ยกฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ คดีแชร์เพจ KonthaiUK โพสต์วิจารณ์ประยุทธ์-ประวิตร

ศาลอาญายกฟ้องข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดี 10 จำเลยแชร์เพจ KonthaiUK เนื่องจากเห็นว่า ข้อความดังกล่าว​มีส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นความเท็จตามที่โจทก์กล่าวอ้าง  และการส่งต่อข้อความไม่ได้มีความผิด

จำเลยและทีมทนายความ (ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 15 มิ.ย.​ 2563 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาในคดีแชร์ข้อความจากเพจ “KonthaiUk” ที่มี พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้กล่าวหา และอัยการประจำสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย​ 10 คน​ ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) และ (5)  โดยศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่า ข้อความดังกล่าว​มีส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นความเท็จตามที่โจทก์กล่าวอ้าง  และการส่งต่อข้อความไม่ได้มีความผิด 

เวลา 10.30 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 915 จำเลยทั้ง 10 คน และทนายจำเลยมาศาล ศาลได้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยทั้ง 10 คน ฟังโดยสรุปว่า ศาลเห็นว่าจากที่จำเลยทั้งสิบ ได้ส่งต่อข้อความจากเฟซบุ๊กเพจ KhonthaiUK ที่ลงเผยแพร่ในวันที่ 13 มิ.ย. 2561  ว่า “กูจะพาคนไม่กราบขอโทษมึงถึงที่ อย่าหลบแระกัน  10 Downing ST. Westminster, London. SW1A 2AA", “20 มิ.ย. ลุงตู่ไปอังกฤษพกเมียและลูกหลบภัย”, “22 มิ.ย. ศาลฎีการับฟ้องว่าลุงตูบเป็นกบฏ” และยังมีรูปภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กับข้อความว่า “กราบ กราบ กราบ ขออภัยท่านพี่ทั้งสองแระกัน เห็นข่าวบอกท่านพี่ บิ๊กตู่,ป้อม จะซื้อดาวเทียม 91,200 ล้าน มาเก็บไว้ซ่อม แดกส่วนต่างไม่ซื้อแล้ว ก็ไม่ว่าอะไร แค่นี้ต้องออกหมายจับด้วยหรอ ถ้าไม่จริงจะร้อนตัวทำไม หรือรับไม่ได้กับเรื่องจริง”

คสช. ได้มอบอำนาจมากล่าวหาว่า จำเลยทั้งหมดได้เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน 

ศาลเห็นว่าข้อความดังกล่าวมีส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นความเท็จตามที่โจทก์กล่าวอ้าง  และการส่งต่อข้อความไม่ได้มีความผิด ขณะเดียวกันพยานโจทก์ที่มาเบิกความยังมีความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนรัฐบาลและอยู่กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม อีกทั้งจำเลยเพียงส่งต่อข้อความซึ่งมีลักษณะเป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ไม่ทำให้กระทบต่อความมั่นคง ไม่ได้มีความผิดตามกฎหมาย จึงพิพากษายกฟ้อง

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานสรุปการสืบพยานว่า คดีนี้มีจำเลยถูกกล่าวหาทั้งหมด 10 คน ได้แก่ ทิพย์วารี (สงวนนามสกุล), ธงชัย เหล่าแสง, นลินธรณ์ วิชัยฤทธิพัฒน์, วีรพงศ์ ดีวงษ์มาศ, อภิรักษ์ เรือนแก้ว, ธนวัต ภักดี,สรพงษ์ ปันวิชัย, ศักดา ฟ้าอุทัย, ธนกฤต ทับเงิน และเจษฎา พวงงาม ทั้งหมดถูกฟ้องในฐานความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2)  

โจทก์ยื่นบัญชีพยานจำนวน 12 ปาก ซึ่งต่อมาคู่ความแถลงรับกันได้บางส่วน จึงได้ตัดจนเหลือพยานโจทก์จำนวน 7 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา 1 ปาก พยานความเห็นด้านวิชาการ 2 ปาก พยานประชาชนทั่วไป 3 ปาก และพนักงานสอบสวน 1 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลย ระบุจะนำพยานบุคคลเข้าสืบจำนวน 10 ปาก คือตัวจำเลยเองทั้งหมด ศาลอาญานัดหมายสืบพยานไปเมื่อวันที่ 4-7 ก.พ. 2563

ข้อต่อสู้ที่สำคัญของจำเลยคดีนี้ คือข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นเท็จ เพราะวันที่โพสต์ข้อความนั้น เหตุการณ์ยังไม่ได้เกิดขึ้น และข้อความที่นำมาฟ้องนั้นไม่อาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง คือ  “…สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน จนอาจเป็นช่องว่างให้กลุ่มผู้ไม่หวังสร้างสถานการณ์ จนอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ” ข้อความดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก และไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งทั้งหมดยังเป็นเพียงผู้แชร์ข้อความจากเพจ ไม่ได้เป็นผู้จัดทำเพจ KonthaiUk แต่อย่างใด

รายงานชิ้นนี้ประมวลปากคำของพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยในคดีนี้  อันสะท้อนถึงปัญหาในการใช้ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีลักษณะกำกวมกว้างขวางมาดำเนินคดีต่อผู้แชร์ข้อความที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของ คสช. โดยผู้แชร์ข้อความดังกล่าวเองก็ไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นของตนเองแต่อย่างใด 

ปากคำจากผู้แจ้งจับ: แจ้งจับเจ้าของเพจ แต่คนแชร์ถูกจับ ผู้แจ้งไม่รู้เรื่อง

พยานโจทก์ปากแรก ได้แก่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ซึ่งขณะกล่าวหาจำเลยทั้งหมดมียศ พ.อ. และปฏิบัติการเป็นฝ่ายกฎหมายของ คสช. ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นยศ พล.ต.

พยานเบิกความว่าคดีนี้เริ่มจากเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ฝ่ายข่าวของ คสช. ได้ตรวจสอบเว็บไซต์ KonthaiUk พบโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาบิดเบือน กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีและครอบครัวจะหนีไปต่างประเทศ เนื่องจากจะถูกศาลฎีกาพิพากษาเพราะตกเป็นจำเลยในคดีกบฏ นอกจากข้อความในโพสต์ยังมีการลงภาพ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ใต้ข้อความด้วย

เมื่อฝ่ายข่าวรายงานให้ คสช. ทราบ คสช. จึงมอบอำนาจให้พยานเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเฟซบุ๊กคือนางวัฒนา เอ็บเบจช์ ก่อนหน้านี้ ฝ่ายข่าว คสช. ได้ติดตามเพจ KonthaiUk มาก่อนแล้ว จากที่มีการโพสต์บิดเบือนกล่าวหาว่า รัฐบาล คสช. ซื้อดาวเทียมจารกรรม ซึ่งเป็นการสอดส่องล่วงละเมิดสิทธิประชาชน ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก จึงได้แจ้งความพร้อมตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของเพจ

พยานระบุว่าเพจ KonthaiUk มีลักษณะการโพสต์ที่เป็นลักษณะยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เกลียดชังรัฐบาลและออกมาต่อต้าน คสช. มีการปล่อยข่าวว่า พล.อ.ประยุท์จะถูกลงโทษจากเรื่องเป็นกบฏ ฝ่ายข่าว คสช. จึงมองว่าเป็นเพจบิดเบือนกล่าวหารัฐบาล ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ และสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน 

พล.ต.บุรินทร์ เบิกความว่าข้อความที่จำเลยแชร์นั้น มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ “เพราะประชาชนไม่ทราบภารกิจที่แท้จริง คิดว่านายกฯ จะหนีแล้ว และนักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่นในประเทศ” ประกอบกับ “ขณะนั้น คสช. เป็นรัฐบาล ยังไม่มีการเลือกตั้ง ยังมีความปั่นป่วนในประเทศบางส่วน ยังไม่อยู่ในความสงบเรียบร้อย”

ทนายความจำเลยถามค้านว่า หมายการเดินทางของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ง่าย เนื่องจากข่าวเรื่องการเดินทางของ พล.อ.ประยุทธ์ มีการเผยแพร่ในสื่อมวลชนปกติในวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ในขณะที่ข้อความโพสต์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2561 พยานรับว่าหมายกำหนดการเดินทางเป็นกำหนดการอย่างไม่เป็นทางการ และตัวพยานในฐานะผู้รับมอบอำนาจไม่ได้ขอให้พนักงานสอบสวนสอบสวนกรณีนี้

เมื่อทนายความถามค้านว่าข้อความในโพสต์ดังกล่าวที่มีรายงานว่าประยุทธ์ลี้ภัย ได้ก่อให้เกิดการกักตุนสินค้า การคมนาคมมีปัญหา หรือก่อให้เกิดการประท้วงหรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่มีความเห็นในประเด็นดังกล่าว แต่รัฐบาลก็ยังดำเนินการได้ปกติ ทั้งยังไม่ถึงขั้นประกาศกฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหัวหน้า คสช. ยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้อยู่

นอกจากนี้ เมื่อทนายความถามค้านว่าการรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีเฉพาะจำเลยทั้งสิบคนนี้ เป็นเรื่องของตำรวจเท่านั้นหรือไม่ พยานระบุว่าตนซึ่งเป็นผู้กล่าวหา ติดใจเฉพาะนางวัฒนา เอ็บเบจช์ ที่เป็นคนสร้างโพสต์เท่านั้น ไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสิบคนได้มีการส่งต่อข้อความด้วย และในการแชร์นั้น จำเลยทั้งสิบจะตีความอย่างไร พยานไม่ทราบ

อาจารย์รัฐศาสตร์ มสธ. อ้างข้อความมีคำว่า “กบฏ” เป็นภัยต่อความมั่นคง

ฝ่ายโจทก์ยังได้นำพยานนักวิชาการ 2 ปาก มาเบิกความให้ความเห็นต่อข้อความตามฟ้อง ปากแรก ได้แก่ พ.อ.เดชาวุธ ฟุ้งลัดดา ผู้อำนวยการกฎหมาย สังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

พ.อ.เดชาวุธ เบิกความโดยเห็นว่า ข้อความที่จำเลยแชร์นั้นเป็นข้อความเท็จ ทำให้ประชาชนทั่วไปคิดว่าผู้นำประเทศหนีคดี สร้างความตื่นตระหนก เนื่องจากว่าท่านเป็นผู้บริหารประเทศส่งผลต่อความมั่นคง กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอาจใช้โอกาสนี้ในการทำลายชื่อเสียงของนายกรัฐมนตรี และด้านความมั่นคงก็ทำให้กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนสร้างกระแสต่อต้านได้

ขณะที่พยานอีกปากหนึ่ง ได้แก่ ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ช่วงปี 2549-2551 ระบุว่าก่อนหน้านี้เคยเป็นพยานให้ความเห็นในข้อความลักษณะนี้มาแล้ว 6-7 คดี คดีนี้ พนักงานสอบสวน พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ได้ไปหาที่มหาวิทยาลัย ให้พยานดูข้อความและให้ความเห็น

พยานอ่านแล้วเข้าใจว่าเป็นการใส่ร้ายผู้นำของประเทศ คือ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ข้อความใส่ร้ายว่าเป็นคนที่ไม่ดี คอร์รัปชัน ทำให้ผู้นำเสื่อมเสีย ประชาชนไม่เชื่อถือผู้นำไทย สร้างความแตกแยก และก่อให้เกิดความตื่นตระหนก

ในการตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ประเด็นที่ว่าพยานเคยขึ้นปราศรัยบนเวทีของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) พยานแจงว่าตนต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในการบริหารประเทศ จนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดย คสช. เข้ามายึดอำนาจ แต่ตนไม่มีแนวทางสนับสนุนการทำงานของ คสช. 

อีกประเด็นที่พยานเบิกความหลังทนายถามค้าน ได้แก่เรื่องมาตรา 113 ที่ภาษาปากประชาชนทั่วไป เรียกว่า “ข้อหากบฏ” พยานให้ความเห็นว่ากบฏเป็นคำแรง เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง คือการทำลายล้างชาติ ถ้าในข้อความไม่มีคำนี้ ก็ถือเป็นข้อความทั่วไป “ภาษากฎหมาย ชาวบ้านไม่รู้หรอก ชาวบ้านถึงพลาด” พยานกล่าว

พยานประชาชน 3 ปาก “อ่านแล้วไม่เชื่อ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตื่นตกใจกลัว”

พยานฝ่ายโจทก์ในกลุ่มประชาชนทั่วไปอีก 3 ปาก ได้แก่ ว่าที่ ร.ต.วัชรชัย อุนะพำนัก, นายเฉลา กุลมา และนายสวัสดิ์ บุปผา ทั้งสามขับวินมอเตอร์ไซต์อยู่ที่สถานีรถไฟหลักสี่ โดยช่วงเดือน มิ.ย. 2561 พยานไปเดินเที่ยวในงานที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เข้ามาให้ดูภาพและข้อความ และสอบถามว่าเห็นภาพและข้อความดังกล่าวแล้วรู้สึกอย่างไร

พยานทั้งสามให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าอ่านข้อความแล้วไม่เชื่อ เห็นว่าเป็นเพียงข่าวลือ มีทั้งพยานที่อ่านแล้วรู้สึกเฉยๆ และพยานที่รู้สึกไม่ชอบ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตื่นตกใจกลัว หรือรู้สึกตื่นตระหนกตกใจแต่อย่างใด พยานยังใช้ชีวิตปกติ อีกทั้งข้อความที่ว่า “ลุงตู่หลบภัย” พยานทั้งสามก็ไม่ทราบว่าหลบ “ภัย” อะไร

ว่าที่ ร.ต.วัชรชัย ยังตอบทนายถามค้านกรณีที่เบิกความว่าตนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมือง  แต่ในเฟซบุ๊กพยานปรากฏภาพถ่ายตัวพยานอยู่บริเวณหน้าอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย คอสวมนกหวีดและข้อมือเป็นสัญลักษณ์ของ กปปส. ว่า ตนไปไม่ได้ไปชุมนุมเพียงแต่ไปดู และไม่ทราบว่าเป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่พยานแต่งกายเช่นนั้น เพื่อให้กลมกลืนเท่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อทนายถามค้านว่าตำรวจมักมาสอบถามความเห็นเรื่องข้อความกับวินมอเตอร์ไซต์ นายสวัสดิ์ เบิกความว่า “ตำรวจ ปอท. เขาก็มีคดีไปจับคนแชร์เฟซบุ๊กบ่อยๆ ก่อนหน้านี้ ปอท. ก็ไปขอความร่วมมือกับเพื่อนที่วินหลายคนแล้ว”

พนักงานสอบสวน: สอบคำให้การเรื่องความเห็น แต่ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อความ

สำหรับคณะสืบสวนในคดีนี้ ได้แก่ พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, ว่าที่ ร.ต.อ.หญิง พัชรี วงษ์บุญ และ ร.ต.อ.เครือณรงค์ ขมิ้นเครือ ต่อมาตัดพยาน เหลือเพียง พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าพนักงานสอบสวน 

พ.ต.ท.กฤช ให้การว่า วันที่ 7-8 มิ.ย. 2561 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจาก คสช. ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้ารัฐบาล เข้าแจ้งความร้องทุกข์จำเลยทั้งสิบในคดีนี้ ให้สอบสวนผู้ใช้เฟซบุ๊ก KonthaiUk เนื่องจากมีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2) และ (5) ตอนนั้นแจ้งความกล่าวหาผู้นำเข้าและผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากคดีนี้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเพจ KonthaiUk มาก่อนแล้ว พนักงานสอบสวนได้สอบสวนทราบว่าเจ้าของเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวคือนางวัฒนา เอ็บเบจช์ และพบว่าอาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

ในส่วนของผู้แชร์ข้อความจำนวน 11 คน ได้แจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) ในฐานะผู้เผยแพร่ส่งต่อ โดยเรียกจำเลยทั้ง 11 คน ให้เข้าพบพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสิบได้เข้าพบ แต่มีผู้ต้องหารายหนึ่งที่ไม่เข้าพบเจ้าหน้าที่ 

จำเลยทั้งสิบได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1, 6, 7 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2, 3, 4, 5, 8, 9, 10 ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ส่งต่อข้อความ แต่ปฏิเสธในส่วนของข้อความตามที่กล่าวหาว่าเป็นเหตุให้ตระหนกตกใจ และยืนยันความเข้าใจว่าการส่งต่อข้อความดังกล่าวไม่เป็นความผิด ส่วนจำเลยที่ 1, 6, 7 รับเพียงว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กตามที่ตนถูกกล่าวหาเท่านั้น

ในการตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.กฤช รับว่าในวันที่สอบสวน คือวันที่ 19 มิ.ย. 2561 จำเลยที่ 3-4 ไม่มีทนาย หรือผู้ไว้วางใจร่วมด้วย เป็นเหตุให้จำเลยรับสารภาพ นอกจากนี้ ในประเด็นการตรวจสอบวันที่ซึ่งปรากฏในข้อความ ทนายได้ถามว่าพยานได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามหรือไม่ พยานตอบว่า พยานไม่ได้เรียกมาสอบถาม และในช่วงเวลานั้น พยานก็ไม่ได้ขอข้อมูลว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไปประเทศอังกฤษจริงหรือไม่

เมื่อทนายถามค้านว่าคดีลักษณะนี้ที่ พ.อ.บุรินทร์ กล่าวหาไว้หลายคดี พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องทุกคดี โดยในคดีลักษณะนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีตำรวจท่องเที่ยวรับตัวจำเลยมาที่ ปอท. โดยไม่มีการออกหมายเรียกหรือหมายจับแต่อย่างใด พยานไม่ตอบคำถามดังกล่าว แต่รับว่าคดีลักษณะนี้ “ส่วนใหญ่ที่เคยทำมา จะเป็นทหาร”

คำให้การจำเลยทั้งสิบ ยืนยันมองเป็นการล้อเลียนการเมือง อ่านแล้วไม่ได้ทำให้ตื่นตระหนก

จำเลยทั้งสิบอ้างตัวเองเป็นพยาน และเป็นพยานประชาชนผู้ให้ความเห็นต่อข้อความด้วย ทั้งหมดให้การในทิศทางเดียวกันว่าจำเลยไม่เคยรู้จักกับนางวัฒนา เอ็บเบจช์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเพจ KonthaiUk มาก่อน ตอนที่แชร์ข้อความก็ไม่ทราบว่าข้อความนั้นจริงหรือเท็จ มองว่าเป็นข้อความล้อเลียนการเมือง อ่านข้อความดังกล่าวแล้วก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกตกใจแต่อย่างใด

แถลงการณ์ปิดคดี ชี้ไม่ใช่ข้อความเท็จ เป็นเพียงการคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคต

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ฝ่ายจำเลยยังได้ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นหนังสือเพื่อสรุปข้อต่อสู้คดี ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ข้อความที่จำเลยแชร์จากเฟซบุ๊ก “KonthaiUk”  ไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จ เนื่องจากเป็นข้อความที่ระบุถึงเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น โดยจำเลยแชร์ข้อความในวันที่ 13 มิ.ย. 2561  ซึ่งข้อความดังกล่าวระบุเหตุการณ์ในวันที่ 20 และ 22 มิ.ย. 2561 ซึ่งเป็นแต่เพียงการคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตเท่านั้น 

กล่าวคือ ในวันที่ 20-22 มิ.ย. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดเดินทางไปประเทศอังกฤษ ข้อความที่ว่า “20 มิ.ย.ลุงตูบไปอังกฤษพกเมียและลูกหลบภัย”  เป็นข้อความที่คาดการณ์ว่าหากศาลฎีกามีคำพิพากษารับฟ้องคดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกฟ้องข้อหากบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113  พล.อ.ประยุทธ์ อาจหลบภัย เนื่องจากศาลมีนัดฟังคำพิพากษาในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปประเทศอังกฤษพอดี  อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ อาจเดินทางไปประเทศอังกฤษตามกำหนดการหรือไม่ก็ได้ ด้วยเหตุผลใดก็ได้ หรืออาจมีเหตุอื่นแทรกแซงจนการเดินทางไม่เป็นไปตามกำหนดการก็ได้

วันที่ 22 มิ.ย. 2561 ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาว่าจะให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องในคดีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา กับพวก ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 โดยมีนัดฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าวจริง  ข้อความที่ว่า “22 มิ.ย. ศาลฎีการับฟ้องว่าลุงตูบเป็นกบฏ”  เป็นข้อความที่คาดการณ์ผลคำพิพากษาศาลฎีกาเท่านั้น

ดังนั้น ข้อความที่จำเลยทั้งหมดแชร์เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2561 เป็นข้อความที่ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง เป็นแต่เพียงการแสดงความเห็นหรือคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตของผู้โพสต์เท่านั้น ซึ่งขณะที่จำเลยแชร์นั้นไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงหรือเท็จ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การเผยแพร่หรือส่งต่อข้อความอันเป็นเท็จ  

ทั้งข้อความที่จำเลยแชร์จากเฟซบุ๊ก “KonthaiUk”  ไม่เป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดความความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน กล่าวคือ  เฟซบุ๊ก “KonthaiUk” ไม่ใช่สำนักข่าว  เป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวที่คาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งข้อความที่โพสต์ก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้โพสต์เท่านั้น ไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ ทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นนักวิชาการและประชาชนทั่วไปก็เบิกความว่าอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว ไม่ได้รู้สึกตกใจหรือตื่นตระหนก ประชาชนสามารถใช้ชีวิตตามปกติ  หน่วยงานราชการและเอกชนก็เปิดดำเนินการตามปกติ  

ข้อความดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นเพียงการเสียดสีประชดประชันของคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้มีอิทธิพลเหนือความคิดความรู้สึกต่อประชาชนในวงกว้าง จนอาจสร้างผลเสียหายแก่ประเทศแต่อย่างใด ซึ่งความคิดเห็นแตกต่างนั้นก็เป็นสิทธิที่สามารถแสดงออกได้ในระบอบประชาธิปไตย

คดีนี้ เดิมศาลอาญากำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 มี.ค. 2563 แต่ฝ่ายจำเลยได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาออกไป เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้จำเลยที่ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัดไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาในกรุงเทพฯ ได้ ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนการฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 15 มิ.ย. 2563 เวลา 09.00 น. แทน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท