Skip to main content
sharethis

ช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2563 สื่อ Radio Taiwan International ของไต้หวัน ได้นำเสนอเรื่องราวของ 'สุเมธ' (นามสมมุติ) แรงงานชายไทยอายุ 51 จาก จ.ศรีสะเกษ เดินทางมาทำงานที่โรงงานเชื่อมโครงเหล็กแห่งหนึ่งในเขตหลงถาน นครเถาหยวน ตั้งแต่กลางปี 2557 เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อนในโรงงานเดียวกันหลายคนอาศัยช่วงวันหยุดไปจับปลาในหนองน้ำข้างโรงงานมาย่างเป็นกับแกล้ม แต่นายสุเมธได้เก็บหอยเชอรี่ริมหนองมาจิ้มพริกกินดิบ ๆ โดยไม่ยอมฟังคำเตือนของเพื่อนๆ หลังจากผ่านไปประมาณ 5-6 วัน นายสุเมธ เริ่มมีอาการคันที่สีข้างและตามแขน ล่ามพาไปรักษาที่คลินิก แพทย์ฉีดยาให้ อาการดีขึ้น

จากนั้นอีก 3 วันต่อมา เริ่มมีอาการเวียนศีรษะ ไปพบแพทย์ที่คลินิกอีก หลังรับการฉีดยาแล้วอาการทุเลาลง จนวันที่ 15 พ.ค. 2563 อาการหนักขึ้น เท้าชาและแขนไม่มีเรี่ยวแรง ล่ามจึงพาไปรักษาที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก 804 สาขาหลงถาน แพทย์ตรวจร่างกายอย่างละเอียด พบปอดและไขสันหลังอักเสบ ต้องทำการรักษาโดยด่วน และหลังจากวันนั้นเป็นต้นมา อาการของนายสุเมธก็ทรุดหนัก ไม่ได้สติ ขณะฟื้นพูดจาไม่รู้เรื่อง โดยทางนายจ้างไต้หวันแม้จะแปลกใจที่คนงานไทยรายนี้เปิบพิสดารด้วยเมนูหอยโข่งจิ้มพริก แต่ได้ให้แรงงานไทยอีกรายหนึ่งซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของนายสุเมธไปเฝ้าไข้โดยจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ

คนงานไทยโชว์ภาพหอยโข่งที่นำมายำกิน ข้างหลังเป็นเพื่อนที่อาการโคม่า เหตุเกิดเมื่อปี 2561 | ที่มาภาพ: Radio Taiwan International

ก่อนเคสของ 'สุเมธ' ย้อนไปเมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2561 คนงานไทยในโรงงาน Uni President Glass ในเขตซินอิง นครไถหนานจำนวน 3 คน อาศัยช่วงวันหยุดไปเก็บหอยโข่งหรือหอยเชอรี่ตามทุ่งนาและริมคลอง จากนั้นใช้ไฟแช็คเผาหอยโข่งพออุ่น ๆ ควักเนื้อมาทานกันสด ๆ กลางทุ่ง และนำกลับไปยังโรงงาน ยำด้วยพริก มะนาวและเกลือ เรียกเพื่อน ๆ ในโรงงานเดียวกันอีก 3 คน มารับประทานด้วยกัน (รวมเป็น 6 คน) หลังจากนั้นไม่กี่วันเริ่มมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน และปวดกล้ามเนื้อไปทั้งตัว แรกๆ เข้าใจผิดคิดว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไปรักษาที่คลินิคแต่อาการไม่ดีขึ้น หลังเวลาผ่านไป 2 สัปดาห์อาการปวดหัวคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงขึ้น โรงงานจึงพาไปรักษาที่โรงพยาบาลฉีเหม่ยในไถหนาน จึงทราบว่า อาการปวดหัวและกล้ามเนื้อ มาจากทานหอยโข่งดิบ พยาธิปอดหนูในหอยโข่งชอนไชเข้าสู่ไขสันหลัง ยังดีที่ไม่ได้ขึ้นสมอง หลังจากให้ยารักษาเป็นการเฉพาะเป็นเวลา 3 สัปดาห์ อาการดีขึ้น ก่อนออกจากโรงพยาบาล แพทย์ลงทุนไปหาหอยโข่งมาโชว์ให้คนงานไทยทั้ง 6 คนดู และทำไม้ทำมือเตือนว่า ห้ามทานอีกเด็ดขาด คนงานไทยเข้าใจความหมายที่คุณหมอต้องการสื่อ ต่างพยักหน้ารับว่า OK! OK! ต่อไปจะไม่ทานอีกแล้ว

วัฒนธรรมการกินพื้นถิ่นไทย

ก้อยหอยเชอรี่ การกินที่ปลอดภัยคือปรุงหอยให้สุก | ที่มาภาพ: ครัวบ้านทุ่งกับลุงเด่น พากินพาเที่ยว

โรคที่เกิดจากพยาธิปัจจุบันพบได้ใน 30 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่จะพบในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ป่วยสะสมประมาณ 2,800 ราย ซึ่งไทยพบผู้ป่วยสะสมประมาณ 1,380 ราย ประมาณช่วงปี 2545-2555 หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของผู้ป่วยทั้งหมด พบมากสุดในภาคอีสานร้อยละ 80 รองลงมาในภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งที่พบว่าไทยมีตัวเลขผู้ป่วยสูง เป็นเพราะระบบการรายงานโรคของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากลมีการรายงานโรคอย่างต่อเนื่อง

พฤติกรรมการบริโภคอาหารดิบโดยเฉพาะหอยน้ำจืดจะทำให้เกิดโรคนี้ สำหรับประเทศไทยเรานั้นมักนำมากินกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการกินอาหารประเภทนี้ สุก ๆ ดิบ ๆ หรือใช้เขียงเดียวกับที่ทำอาหารประเภทนี้ ก็ทำให้พยาธิตัวอ่อนเข้าสู่ร่างกายได้ โดยพยาธิจะเข้าสู่เส้นเลือดและไปอาศัยในอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณพยาธิและตำแหน่งที่พยาธิเข้าไปอยู่ โรคดังกล่าวจะไม่มียารักษาแต่สามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารสุก ล้างมือ แยกเขียง เป็นต้น

ทำความรู้จัก ‘โรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ’ จาก 'พยาธิหอยโข่ง'

'พยาธิหอยโข่ง' (Angiostrongylus cantonensis) เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของโรคพยาธิขึ้นสมองในคน ทำให้เกิดโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนถึงขั้นเสียชีวิต | ที่มาภาพ: DPDx (อ้างใน CDC)

ข้อมูลจากบความ 'พยาธิขึ้นสมอง...กับอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ' โดย รศ.ดร.ประภาทิพย์ เอี่ยมโสภณา ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า 'พยาธิหอยโข่ง' (Angiostrongylus cantonensis) เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของโรคพยาธิขึ้นสมองในคน ทำให้เกิดโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนถึงขั้นเสียชีวิต ที่พบบ่อย ๆ ทั้งนี้ 'พยาธิหอยโข่ง' หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า 'พยาธิปอดหนู' เป็นพยาธิตัวกลมที่เป็นสาเหตุของโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน ซึ่งพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการกินเนื้อหอยโข่ง หอยเชอรี่ หรือเนื้อสัตว์จำพวก กุ้ง ปู กบ และตะกวด ปรุงแบบดิบๆหรือดิบ ๆ สุกๆ เช่น นำมาทำก้อย ยำ ลาบ พล่า หรือการกินพืช ผักสด หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนด้วยตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิหอยโข่ง

พยาธิหอยโข่งนั้น โดยธรรมชาติเป็นพยาธิของหนู เช่น หนูนา หนูท่อ หนูป่า พยาธิตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียจะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู เมื่อหนูถ่ายอุจจาระจะมีพยาธิตัวอ่อนปะปนมา เมื่อหอย (ทั้งหอยบก หอยน้ำจืด และตัวทาก) กินตัวอ่อนของพยาธิหรือตัวอ่อนของพยาธิไชเข้าตัวหอยจะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อขดตัวอยู่ในกล้ามเนื้อหรืออวัยวะของหอย และเมื่อคนนำหอยมารับประทานโดยไม่ทำให้สุกก่อน ตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิจะเข้าสู่ร่างกาย ไปตามกระแสเลือด แล้วเคลื่อนที่เข้าสู่สมอง

พยาธิเมื่อเข้าไปในสมองแล้ว จะเจริญเติบโตและเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการอักเสบของสมองและเยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิล (eosinophil) ขึ้นสูงในน้ำไขสันหลัง ผู้ป่วยบางรายอาจหมดสติได้ บ่อยครั้งที่พยาธิเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในลูกตา ทำให้เยื่อบุภายในตาฉีกขาดและมีเลือดออก อาจจะทำให้ตาบอดได้ การรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่ปรุงไม่สุก อาทิ กุ้งฝอย ปู กบ ตะกวด ซึ่งกินหอยที่มีพยาธิ ก็มีโอกาสได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน

โดยทั่วไป ผู้ติดโรคพยาธิหอยโข่งมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิที่กินเข้าไป รวมทั้งภาวะภูมิคุ้มกันและสุขภาพพลานามัยของผู้ได้รับพยาธิ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็งและหลังแข็ง บางรายอาจพบอาการอัมพาตบางส่วนของแขน ขา หรือใบหน้าได้

12 ปีที่ผ่านมา แรงงานไทยในไต้หวันพยาธิขึ้นสมองแล้วมากกว่า 50 ราย สาเหตุสำคัญมาจากการทานหอยดิบ

ในปี 2563 นี้ Radio Taiwan International ระบุว่าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมามีคนงานไทยที่ป่วยเนื่องจากพยาธิขึ้นสมองแล้วมากกว่า 50 ราย สาเหตุสำคัญมาจากการทานอาหารจำพวกหอย โดยเฉพาะหอยเชอรี่โดยไม่ได้ปรุงให้สุกเสียก่อน บางรายเสียชีวิต บางรายพิการอัมพาตหรือตาบอด เพราะพยาธิในหอยชอนไชเข้าไปในเยื่อหุ้มสมอง ไขสันหลังและลูกตา

กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวันเตือนแรงงานต่างชาติ หลีกเลี่ยงทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะหอยทาก หอยโข่งหรือหอยเชอรี่ ที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มชื้นริมคลองหรือในป่า เนื่องจากเป็นพาหะของพยาธิหอยโข่งหรือพยาธิปอดหนู อาจชอนไชไปตามเส้นเลือด เข้าไปในไขสันหลังและขึ้นเนื้อเยื่อสมองได้ โดยระยะเวลาตั้งแต่ได้รับตัวอ่อน ระยะติดต่อของพยาธิจนเกิดอาการของโรค ประมาณ 3-36 วัน อาการเริ่มแรกภายใน 1-2 ชม. หลังได้รับตัวอ่อนพยาธิเข้าไป อาจมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ส่วนอาการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ คือปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาจมีอาการผิดปกติของการมอง บางครั้งทำให้วินิจฉัยผิดคิดว่าเป็นไมเกรน ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการโคม่า หากรักษาไม่ถูกวิธีผู้ป่วยอาจหมดสติและเสียชีวิตได้

กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน กำชับว่าโรคที่เกิดจากพยาธินั้นสามารถป้องกันได้ โดยการรับประทานแต่อาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น โดยเฉพาะในกุ้ง หอย ปู ปลา มักมีพยาธิอาศัยอยู่มาก จึงขอย้ำเตือนอีกครั้งว่าอย่าทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาร้า ก้อย ลาบดิบ ๆ เพราะล้วนมีพยาธิแฝงอยู่โดยที่เราไม่รู้ วิธีป้องกันง่าย ๆ เพียงแค่ อะไร ๆ ก็กินของสุกไว้ก่อน ปลอดภัยที่สุด

 

ที่มาข้อมูล
เปิบหอยดิบเสี่ยง' พยาธิสมอง' ชี้อีสานมากสุด-รุนแรงถึงตาย (หนังสือพิมพ์ข่าวสด, 27 มิ.ย. 2555)
ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 23 มี.ค. 2561 (Radio Taiwan International, 23 March 2018)
ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 5 มิ.ย. 2563 (Radio Taiwan International, 5 June 2020)
พยาธิขึ้นสมอง...กับอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ (รศ.ดร.ประภาทิพย์ เอี่ยมโสภณา ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, 18 พ.ค. 2554)
Raw snails send Thai migrant workers to hospital (Taiwan News, 9 March 2018)
Angiostrongyliasis confirmed in five Thai workers in Taiwan (Outbreak News Today, 9 March 2018)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net