Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปรากฏการณ์ Black Lives Matter ที่มีเชื้อไฟมาจากการเสียชีวิตของ George Floyd ส่งผลให้เกิดการประท้วงและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เพื่อเรียกร้องความไม่เป็นธรรมที่ยังไม่จางหายไปจากโลกปัจจุบัน ส่งผลให้เชื้อไฟที่ถูกจุดขึ้นมาลุกลามกลายเป็นไฟไหม้ฟาง นำมาสู่กระแสการรื้อถอนทำลาย “อนุสาวรีย์” (monument) ที่เกิดขึ้นหลายประเทศทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา 

กลุ่มผู้ประท้วงมอง “อนุสาวรีย์” เหล่านั้น เสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ที่ไม่เป็นธรรมในหน้าประวัติศาสตร์ ทำให้จำต้องโค่นล้มทำลายเสียให้สิ้นไป

อาทิ การโยน Edward Colston พ่อค้าทาสชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ลงทะเล, การพ่นสีใส่  Queen Victoria ที่ดำเนินนโยบายล่าอาณานิคมและกดขี่ดินแดนอื่น, การพ่นสีพร้อมตะโกนด่าทอใส่กษัตริย์ Leopold II ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวคองโก, หรือกรณีของ Christopher Columbus ในฐานะสัญลักษณ์แห่งการเข่นฆ่าชนพื้นเมืองและการล่าอาณานิคม ที่โดนทั้งการตัดหัวในเมืองบอสตัน และการจุดไฟเผาในเวอร์จิเนีย ฯลฯ

แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา กลุ่มผู้ที่เห็นด้วยให้ความเห็นว่า สมควรแล้วที่ “อนุสาวรีย์” เหล่านี้ถูกทำลาย เพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ ไม่ควรจะให้มีพื้นที่สาธารณะรองรับให้มันตั้งตระหง่านอยู่ได้

ส่วนกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ตอบโต้ไปว่า เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ต้องดูบริบทในขณะนั้นอย่าเอาสายตาปัจจุบันไปตัดสินอดีต ไม่ว่าคนที่ถูกสร้างเป็น “อนุสาวรีย์” จะเคยกดขี่ผู้คนมากมายเพียงใด การทำลายไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือราชาก็ต้องเก็บ “อนุสาวรีย์” ของเขาไว้เตือนใจคนรุ่นหลังไม่ให้กระทำตาม

ความเห็นทั้งสองฝ่ายไม่มีใครถูกหรือผิดไปเสียทีเดียว เพราะสิ่งที่ผู้เขียนจะเสนอคือว่า เราจะเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาวิกฤตนี้ได้ จะต้องเข้าใจในบริบทของการเกิดขึ้นและดับไปของ “อนุสาวรีย์” อย่างไรก็ดี ต้องขอออกตัวก่อนว่า บทความชิ้นนี้ไม่ได้นำเสนอประเด็นอะไรมากไปกว่าเป็นเพียงความเห็นของผู้เขียนเอง ที่อยากจะสนทนาแลกเปลี่ยนต่อผู้อ่านถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งสามารถเห็นแย้งกับผู้เขียนได้อย่างมีหลักการและเหตุผลได้

การสร้าง “อนุสาวรีย์” ในแต่ละแห่ง ส่วนใหญ่มีความมุ่งหมายเพื่อเชิดชูตัววีรบุรุษ/วีรสตรี หรือถ้าใช้กับกษัตริย์ก็จะเป็นการเทิดพระเกียรติ ที่ได้สร้างคุณงามความดี สร้างวีรกรรม หรือสร้างคุณูปการต่าง ๆ ให้แก่ชุมชนทั้งระดับโลก ระดับรัฐ ไปจนถึงระดับท้องถิ่น ซึ่งเรื่องเล่า (narrative) ที่ผูกเข้ากับ “อนุสาวรีย์”  มักจะบอกเล่าเรื่องราวของคน ๆ นั้นในทางบวกเสมอ น้อยมากที่จะสร้างและเล่าไปในทางลบเพื่อเสียบประจานความชั่วร้าย (กล่าวเฉพาะแต่ “อนุสาวรีย์” ขนาดใหญ่ที่เห็นกันทั่วไป)

หากต้องเข้าใจด้วยว่า “อนุสาวรีย์” ส่วนใหญ่ไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่าง “บริสุทธิ์” หรือสร้างขึ้นมาตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในฐานจารึกข้อความและหนังสือที่ระลึกเนื่องในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ แต่ทว่าการเกิดขึ้นของ “อนุสาวรีย์” เป็นผลมาจากการปะทะประสานของชุดเรื่องเล่าในสังคมที่ต้องการให้วีรบุรุษ/วีรสตรีที่ตนศรัทธา ปรากฏออกมาอย่างเด่นเป็นสง่าในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งแทบจะทั้งหมด กลุ่มผู้สร้างที่ช่วงชิงพื้นที่ในสร้าง “อนุสาวรีย์” พร้อมกับประกอบสร้างความหมายเข้าไปได้ ก็มักจะเป็นชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำทางความคิดที่มุ่งสร้างเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่างที่จะตามมา อาทิ 

ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์การเมืองที่ต้องการให้ผู้คนในชุมชนบริเวณที่มีการสร้างคล้อยตามไปกับตน

ใช้เพื่อเบียดขับความทรงจำที่ผู้คนมีต่อวีรบุรุษท้องถิ่นของตน ซึ่งอาจจะมีแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ให้กลืนหายไปพร้อมกับการมาของวีรบุรุษคนใหม่จากส่วนกลาง

ใช้เพื่อโต้ตอบอุดมการณ์การเมืองขั้วตรงข้าม อย่างในยุคสงครามเย็นก็มักจะมีการสร้าง “อนุสาวรีย์” เพื่อปะทะกันระหว่างฝ่ายที่เอาและฝ่ายที่ไม่เอาคอมมิวนิสต์ เป็นการสร้างอาวุธทางวัฒนธรรมควบคู่ไปกับอาวุธที่กระทำความรุนแรงทางกายภาพ

มันนำมาซึ่งความผูกพันกันอย่างแยกไม่ออกระหว่าง “อนุสาวรีย์” กับคนในพื้นที่ นี่จึงเป็นความสำเร็จของกลุ่มผู้สร้างอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนั้น ประติมากรรมรูปเหมือนตัวบุคคลไม่ได้มีกำเนิดที่ “บริสุทธิ์” ฉันใด เรื่องเล่าที่ผูกติดกับมันก็ไม่ได้ “บริสุทธิ์” ฉันนั้น

สำหรับประเด็นที่ว่า การทำลายสัญลักษณ์แห่งการกดขี่รุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ ผู้เขียนไม่ขอตอบตรง ๆ แต่ขอตั้งประเด็นเชิงคำถามย้อนไปว่า เราจำเป็นต้องให้พื้นที่กับ “อนุสาวรีย์” ขนาดมหึมาของบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่หรือไม่? ซึ่งผู้เขียนจะไม่ขอตอบแบบฟันธงอีกเช่นกัน แต่จะลองทำตัวเลียนแบบเป็นนักวิชาการที่ดี ที่จะไม่ฟันธงในคำตอบ เพราะผู้เขียนไม่ได้นำหลักฐานมาให้เผยในที่นี้

ผู้เขียนค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “อนุสาวรีย์” เป็นสิ่งที่จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ดีที่สุด ยิ่งในบริบทโลกในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามาครอบงำชีวิตของผู้คนอย่างเป็นสามัญแล้ว คำกล่าวเช่นนั้นจึงไม่น่าจะถูกต้องสักเท่าไร การที่ต้องอุทิศพื้นที่ และกำลังทรัพย์จากภาษีประชาชนที่ต้องจ่ายทั้งในขณะก่อสร้าง และการทำพิธีกรรมอย่างเป็นประจำภายหลังการสร้าง ไม่ควรอุทิศให้แก่สัญลักษณ์แห่งการกดขี่ แม้ผู้กดขี่เหล่านั้นจะสร้างคุณูปการให้กับสังคมเสมือนผลต่างตอบแทนกับการกดขี่ได้กระทำไปก็ตามที เนื่องจากเรื่องเล่าที่ผูกอยู่กับ “อนุสาวรีย์” เหล่านั้น มักจะประทับตราไว้แค่ด้านบวกเสมอ และเป็นไปได้ยากมากที่เราจะปลดแอกเรื่องเล่าหลักในด้านบวกที่รัฐประทับไว้ได้

ในทางกลับกัน ผู้เขียนเห็นว่า ณ กาลปัจจุบัน Social Media หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ล้วนใช้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของผู้กดขี่ได้ดีกว่า “อนุสาวรีย์” หรือถ้าจะย้อนกลับไปเก่ากว่านั้นหน่อย แค่การสอดแทรกด้านลบของผู้กดขี่ลงในตำราเรียนหรือหนังสือทั่วไป (ซึ่งมักไม่เกิดขึ้น), การให้พื้นที่ขนาดย่อมอันจำกัดในพิพิธภัณฑ์, หรือการเผยแพร่ผ่านสื่ออื่น ๆ ทั้งอะนาล็อกและดิจิตอล ก็เพียงพอแล้วที่จะสอนใจประชาชนไม่ให้กลับไปเชิดชูคนพรรค์นั้นอีก

ถ้าแย้งกลับมาว่า การกดขี่ที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นไปตามบริบททางประวัติศาสตร์ ผู้เขียนจะขออนุญาตแย้งว่า ให้ย้อนกลับไปดูบริบทการเกิดขึ้นของ “อนุสาวรีย์” ที่ได้กดขี่เรื่องเล่าชุดอื่น ๆ ไม่ต่างกัน ดังนั้น ก็ควรจะเรียนรู้ “ประวัติศาสตร์” ของผู้กดขี่ ไม่ใช่มุ่งจะเรียนรู้ “อนุสาวรีย์” แต่เพียงถ่ายเดียว

ผู้เขียนไม่ได้สนับสนุนให้ผู้อ่านที่เห็นด้วย อ่านจบแล้วไปรณรงค์ทำลายล้าง “อนุสาวรีย์” ของผู้กดขี่แต่อย่างใด และตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้มุ่งจะทำแบบนั้น แต่ในเมื่อ “อนุสาวรีย์” ของผู้กดขี่ถูกสร้างขึ้นมามากมายเต็มพื้นพิภพ สิ่งสำคัญที่จะทำได้ คือ ต้องสร้างการยอมรับทั้งด้านบวกและลบของบุคคลที่กลายสภาพเป็นประติมากรรมรูปเหมือน ไม่ใช่มุ่งแต่จะบอกเล่าเพียงด้านดีอย่างเดียว (ซึ่งมันเป็นอะไรที่อุดมคติมาก ๆ ในแบบที่ผู้เขียนไม่กล้านึกฝัน)

นี่จึงเป็นปัญหาสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ในแง่หนึ่ง มันนำมาสู่ความเข้าใจที่ว่า ปัจเจกชนเพียงหนึ่ง คือ ผู้กระทำการทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดคลื่นความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้น กำลังคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีพื้นที่ในเรื่องเล่าของรัฐ หรือแม้แต่ของท้องถิ่น ก็มีส่วนใช่น้อยสำหรับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ หากแต่ไม่ได้ถูกบันทึกเหมือนกับวีรบุรุษ/วีรสตรีนามอุโฆษ 

เหล่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรื้อถอนทำลาย “อนุสาวรีย์” ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ต้องเข้าใจด้วยว่า เมื่อมันมีบริบทแห่งการเกิดขึ้นซึ่งไม่ได้บริสุทธิ์ ก็ย่อมมีบริบทแห่งการทำลายที่ไม่ได้บริสุทธิ์เช่นกัน และพยายามตั้งคำถามด้วยว่า “อนุสาวรีย์” อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่มีเรื่องเล่าหลักในการนำเสนอต่อสังคมอย่างไร และเรื่องเล่ารองใดที่ไม่ปรากฏออกมา บางครั้งภาพที่ดีทั้งหลายอาจบดบังภาพที่เลวบางอย่างไว้ เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเกิดความรู้สึกไม่พอใจ จึงต้องการที่จะเผยด้านลบของ “อนุสาวรีย์” ออกมาก็เป็นได้

คงไม่มีใครเข้าไปตัดหัว Columbus เพียงเพราะเขาเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ชนพื้นเมือง แต่อาจเป็นเพราะเขาได้รับการยกย่องแต่ด้านดีในฐานะผู้ค้นพบโลกใหม่เพียงด้านเดียวมากเกินไป

อย่าได้ปริวิตกไป เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ในไทยมีเพียงสัญลักษณ์ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐเท่านั้นที่อันตรธานไปเสียสิ้น…

 

ภาพประกอบ: ผู้ประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิว พากันโค่นอนุสาวรีย์เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน ทิ้งลงน้ำที่บริสโตล เมืองท่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ เมื่อ 8 มิ.ย. 63 (ที่มา: Wikipedia/Harry135)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net