Skip to main content
sharethis

สื่อ 'กรุงเทพธุรกิจ' และ 'ฐานเศรษฐกิจ' เผยแพร่ข้อโต้แย้ง-ข้อกังวลที่ระบุว่าเป็นของ 'องค์การเภสัชฯ' ชี้หากเข้าร่วม 'CPTPP' ไทยเสียประโยชน์ 3 ด้าน - ประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบ CPTPP เผยตั้งคณะอนุ กมธ. 3 คณะ ศึกษาด้านเมล็ดพันธุ์และการเกษตรด้านการสาธารณสุขและยา และด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน

13 มิ.ย. 2563 สื่อ 'กรุงเทพธุรกิจ' และ 'ฐานเศรษฐกิจ' เผยแพร่ข้อโต้แย้ง-ข้อกังวลที่ระบุว่าเป็นของ 'องค์การเภสัชกรรม' ได้จัดทำข้อโต้แย้งที่เป็นข้อกังวลเกี่ยวกับ CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยล่าสุดในการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ CPTPP สภาผู้แทนราษฎรขึ้น เพื่อจัดทำความเห็นข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วม CPTPP ในครั้งนี้

ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรม ได้จัดทำข้อโต้แย้งต่างๆ ที่เป็นข้อกังวลโดยชี้ให้เห็นถึงข้อเสีย 3 ด้าน รวม 8 ข้อ ดังนี้

ประการแรก กระทบด้านสิทธิบัตรและยา 3 ประการ คือ

1.การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL) โดยรัฐเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา มีขอบเขตของการใช้ลดลง ไม่สามารถใช้กรณี public non-commercial use (การใช้งานสาธารณะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์) เหมือนที่ผ่านมา เพราะจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน

2.การจำหน่ายยา generic ช้าลง /ยากขึ้น เนื่องจากต้องมีกระบวนการเชื่อมโยงการทะเบียนยา และกระบวนการสิทธิบัตร รวมถึงกระบวนการอุทธรณ์ ทำให้ยา generic เข้าสู่ตลาดได้ช้าลง

3.ไทยไม่ได้ประโยชน์ในด้านราคายาจากการลดภาษีศุลกากร เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบยาของไทยอยู่นอกประเทศสมาชิก CPTPP

4.ต้องเปิดตลาดของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้กับอุตสาหกรรมจากต่างประเทศให้เข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียม รัฐจึงไม่สามารถใช้นโยบายบัญชีนวัตกรรมไทย หรือระเบียบพัสดุ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศได้ ผู้ผลิตยาอาจต้องปรับเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ผลิต” เป็น “ผู้นำเข้ายาจากต่างประเทศ” อุตสาหกรรมยาใน ประเทศจะถูกทำลาย และไทยจะไม่สามารถพึ่งพาตนเองด้านยาได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตด้านสาธารณสุข

ประการที่ 2 กระทบต่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) 2 ประการ คือ

1.การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ไทยต้องเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งเพิ่มอำนาจการผูกขาดสายพันธุ์พืชใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 20-25 ปี ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ

รวมทั้งขยายอำนาจการผูกขาดจากเดิมเฉพาะสายพันธุ์พืชไปยังผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ ส่งผลกระทบต่อการผูกขาดยาผ่านการผูกขาดสายพันธุ์พืชด้วย และกระทบต่อการพัฒนาขีดความสามารถของนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยและ เกษตรกรซึ่งรวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ส่งผลต่อต้นทุนการเพาะปลูกและราคาสมุนไพร การแข่งขัน และการต่อยอด การค้นคว้าวิจัยต่างๆ

2.การเข้าร่วม CPTPP ยังทำให้ไทยต้องเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) ว่าด้วยการยอมรับระหว่างประเทศในการฝากเก็บจุลชีพเพื่อการจดสิทธิบัตร และต้องแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งจะผลกระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งในเรื่องทรัพยากรจุลชีพและการคุ้มครองพืช ท้องถิ่นในประเทศไทย

ประการที่ 3 คือ กระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ รวม 2 ประการ คือ

1.ในการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำและการขอเวลาปรับตัวในการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ตามที่กรมเจรจาฯ แจ้งนั้น เรายังไม่ทราบว่าจะสามารถกำหนดได้ที่มูลค่าเท่าใด และจะได้รับการผ่อนผันหรือไม่ เนื่องจากไทยตามเข้าร่วมภายหลัง ดังนั้น หากการเจรจาขอผ่อนผันในประเด็นอ่อนไหวต่างๆไม่ได้ ไทยไม่ควรเข้าร่วมภาคี

2.การยกเลิกสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจขององค์การเภสัชกรรมทำให้ไม่สามารถดำเนินภารกิจเชิงสังคมในการรองรับนโยบายด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนที่จำเป็นต่อระบบ สาธารณสุขของประเทศได้ เช่น การเกิดโรคระบาดโควิด-19

ประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบ CPTPP เผยตั้งคณะอนุ กมธ. 3 คณะ

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าประธานคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบ CPTPP เผยตั้งคณะอนุ กมธ. 3 คณะ ศึกษาด้านเมล็ดพันธุ์และการเกษตรด้านการสาธารณสุขและยา และด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน หวังพิจารณาแล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดระบุ รัฐบาลให้สิทธิเสรีภาพในการพิจารณาอย่างเต็มที่และจะยึดผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ

นายวีระกร คำประกอบประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP  (Comprehensiveand Progressive of Trans – Pacific Partnership) แถลงกรอบการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการว่าด้วยความตกลงดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่ต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาอย่างรอบด้านและรัดกุมและเพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จึงได้กำหนดให้มีการประชุมทุกวันอังคารเวลา 09.00 -14.00 น. และวันพุธ เวลา 09.00 – 12.00 น. และมีมติตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้น 3 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมาธิการเมล็ดพันธุ์และการเกษตรมีนายอนันต์ ศรีพรรณ เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมาธิการการสาธารณสุขและยามีนายศุภชัย ใจสมุทร เป็นประธาน และ 3. คณะอนุกรรมาธิการเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ซึ่งคณะอนุ กมธ.เศรษฐกิจจะต้องศึกษาถึงผลดี ผลเสียทางเศรษฐกิจหากไทยเข้าร่วมความตกลงCPTPP โดยได้กำชับให้คณะอนุกมธ. เร่งดำเนินงานและพิจารณาให้เกิดความคืบหน้าภายใน1 สัปดาห์หลังจากนี้

นายวีระกรกล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้ให้สิทธิเสรีภาพในการพิจารณาอย่างเต็มที่และจะยึดผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการในการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมความตกลงCPTPP หรือไม่ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่10 กรกฎาคม และเสนอเข้าบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาและนำเสนอข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net