Skip to main content
sharethis

ยูเอ็นเผยแพร่รายงานวิจัยโควิด 19 ต่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยพบว่าบริษัทขนาดเล็กและใช้เทคโนโลยีในระดับต่ำได้รับผลกระทบมากที่สุดมาตรการเบื้องต้นคือเลื่อนจ่ายภาษี ลดต้นทุนและผ่อนปรนเงื่อนไขสิ้นเชื่อมากขึ้น ส่วนในระยะยาวเสนอให้ประเทศไทยปรับเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงขึ้นเพื่อเตรียมตัวรับการปรับโครงสร้างการผลิต

16 มิ.ย.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิโด (UNIDO) ซึ่งเป็นหน่วยงานสมาชิกของสหประชาชาติ ประเทศไทย เผยแพร่รายงานการวิจัยที่พบว่าบริษัทขนาดเล็กและใช้เทคโนโลยีต่ำคือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตการณ์โควิด 19

การประเมินผลกระทบของโควิด 19 ในภาคอุตสาหกรรมไทย ชี้ให้เห็นข้อมูลสำคัญว่าบริษัทขนาดเล็กที่ใช้เทคโนโลยีต่ำได้รับความเสียหายมากที่สุดจากยอดซื้อที่ลดลง และการขาดแคลนวัตถุดิบที่เกิดจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

ยอดซื้อที่ลดลงนั้นทำให้รายได้ของบริษัทลดลงตามไปด้วย จึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ปัญหาการขาดแคลนกระแสเงินสดเลวร้ายลงไปอีก ส่งผลให้บริษัทขนาดเล็กตกที่นั่งลำบาก คาดการณ์ว่าหากมาตรการควบคุมโรคยังถูกบังคับใช้ต่อไป บริษัทขนาดเล็กกว่าครึ่งหนึ่งอาจได้รับผลกระทบสาหัส และเนื่องจากบริษัทเหล่านี้ห่วงใยความเป็นอยู่ของพนักงาน การเลิกจ้างจึงไม่ใช่มาตรการหลักในการแก้ปัญหา แต่จะเน้นไปที่การลดต้นทุนการดำเนินงาน การกู้สินเชื่อ และการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นแนวทางที่บริษัทเลือกใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากการระบาดใหญ่

การเลื่อนจ่ายภาษี การลดค่าใช้จ่ายภาคสังคมและต้นทุนในการดำเนินงาน รวมถึงค่าเช่าและค่าสาธารณูปโภค และเงื่อนไขสินเชื่อที่ผ่อนปรนมากขึ้น คือกลุ่มมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ผู้ประกอบการเห็นด้วยมากที่สุด

“เราเชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือในเชิงฟื้นฟูที่จะก่อประโยชน์มากที่สุด คือการช่วยให้บริษัทสามารถเริ่มต้นใหม่และกระตุ้นความต้องการสินค้าและบริการในผู้บริโภค” สไตน์ ฮันเซน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคและผู้แทนยูนิโดกล่าว “นอกจากนี้ เราขอเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเตรียมพร้อมกับความปรกติใหม่เนื่องจากวิกฤตโควิด 19 มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต แม้ว่าเราจะยังไม่รู้แน่ชัดว่าความปรกติใหม่นี้จะดำเนินไปในทิศทางใด แต่ดูเหมือนว่าจากนี้ไปเราจะก้าวเข้าสู่โลกที่ความเป็นดิจิทัล เป็นวัฏจักรซึ่งกันและกัน และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น”

กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME คือกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหาวิธีการใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมในการช่วยเหลือให้บริษัทเหล่านี้สามารถรับมือต่อโรคโควิด 19 ได้ เพื่อรักษางานและค้ำจุนวิถีชีวิตของผู้คน วิธีการเหล่านี้อาจรวมถึงการให้คำปรึกษาเชิงรุกและการฝึกอบรม การสร้างแรงจูงใจสำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศ เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจ SME จะสามารถแข่งขันในตลาดต่อไปได้”

ข้อค้นพบนี้ได้รับการรวบรวมจากการสำรวจออนไลน์ ผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายยูนิโดในประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการประเมินผลกระทบจากโควิด 19 ที่ดำเนินการโดยสหประชาชาติประจำประเทศไทย และในปลายเดือนนี้จะมีการเผยแพร่ผลการประเมินอีก 2 ชุดเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด 19 ต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงตลาดแรงงาน

กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (ซ้าย) เสนอว่า ควรมีมาตรการที่สมควรในการประคับประคอง SMEs ในประเทศไทย ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ในขณะที่สไตน์ ฮันเซน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคและผู้แทนยูนิโด (ขวา) เสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเตรียมพร้อมกับความปรกติใหม่เนื่องจากวิกฤตโควิด 19 มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต

จากนั้นผู้แทนยูนิโด้ และผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ส่งมอบการประเมินผลกระทบของโรคโควิด 19 ในภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net