Skip to main content
sharethis

ศาลฟิลิปปินส์ตัดสินให้ประธานสื่อแรปเลอร์และนักข่าวผู้เขียนบทความกล่าวหานักธุรกิจมีส่วนพัวพันกับยาเสพติดและการค้ามนุษย์ มีความผิดข้อหา "หมิ่นประมาททางไซเบอร์" ทนายความผู้ต้องหาเชื่อ มีแรงจูงใจทางการเมือง องค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวจัดอันดับเสรีภาพสื่อ ฟิลิปปินส์อยู่อันดับที่ 136 จากทั้งหมด 180 อันดับ


มาเรีย เรสซา ภาพจาก Wikimedia Commons

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2563 ศาลฟิลิปปินส์ตัดสินให้ มาเรีย เรสซา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของสื่อแรปเลอร์ในฟิลิปปินส์มีความผิดโทษฐาน "หมิ่นประมาททางไซเบอร์" ในคดีที่เรสซาและกลุ่มด้านเสรีภาพสื่อระบุว่าเป็นการดำเนินคดีในแบบที่มีแรงจูงใจทางการเมืองโดยรัฐบาลอำนาจนิยมรอดริโก ดูเตอร์เต

เรสซาถูกจับกุมจากสำนักงานสื่อแรปเลอร์ตั้งแต่ปี 2562 จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเรื่องที่กล่าวหาว่านักธุรกิจ วิลเฟรโด เคง มีส่วนพัวพันกับยาเสพติดผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามบทความดังกล่าวนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้าที่กฎหมาย "หมิ่นประมาททางไซเบอร์" จะออกมามีผลบังคับใช้ แต่อัยการก็อ้างว่าการแก้ไขเนื้อหาข่าวดังกล่าวอีกครั้งหลังจากที่กฎหมายอออกมามีผลบังคับใช้แล้วถือว่าเป็นการ "ตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำ" ซึ่งสามารถนำมาพิจารณาว่ามีความผิดได้

มีการตั้งข้อสังเกตว่าคำตัดสินในครั้งนี้อาจจะมีแรงจูงใจทางการเมือง เพราะสื่อแรปเลอร์ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมจากการที่ไม่อ่อนข้อในเรื่องการนำเสนอในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีรอดริโอ ดูเตอร์เต รวมถึงเรื่องสงครามยาเสพติดที่โหดร้าย

ศาลสั่งลงโทษทั้งเรสซา และเรย์นาโด ซานโตส จูเนียร์ ผู้เขียนข่าวนี้ คำตัดสินระบุว่าพวกเขาอาจจะต้องโทษจำคุก 6 เดือนถึงสูงสุด 7 ปี แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะประกันตัวเพื่ออุทธรณ์คดีต่อ

เรสซากล่าวถึงคำตัดสินในครั้งนี้ว่า "ไม่ใช่เรื่องคาดเดาไม่ได้" เธอบอกว่าจะเดินหน้าสู้ต่อไปและขอให้นักข่าวและชาวฟิลิปปินส์ที่รับฟังอยู่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของตัวเอง และขอให้กรณีของพวกเธอเป็นเครื่องเตือนใจ "ขออย่าได้กลัว เพราะถ้าหากพวกคุณไม่ใช้สิทธิของตัวเอง พวกคุณจะสูญเสียมันไป"

ทนายความของเรสซาแถลงว่าคำตัดสินนี้ถือเป็น "การปรามาสหลักนิติธรรม" เป็นการขู่เตือนสื่อ และเป็นสิ่งที่ทำร้ายประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์

แฮร์รี โรค โฆษกของดูเตอร์เตกล่าวว่าประธานาธิบดี "เชื่อในเสรีภาพทางความคิดและการแสดงความคิดเห็น" แต่ก็ขอให้ "เคารพ" ในคำตัดสินของศาล

เจเจ ดิซีนี ทนายความของเรสซาอีกคนหนึ่งกล่าวว่าการตัดสิตคดีในครั้งนี้ "มีแรงจูงใจทางการเมือง" รวมถึงบอกว่าการแก้ไขบทความดังกล่าวเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายวรรคตอนเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเนื้อหาก่อนหน้านี้ที่ถูกกล่าวหาเรื่องการหมิ่นประมาทเลย

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่แรปเลอร์รายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีดูเตอร์เตทำให้พวกเขาถูกตั้งเป้าหมายจากผู้สนับสนุนดูเตอร์เตมาโดยตลอด เรสซาเคยถูกฟ้องร้องเรื่องหมิ่นประมาทและเรื่องการหลบเลี่ยงภาษีหลายครั้ง ซึ่งนักวิจารณ์มองว่าเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองทั้งสิ้นเพราะฝ่ายการเมืองพยายามหาเรื่องปิดปากสื่ออิสระในฟิลิปปินส์

เรสซาเคยเป็นหนึ่งในบุคคลแห่งปีประจำปี 2561 ของนิตยสารไทม์ เธอเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ CNN ว่า สำหรับเธอแล้วการออกไปอยู่ในแนวหน้าทำข่าวสงครามอาจจะง่ายกว่าการสู้เพื่อเสรีภาพสื่อ เพราะ "คุณไม่รู้ว่าศัตรูของคุณอยู่ตรงจุดไหนในสภาพนี้ แต่ในพื้นที่สงครามอย่างน้อยคุณก็ระบุตำแหน่งการสู้รบและป้องกันตัวเองได้"

เรสซายังเคยให้สัมภาษณ์อีกว่าการที่เธอต้องเผชิญกับคดีความต่างๆ มากมายนั้นเหมือนเป็นความพยายามอัน "ไร้สาระ" ในการที่จะปิดกั้นการรายงานข่าวของเธอ เธอบอกว่าการเป็นสื่อในฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับเรื่องแบบนี้รายวันจนเหมือนกับ "มลภาวะในอากาศ"

CNN ระบุว่าเสรีภาพสื่อในฟิลิปปินส์แย่ลงอย่างรวดเร็วในช่วงยุคประธานาธิบดีดูเตอร์เต จากการจัดอันดับเสรีภาพสื่อขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 136 จากทั้งหมด 180 อันดับ

นอกจากกรณีแรปเลอร์แล้ว เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาสื่อดังของฟิลิปปินส์ ABS-CBN ที่รายงานเรื่องสงครามยาเสพติดของดูเตอร์เตอย่างจริงจัง ก็ถูกบังคับให้ระงับการออกอากาศเนื่องจากรัฐบาลไม่ต่อสัญญาให้ ในเรื่องนี้องค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ประณามฟิลิปปินส์ว่าทำการลิดรอนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน อีกทั้งยังเตือนว่ากฎหมายต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่ของฟิลิปปินส์ก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมือลิดรอนเสรีภาพสื่ออย่างใหม่ได้ เนื่องจากในมาตราที่ 9 ของกฎหมายนี้ระบุห้ามเกี่ยวกับเรื่องการแสดงความคิดเห็น การประกาศ การเขียน การแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่รัฐบาลมองว่าเป็นการยุยงให้เกิดการก่อการร้าย รวมถึงตั้งศาลพิเศษจำเพาะเรื่องนี้

ชอว์น คริสปิน ผู้แทนอาวุโสประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ CPJ กล่าวว่าประธานาธิบดีดูเตอร์เตควรจะเลือกข้างเสรีภาพสื่อและยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายปี 2563 หรืออย่างน้อยก็แก้ไขกฎหมายเพื่อทำให้แน่ใจว่าสื่อจะไม่ถูกเล่นงานด้วยข้อกล่าวหากำมะลอ อีกทั้งยังวิจารณ์ว่ากฎหมายใหม่นี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อเป็นการคุกคามผู้สื่อข่าวโดยตรง จึงควรยกเลิกกฎหมายนี้

 

เรียบเรียงจาก

Philippines journalist Maria Ressa found guilty of 'cyber libel' in latest blow to free press, CNN, 15-06-2020

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net