Skip to main content
sharethis

ประชาชน นิสิตจุฬาฯ ร่วมกันคัดค้านโครงการรื้อถอน-ย้าย ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองเพื่อสร้างคอนโดฯ 1,800 ยูนิต ชี้ การดำเนินการของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ไม่คำนึงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมชุมชน แนะ ควรชะลอโครงการ จัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ทำให้คอนโดฯ อยู่ร่วมกับศาลเจ้าได้

ประชาชนและนิสิตจุฬาฯ ชูป้ายคัดค้านการรื้อศาล

15 มิ.ย. 2563 ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เขตปทุมวัน กทม. กลุ่มประชาชนและนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยราว 20-30 คนรวมตัวกันเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินและบริวารของศาลเจ้าออกจากพื้นที่เพื่อก่อสร้างคอนโดมิเนียม 1,800 ยูนิต โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาลเจ้าดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีวันกำหนดขนย้ายในวันที่ 15 มิ.ย. และจะมีการรื้อถอนศาลเจ้าเพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้างคอนโดมิเนียมในวันที่ 16 มิ.ย. โดยจะมีพิธีอัญเชิญองค์เจ้าแม่ไปประทับในสถานที่ชั่วคราว ที่ชั้น 2 ของอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ สวนสาธารณะที่อยู่ติดกันทางทิศเหนือ

กลุ่มนิสิตและประชาชนมีแถลงการณ์คัดค้าน โดยระบุว่า ศาลเจ้าดังกล่าวมีความเป็นมาย้อนกลับไปมากกว่าหนึ่งร้อยปี ก่อนที่จุฬาฯ จะก่อตั้งเสียอีก การที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ อ้างว่าจะสร้างศาลเจ้าใหม่ให้ มิได้แสดงความตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ชาวสามย่านมิได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องนี้เลย นิสิตจุฬาฯ ส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบ

สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ยังแสดงความไม่เคารพในวิถีชุมชน เช่น ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการได้ปักธูปบูชาในกระถาง พื้นที่ใหม่คับแคบเกินกว่าจะจัดงานประจำปีอย่างการแสดงงิ้วได้อย่างสมพระเกียรติเจ้าแม่ทับทิม ที่สำคัญ ผู้ดูแลศาลเจ้าที่ตามธรรมเนียมและกฎหมาย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เทวรูปทุกองค์ในศาลและกระถางธูปพระราชทานจาก ร.5 จะถูกขับไล่ให้มาเช้าเย็นกลับในสถานที่ตั้งใหม่ 

ประชาชนที่มากราบไหว้บูชาเจ้าแม่ทับทิม

แถลงการณ์ระบุอีกว่า การเชิญองค์เจ้าแม่ไปประดิษฐานภายในอาคารรับรอง อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ที่ด้านบนเป็นพื้นที่ให้คนเดิน-วิ่งออกกำลังกาย จะมีข้อสงสัยถึงการหมิ่นพระเกียรติของเจ้าแม่ ซึ่งทำให้ตั้งคำถามได้ว่า เกิดขึ้นเพราะสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ปราศจากความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์และละเลยการอนุรักษ์วัฒนธรรม

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นนิสิตจุฬาฯ และประชาชนในเฟสบุ๊คเรื่องการย้ายศาลเจ้า ก็พบว่ามีผู้คัดค้านมากกว่าร้อยละ 90 จากผู้ทำแบบสำรวจทั้งหมด 3,000 คน จึงได้ตั้งคำถามว่า เสียงของนิสิตและประชาชนมิใช่เสียงที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ควรรับฟังหรือ หากจะพัฒนาพื้นที่ใดๆ ก็ตามโดยไม่รับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง จะกล่าวได้ว่าการพัฒนานั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของนิสิตและประชาชนได้ฉันใด

กลุ่มประชาชนและนิสิตจุฬาฯ มีข้อเสนอแก่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ดังนี้ 

1. สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ควรชะลอการสร้างคอนโดมิเนียมในพื้นที่ศาลเจ้าออกไปก่อน สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ควรจะให้ประชาชนในพื้นที่และนิสิตมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยมีอนุกรรมการที่ประกอบด้วย ตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ผู้ดูแลศาลเจ้า นิสิต และผู้มีความรู้ทางศิลปวัฒนธรรม ทั้งด้านสถาปัตยกรรมจีนและด้านประวัติศาสตร์

2. สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ควรเห็นว่าครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ ‘ชุมชนที่หายไปแล้ว’ ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อ้างเป็นเหตุผลในการย้ายศาลเจ้า จะได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เนื่องจากหลังมีข่าวการรื้อถอนศาลเจ้า ศาลเจ้าแห่งนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนจำนวนมากจากทั่วประเทศ ต่างพากันมาที่ศาลเจ้าเพื่อสักการะบูชาและศึกษาวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนสถาปัตยกรรม สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงควรทำนุบำรุงศาลเจ้าแห่งนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมชุมชน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป มากกว่าจะนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

3. แทนที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะย้ายศาลเจ้าไปยังพื้นที่ใหม่ ควรจะพิจารณาให้คอนโดมิเนียมอยู่ร่วมกับศาลเจ้าได้ อันเป็นตัวอย่างของการพัฒนาแนวใหม่ที่ผสมผสาน ‘สิ่งใหม่-สิ่งเก่า’ เข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนาที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่างในประเทศไทยสืบไป

ประชาชนมาดูกระถางธูปสังเค็ดที่พระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เพ็ญประภา สวนส้ม หนึ่งในครอบครัวผู้ดูแลศาลเจ้า เล่าว่า ในวันนี้ (15 มิ.ย.) ทางทรัพย์สิน จุฬาฯ จะมีการเชิญซินแสจากประเทศอังกฤษมาดำเนินอัญเชิญเจ้าแม่ไปประทับที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เธอมีความกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมหลังจากการย้าย เช่น ที่ตั้งของศาลเจ้าที่อยู่ใต้พื้นที่ให้คนเดิน-วิ่งข้าม และการเปลี่ยนกระถางธูปให้เป็นกระถางธูปไฟฟ้า  ถ้าหากจะสร้างอาร์ทเมนท์หรือคอนโดก็ควรจะสร้างให้อยู่ร่วมกันได้ในสถานที่เดียวกัน

ณัฐธภัชร นวกานต์ตระกูล อายุ 60 ปี เล่าว่า บ้านเก่าของเขาเคยตั้งอยู่บริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ซึ่งเดิมทีเป็นตึกแถวก่อนที่ทางจุฬาฯ จะรื้อชุมชนบริเวณนี้ไป เขาเล่าว่า เคยเห็นตัวอย่างในต่างประเทศก็พบว่าการก่อสร้างคอนโดมิเนียม หรือที่อยู่อาศัยสูงๆ ก็ยังสามารถออกแบบให้มีศาลเจ้าอยู่ที่เดิมได้ เขาหวังว่าหน่วยงานที่มีอำนาจจัดการสถาปนาให้พื้นที่ที่ศาลเจ้าตั้งอยู่ในที่ปัจจุบันตลอดไป 

ศาลเจ้าแม่ทับทิมหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2513 หลังย้ายจากที่ประดิษฐานเดิม หนึ่งในหลักฐานที่บ่งชี้ความเก่าแก่ของศาลเจ้าที่ถูกยกมาอ้างอิงถึงบ่อยครั้งคือการเสด็จพระราชดำเนินมาถวายสักการะโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกระถางธูปสังเค็ดที่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2454 จากพระราชพิธีพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 (ข้อมูลบางส่วนจาก The People)

อนึ่ง คุณค่าทางสถาปัตยกรรมของศาลเจ้านั้นถือว่าแตกต่างจากศาลเจ้าแต้จิ๋วอื่นๆ คือสถาปัตยกรรมเฉพาะของอำเภอเตี่ยเอ๊ย โผวเล้ง และกิ๊กเอี๊ย ที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบ “เตี่ยโผวกิก” 

สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ได้ชี้แจงกรณีการย้ายศาลเจ้าว่า อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ ที่เป็นสถานที่ประทับใหม่นั้นมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สะดวก ปลอดภัยและสะอาดกับผู้มาเคารพบูชา ทีมก่อสร้างและนักออกแบบจะคำนึงถึงความดั้งเดิมพร้อมสถาปัตยกรรมร่วมสมัยและพิจารณาหลักฮวงจุ้ยโดยผู้เชี่ยวชาญ 

ตำหนักใหม่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ใช้วัสดุก่อสร้างที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ออกแบบโดยคณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้คงแนวคิดสถาปัตยกรรมจีนเช่นเดิม และจะซ่อมแซม ปรับปรุงของเดิมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้านในเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้า มีการนำคำสอนที่จารึกในศาลเจ้าเก่ามาประดับไว้ที่เสาเช่นเดิมพร้อมทั้งเพิ่มเติมในส่วนของคำแปลให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจถึงคำสอนต่างๆ 

การสักการะจะเปลี่ยนจากการจุดธูปเทียนเพื่อลดมลภาวะ และแทนที่ด้วยเครื่องบูชาโคมประทีปแบบไฟฟ้าไร้ควัน ลานประกอบพธีกรรมและตั้งเตาเผากระดาษเงินกระดาษทองสำหรับศาลเจ้าที่ไร้มลพิษและฝุ่น PM 2.5 ออกแบบโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนสักการะศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ในช่วงประมาณเดือนธ.ค. นี้ (ที่มา: บีบีซี ไทยโพสท์)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net