ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แล้วเมื่อ 11 มิ.ย.

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ชี้เป็นกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบการอนุมัติโครงการให้เกิดความโปร่งใส

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2563 ว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบตั้งคณะกมธ.วิสามัญ ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทชี้เป็นกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ตรวจสอบการอนุมัติโครงการให้เกิดความโปร่งใสมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และช่วยลดการทุจริตคอรัปชั่นได้
      
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญติดตาม ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019โดยพิจารณาร่วมกับญัตติที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน จำนวน 7 ญัตติและมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ผู้เสนอญัตติสลับกันทำหน้าที่อภิปราย อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นายกรวีร์  ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทยนางสาวนภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ นายณัฐวุฒิ  ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.จังหวัดสุพรรณบุรีพรรคชาติไทยพัฒนา และนายคมเดช  ไชยศิวามงคล ส.ส.จังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย 

โดยส่วนใหญ่เห็นว่า พ.ร.ก.เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทซึ่งจะทำให้ไทยมีหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 57 และอาจเป็นภาระการคลังในระยะยาวโดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดกรอบการใช้จ่ายไว้แบบกว้างๆยังขาดรายละเอียดแผนงานโครงการที่ชัดเจน แม้จะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง 6 คนพิจารณาโครงการต่างๆ ที่แต่ละจังหวัด และหน่วยงานในระดับพื้นที่เสนอเข้ามาแต่กลับพบว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการกลั่นกรองยังขาดตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขและตัวแทนจากภาคประชาสังคมเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กมธ.วิสามัญชุดนี้ จะไม่ได้มีอำนาจในการอนุมัติโครงการแต่ก็จะเป็นบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติที่มีทั้งตัวแทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแบบคู่ขนานไปกับการอนุมัติโครงการของฝ่ายบริหารโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยหากพบว่า โครงการมีความเสี่ยงทุจริตก็ควรมีช่องทางเสนอแนะให้รัฐบาลชะลอการอนุมัติโครงการออกไปก่อน 

ทั้งนี้แม้ว่ารัฐบาล จะระบุว่ามีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว แต่เนื่องจากระยะเวลาจำกัดที่แต่ละจังหวัดในการเสนอโครงการมายังคณะกรรมการกลั่นกรองซึ่งหากไม่มีการตรวจสอบที่ดีพออาจเป็นช่องว่างให้เกิดการทุจริตได้ง่ายในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าขณะนี้มีการเสนอโครงการเข้ามาแล้วกว่า 31,000 โครงการ วงเงินกว่า 7 แสนล้านบาทจึงตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการเสนอโครงการเก่าเข้ามาใหม่และมีการเสนอโครงการที่ใช้งบประมาณเท่ากันหลายโครงการและหากพิจารณาโดยขาดความละเอียดรอบคอบแล้วอาจเป็นช่องทางที่เอื้อต่อการทุจริตได้ดังนั้น หากสภาตั้ง กมธ.ชุดนี้ก็จะช่วยเพิ่มกลไกในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใส ลดการทุจริตคอรัปชั่น แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดสอดคล้องกันความต้องการของประชาชน และเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

ภายหลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางเป็นเวลาพอสมควรแล้วที่ประชุมเห็นชอบตั้งคณะ กมธ. วิสามัญ ติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 49 คน กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณา 120 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท