การเมืองไทยยุค New (ab)normal (3) ชัยณรงค์ เครือนวน

We Watch จัดเสวนาออนไลน์ “New (ab)normal ทางการเมือง?” ชัยณรงค์ เครือนวน อธิบายภาวะยกเว้นและรวมศูนย์อำนาจการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ผ่านการปรับปรุงกฎหมาย 29 ฉบับ พร้อมสะท้อนภาวะเศรษฐกิจช่วง COVID-19 ที่มีการปลดคนงานทั้งภาคอุตสาหกรรมและท่องเที่ยว ทำให้ต้องพิจารณาเรื่องการพึ่งพาการลงทุนและการท่องเที่ยวที่มีสภาพเปราะบาง

 

ในเวทีเสวนาออนไลน์ “New (ab)normal ทางการเมือง?” โดยเครือข่าย We Watch  เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 63 ชัยณรงค์ เครือนวน จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย นำเสนอหัวข้อ "การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับโครงการพัฒนาของภาครัฐ EEC"

โดยนำเสนอว่าประเด็นการพัฒนาจะต้องโฟกัสที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกซึ่งจะนำเสนอ 2 ประเด็นใหญ่ คือ การทบทวนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ในฐานะที่เป็นเงื่อนไขที่กีดกันและกดทับการทำงานของภาคประชาชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ประเด็นที่สองคือ กระบวนทัศน์การพัฒนาและการทำงานของภาคประชาชนหลังสถานการณ์ COVID-19

ถ้าเราจะกลับไปทบทวนการพัฒนา EEC ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน COVID-19 เราจะพบว่า EEC เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทำให้กระบวนการพัฒนาเกิดความไม่ชอบมาพากลในหลากหลายมิติ ส่วน COVID-19 จะมีผลอย่างไรในการกำหนดนโยบาย การตรวจสอบ การพัฒนา ผมมองโควิดใน 2 มิติที่มีผลต่อการพัฒนา คือ มิติที่เป็นวิกฤติและมิติทางโอกาสไปพร้อมๆ กัน

ประเด็นแรก ในส่วนของ EEC ช่วงรัฐประหารหรือก่อนการระบาด เราพบว่าปัญหาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนถือเป็นปัญหาสำคัญของโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ถูกดำเนินการโดยรัฐ

EEC ถือเป็นตัวแบบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่ง ที่ถูกตั้งคำถามกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ของผู้คนในท้องถิ่น ถ้าเราจะเข้าใจปัญหาการมีส่วนร่วม ปัญหาการพัฒนาที่เกิดขึ้นจาก EEC เราต้องกลับไปทำความเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นทั้งในเชิงกระบวนทัศน์ กลยุทธ์การพัฒนา ในฐานะที่เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การกีดกันกดทับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

กระบวนทัศน์การพัฒนา EEC คือการพัฒนาที่ถูกบังคับให้เกิดจากส่วนกลางภายปฏิสัมพันธ์ของเครือข่ายชนชั้นนำ ทั้งชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ เทคโนแครตส่วนกลาง และเราทราบโดยทั่วไปว่า EEC เป็นจักรกลการพัฒนาที่ถูกนำมาใช้เพื่อทดแทนจักรกลการพัฒนาแบบเดิมคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ซึ่งหน้าที่ของมันถูกทำให้ผิดปกติ (dysfunction) ไป ฉะนั้นอุดมการณ์ของ EEC คือการผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์แบบทุนนิยม

ส่วนกลยุทธ์การพัฒนาเป็นประเด็นที่น่าสนใจ คือเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาโครงการของรัฐ กลยุทธ์การพัฒนา EEC คือต่อยอดการพัฒนามาจาก Eastern Seaboard โดยใช้อำนาจพิเศษเป็นตัวเร่งการขับเคลื่อนการพัฒนา และพยายามรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจทุกอย่างไว้ที่กลไกรัฐส่วนกลาง

การต่อยอดโครงการพัฒนา Eastern Seaboard (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก) เราเห็นชัดเจน 2 รูปแบบ ใช้พื้นที่การพัฒนาเดิมของ Eastern Seaboard คือพื้นที่ของ 3 จังหวัด แต่ EEC ต่างเล็กน้อย มีการเปิดพื้นที่ใหม่คือฉะเชิงเทรา กลายเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ในขณะเดียวกันก็เห็นความพยายามที่จะยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมและสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เรารู้จักในส่วน New S-Curve เป็นต้น ส่วนประเด็นการใช้อำนาจพิเศษเป็นตัวเร่งรัดให้เกิดการพัฒนา เราเห็นได้ชัดเจน คือมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยการออกคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบที่เกี่ยวข้องกับ EEC โดยตรง 3 ฉบับ และเชื่อมโยงกับการพัฒนา EEC อีก 2 ฉบับ เป้าหมายของการใช้อำนาจพิเศษในที่นี้คือ การสร้างข้อยกเว้นทางกฎหมาย เร่งรัดตัดตอนขั้นตอนตามกฎหมายปกติเพื่อทำให้ EEC ขับเคลื่อนไปด้วยความรวดเร็ว

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวของกับการพัฒนา EEC มีผลที่ทำให้เกิดการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายในเขต EEC ถึง 3 ฉบับ (1. พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 2. พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และ 3. พ.ร.บ.ว่าด้วยการผังเมือง พ.ศ. 2518) ต่อมาพบว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ถูกยกเลิกไปภายหลังมีการประกาศ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเมื่อปี 61 แต่ยังคงมีบทเฉพาะกาลหลายข้อ ที่ทำให้คำสั่งของหัวหน้า คสช. บางข้อยังสามารถบังคับใช้อยู่

หากกลับมาดูเนื้อหาสาระของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เราจะพบว่าบทบัญญัติหรือเนื้อหาคำสั่ง คสช. หลายข้อยังคงถูกนำมาบัญญัติซ้ำอีกครั้งใน พ.ร.บ. EEC เช่น การสร้างข้อยกเว้นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การกำหนดแนวทางการร่วมทุนกับเอกชนหรือเอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุน หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในตัว พ.ร.บ. EEC มีการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายบางมาตราในเขต EEC (พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561) เพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีก 7 ฉบับ ได้แก่ (1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ (2) พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพานิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 (3) ประมวลกฎหมายที่ดิน (4) พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 (5) พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (6.) พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 (7) พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485

และมีการถ่ายโอนอำนาจ อนุญาต ให้สิทธิ หรือให้สัมปทานตามบทบัญญัติของกฎหมายอีก 8 ฉบับ (1.) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ. 2515 (2) พรบ.ว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 (3) พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 (4) พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (5) พ.ร.บ.ทางหลวงสัมปทาน พ.ศ. 2542 (6) พรบ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2560 (7.) พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2560 (8.) พรบ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560

ทั้งหมดนี้มาสู่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงการสร้างเงื่อนไขให้คณะกรรมการนโยบายมีสิทธิและมีอำนาจตามกฎหมายอีก 3 ฉบับ ได้แก่ (1) พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 (2) พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 (3) พรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยให้คณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจ

นอกจากนี้ ยังมีการให้อำนาจในการอนุญาต อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบตามกฎหมายอีก 8 ฉบับแก่เลขา EEC ได้แก่ (1) พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน (2) พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (3) พ.ร.บ. จดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 (4) พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (5) พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (6) พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 (7) พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 (8) พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2553

กล่าวได้ว่านับตั้งแต่เรามีคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อยมาจนถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ. EEC มีกฎหมายที่ถูกยกเว้น ถ่ายโอนอำนาจมาสู่คณะกรรมการนโยบายฯ หรือเลขาฯ EEC จำนวนทั้งสิ้น 29 ฉบับ เช่นเดียวกับการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลาง โดยเฉพาะการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนา การติดสินใจเรื่องนโยบาย หรือการกำกับติดตามไว้ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หากดูโครงสร้างคณะกรรมการฯ ตาม พ.ร.บ. EEC กฎหมายระบุให้มีคณะกรรมนโยบายฯ 28 ท่าน มีการแต่งตั้ง 23 ท่าน 24 ตำแหน่ง เพราะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมเป็นคนเดียวกัน

โครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้ ร้อยละ 67 หรือ 13 ท่านเป็นนักการเมืองและรัฐมนตรี อีก 4 ท่านหรือ 17 เปอร์เซ็นต์เป็นข้าราชการประจำ 3 ท่านหรือ 12 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ประกอบการในภาคเอกชน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน คือรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งเป็นข้าราชการและอดีตผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ คืออดีตผู้บริหาร ปตท. จะเห็นว่าโครงสร้างของคณะกรรมชุดนี้ไม่มีตัวแทนของภาคประชาชนหรือภาควิชาการอยู่เลย

อีกตัวหนึ่งของโครงสร้างการตัดสินใจในการพัฒนาในเขต EEC คือในตัว พ.ร.บ. EEC มีการกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วัตถุประสงค์นั้นดี คือช่วยเยียวยาประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา EEC แต่เมื่อเราดูโครงสร้างของคณะกรรมการบริการกองทุนชุดนี้ พบว่าประกอบด้วยข้าราชการส่วนกลางทั้งหมด ไม่มีตัวแทนของภาคประชาชนหรือกลไกรัฐในท้องถิ่นหรือไม่มีตัวแทนของกลไกรัฐในส่วนภูมิภาคไปเป็นคณะกรรมการชุดนี้

ข้อสังเกตคือ โครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้มี 7 คน แต่มาจากแค่ 2 หน่วยงาน คือ สำนักงาน EEC และกระทรวงการคลัง ถ้าเราดูเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายหรือการนำนโยบายไปปฏิบัติใช้ พบว่ามีกลไกรัฐส่วนกลางเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาทั้งหมดในพื้นที่ EEC ฟันเฟืองสำคัญคือสำนักงานนโยบาย EEC แต่ปรากฎว่ามีกลไกรัฐทางด้านความมั่นคงอย่างกองทัพเรือเข้ามาเป็นจักรกลหนึ่งในการชับเคลื่อนความมั่งคั่งด้วย เห็นได้จากการมอบหมายให้กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาที่สำคัญๆ หลายโครงการในพื้นที่ EEC เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หรือการพัฒนาท่าเรือพานิชย์สัตหีบ ทั้งการร่วมพัฒนากับการบินไทย อู่ซ่อมบำรุงอูตะเภาซึ่ง Airbus เพิ่งยกเลิกไป

หากถามว่าที่ผ่านมา ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมบ้างหรือไม่ คำตอบคือพอมีให้เห็นอยู่บ้างแต่เป็นเพียงการร่วมรับฟังความคิดเห็น ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมที่ต่ำที่สุด ตัวอย่างของกระบวนการมีส่วนร่วม เช่น การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จากสำนักงาน EEC พบว่าในกระบวนการจัดทำแผนผัง มีการจัดรับฟังความคิดเห็น 40 ครั้ง เป็นเวทีที่เป็นทางการ 25 ครั้ง ไม่เป็นทางการ 15 ครั้ง มีคนเข้าร่วมประมาณ 5,000 คน ในเชิงปริมาณนั้นถือว่าโอเค แต่ในเรื่องคุณภาพนั้นถูกตั้งคำถามมากสำหรับเวที 40 ครั้งหรือ 25 ครั้งที่เป็นทางการที่สำนักงาน EEC จัดขึ้น แน่นอนว่าการพัฒนาที่รวมศูนย์นั้นรวบอำนาจการตัดสินใจเช่นนี้มันถูกตั้งคำถามจากผู้คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน โดยเฉพาะกระบวนการกำหนดนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมไปเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน เช่น กรณีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่สีม่วงเพื่อรองรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง

หรือกรณีการกำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ปัจจุบันมีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ EEC ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 25 เขต 23 เขตเป็นนิคมอุสาหกรรมที่อยู่ในมือของกลุ่มทุนเพียง 9 กลุ่ม อีก 2 เขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ใน 2 มหาวิทยาลัย คือพื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน กับพื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมทางการแพทย์และเรื่องสุขภาพ

ประเด็นต่อมาที่ถูกตั้งคำถามมากคือ จุดเริ่มต้นของ EEC ได้สร้างหรือยัดเยียดความเป็นชายขอบให้คนกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากการกระบวนการการพรากสิทธิแย่งยึดที่ดินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา ทั้งการพรากสิทธิ แย่งยึดทั้งหลายหรือทั้งการเวรคืน หรือการพรากสิทธิแย่งยึดในระบบตลาด ความพยายามยกเลิกการเช่าที่ดินของรัฐในบางพื้นที่ ทั้งหมดนี้คือว่าไม่ปกติของกระบวนการพัฒนาโดยเฉพาะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อย่าง EEC ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต วิถีการผลิตของคนในท้องถิ่นอย่างมากมาย

ประเด็นที่สอง COVID-19 จะมีผลอย่างไรต่อการกำหนดนโยบายและการตรวจสอบของ EEC

อย่างที่ผมมอง COVID-19 ใน 2 มิติในกระบวนการพัฒนา ทั้งมิติที่เป็นวิกฤติและมิติที่เป็นโอกาส

สถานการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจโดยการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ การพึ่งพาการท่องเที่ยว บริการ หรือการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียวนั้นมีความเปราะบางอย่างยิ่ง

เราเห็นการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรม เราเห็นผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ทำงานในภาคการท่องเที่ยวต้องตกงานเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด เราต้องทบทวนหรือปรับประบวนทัศน์การพัฒนาใหม่ โดยเฉพาะการสร้างความสมดุลย์ระหว่างภาคการผลิตต่างๆ ในเคสของ EEC เราทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดไปในภาคอุตสาหกรรม ละเลยการผลิตในภาคเกษตรกรรมทั้งที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมันเป็นหลังพิงและหลักประกันของการมีชีวิตอยู่ ของความอยู่รอด ดังนั้นยุทธศาสตร์การพัฒนา EEC ที่ควรจะเป็น ควรเดินไป 2 หรือ 3 ขาพร้อมกัน คือ แหล่งอุตสาหกรรม แหล่งผลิตอาหาร และแหล่งการท่องเที่ยว เป็นต้น

การผลิตอาหารนั้นสำคัญ พื้นที่ EEC บางพื้นที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ หล่อเลี้ยงผู้คนในภาคตะวันออก และทั้งประเทศ แต่พื้นที่เหล่านี้กำลังถูกเปลี่ยนแปลงไป ถูกใช้ไปเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม

ในขณะเดียวกัน ด้วยตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงมาตรการป้องกันแก้ไข COVID-19 หลายมาตรการก็ส่งผลต่อการทำงานของภาคประชาชน และส่งผลต่อการทำงานการตรวจสอบของภาคประชาชน ประเด็นคือ ลำพังสถานการณ์ปกติ การเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยเฉพาะโครงการพัฒนาของรัฐ ก็เป็นไปด้วยความยากลำบากอยู่แล้ว เมื่อเกิดโรคระบาด โจทย์ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ภาคประชาชนอาจเผชิญกับแรงกดดันใน 2 ด้านคือ ด้านแรกคือการเผชิญกับความสำพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งเป็นสถาการณ์ที่ดำรงอยู่มานานแล้ว เนื่องจากรัฐถืออำนาจนำในการพัฒนามาโดยตลอด เวลาเราพูดถึงการมีส่วนร่วม เราใช้รัฐและกลไกรัฐเป็นตัวตั้งมาโดยตลอด ประชาชนเป็นเพียงผู้ต่อรอง ด้วยเหตุนี้กลไกรัฐจึงกลายเป็นคนกำหนดกฎเกณฑ์หรือทิศทางการมีส่วนร่วม คือถ้าชุมชนเราเข้มแข็ง ประชาชนเข้มแข็ง พลังอำนาจของประชาชนก็จะมีมาก ตรงกันข้าม หากภาคประชาชนหรือชุมชนอ่อนแอ กลไกรัฐก็จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมเฉพาะเท่าที่จำเป็นหรือตามบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนาจึงเป็นเหมือนพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ เหมือนเทคโนโลยีทางอำนาจที่ถูกรัฐนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขับเคลื่อนนโยบายหรือการกำหนดนโยบาย

ประเด็นที่สองที่จะเป็นเงื่อนไขในการทำให้ภาคประชาชนทำงานยากขึ้น เราเผชิญกับวาทกรรมที่เรียกว่าวาทกรรม COVID-19 เช่น สุขภาพสำคัญกว่าเสรีภาพ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ภาคประชาชนทำงานลำบาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ต้องดูต่อไปว่า COVID-19 ในครั้งนี้จะกินระยะเวลานานเท่าไหร่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท