Skip to main content
sharethis

UN เรียกร้องช่วยเหลือคนทำงานเรือเดินสมุทรขึ้นฝั่งและให้ลูกเรือชุดใหม่เข้าไปผลัดเปลี่ยน โดยช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ลูกเรือหลายแสนคนทั่วโลกติดอยู่ในทะเลเป็นเวลาหลายเดือน นอกจากนี้ ILO ระบุว่าลูกเรือจำนวนมากที่ต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง ขณะที่ลูกเรือที่รอกลับสู่ทะเลก็กำลังสูญเสียรายได้เพราะไม่สามารถกลับไปทำงานได้ด้วยเช่นกัน


ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้คนทำงานบนเรือเดินสมุทรหลายแสนคนทั่วโลกติดอยู่ในทะเลเป็นเวลาหลายเดือน | ที่มาภาพประกอบ: International Maritime Organization (IMO)

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติแถลงผ่านโฆษกว่ามีความกังวลต่อลูกเรือที่ทำงานบนเรือเดินสมุทรอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ ทั้งเรื่องมนุษยธรรมและความปลอดภัย โดยมีลูกเรือบางรายอยู่บนเรือมาเป็นระยะเวลากว่า 15 เดือนแล้ว

ทั้งนี้วิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการขนส่ง โดยการเป็นการขนส่งมากกว่าร้อยละ 80  ซึ่งรวมถึงการขนส่งเวชภัณฑ์ อาหาร และสิ่งจำเป็นพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการกู้วิกฤต COVID-19 นี้ด้วยเช่นกัน

“โลกไม่สามารถทำงานได้หากปราศจากความพยายามของนักเดินเรือ พวกเขาสมควรได้รับการสนับสนุนที่มากขึ้นโดยเฉพาะตอนนี้” กูแตร์เรส ระบุผ่านโฆษก

นอกจากนี้หอการค้าขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรของเจ้าของธุรกิจเดินเรือต่าง ๆ ก็ได้เรียกร้องไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่ออนุญาตให้ลูกเรือสามารถขึ้นฝั่งได้ โดยให้พิจารณาถึงสุขภาพของบรรดาลูกเรือ

หอการค้าขนส่งทางเรือระหว่างประเทศยังทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) และสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาพิธีสารต่าง ๆ สำหรับลูกเรือ 

“เลขาธิการสหประชาชาติขอเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศดำเนินการตามพิธีสารเหล่านี้อย่างเร่งด่วน โดยอนุญาตให้ลูกเรือที่ติดค้างบนเรือ สามารถกลับประเทศตนเองได้” คำแถลงสรุป

เมื่อเดือน พ.ค. 2563 ILO ได้รับรายงานว่าลูกเรือจำนวนมากที่ต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์ทันทีแต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือหลายแห่งทั่วโลก ในขณะที่ลูกเรือที่รอกลับสู่ทะเลก็กำลังสูญเสียรายได้เพราะไม่สามารถกลับไปทำงานได้

เมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2563 นายไรเดอร์กาย ไรเดอร์ เลขาธิการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าการบังคับให้ลูกเรือที่เหนื่อยล้าทำงานต่อเนื่องเกินกว่า 4 เดือนหลังจากสิ้นสุดสัญญานั้นเป็นที่ยอมรับไม่ได้ เนื่องจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และอันตรายต่อความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่งทางทะเล”

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำงานร่วมกันเพื่อให้การสับเปลี่ยนลูกเรือเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างปลอดภัย”  เลขาธิการ ILO ระบุ

ทั้งนี้ข้อมูลจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ระบุว่ามีลูกเรือประมาณ 150,000 คน ที่รอขึ้นฝั่งอย่างเร่งด่วนเนื่องจากสัญญาและเอกสารต่าง ๆ ได้หมดอายุลงแล้ว และพวกเขาจำเป็นต้องถูกแทนที่ด้วยลูกเรือชุดใหม่ แต่การสับเปลี่ยนก็ไม่สมารถเกิดขึ้นได้ในช่วงการระบาดของ COVID-19

ที่มาเรียบเรียงจาก
UN chief calls for seafarers to be designated ‘key workers’, with many stranded at sea (UN News, 12 June 2020)
Act on seafarer crew changes to avert humanitarian crisis (International Maritime Organization, 11 une 2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net