดิมออกไปอีก จนกว่าภาพรวมของเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 9/6/2563

กรมการจัดหางานรับลูกนายกฯ วางแผนการจัดส่งแรงงานไทย 4 เดือน หลังสถานการณ์โควิด-19

10 มิ.ย. 2563 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยมอบหมายให้กรมการจัดหางานเร่งเตรียมความพร้อมในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศให้ได้รับประโยชน์สูงสุดนั้น

กรมการจัดหางาน ได้วางแผนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศในช่วงภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2563 ตั้งเป้าหมาย จำนวน 52,253 คน โดยตลาดแรงงานที่คาดว่าจะจัดส่งไปทำงาน ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย เช่น ไต้หวัน 20,120 คน ญี่ปุ่น 3,818 คน สาธารณรัฐเกาหลี 6,421 คน มาเลซีย 2,448 คน และสิงคโปร์ 2,934 คน ภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ อิสราเอล 2,840 คน

อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวต่อว่า เนื่องจากตลาดแรงงานทั่วโลกต่างยอมรับเรื่องความมีวินัย และทักษะฝีมือของแรงงานไทยประกอบกับประเทศไทยมีการบริหารจัดการด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทำให้โอกาสของแรงงานไทยในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ยังคงมีแนวโน้มเป็นบวก แรงงานไทยยังคงเป็นที่ต้องการของนายจ้างในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานประเภทฝีมือ และกึ่งฝีมือที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศ ในภูมิภาคตะวันออกกลางได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต อิสราเอล

นอกจากนี้ งานในภาคบริการและโรงแรมในต่างประเทศยังคงต้องการแรงงานฝีมือจากประเทศไทยเข้าไปทำงานด้วยข้อได้เปรียบในด้านจิตบริการและอุปนิสัย ขยัน ซื่อสัตย์ และมีวินัย แต่อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยยังคงต้องพัฒนาด้านทักษะทางภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน เพื่อเพิ่มโอกาสการได้งานทำในต่างประเทศ

ทั้งนี้คาดว่าภาคเอกชนหรือบริษัทจัดหางาน องค์กรผู้ส่งที่ได้รับอนุญาตจะมีบทบาทสำคัญในการเร่งการติดต่อกับนายจ้างในต่างประเทศ เพื่อการเดินทางเข้าสู่ตลาดแรงงานในต่างประเทศได้ภายหลังการสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกรมการจัดหางานร่วมกับภาคเอกชน โดยสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ บริษัทจัดหางาน องค์กรผู้ส่ง มีกำหนดจะประชุมร่วมกันในวันที่ 20 มิถุนายน 2563 ณ ห้องอบรมคนหางาน ไปทำงานในต่างประเทศ ชั้น 11 อาคารสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 3 ภายในบริเวณกระทรวงแรงงาน เพื่อวางแผนจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้คลี่คลายลง

ที่มา: คมชัดลึก, 10/6/2563 

นักวิจัยจุฬาฯ เปิดมุมมืดแพลตฟอร์มรับส่งอาหาร

นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าได้ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำวิจัยหลักประกันทางสังคมของแรงงานแพลตฟอร์ม สืบเนื่องจากผู้เข้ามาประกอบอาชีพขับจยย.รับส่งอาหาร หรือรับส่งสินค้าหรือนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้บริการขนส่งสาธารณะมีข้อร้องเรียนและความไม่ได้รับความเป็นธรรม

ประกอบกับในช่วงสถานการณ์โควิด-19มีคนเข้ามาสู่อาชีพนี้จำนวนมาก ขณะที่กฏหมายไทยไม่คุ้มครอง ซึ่งงานวิจัยเน้นแพลตฟอร์มรับส่งอาหาร พบว่ามีคนขับประสบอุบัติเหตุระหว่างรับส่งอาหาร แต่บริษัทไม่รับผิดชอบแม้บางบริษัทจะประชาสัมพันธ์ว่ามีประกันอุบัติเหตุให้ 1 เดือนแต่จะให้เฉพาะคนขับที่ทำได้ยอดรายได้ 40,000 บาทต่อเดือนที่เรียกว่าฮีโร่เท่านั้น

นั่นหมายความว่าคนขับต้องทำงานอย่างหนัก พบว่าที่ผ่านมาคนส่งอาหารเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนระหว่างวิ่งรับส่งอาหาร อาหารไปไม่ถึงคนสั่ง คนสั่งไม่ทราบก็รีพอร์ตว่าไม่ได้มาส่งอาหาร บริษัทได้บล็อกโดยที่ไม่รู้ว่าเขาเสียชีวิตไปแล้วระหว่างทำหน้าที่

เรื่องแบบนี้มีเยอะมาก ทั้งนี้ก่อนทำงานไรด์เดอร์จะต้องคลิกยอมรับข้อตกและเงื่อนไข ระบุว่าคนทำงานไม่มีสิทธิประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น บริษัทเพียงแค่ส่งพวงหรีดมาแสดงความเสียใจในงานศพเท่านั้น

นายอรรคณัฐ กล่าวต่อว่า บริษัทจะใช้คำว่าพาร์ทเนอร์ เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์การจ้างงาน หมายถึงหุ้นส่วนธุรกิจไม่ได้เป็นลูกจ้าง จึงไม่มีข้อผูกพันตามกฏหมาย และพยายามให้คนทำงานคิดว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ดี พวกเขาเป็นนายตัวเองทำมากได้มาก แต่พบว่าเมื่อปล่อยให้คนจำนวนมากมาทำงานบนแพลตฟอร์มทำให้เกิดการแข่งขันกันเอง ไรด์เดอร์ต้องรีบกดรับงานเมื่อมีงานซ้อนเข้ามา เพราะถ้าปฏิเสธจะมีผลต่อคะแนนและขาดโอกาสรับงานต่อจึงไม่ได้หยุดพัก

ดังนั้นจึงต้องทำตัวเป็นเด็กดี เพราะถ้าระบบถูกตัดจะต้องเสียค่าต่อระบบ 200 บาท นอกจากนี้แพลตฟอร์มยังร่วมกับสถาบันการเงินเสนอให้กู้เงินเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือผ่อนรายวัน แต่มือถือจะไม่สามารรถโหลดแอพพลิเคชั่นแพลตฟอร์มคู่แข่งได้ หรือบางวันไม่มีงานเงินไม่เข้าระบบ โทรศัพท์จะไม่สามารถใช้ได้เลย

นายอรรคณัฐ กล่าวด้วยว่า เสียงเรียกร้องของไรด์เดอร์ดังน้อยกว่าเสียงผู้บริโภค กรณีช่วงโควิด-19แพลตฟอร์มรับส่งอาหาร มีการคิดค่าส่งเพิ่มเริ่มต้นที่ 20 บาทผู้ ทำให้บริโภคออกมาโวยวายจนแพลตฟอร์มรับส่งอาหารไม่ปรับค่าราคาเพิ่ม และมีบางบริษัทให้คนที่ขับรถยนต์ส่วนตัวมารับส่งอาหารแต่คิดบริการเท่ากับจยย.สร้างความไม่พอใจกับคนขับจยย.รับส่งอาหาร เพราะมีคู่แข่งเข้ามารับงานเพิ่ม แทนที่ความต้องการสั่งอาหารของลูกค้าเยอะจะได้งานเยอะ แต่บริษัทไม่เสียอะไรเพราะได้ส่วนแบ่งเท่าเดิม

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากงานวิจัยจะส่งให้กระทรวงแรงงานเพื่อออกกฏระเบียบดูแลกลุ่มคนที่ทำงานในระบบแพลตฟอร์ม เพราะปัจจุบันกระทรวงคมนาคมเข้ามากำกับดูแลแต่ไม่ได้เห็นความสำคัญของแรงงานที่อยู่ในแพลตฟอร์ม

ที่มา: เพจข่าวนวัตกรรมขนส่ง เดลินิวส์, 7/6/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net