Skip to main content
sharethis

ย้อนดูที่ผ่านมา แม้ไม่ใช่ ม.112 แล้ว แต่ก็ใช้ พ.ร.บ.คอมฯ และ 'กระบวนการนอกกฎหมาย' แทน หลัง 'ประยุทธ์' เผย พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้ ม.112 ส่วน 'ประวิตร' อ้างกำลังดูรายชื่อขบวนการหมิ่นฯ ยันไม่ใช้ ม.112 

ภาพบันทึกเมื่อ 7 มิ.ย.63 ในทวิเตอร์ #ยกเลิก112 ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์ด้วยยอดกว่า 50K ทวีต และสิ้นวันนั้นยอด 352K ทวีต

15 มิ.ย.2563 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงสิ่งที่กังวลที่สุดในขณะนี้ คือการละเมิดและก้าวล่วงสถาบัน ขอร้องคนไทยอย่าไปเชื่อคำบิดเบือน ที่สร้างความเกลียดชังยึดโยงเรื่องต่างๆ เพราะไม่มีความเป็นไปได้อยู่แล้ว ในส่วนที่มันเกิดขึ้นต้องดูว่าเขาต้องการอะไร แล้วจะไปสนใจหรือเผยแพร่ทำไม ก็รู้อยู่ว่าที่ออกมาเคลื่อนไหวหนักในช่วงนี้เพราะอะไร ใกล้วันอะไรสักอย่างหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อะไรที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็คือต่างประเทศ ใครจะกล้าเข้าไปทำอะไรแบบนั้นได้ ส่วนในประเทศไทยที่ยังเคลื่อนไหวกันก็ยังไม่มีใครทำอะไรสักคน ซึ่งกฎหมายมีอยู่หลายตัว เราก็เข้าใจว่าต้องทำให้ทุกคนมีความสบายใจ โดยเฉพาะเด็กนิสิตนักศึกษาตนไม่อยากให้เสียอนาคต ไม่ได้ขู่เขานะ ซึ่งกฏหมายก็มีทุกตัวอยู่แล้ว ทุกคนต้องสำนึกเรื่องการบิดเบือนสถาบัน เดิมเรามีกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ อยากบอกคนไทยว่า วันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว และคุณก็ละเมิดกันเรื่อยเปื่อยอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร คุณต้องการอะไรกัน วันนี้จำเป็นต้องปรับต้องพูด เพื่อให้บ้านเมืองสงบ

เมื่อถามว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวในประเทศเพื่อนบ้านและยุโรปจะทำอย่างไรได้บ้างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ทำหนังสือไปหาเขา ถ้ามีอะไรเขาส่งหนังสือตอบกลับมา แต่ถ้าไม่ส่งกลับมาจะให้อย่างไรได้ แล้วก็ไปกล่าวอ้างกันว่าส่งคนไปทำโน่นทำนี่ อยากถามว่าจะทำได้อย่างไรในต่างประเทศ กฎหมายประเทศนั้นก็มีอยู่ ใครจะกล้าเข้าไปทำ ซึ่งคนที่เข้าไปอยู่ที่นั่น เพราะเขาทำความผิดในประเทศไทยซึ่งเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่รู้ไปทำไม เพราะคดีเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่ง คสช. ได้เรียกตัวมาก็ไม่มาแต่กลับหนีไป แล้วไปด่าคนนั้นคนนี้อยู่ข้างนอก และไปทำธุรกิจอะไรก็ไม่รู้ซึ่งทางกัมพูชาก็พร้อมถ้ามีใครไปแจ้งความร้องทุกข์ เขาก็สอบสวนให้ซึ่งตอนนี้ก็ได้แจ้งมาแล้วว่ากระทรวงต่างประเทศคุยกันอยู่”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ก็ขอความร่วมมือไปทุกประเทศที่มีกลุ่มเหล่านี้เคลื่อนไหวอยู่ บางคนมีสถานะขอลี้ภัย คนเหล่านี้ควรสำนึกว่าอยู่ประเทศเขาแล้วไม่ควรทำอะไร วันข้างหน้าจะปัญหาอีกถ้าประเทศนั้นไม่ให้อยู่ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนอีก ก็สงสารในฐานะคนไทย ตนไม่ใช่คนใจร้ายจะฆ่าแกงได้อย่างไร

“สำนึกไว้ด้วยว่ามาตรา 112 ทำไมถึงไม่มีการดำเนินคดี และทำไมถึงมีคนฉวยโอกาสตรงนี้ขึ้นมา ทรงมีพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณกำชับมากับผมโดยตรง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่มีการใช้ 112 ทำไมไม่คิดตรงนี้ ลามปามกันไปเรื่อย ทุกคนที่มีความรักชาติศาสน์ กษัตริย์ ต้องช่วยกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว พร้อมระบุว่า ลูกหลานของท่าน ประเทศไทยไม่เหมือน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประเทศโดยใช้ความรุนแรงเหมือนประเทศอื่นต้องศึกษาดูด้วย ทุกคนมีพฤติกรรมเหล่านี้มา วันหน้าทำงานยาก บริษัทห้างร้านก็จะไม่ต้องการคนแบบนี้ จะทำอะไรกิน ห่วงเขาตรงนี้ต่างหากซึ่งเขาเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ที่คนชักนำเขาต่างหาก อยู่ที่สื่อจะช่วยกัน

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาระบุว่า ขณะนี้มีขบวนการ หมิ่นสถาบัน เกิดขึ้น ว่า กำลังตรวจสอบอยู่ ถ้าอันไหนที่ได้แล้ว ก็จะแจ้งความดำเนินคดี และไม่มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ต่อคำถามที่ว่าว่า ฝ่ายความมั่นคง มีการข่าวอะไรมาเพิ่มเติมหรือไม่ นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ก็กำลังดูรายชื่อที่มีอยู่"

(ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, เดลินิวส์และผู้จัดการออนไลน์)

ทั้งนี้ หลังข่าวการถูกอุ้มหายของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 37 ปี ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่พักอาศัยอยู่ประเทศกัมพูชาถูกอุ้มหายตัวไปจากหน้าคอนโดที่กรุงพนมเปญ ช่วงเย็นวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะเดินลงมาซื้อลูกชิ้นปิ้งหน้าคอนโดนั้น สร้างปรากฏการณ์เคลื่อนไหวเรียกร้องการหาตัวเขา พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก #saveวันเฉลิม และ #RIPวันเฉลิม ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่องกว่า 2 วัน จากนั้นในวันที่ 7 มิ.ย.63 ในทวิเตอร์ #ยกเลิก112 ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์อีกด้วยยอดกว่า 50 K ทวีต ก่อนสิ้นวันไปที่ 352K ทวีต

ไม่ใช้ 112 แต่ใช้ พ.ร.บ.คอมฯ และ 'กระบวนการนอก กม.' คุมตัว-ขู่ล้วงข้อมูล-ทำ MOU แทน

อย่างไรก็ตามประชาไทเคยรายงานไว้เมื่อปลายปี 2562 ว่า การดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรานี้ในช่วงที่ผ่านมาจากการแสดงความคิดเห็นแม้จะลดลง หรืออาจจะเรียกว่าไม่มีคดีใหม่เลย ทางหนึ่งอาจเป็นการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” แต่อีกกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ใช้จัดการกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือความเห็นที่ ‘ถูก’ เจ้าหน้าที่มองว่ากระทบต่อความมั่นคงหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็มีกระบวนการคุมตัว บังคับให้ข้อมูลและทำข้อตกลงหรือ MOU ที่ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ติดตามประเด็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพการแสดงออก มองว่า ไม่ถือว่าอยู่ในกระบวนการตามกฎหมาย เพราะหากตามกฎหมายนั้นไม่ต้องทำความยินยอม เมื่อมีหมายจับหรือหมายเรียกก็ต้องปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมาย

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายถึงกระบวนการนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือให้เซ็นชื่อยินยอมให้ข้อมูลที่ไม่ได้แจ้งผู้ถูกซักถามตั้งแต่แรก ทำให้คนเหล่านั้นไม่ทราบว่าสามารถปฏิเสธได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนการมัดมือชกภายหลัง ซึ่งกระบวนการตามกฎหมายนั้นต้องมีหมายเรียก หมายจับ หมายค้น หรือต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหา ที่ไม่สามารถเอาตัวหรือเรียกว่าเชิญตัวไปคุยก่อน

รวมทั้งการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 แทน เช่น กรณีผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ 'นิรนาม_' (@ssj_2475) ซึ่งมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์จำนวน 140,000 การติดตาม ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เหตุทวิตภาพและข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 จนเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่สภ.เมืองพัทยา พ.ต.ท.สายใจ คำจุลลา พนักงานสอบสวน ได้เรียกตัวผู้ใช้ทวิตเตอร์ “นิรนาม_” มาสอบปากคำเพิ่มเติม ก่อนมีการแจ้งพฤติการณ์ของข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากข้อความในทวิตเตอร์อีก 7 ข้อความ โดยที่ “นิรนาม” ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ช่วงแรก 'นิรนาม_' ยังถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน และได้รับการประกันตัวหลังจากการยื่นประกันครั้งที่สามในศาลชั้นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานไว้ด้วยว่าในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ระบุข้อกล่าวหาของคดีนี้ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  พ.ศ.2560 มาตรา 14 ว่า 

“จากพฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นการนำข้อความเท็จประกอบภาพรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ที่ผู้ต้องหาโพสต์หรือเผยแพร่ส่งต่อข้อความดังกล่าว เป็นการตัดต่อภาพประกอบอันเป็นเจตนาบิดเบือนที่มีลักษณะการเชื่อมโยงสถาบัน โดยเจตนากระทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของประเทศที่ประชาชนสักการะ ด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ มีเจตนาทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย  จึงเป็นความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน, เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่ว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)”

ทั้งนี้ คดีของนิรนามเป็นที่จับตามองกันมากจากคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งในวันที่ 20 ก.พ. 2563 #Saveนิรนาม ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง และในวันที่ 24 ก.พ. 2563 #Freeนิรนาม ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง และคืนก่อนวันรายงานตัว (3 มิ.ย. 63) ชาวทวิตเตอร์เริ่มใช้ #นิรนามต้องได้กลับมา  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net