วิวาทะ เจษฎา vs BIOTHAI ต่อประเด็น CPTPP ไทยได้หรือเสียถ้าเข้าร่วม?

หลังจากอ.เจษฎาออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP ว่าจะทำให้ไทยมี GDP เติบโตขึ้นได้ภายหลังวิกฤติโควิด 19 และข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชอย่างที่ภาคประชาสังคมกังวล มูลนิธิชีววิถีได้ออกมาโต้แย้งความคิดเห็นดังกล่าวไม่เป็นความจริง

16 มิ.ย.2563 เพจมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ได้โต้แย้งความเห็นของ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ที่เห็นว่าจะผลดีต่ออุตสาหกรรมการเกษตรของไทยที่จะได้รับหากรัฐบาลลงนามร่วม CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก 

เจษฎามองว่าของการเข้าร่วมใน CPTPP คือทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวได้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมไปก่อนแล้ว และการลงนามในความตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้เกิดการผูกขาดขึ้นจริงเนื่องจากเห็นว่าไม่ได้ห้ามการนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกและยังนำไปพัฒนาพันธุ์พืชต่อได้เพียงแต่ห้ามนำเมล็ดพันธุ์ไปขายต่อโดยเทียบกับการขายแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์

ประเด็นนี้มูลนิธิฯ แย้งว่า แม้ในประเทศที่มีบริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่อย่างประเทศญี่ปุ่น เกษตรกรรายย่อยในประเทศก็ยังได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลลงนามร่วมภาคีดังกล่าวและกระทบต่อการพัฒนาสายพันธุ์พืชท้องถิ่นในประเทศอยู่ดี ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่มีเกษตรกรรายย่อยมากถึง 7-8 ล้านคน ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งจะต่างกับประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมเกษตรมีขนาดใหญ่และไม่ได้มีเกษตรกรรายย่อยเป็นจำนวนมากนักเช่นประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา

มูลนิธิยังได้แย้งอีกว่าการจะนำพันธุ์พืชใดไปปลูกต่อนั้นตามแนวทางข้อยกเว้นของอนุสัญญาว่าด้วยสหภาพระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV ที่เพิ่งออกมาเมื่อ 2560 กรณีอนุญาตให้เกษตรเก็บเมล็ดพันธุ์ใดไปปลูกต่อได้บ้างนั้น ทำได้เพียงพืชเมล็ดเล็กแต่ไม่รวมถึงไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับและผักต่างๆ และแม้จะเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บริษัทได้ขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ไว้เกษตรกรจะสามารถนำไปปลูกต่อได้ก็เป็นการปลูกเพื่อยังชีพเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำข้าวที่ปลูกมาไปขายได้

ส่วนประเด็นที่เจษฎาเห็นว่าการที่บริษัทต่างชาติจะนำพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปพัฒนาต่อได้ตาม CPTPP แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ปี 2542 ที่ให้สิทธิแก่หน่วยงาน เอกชน หรือนักวิจัยนำพันธุ์พืชไปปรับปรุงได้อยู่แล้ว แต่บริษัทต่างชาติไม่สามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไปจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองได้เพราะพันธุ์พืชพื้นเมืองได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอยู่แล้ว

ประเด็นนี้ทางมูลนิธิฯ อธิบายว่ากรมวิชาการเกษตร รวมทั้งบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ที่กำลังผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP มีความพยายามยกเลิกการใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ปี 2542 และได้ยกร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชตามแนวทาง UPOV1991 เมื่อปี 2560 ขึ้นมารอเอาไว้แล้ว มูลนิธิฯ ยังอธิบายเพิ่มว่ายังมีการเปลี่ยนกฎหมายที่ต้องให้ผู้ขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มาของสารพันธุกรรมตามมาตรา 9 (3) ในกฎหมายเดิม มาเป็นเพียงแสดงข้อมูลหรือเอกสารหรือวัสดุที่จำเป็น ตามมาตรา 18 (3)ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมูลนิธิเห็นว่าเป็นการตัดทอนกลไกของการแบ่งปันผลประโยชน์และหลีกเลี่ยงการขออนุญาต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP นี้ ที่ประชุมสภา เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาผลกระทบการต่อเกษตรกร ระบบสาธารณสุขและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจากเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว ซึ่งมีเพียงส.ส.พลังประชารัฐบางที่คนที่อภิปรายสนับสนุนการเข้าร่วม แต่ก็เห็นตรงกันว่าควรตั้ง กมธ. ขึ้นมาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม โดยกมธ. นี้มีจำนวนทั้งหมด 49 คน เป็นคณะรัฐมนตรีจำนวน 12 คน และพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลรวมกัน 37 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เวลาศึกษา 30 วัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

CPTPP 101 : ไทยได้หรือเสีย?

FTA Watch ชวนจับตา #หนึ่งเดือนนับจากนี้ การทำงานของ กมธ.ศึกษา CPTPP

เปิดเอกสาร 'ผลกระทบของ CPTPP ต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุข'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท