Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ (1947-2020) หรือ อาจารย์โต้ง ของใครหลายๆ คน เป็นผู้ที่มีคุณูปการอย่างมากต่อความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงหรือกลุ่มอดีตอินโดจีนของฝรั่งเศส (French Indochina) เวียดนาม ลาว กัมพูชา เนื่องจากเป็นผู้ผลักดันนโยบายแปรสนามรบเป็นตลาดการค้าในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ของรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ผู้เป็นบิดา ที่แต่ไหนแต่ไรก็ไม่เคยลงรอยกัน 

แม้ว่าในทางอุดมการณ์ดั้งเดิมพ่อลูกคู่นี้จะอยู่คนละขั้ว พ่อเป็นขวา ลูกชาย เป็นซ้าย (แต่ท่านผู้หญิงบุญเรือน ผู้เป็นแม่บอกว่าอาจารย์โต้งเป็น “ซ้ายผับ” เพราะสมัยก่อนชอบเที่ยวผับย่านทองหล่อเป็นประจำ)

แต่มองจากมุมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ทั้งคู่เป็นสัจนิยมใหม่ (Neo-realism) ที่มองเห็นและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในยุคปลายสงครามเย็น จึงได้เป็นหัวหอกในการละทิ้งอุดมการณ์ทั้งซ้ายและขวา เปิดประตูของประเทศไทยสู่อินโดจีนอย่างเต็มรูป

ความจริงทั้งพลเอกชาติชายและลูกชายโทนคบหาคอมมิวนิสต์มาก่อนจะยึดอำนาจรัฐได้จากการเลือกตั้งในปี 1988 แล้วแหละ เพียงแต่เป็นคนละสายกันเท่านั้นเอง พลเอกชาติชายคือคนสำคัญคนหนึ่งในการเคลื่อนไหวเปิดสัมพันธ์ไทย-จีน ตั้งแต่ปี 1975 นโยบายต่างประเทศของไทยก็ออกแนวโปรจีนนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในขณะที่อาจารย์โต้งนั้นแอบคบค้าสมาคมกับเวียดนามนับ 10 ปีก่อนที่จะผลักดันนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้า วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง หัวขบวนทางปัญญาของฝ่ายซ้ายยุคหลังป่าแตก ฉบับแรกๆ ของปี 1981 (พ.ศ. 2524) ที่มีอาจารย์โต้งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ ชูธงเรื่องอินโดจีน ปัญหาเขมรแดง พร้อมด้วยบทสัมภาษณ์ นายกรัฐมนตรี ฟ่าม วัน โด่ง ที่อาจารย์โต้งกับอาจารย์ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ แอบไปสัมภาษณ์กันมา ความใกล้ชิดกับเวียดนาม และการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง ทำให้กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของไทยซึ่งตอนนั้นก็โปรจีน หนุนเขมรแดง ต่อต้านเวียดนาม อย่างถึงรากถึงโคน 

ดังนั้นสิ่งแรกๆ ที่อาจารย์โต้งทำเมื่อยึดอำนาจรัฐได้คือ เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทยต่ออินโดจีนใหม่ชนิดยูเทิร์น 180 องศาเลยทีเดียว ผลของมันคือ ไทยเลิกสนับสนุนเขมรแดง การเจรจาสันติภาพในกัมพูชาบรรลุเป้าหมาย สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง เปิดการค้าการลงทุนกับอินโดจีนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แม้กระทั่งสิ้นรัฐบาลชาติชายแล้ว รัฐบาลต่อๆ มาของอานันท์ ปันยารชุน ชวน หลีกภัย ก็เดินหน้าสู่เสรีนิยม (Liberalism, Regionalism, Globalism) แบบเต็มสูบ

แต่หลังจากนั้นอาจารย์โต้งก็ไม่ได้หวนคืนมหาวิทยาลัย แต่เดินหน้าสู่การเมืองเต็มตัว เป็นสมาชิกวุฒิสภา จากโคราช อันเป็นฐานที่มั่นของพลเอกชาติชายแต่ก่อนเก่า ตอนหลังก็ไปเข้าพรรคประชาธิปัตย์ในทางการเมืองอาจารย์โต้ง ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เห็นอกเห็นใจคนจน กรรมการ ชาวนา ตามประสาฝ่ายซ้ายเก่า จึงกลายเป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ ชินวัตร อย่างถึงรากถึงโคนคนหนึ่ง และนั่นเป็นจุดชักนำให้เขากลายเป็นพวกต่อต้านทักษิณ ตกกะไดพลอยโจนไปสนับสนุนฝ่ายขวาในการโค่นล้มทักษิณในที่สุด ไม่อยากจะเชื่อแต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ว่า หลังการรัฐประหารปี 2006 อาจารย์โต้งถึงกับเป็นหัวหอกเดินสายแก้ต่างให้คณะรัฐประหารในต่างประเทศ

เรื่องอื่นๆ อาจจะสวิงไปมา แต่สิ่งที่คงเส้นคงวามาก สำหรับอาจารย์โต้งอย่างหนึ่งคือ ความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม ในการสนทนากันคราวหนึ่งระหว่างอาหารกลางวัน ส้มตำและผัดหมี่โคราช ที่มูลนิธิชาติชาย ชุณหะวัณ ในซอยราชครู ราวๆ 6-7 ปีมาแล้ว อาจารย์โต้งพูดกับผู้เขียนว่า “เป็นฝ่ายซ้ายต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ระบบทุนนิยมมันล้างผลาญทรัพยากรของโลกรุนแรงมาก พวกหัวก้าวหน้าที่ต่อต้านทุนนิยมจึงต้องเน้นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันข้ามอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพราะมันเป็นอนาคตของโลก เป็นเรื่องของความเป็นอยู่ของทุกๆ คน ไม่ว่ายากดีมีจนล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น เพียงแต่ว่า พวกฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่เป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายขวามักอยู่ในอำนาจและเอื้อประโยชน์นายทุนในการใช้ทรัพยากรของโลกมากกว่า ฝ่ายซ้ายเลยดูเหมือนจะรักษ์สิ่งแวดล้อมไปโดยปริยาย 

การสนทนาของผู้เขียนกับอาจารย์โต้งในระยะท้ายๆ ของชีวิตอาจารย์ หลังจากที่ได้รับรู้ถึงความเจ็บป่วย คือการเคลื่อนไหว ปกป้องแม่น้ำโขง ต้านการระเบิดแก่ง ต้านเขื่อนไม่ว่าของคอมมิวนิสต์หรือของนายทุนคัดค้านหมด ว่าที่จริงอาจารย์ก็ไม่ได้ทำอะไรมากแล้วแหละ เป็นที่ปรึกษาให้ ไผ่ เพียรพร ดีเทศ เป็นหลัก แต่อาจารย์โต้งมีพลังในการคัดค้านโครงการพวกนี้เพราะเป็นคนในชาติตระกูลสูง ชนชั้นสูงส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนฝูงกันบางทีนายทุนเหล่านั้นก็เกรงใจ มีคราวหนึ่ง เราคุยกันเรื่องเขื่อนในแม่น้ำโขงที่ธนาคารกรุงเทพสนับสนุนอยู่ 

ผู้เขียนถามว่า “ทำไมอาจารย์ไม่ไปขอให้คุณหญิงชดช้อย (โสภณพนิช) ช่วยรณรงค์เรื่องนี้บ้าง เป็นเพื่อนกันไม่ใช่เหรอ คุณหญิงก็ดูเป็นคนรักสิ่งแวดล้อมมากเลยนะ” 

อาจารย์โต้งตอบว่า “เขาไม่พูดกับผมหรอก พูดเรื่องนี้ทีไรวงแตกทุกที แต่ผมมีความคิดว่า จะนัดคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) คุยเรื่องนี้ คุณว่าเขาจะสนใจหรือเปล่า”

“ไม่รู้สิ แต่ถ้าเจอกัน คงเป็นข่าวใหญ่” ผู้เขียนว่า 

สุดท้ายแล้ว อาจารย์โต้ง ยังไม่ได้ต่อสายถึงนายกยิ่งลักษณ์ เพราะเธอโดนพรรคพวกอาจารย์ในพรรคประชาธิปัตย์ประท้วงและยึดอำนาจเสียก่อน ลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเต็มสูบ แต่อาจารย์โต้งไม่อยู่แล้ว

สู่สุขคตินะครับอาจารย์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net