Skip to main content
sharethis

ถึงแม้เวียดนามจะประสบความสำเร็จเรื่องแก้ปัญหา COVID-19 มีผู้ติดเชื้อ 334 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีข้อกังหาหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้นั่นคือ รัฐบาลเวียดนามเซ็นเซอร์และปิดกั้นข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคระบาด และมีคนถูกลงโทษไปแล้ว 700 ราย

ชาวเวียดนามรอตรวจหาเชื้อ COVID-19 ที่ฮานอย เมื่อ 18 เม.ย. 2563 (ที่มา: YouTube/Truyền Hình Pháp Luật)

16 มิ.ย. 2563 จากข้อมูลสื่อหนังสือพิมพ์รัฐบาลเวียดนามระบุว่า จนถึงช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมามีคนในเวียดนามถูกลงโทษสั่งปรับไปแล้ว 700 รายเนื่องจากแสดงความคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 โดยหน่วยงานที่สั่งลงโทษผู้คนเหล่านี้เป็นกองกำลังความมั่นคงที่ทำงานภายใต้กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียดนาม

ถึงแม้ว่าเวียดนามจะถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งในประเทศที่สามารถจัดการกับปัญหา COVID-19 ได้ดี จากที่มีผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อมากกว่า 334 ราย (ข้อมูลเมื่อ 15 มิ.ย.) และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเลย แต่สิ่งที่ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราผู้เสียชีวิตต่ำอย่างไต้หวัน และเกาหลีใต้ คือการที่ทั้งไต้หวันและเกาหลีใต้ไม่ได้ใช้การลิดรอนเสรีภาพในแบบที่เวียดนามทำ

โกลบอลวอยซ์ตั้งข้อสังเกตว่ามีปฏิบัติการจากรัฐบาลเวียดนามหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังยกข้ออ้างเรื่องโรคระบาดในการทำให้วิธีการแบบ "รัฐตำรวจ" กลายเป็นเรื่องปกติ มีการลงโทษคนที่แสดงความเห็นเรื่อง COVID-19 มีผู้ถูกจับปรับถึง 700 ราย เพียงแค่แสดงความคิดเห็นในเชิงเป็นห่วงเกี่ยวกับ COVID-19 ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเท่านั้น โดยที่รัฐบาลสามารถไขข้อกังวลของประชาชนเหล่านี้ได้ง่ายๆ ถ้าหากพวกเขามีความโปร่งใสและมีโครงการให้ข้อมูลที่จริงจัง

ตัาอย่างกรณีที่ถูกจับ เช่น ในจังหวัดห่าซางทางตอนเหนือของเวียดนาม มีครู 3 คนถูกสั่งปรับ 10 ล้านดอง (ราว 13,000 บาท) เพราะโพสต์ข้อความว่า "การระบาดควบคุมไม่อยู่แล้ว" พร้อมกับรูปภาพคนไข้เวียดนามในพื้นที่กักบริเวณเพื่อควบคุมโรค เจ้าหน้าที่ทางการอ้างว่าโพสต์เหล่านี้ "สร้างความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น" ต่อประชาชน รวมถึงบอกว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จเนื่องจากใช้รูปที่มาจากจังหวัดอื่นไม่ใช่จากจังหวัดห่าซาง

แม้แต่หมอที่แค่ให้คำแนะนำและเปิดเผยเรื่องคนไข้ COVID-19 รายแรกในจังหวัดก็ถูกทางการจับกุมในเรื่องนี้ด้วย โดยเขาโพสต์ว่า "จังหวัดเกิ่นเทอมีคนไข้รายแรกแล้ว ประชาชนผู้อยู่อาศัยควรจะเสริมภูมิต้านทานของตัวเองด้วยการทานอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุเพิ่มมากขึ้น" ซึ่งหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทางการจังหวัดเกิ่นเทอก็ประกาศเองว่าพบคนไข้ COVID-19 รายแรกของจังหวัด

ความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่ถูกจับปรับไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะหรือส่งผลเสียหายต่อความพยายามของทางการเวียดนามในการแก้ไขปัญหา COVID-19 แต่อย่างใด ทว่าผู้แสดงความคิดเห็นเหล่านี้ก็ยังคงถูกเรียกตัว ถูกคุมขังชั่วคราว และถูกไต่สวนจากฝ่ายความมั่นคงราวกับว่าพวกเขาก่ออาชญากรรมอะไรร้ายแรง

ทางการเวียดนามอาศัยฉวยโอกาสที่ประชาชนสนับสนุนการแก้ปัญหา COVID-19 ในฐานะ "วาระของชาติที่ต้องร่วมมือกัน" โดยการอ้างเรื่องนี้เพื่อแทรกแซงหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาในชีวิตประจำวันของประชาชน การยอมรับให้มีปฏิบัติการเช่นนี้จะกลายเป็นการทำลายบทบาทของความคิดเห็นจากประชาชนที่มีส่วนในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลเวียดนามที่มีอำนาจมาก ดังนั้นมันจึงกลายเป็นการปฏิเสธเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระยะยาว

ถึงแม้ว่าความคิดเห็นในเชิงที่รัฐมองว่าสร้างความตื่นตระหนกนั้นจะถูกสั่งปรับ แต่คนที่วิจารณ์รัฐบาลเวียดนามในช่วงที่มีการระบาดหนักนั้นจะถูกสั่งคุมขังโดยทันที เช่น ผู้อาศัยในจังหวัดเกิ่นเทอรายหนึ่งถูกจับกุมในวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมาและถูกตัดสินจำคุก 9 เดือน สิ่งที่ทำให้เธอถูกลงโทษมาจากแค่การโพสต์เฟสบุคระบุว่า "มีช่าวเรื่องคนเสียชีวิตเพราะโคโรนาไวรัสในเวียดนามไปหนึ่งคน ทำไมไม่มีสำนักข่าวไหนเลยที่พูดถึงเรื่องนี้" นอกจากนี้ทางการยังตรวจสอบว่าหญิงผู้ต้องหารายนี้ไปกดไลก์หรือแสดงความคิดเห็นในโพสต์หลายโพสต์ที่วิจารณ์รัฐบาลเรื่องมาตรการและนโยบาย COVID-19

มีผู้ใช้งานเฟสบุคอีกรายหนึ่งที่ถูกลงโทษจากทางการ เธอถูกกล่าวหาว่าเปิดบัญชีเฟสบุคหลายบัญชีเพื่อแก้ไข โพสต์ หรือ แชร์ เอกสารที่หมิ่นและกล่าวร้ายต่อกลุ่มผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทางการยังอ้างอีกว่าในช่วงที่ประเทศกำลัง "มีสงครามระดับชาติ" ในการต่อต้าน COVID-19 การโพสต์ของผู้ใช้เฟสบุครายนี้จึงถือเป็นการ "บิดเบือนนโยบายรัฐ" และ "สร้างความสับสนต่อสาธารณะ" ในตอนนี้ผู้ใช้เฟสบุครายนี้กำลังตกเป็นผู้ต้องขังรอการไต่สวนดำเนินคดีซึ่งอาจจะต้องโทษจำคุก 5-12 ปี ถ้าหากถูกตัดสินว่ามีความผิด

ในจังหวัดท้ายเหงียน มีเจ้าหน้าที่ทางการตั้งข้อหาประชาชนคนหนึ่งด้วยกฎหมายอาญามาตรา 288 เกี่ยวกับเนื้อหาผิดกฎหมายในเครือข่ายคอมพิวเตอร์และเครือข่ายโทรคมนาคม หลังจากที่ประชาชนรายนี้บอกว่ามีคนเสียชีวิตจาก COVID-19 ในจังหวัดท้ายเหงียนรวมถึงตั้งคำถามว่าข้อมูลของรัฐบาลมีความซื่อตรงมากแค่ไหน

การจับกุมดำเนินคดีต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ทั้งนี้ยังขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองมาตราที่ 19 ด้วย

จากการตั้งข้อสังเกตของกลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติระบุว่า การระบาดหนักของ COVID-19 ทำให้พวกเผด็จการฉวยโอกาสในการอ้างใช้อำนาจบาตรใหญ่ต่อ "เสรีประชาธิปไตย" และเสริมระบบการกดขี่ปราบปรามประชาชนหนักขึ้น เรื่องนี้ชวนให้คำนึงถึงว่าการปราบปรามเสรีภาพในการแสคงความคิดเห็นของประชาชนนั้นไม่ได้ช่วยอะไรในการแก้ไขปัญหา COVID-19 และยิ่งไปกว่านั้นก็น่าเป็นห่วงว่าพวกเขากำลังกดเพดานเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้ต่ำลงเรื่อยๆ และอาจจะคงอยู่แม้ว่าจะผ่านช่วงโรคระบาดหนักไปแล้ว

เรียบเรียงจาก

Censorship tactics overshadow Vietnam's successful COVID-19 response, Globalvoices, 10-06-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net