Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในความเห็นของผม, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ (Kraisak Choonhavan) เป็น “ซ้ายในขวา” ของชนชั้นนำไทย ด้วยความคิดที่ก้าวหน้า อยู่เคียงข้างผู้ยากไร้ในสังคมและร่วมต่อสู้ทางการเมืองเพื่อประชาชนมาโดยตลอด ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาเขาอาจจะเป็นได้หลายฐานะ ทั้งนักการเมือง นักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือกระทั่งในฐานะ “นักสังคมนิยม” คนหนึ่ง

เขาเกิดวันที่ 8 ตุลาคม 2490 ในครอบครัวทหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมืองไทยในขณะนั้น หนึ่งเดือนก่อนหน้าการรัฐประหารของปู่ (พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ) และพ่อของเขา (ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) พร้อมด้วยลุงเขยของเขา พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.อ.ถนอม กิตติขจร และ พ.ท.ประภาส จารุเสถียร ในนาม “คณะทหารแห่งชาติ” ยึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในข้อหาไม่สามารถจัดการปัญหาความขัดแย้งในชาติอันมีสาเหตุหลักจากเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ประกอบกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการนานัปประการ ดังคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 ที่ว่า

“บัดนี้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ ประชาชนพลเมืองได้รับความลำบาก เดือดร้อน เพราะขาดอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และขาดแคลนสิ่งอื่น ๆ นานัปการ เครื่องบริโภคอุปโภคทุกอย่างมีราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมทรามในศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน…ผู้บริหารราชการแผ่นดินและสภาไม่อาจดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้กลับสู่ภาวะดังเดิมได้…เป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ…ถ้าจะคงปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ก็จะนำซึ่งความหายนะแก่ประเทศชาติ”...

อาจกล่าวได้ว่า “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” เกิดมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2490 ในแวดวงชนชั้นปกครองฝ่ายขวาที่มีอำนาจ ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองและความลำบากยากแค้นของประชาชน ซึ่งนำมาสู่ชีวิตการเติบโตและการเรียนรู้อำนาจการเมืองและความขัดแย้ง ในยุคสมัยที่ทหารครองอำนาจปกครองประเทศไทยต่อเนื่องยาวนานมาอีกกว่า 26 ปีต่อมา ก่อนฟ้าสางในเดือนตุลาคม 2516

คงไม่แปลกอะไรหากเขาจะเติบโตขึ้นมากลายเป็น “ซ้ายในขวา” ของชนชั้นนำไทย และมีแนวคิดเอียงซ้ายในสังคมเอียงขวา เนื่องจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน สามารถหล่อหลอมความคิดผู้คนไม่ให้ลอยอยู่ในสุญญากาศ และเลือกเส้นทางเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น

แม้แต่ พ.ท.พโยม จุลานนท์ พโยม (สหายคำตัน) บิดาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานองคมนตรีเองก็เช่นกัน เขาได้เลือกเข้าร่วมต่อสู้กับรัฐบาลอำนาจนิยมและกลายเป็นถึงสมาชิกกรมการเมืองคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยหลังการรัฐประหาร 2490 ก่อนจะลี้ภัยและเสียชีวิตที่ประเทศจีนในเวลาต่อมา

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เองก็เช่นกัน, เขาได้เติบโตและเรียนรู้โลกอย่างกว้างขวาง ยังไม่ทันจบชั้นประถมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลก็ต้องเดินทางไปเรียนต่อที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในวัยเพียง 10 ปีภายหลังจากพ่อถูกส่งไปเป็นอุปทุตไทยที่นั่น เขาได้ใช้ชีวิต “นักเรียนนอก” ทั้งในสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ก่อนจะกลับมาเมืองไทยอีกครั้งในอีก 20 ปีต่อมา หลังเรียนจบปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปี 2520

โดยเข้าทำงานรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สอนวิชาการเมืองการปกครองของสหภาพโซเวียต, รัฐศาสตร์เบื้องต้น, ประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์การเมืองในประเทศเอเชียอาคเนย์ , การเมืองการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน, การเมืองการปกครองของประเทศเอเชียอาคเนย์ และการเมืองการปกครองของไทย นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นนักวิชาการด้าน “เศรษฐศาสตร์การเมือง” ที่มีความคิดแหลมคมเป็นอย่างยิ่งจากความสนใจเฉพาะตัว

โดยบทบาทหนึ่งที่สำคัญคือเป็นกองบรรณาธิการวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขาเขียนบทความวิเคราะห์สังคมไทยออกมาอย่างกว้างขวาง รวมถึงงานเขียนเกี่ยวกับการสะสมทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในมุมมองมาร์กซิสต์อีกหลายชิ้นในยุคสมัยที่มีการวิวาทะและวิเคราะห์สังคมไทยอย่างเข้มข้นในหมู่นักวิชาการและฝ่ายซ้ายไทย

บทบาททางวิชาการของเขาได้สถาปนาความเป็นซ้ายหรือนักสังคมนิยมคนหนึ่งในยุคนั้น โดยเฉพาะผลงานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์การเติบโตของทุนนิยมและรัฐไทยอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นบทความเรื่อง “The Growth of Domestic Capital and Thai Industrialization (1984)  หรือ  “การสะสมทุนและรัฐในประเทศไทยปัจจุบัน” (2528) ในหนังสือ “วิพากษ์ทรรัฐ” ที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์ขึ้น รวมถึงบทความเรื่อง “ทุน ชนชั้น และการเมืองไทยปัจจุบัน” (2529)

ท่ามกลางข้อถกเถียงเดิมที่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้น-กึ่งศักดินาหรือไม่ ตั้งแต่บทความของ “ทรงชัย ณ ยะลา” เรื่อง “ปัญหาการศึกษาวิถีการผลิตของไทยอันเนื่องมาจากทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้น–กึ่งศักดินา”  ในวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 มีนาคม-เมษายน 2524 ที่มีข้อเสนอสำคัญว่าวิถีการผลิตของไทยได้เปลี่ยนเข้าสู่ลักษณะที่เป็นทุนนิยมแล้ว แม้ในทางอุดมการณ์จะยังมีลักษณะที่เป็นศักดินาอยู่ก็ตาม (ผู้สนใจติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ใน “ชวนอ่านแนววิเคราะห์รัฐและทุนนิยมไทยในงานของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” โดย รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ และบทความของกนกศักดิ์ แก้วเทพ เรื่อง “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ปัญญาชนสยาม”)

รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เห็นว่างานเขียนของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นการศึกษาที่เสนอให้เปลี่ยนทางการวิเคราะห์ที่ให้ความสนใจแก่พลังจากภายนอก มาเป็นการศึกษาพลวัตภายในว่า พัฒนาการของระบบทุนนิยมในสังคมไทยส่งผลต่อ “การเพิ่มพลังการผลิต และเสริมประสิทธิภาพของชนชั้นนายทุน/กระฎุมพีในสังคมไทยในการขูดรีดแรงงาน … ขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากชนบท … ตลอดจนสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่อำนาจของชนชั้นตนเองอย่างไร”

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน จำแนกองค์ประกอบที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย โดยการวิเคราะห์ผ่านทุน รัฐ และชนชั้น อย่างเจาะลึกพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จนเห็นภาพการเติบโตของทุนพาณิชย์  ทุนการเงินการธนาคาร และทุนอุตสาหกรรม ทำให้เห็นพัฒนาการในการก่อตัวของทุนระดับชาติ ที่การสะสมทุนเริ่มแรกนั้นก่อตัวมาจากทุนพาณิชย์ ก่อนที่จะขยายเข้าสู่ทุนการเงินการธนาคาร และการขยายตัวของทุนอุตสาหกรรมในภายหลัง

ทุน 3 ส่วนที่ว่านี้ คือหนึ่งการเติบโตทุนของเอกชนที่เริ่มต้นด้วยทุนพาณิชย์ชาวจีนซึ่งมีฐานการสะสมทุนจากการค้าภายในและต่างประเทศ การเป็นตัวแทนนายหน้าระหว่างทุนต่างชาติกับผู้ผลิตในภาคเกษตรกรรม

สองการเติบโตของทุนของเจ้านายและขุนนางในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เป็นชนชั้นเจ้าที่ดินที่สะสมทุนจากการเก็บค่าเช่า กิจการผูกขาดของหลวง ตลอดจนการร่วมทุนกับต่างประเทศในกิจการธนาคารและอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมรูปแบบทุนดังกล่าว

และสามซึ่งก่อตัวขึ้นมาภายหลังคือ “ทุนของรัฐ” ที่พัฒนาขึ้นมาเมื่อรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม เลือกดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม และสร้างรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดำเนินกิจการที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรงในหลายด้าน จนปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจกว่า 55 แห่งในปัจจุบันที่มีทุนและทรัพย์สินรวมกว่า 14 ล้านล้านบาท

ไกรศักดิ์เห็นว่า การเติบโตของทุนนิยมไทยในการสร้างหลักประกันให้แก่ตนเองและผนึกกำลังทางธุรกิจของฝ่ายตน โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันแบบซึ่งหน้า จึงมีการรวมกันก่อตั้ง “สมาคมชาวจีน” ขึ้น  ผู้นำของสมาคมส่วนใหญ่มาจากพ่อค้าผู้มีฐานะมั่งคั่งที่สุด บุคคลผู้นี้จะทำหน้าที่เจรจาสร้างสันถวไมตรีกับข้าราชการไทยระดับสูง  ผลที่ตามมาก็คือพ่อค้าชาวจีนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งได้รับอภิสิทธิ์เต็มที่ สามารถค้ากำไรอย่างมหาศาล  ทั้งนี้ มิใช่ด้วยการปฏิวัติระบบการผลิต หากแต่ด้วยการเข้าไปคุมตลาดการค้า

“เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและพลเรือนของรัฐมีความรู้และความสามารถเกี่ยวกับการพาณิชย์อย่างจำกัด จึงจำเป็นอยู่เองที่ต้องปล่อยให้พ่อค้าคนจีนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่รัฐเป็นฝ่ายริเริ่ม … ธุรกิจผูกขาดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงเริ่มก่อตัวขึ้นในระยะนี้เอง ระบบดังกล่าวเปิดทางให้พวกข้ารัฐการระดับนำยินยอมยกอภิสิทธิ์หลายประการแก่นักธุรกิจชาวจีนบางกลุ่ม … ตระกูลใหญ่ๆ เหล่านี้ทุกตระกูลล้วนพัฒนาธุรกิจของตนโดยอิงทุนแห่งรัฐเป็นเครื่องมือ บรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ของพวกเขาล้วนมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับกุมอำนาจเข้าไปมีหุ้นอยู่ด้วยเสมอ”

การเติบโตจากการผูกขาดกลายเป็นเนื้อเดียวกันของรัฐและทุน ทำให้นักธุรกิจนายทุนของไทยนิยมชมชอบรัฐบาลอำนาจนิยมที่ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่ทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ เป็นงานในบทความของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ตั้งแต่ปี 2529 และเป็นจริงมาถึงปัจจุบัน หากนับรายได้แบบก้าวกระโดดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของบรรดาเจ้าสัวเมืองไทย

ดังนั้นไม่น่าแปลกใจที่ในเวลาต่อมา เขาจะต่อต้านระบบทุนนิยมไทยอย่างแข็งขัน จากการสัมปทานความร่ำรวยแบบเก่าจนถึงการเข้าผูกขาดเศรษฐกิจโดยวิธีธุรกิจการเมืองและนโยบายเอื้อประโยชน์จากรัฐบาล ยิ่งทำให้การเติบโตของทุนไทยพุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลก

นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลให้ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นซ้ายในขวาของชนชั้นนำไทยที่ตนเองเติบโตมา การวิพากษ์วิจารณ์พัฒนาการและชนชั้นที่เห็นปัญหาชัดเจน นำพาให้เขาเลือกทำงานด้านสิทธิมนุษยชน กับสมชาย หอมละออ และเครือข่ายภาคประชาชนมาโดยตลอดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพื่อต่อต้านความไม่เป็นธรรมในรูปการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในนามการพัฒนาของรัฐและทุน

นอกจากนี้ ปัจจุบันเขายังทำงานกับคนรุ่นใหม่อย่างผม, และเครือข่ายที่มีแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยด้วยใจเปิดกว้าง นอกจากบทบาทด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชน

เมื่อปี 2552 ผมเคยพาสมาชิก International Union of Socialist Youth (IUSY) ซึ่งเป็นองค์กรเยาวชนคนหนุ่มสาวสากลที่ขับเคลื่อนปัญหาสังคมการเมืองเชิงโครงสร้างซึ่งมีอุดมการณ์แนวสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) เข้าพบเขาที่อาคารรัฐสภาหลังเก่า เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ทำงานเพื่อแสวงหาความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาทางโครงสร้างความไม่เป็นธรรม และได้รับการตอบรับและส่งเสริมอย่างดี

หนึ่งในนั้นที่ไปด้วยคือ ส.ส. Jacinda Ardern จากพรรคแรงงาน นิวซีแลนด์ และปัจจุบันกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ก้าวหน้าที่สุดคนหนึ่งของประเทศนิวซีแลนด์ในวันนี้

บทบาทของ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” จึงกว้างขวางกว่าฐานะทางสังกัดชนชั้น และอาจนับได้ว่าเขาเป็น "ซ้ายในขวา" ของชนชั้นนำไทย.

 

หมายเหตุผู้เขียน: เผยแพร่ครั้งแรก หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2563 Metha Matkhao *ย่อความจากบทความฉบับยาวสำหรับตีพิมพ์ในหนังสือครบรอบ 100 วันของอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ)
 

 

ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/esan2eastdotcom

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net