สุรพศ ทวีศักดิ์: จากความจริงที่เหนือกว่าสู่เสรีภาพที่เหนือกว่า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทำไมสังคมไทยปัจจุบันพูดกันคนละภาษา เหมือนอยู่กันคนละโลก ตั้งแต่เรื่องของหมา เช่น กรณี “พี่เตี้ย มช.” ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องตำนานการอุ้มฆ่านักสู้เพื่อประชาธิปไตยคนแล้วคนเล่า, สถาบันกษัตริย์, พุทธศาสนา, ประชาธิปไตย ฯลฯ หรือที่จริงแล้วเราถูกโปรแกรมให้พูดกันละภาษาตั้งแต่สยามปรับตัวเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ (modernity) โน่นแล้ว 

ในหนังสือ “เมื่อสยามพลิกผัน” ของธงชัย วินิจจะกูล พูดถึงแบบแผน (modality) ของการเปลี่ยนผ่านสู่สภาวะสมัยใหม่ของชนชั้นนำสยามยุคอาณานิคมว่า ไม่ใช่เพียงที่พูดกันง่ายๆ ว่า “เลือกรับสิ่งที่ดีและปฏิเสธสิ่งไม่ดี” ซึ่งก็อธิบายอะไรไม่ได้ เพราะหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตยย่อมไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่ชนชั้นนำยุคนั้น (และยุคนี้) ก็ไม่รับ ขณะที่รับความรู้สมัยใหม่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ระบบการศึกษาแบบตะวันตก ภาษา วัฒนธรรมการแต่งกาย การเต้นรำ บริโภคนิยม และอื่นๆ กระทั่งนิยมส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอก และรับชาวตะวันตกเข้ารับราชการในราชสำนัก

กล่าวได้ว่า ชนชั้นนำคือผู้ริเริ่มนำเข้าความรู้สมัยใหม่และวัฒนธรรมตะวันตก และพวกเขานั่นเองที่เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้อแบบชนชั้นสูงไทยที่เคยมีมานานเป็นความหรูหราฟุ้งเฟ้อแบบตะวันตก แล้วอะไรคือ “แบบแผน” ของการรับตะวันตกในเรื่องนามธรรม อย่างเช่นความคิด ความรู้ คุณค่าต่างๆ ธงชัยอธิบายว่า 

“แบบแผนอย่างหนึ่งซึ่งหลายสังคม (ในเอเชีย) พัฒนาขึ้นมาคล้ายๆ กัน ทั้งญี่ปุ่น อินเดีย (เบงกอล) และสังคมสยาม คือวาทกรรมและความคิดที่จำแนกโลกที่เป็นจริงออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ โลกทางวัตถุกับโลกทางจิตวิญญาณ ความรู้ที่เป็นสัจจะสำหรับอธิบายโลกจึงควรจำแนกออกเป็นสองแขนงเช่นกัน สังคมเหล่านั้นยินดีต้อนรับความรู้ ความคิด และเทคโนโลยีใหม่ๆ จากตะวันตกมาใช้กับการพัฒนาทางด้านวัตถุ ในขณะที่ยืนยันอย่างแข็งขันว่า ศาสนา ประเพณีธรรมเนียมดั้งเดิมของสังคมนั้นดีกว่าอิทธิพลตะวันตก” (หน้า 13)

สำหรับสยาม ศาสนาที่ดีกว่าตะวันตกก็คือ “พุทธศาสนา” ประเพณีธรรมเนียมดั้งเดิมที่ดีกว่าก็คือ “โบราณราชประเพณี” และประเพณีวัฒนธรรมไทยอื่นๆ ที่สอดคล้องไปด้วยกันกับการยึดถือความสูงต่ำทางสถานะชนชั้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ จากตะวันตกนั้นดีแน่ แต่ดีในระดับที่ให้เราได้เพียงความจริงเกี่ยวกับโลกวัตถุที่เป็นความจริงระดับสมมติ (สมมติสัจจะ) เท่านั้น ส่วนพุทธศาสนาให้ความจริงเหนือโลก หรือความจริงทางจิตวิญญาณที่ทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสและความทุข์ได้ (โลกุตตรธรรม, ปรมัตถสัจจะ)

พูดง่ายๆ คือ ชนชั้นนำใช้เกณฑ์การแบ่งความจริงในพุทธศาสนาที่แบ่งเป็น “สมมติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ”ในการจัดระดับคุณค่าของความจริงที่รับจากตะวันตกให้อยู่ใน “ระดับต่ำกว่า” ความจริงทางพุทธศาสนา โดยเกณฑ์นี้ความรู้ ความจริงต่างๆ จากตะวันตกจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะถือเป็นความจริงที่เข้ากันได้กับ “สมมติสัจจะ” ของพุทธศาสนาอยู่แล้ว แต่พุทธศาสนายังมีความจริงที่เหนือกว่า ซึ่งตะวันตกไม่มี นั่นคือ “ปรมัตถสัจจะ” อันเป็นความจริงทางจิตวิญญาณที่ตอบโจทย์ความหลุดพ้นด้านในได้

นอกจากนั้นชนชั้นนำสยาม เช่น รัชกาลที่ 4, เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, รัชกาลที่ 5 ต่างอ้างว่า คำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนาในไตรปิฎกล้วนมีเหตุมีผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ขณะที่ความเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลกของศาสนาพราหมณ์ฮินดู คริสต์ อิสลาม ดูไม่มีเหตุผล ไม่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย

ทำไมชนชั้นนำสยามจึงโปรฯ พุทธศาสนามากขนาดนั้น ถ้าเราดูการแบ่งชนชั้นในยุคสังคมจารีตที่ถือว่า ชนชั้นปกครองคือ กษัตริย์, เครือญาติกษัตริย์, ขุนนาง และพระสงฆ์ราชาคณะ ส่วนชนชั้นผู้ถูกปกครองคือ ไพร่ , ทาส ในระบบศักดินาไทยนี้กษัตริย์ย่อมถูกสถาปนาขึ้นโดยปรัชญาการเมืองพุทธผสมพราหณ์, ผี แต่ที่ชัดเจนมากคือพุทธ เพราะกษัตริย์คือธรรมราชา, จักรพรรดิราช, สมมติเทพ, โพธิสัตว์, พระพุทธเจ้าอยู่หัวที่ปกครองโดยธรรม ดังนั้น พุทธศาสนากับกษัตริย์จึงแยกจากกันไม่ได้ เมื่อรัชกาลที่ 6 รวมพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ก็ยิ่งทำให้สามสิ่งนี้กลายเป็น “ความจริงสูงสุด” ที่ความจริงอื่นๆ จากตะวันตกจะมาท้าทายหักล้างไม่ได้ 

ผลของการแยกความจริงทางโลกวัตถุ (สมมติสัจจะ) กับความจริงทางจิตวิญญาณ (ปรมัตถสัจจะ) ทำให้พุทธศาสนาอยู่เหนือกว่าความรู้สมัยใหม่แบบตะวันตก เหนือกว่าศาสนาของชาวตะวันตกคือคริสต์ศาสนาและศาสนาอื่นๆ ด้วย ส่วนโบราณราชประเพณีนั้นก็ย่อมต้องรักษาไว้ และถือว่าเหนือกว่าคุณค่าสมัยใหม่แบบตะวันตกอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อพุทธศาสนาถูกผนึกรวมเป็นอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันเป็นศูนย์รวมความจงรักภักดีและความสามัคคีของปวงชนชาวไทย ก็ยิ่งกลายเป็นความจริงและคุณค่าสัมบูรณ์สูงสุดที่คุณค่าสมัยใหม่อื่นๆ แบบตะวันตกต้องเป็นรอง หรือต้องอยู่ภายใต้อุดมการณ์หลักนี้ (ทั้งนี้ผู้เขียนตระหนักถึงความซับซ้อนและพัฒนาการของการใช้อุดมการณ์นี้)

นี่คือการแบ่งแยกที่ทำให้เราพูดกันคนละภาษามาตั้งแต่ยุคอาณานิคม เพราะยังมีปัญญาชนหัวก้าวหน้าอย่างเช่น “เทียนวรรณ” ที่เคยผ่านการบวชเรียนและศึกษาความรู้ตะวันตกด้วยตนเอง พยายามพูดภาษาพุทธศาสนาเป็นภาษาเดียวกับตะวันตกอยู่บ้าง ดังที่เขาเรียกร้องการเลิกทาส รัฐธรรมนูญ ระบบสภา ทว่าล้มเหลว แต่คุณค่าแบบตะวันตกเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตยก็ยังถูกขับเคลื่อนผ่านกลุ่มคนหัวก้าวหน้าอื่นๆ เรื่อยมา จนเกิดการปฏิวัติสยาม 2475 ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งของสยามที่ทำให้เราพูดกันคนละภาษา ใช้ตรรกะเหตุผลบนโลกทัศน์ที่ต่างกันเหมือนอยู่คนละโลกมาจนทุกวันนี้

เทียบกับการเปลี่ยนแปลงสู่สภาวะสมัยใหม่ของสังคมตะวันตก ในด้านหนึ่งเขายกเลิกระบบอำนาจแบบศาสนา คืออำนาจเทวสิทธิ์ของระบบกษัตริย์และศาสนจักร แทนที่ด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยและการแยกรัฐกับศาสนา และในอีกด้านหนึ่งเขาแปลงภาษาศาสนามาเป็นภาษาเดียวกับภาษาโลกวิสัย 

เช่น นักคิดบางคนว่า “ถึงพระเจ้าจะมีอยู่จริงพระองค์ก็ไม่ใช้อำนาจแทรกแซงศีลธรรมทางสังคมและการปกครองของมนุษย์” บางคนอ้างพระเจ้าเพื่อปฏิเสธระบบกษัตริย์ว่า “พระเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นกษัตริย์แท้จริง” เป็นความผิดพลาดของมนุษย์ที่สร้างระบบกษัตริย์ขึ้นมา ชาวยิวที่สถาปนากษัตริย์ และศาสนจักรยุคกลางผิดพลาดที่ใช้อำนาจเทวสิทธิ์ของพระเจ้าปกครองราวกับกษัตริย์ เป็นต้น 

ในอีกด้านหนึ่ง นักปรัชญาเสรีนิยมบางคนบอกว่า “สิทธิตามธรรมชาติคือสิ่งที่พระเจ้าให้มา” ยืนยันว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้มีเจตจำนงเสรี มนุษย์ทุกคนเสมอภาคกันในสายตาของพระเจ้า ในคำประกาศอิสรภาพอเมริกาบอกว่าเราทุกคนถูกสร้างมาให้เท่าเทียมกันเป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นการแปลงภาษาศาสนามาเป็นภาษาเดียวกับภาษาโลกวิสัย เพื่อที่คนในสังคมจะไม่ต้องขัดแย้งกันเพราะพูดกันคนละภาษา และใช้ตรรกเหตุผลบนโลกทัศน์ที่ขัดแย้งกัน

บ้านเราในยุคที่คณะราษฎรมีอำนาจ ก็มีความพยายามจะทำให้พุทธศาสนาเปลี่ยนมาพูดภาษาเดียวกับภาษาประชาธิปไตย แต่ก็ชั่วระยะเวลาแสนสั้นและดูเหมือนจะไม่ได้ผลนัก ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมาพุทธศาสนาก็ถูกดึงกลับไปใช้ภาษาเดียวกับฝ่ายอำนาจจารีตจนพัฒนามาเรื่อยๆ ดังที่เราเห็นในช่วงกว่าทศวรรษจนปัจจุบัน 

ที่ชัดเจนคือ ไม่ว่าคำเทศนาของปราชญ์, ผู้รู้พุทธ, พระสงฆ์วัดต่างๆ หรือที่เห็นได้ตามสื่อ กระทั่งในหลักสูตรบางหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ เสนอว่า เรามีธรรมาธิปไตย, เสรีภาพทางจิต, ความเสมอภาคในศักยภาพที่จะพ้นทุกข์เหนือกว่าความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตยอันเป็นของตะวันตก

ดูเผินๆ เหมือนว่าจะปรับภาษาศาสนาให้เป็นภาษาโลกวิสัย แต่ก็ไม่ใช่ ดูจะเป็นการใช้ภาษาศาสนาข่มภาษาโลกวิสัยเสียมากกว่า และเป็นการสร้างมายาคติแยก “ของไทย” กับ “ของตะวันตก” ที่ไม่สมเหตุผลสมผล แต่ก็ได้ผล เพราะมันทำให้คนพูดกันคนละภาษา และใช้ตรรกเหตุผลบนโลกทัศน์ที่ต่างกัน และพูดกันไม่รู้เรื่อง กลายเป็นความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ไม่จบสิ้น 

    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท