Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) และเครือข่าย พร้อมทนายความร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เหตุกฎหมายจดทะเบียนสมรสทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้จนเสียสิทธิต่างๆ ที่พึงมีเช่นเดียวกับคู่รักชายหญิง

17 มิ.ย.2563 มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) พร้อมทนายความจากเอ็นเอสพี ร่วมด้วยองค์กรเครือข่าย เป็นตัวแทนยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 1448 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ให้ชายหญิงจดทะเบียนสมรสได้เท่านั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เนื่องจากมีคู่รักหลากหลายทางเพศถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพและกฎหมายดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ

พงศ์ธร จันทร์เลื่อน รองประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งเป็นตัวแทนได้กล่าวว่าประเทศไทยมีคู่ชีวิตที่เป็นคู่รักเพศเดียวกันที่ใช้ชีวิตด้วยกันแล้วต้องการขดทะเบียนสมรสได้เช่นเดียวกับคู่รักชายหญิงทั่วไป ซึ่งทางมูลนิธิเคยยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินครั้งหนึ่งแล้วว่ากฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือเปล่า แต่ก็ไมได้รับการวินิจฉัย ซึ่งพวกตนเห็นว่าเรื่องนี้ต้องมีความเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่กฎหมายยังเหมือนเดิมทำให้พวกเขาเสียสิทธิที่พึงมีพึงได้ในฐานะพลเมือง จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยเรื่องนี้ด้วย เพราะพวกเราได้รับผลกระทบและขาดสิทธินี้ไป

หนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินครั้งนี้ระบุถึงกรณีของ พัชรมณฑน์ (45 ปี) และชัยยุทธิ์(28 ปี) พัชรยุทธิ เป็นคู่รักที่ตกลงใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมากว่า 6 ปี และตกลงเปลี่ยมาใช้นามสกุลเดียวกันเพื่อแสดงถึงการใช้ชีวิตร่วมกัน แต่เมื่อชัยยุทธิ์ป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทำให้ต้องลางานขาดรายได้ พัชรมณฑ์ซึ่งเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งกลับไม่สามารถช่วยเหลือให้คู่ชีวิตของตนให้ได้รับสวัสดิการของข้าราชการได้เช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิงได้เพราะพวกเขาไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ให้การจดทะเบียนสมรสต้องเป็นชายหญิงต่างเพศกันเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ทั้งสองคนเคยไปขอจดทะเบียนสมรส ณ สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร แต่เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนสมรสแจ้งพวกเขาว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเมื่อตรวจสอบเอกสารแล้วไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการจดทะเบียนสมรส

แม้ว่ามูลนิธิฯและทนายความในฐานะผู้รับมอบอำนาจ จะเคยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปแล้วว่าการสมรสเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคามเป็นมนุษย์จึงไม่อาจถูกจำกัดสิทธิได้เพราะความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศและศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจ แต่ทางสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ก็ยังยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

พวกเขาทั้งสองคนเห็นว่ามาตรา 1448 นั้นเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่าบุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันและได้รับการคุ้มครองในทางกฎหมายเท่าเทียมกัน ซึ่งขัดกับมาตรา 4, 5, 25, 26 และ27 ในรัฐธรรมนูญ

ปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่าทางสำนักงานจะรับเรื่องไว้ ซึ่งเราต้องรับทุกเรื่องเมื่อมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาอยู่แล้ว หลังจากนี้ประธานจะเป็นผู้พิจารณาต่อว่าจะส่งเรื่องต่อไปศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ทั้งนี้พงศ์ธร ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงประเด็น ร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต เป็นเพียงการให้สิทธิกับคู่รักหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องๆ ไปเท่านั้น และไม่ได้ทำให้เกิดความเทียมกันกับคู่รักชายหญิงแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นการแก้ไขที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 จากให้ “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล” สามารถสมรสได้ จะทำให้คู่รักทุกเพศได้รับสิทธิทุกอย่างที่กฎหมายอื่นๆ รับรองสิทธิไว้เช่นเดียวกับคู่ชายหญิง ทั้งสิทธิในการรับเลี้ยงดูบุตร สวัสดิการข้าราชการ และอื่นๆ ซึ่งพ.ร.บ.คู่ชีวิตกลับทำให้คู่รักเพศเดียวกันกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง เนื่องจากเป็นการแบ่งแยกพวกเราออกไปและทำให้พวกเรารู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติแทน

นอกจากนั้นเขายังเห็นว่า คำว่า “คู่ชีวิต” ในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตก็ยังไม่ถูกใช้ในกฎหมายอื่นๆ ต่อให้ร่างกฎหมายนี้รับรองสิทธิต่างๆ ไว้ แต่เมื่อมีการประกาศใช้ขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะมีปัญหาไม่ได้รับสิทธิเหมือนคู่สมรสชายหญิงที่มีกฎหมายรับรองไว้อยู่ดี ฉะนั้นเพียงแก้ไขมาตรา 1448 ให้รับรองคู่รักทุกเพศจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า

ก่อนหน้านี้เดอะ สแตนดาร์ดรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งไม่รับคำร้องในประเด็นเดียวกันนี้ไว้พิจารณา จากกรณีของคู่รักหลากหลายทางเพศอีกคู่คือ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้เช่นกัน โดยเหตุผลหนึ่งที่ศาลพิจารณาไม่รับเรื่องดังกล่าวคือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กำลังดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …. อยู่แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net