Skip to main content
sharethis

รายงานบรรยากาศวันสตรีสากลใจกลางเมืองบาร์เซโลน่า ก่อนสเปนปิดประเทศสู้กับไวรัสโคโรนา และบทสัมภาษณ์นักภาษาศาสตร์ จากบาร์เซโลน่า ถึงผู้หญิงในอดีตที่เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กน้อยในเรื่องเล่าของแคว้นกาตาลุญญา 

ขบวนเฉลิมฉลองวันสตรีสากล ใจกลางเมืองบาร์เซโลน่า

เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่สเปนปิดประเทศเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา ศูนย์กลางการท่องเที่ยวอย่างเมืองบาร์เซโลน่าแห่งแคว้นกาตาลุญญาเองก็ต้องปิดตัวลงเช่นกัน แต่สิ่งที่ผู้เขียนจะพาคุณไปทำความรู้จักในวันนี้ไม่ใช่เรื่องราวของการปิดเมืองและรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดแต่อย่างใด 

ย้อนกลับไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการระบาดหนักของไวรัสโคโรนาในอิตาลี ขณะนั้นใจกลางเมืองบาร์เซโลน่ายังมีการเดินขบวนเพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากลอย่างคึกคักอยู่เลย

ขบวนเฉลิมฉลองวันสตรีสากล ใจกลางเมืองบาร์เซโลน่า

"ช่วงปี 1928 ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเครื่องประดับภาพลักษณ์ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือตัดสินใจ ชีวิตของทุกคนไม่ได้ง่าย แต่สำหรับผู้หญิงมันยากยิ่งกว่านั้น ถ้าคุณเป็นผู้หญิงในปี 1928 อิสรภาพดูเหมือนจะไกลเกินเอื้อม สังคมมองว่าผู้หญิงเราเป็นแค่แม่บ้านและเป็นแม่ เราไม่มีสิทธิ์ฝันหรือทะเยอทะยาน ผู้หญิงหลายคนต้องผ่านหนทางยากลำบากเพื่อเสาะหาอนาคต บางคนต้องเผชิญกับบรรทัดฐานล้าหลังในสังคมลัทธิคลั่งชาติ เราไม่มีสิทธิ์ฝันหรือทะเยอทะยาน ที่สุดแล้วเราทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนก็ต้องการสิ่งเดียวกันคือการเป็นอิสระและถ้าการเป็นอิสระหมายถึงต้องทำผิดกฎ เราก็ยินดีทำโดยไม่นึกถึงผลที่ตามมา"

คำเกริ่นนำของซีรีย์ Netflix ที่ได้รับความนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไปในสเปนชื่อ Las chigas de cable  (cable girls) ที่ผู้เขียนต้องกลับมาหาดูหลังจากที่เพื่อนสาวชาวสเปนแปลให้ผู้เขียนฟังขณะมีผู้ปราศรัยอยู่ในขบวนเฉลิมฉลองวันสตรีสากลกลางเมืองบาร์เซโลน่า 

ภายในขบวนที่เคลื่อนไปตามท้องถนนที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี มีตัวแทนองค์กรทำงานด้านสิทธิสตรีหลายองค์กรเดินสลับกันไปกับประชาชนทั่วไปที่ออกมาแสดงความสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ ธงสีรุ้งสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศแซมอยู่กับเสื้อสีม่วงที่เป็นสัญลักษณ์ประจำปีนี้ การเล่นดนตรีเป็นวงและเคลื่อนขบวนไปข้างหน้าอย่างสนุกสนานนั้นผ่านการฝึกซ้อมร่วมกันมาเป็นอย่างดี ผู้เข้าร่วมขบวนมีหลายช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงวัยที่ยังเดินไหว ที่สำคัญคือไม่ได้มีแค่ผู้หญิงแต่ยังประกอบไปด้วยเพศอื่นๆ คู่รักเกย์ คุณแม่กับลูกชาย กลุ่มเพื่อนสาว กลุ่มหนุ่มสเก็ตบอร์ด คุณพ่อที่พาลูกสาวมาร่วมแสดงพลัง และ ชายหนุ่มที่จับมือหญิงสาวมาผ่านประสบการณ์วัยเยาว์ไปพร้อมกัน พลันผู้เขียนก็สะดุดตากับสาวน้อยร่างเล็กที่ขี่คอหนุ่มร่างสูงโปร่งคนหนึ่งอยู่ ดูราวกับว่าหน้าอกเธอเปลือยเปล่า ฉันถามเพื่อนว่ากลุ่มของเธอนั้นเรียกร้องอะไร เพื่อนสาวไม่รอช้ารีบฝ่าฝูงชนเข้าไปถามให้รู้ความ แล้วกลับมาเล่าให้ฟังว่า ป้ายที่สาวน้อยคนนั้นถือ มีความหมายว่า “ความเงียบจะไม่ใช่สิ่งสวยงามอีกต่อไป” และเธอมีชื่อว่า เนเรียล (Nerai)  เป็นสมาชิกของกลุ่มนักเรียนมัธยมที่รวมตัวกันเฉพาะกิจผ่านทวิตเตอร์และกลุ่มของพวกเธอต้องการส่งเสียงตั้งแต่เรื่องเล็กไปยังเรื่องใหญ่ การรวมตัวไม่มีรูปแบบชัดเจน ไม่มีชื่อร่วมกัน เพียงแค่เห็นด้วยในสิ่งเดียวกัน จากนั้นก็แบ่งหน้าที่กัน ในครั้งนี้พวกเธอได้เสนอข้อเรียกร้องต่อสาธารณะและรัฐสภาในฐานะผู้ออกกฎหมายเรื่องการเปลือยอกในที่สาธารณะ กฎหมายยังถือว่าการเปลือยอกของผู้หญิงเป็นการอนาจารและผิดกฎหมาย แต่สำหรับผู้ชายนั้นกลับไม่มีใครห้าม เพื่อนสาวของผู้เขียนขอใช้รูปของเธอประกอบงานเขียนชิ้นนี้และเธออนุญาตอย่างเต็มใจ ก่อนจะทิ้งประโยคฝากมาหาผู้เขียนที่ยืนรออยู่ที่ขอบถนนว่า “ฉันรู้ว่าที่เอเชียนั้นแย่กว่าที่นี่มาก ฉันเป็นกำลังใจให้คุณนะ” ผู้เขียนสนใจใคร่รู้จักเธอเพิ่มเติมอยู่สักหน่อย  แต่ขบวนที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาทำให้พวกเราต้องขยับตามไปดูข้อเรียกร้องอื่นๆ 

“บางป้ายเขาใช้ภาษากาตาลัน ฉันอ่านไม่ออก” เพื่อนผู้นำทางของผู้เขียนแจ้งหลังจากถูกถามคำถามมากมาย แผ่นป้ายเรียกร้องในขบวนมีทั้งภาษาสเปน อังกฤษ และกาตาลัน 

ซารายน์ (Saray Campanilla) ผู้อาสามานำทาง เธอเป็นชาวสเปนจากฝั่งมาดริด นี่เป็นครั้งแรกของเธอกับการมาร่วมขบวนสตรีที่บาร์เซโลน่า ผู้เขียนพบชายคนหนึ่งพร้อมกับแผ่นป้ายที่มีรูปการ์ตูนของเขา มันเป็นรูปผู้หญิงในผ้าคลุมหรือฮิญาบสีดำ ระบุว่าผู้หญิงในอิรักต้องถูกสั่งขังจำคุกถึง 16 ปี เพียงเพราะเธอออกมาต่อต้านการสวมฮิญาบ และพอมีเวลาถามเขาเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างรอการจัดขบวนใหม่ เขาแจ้งชื่อสั้นๆว่า เซเคียว (Segio)

“ฉันรู้ว่าที่นี่ขบวนการเฟมินิสต์แข็งแรงมากแต่มันยังไม่เพียงพอ เราต้องการบอกผู้หญิงอีกทั่วโลกให้เข้มแข็ง เรารู้ดีว่า มันเป็นเรื่องยาก เราจะขอเป็นปากเสียงให้กับพวกเธอ เพราะในขณะนี้เด็กผู้หญิงถูกบังคับให้แต่งงาน และมีการข่มขืนเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งความรุนแรงในครอบครัว ดูเรื่องในอิรักหรืออิหร่านสิ ผู้หญิงต้องถูกบังคับให้สวมผ้าคลุมแม้ว่าพวกเธอจะไม่ต้องการก็ตาม และลูกสาวฉันสนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ในฐานะพ่อ ฉันต้องมาเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นของเธอ” ชายผู้มาพร้อมกับภรรยาและลูกสาวสองคนเล่าให้ผู้เขียนฟังคร่าวๆ ก่อนที่พวกเราทั้งหมดจะหมุนไปตามการเคลื่อนตัวของขบวน

หินแกะสลักรูป ซาน ฆอร์ดิ ปราบมังกร บนตึกที่ทำการรัฐกาตาลัน

ระยะเวลาแห่งการประกาศให้ประชาชนทุกคนกักตัวอยู่แต่ในบ้านถูกยืดยาวออกมาถึงเดือนเมษายน และนี่เองที่ทำให้ชาวกาตาลุญญาพลาดการเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญของเมืองอีกหนึ่งเทศกาล นั่นคือ เทศกาลวัน SANT JORDI (อ่านว่า ซาน ฆอร์ดิ) ความเป็นมาของเขามีอยู่สองความเป็นไปได้ แต่ทั้งสองความเป็นไปได้ก็นำมาซึ่งตำนานแห่งการปกป้องเมืองบาร์เซโลนา เมืองหลวงแห่งแคว้นกาตาลุญญาเหมือนกัน

ซาน ฆอร์ดิ เป็นที่รู้จักในฐานะอัศวินผู้ปกป้องเจ้าหญิงจากมังกรยักษ์ ซึ่งเป็นรูปแบบปกติในตำนานของโลกตะวันตก อัศวิน เจ้าหญิง และ มังกรร้าย 

เรื่องมีอยู่ว่า ในหมู่บ้าน Cappadocia มีมังกรตัวหนึ่งที่คอยข่มเหงชาวเมือง และเพื่อเป็นการเอาใจมังกรตัวนั้นชาวเมืองจึงได้มอบแกะและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ให้เป็นอาหารของมังกรเรื่อยๆ แต่แล้ววันหนึ่งพวกสัตว์ก็หมดไป เหลือแต่มนุษย์ในเมืองนั้น พระราชาจึงได้ตั้งกติกาขึ้นมาว่าใครก็ตามที่จับฉลากได้จะต้องไปเป็นผู้สังเวยให้แก่มังกร และหลังจากที่กติกานี้ประกาศออกมา ชาวเมืองทุกคนไม่เว้นแม้แต่พระราชาก็ลงชื่อจับฉลากเช่นกัน และคนที่จะต้องไปเป็นเครื่องสังเวยให้มังกรก็คือเจ้าหญิง บุตรสาวแสนสวยและอ่อนหวานของพระราชานั่นเอง ทุกคนในเมืองต่างโศกเศร้ากับการต้องส่งเจ้าหญิงไปเป็นเครื่องสังเวยให้มังกร แต่ตัวเจ้าหญิงเองกลับยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับเธออย่างกล้าหาญ 

ในวันที่เจ้าหญิงต้องเดินทางไปเป็นเครื่องสังเวยแก่มังกร ก็ปรากฏอัศวินผู้หนึ่ง นามว่า อัศวินฆอร์ดิ ในเรื่องไม่ได้บอกว่าเขาเป้นใครมาจากไหน แต่เขาได้เข้าไปช่วยเจ้าหญิงจากปากของมังกรอย่างกล้าหาญ เขาใช้หอกแทงเข้าไปที่หัวใจของมัน จนเลือดไหลลงดินแล้วแตกหน่อเป็นต้นกุหลาบออกดอกสีแดงสด อัศวิน ฆอร์ดิ มอบกุหลาบนั้นแก่เจ้าหญิงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ไม่มีเงื่อนไข  

แล้วเมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่ยุคแห่งการเผยแพร่ศาสนา เรื่องราวตำนานอัศวินนามฆอร์ดิก็ได้ถูกบวกรวมเข้ากับเรื่องเล่าของคริสตจักร เขากลายเป็นนักบุญผู้พลีชีพเพื่อพระคริสต์ เขาคือนักบุญหรืออัศวินผู้ถูกตัดหัวภายใต้คำสั่งของจักรพรรดิ Diocletian ในสงครามศาสนา ถูกเรียกขานในฐานะนักบุญ หรือ Sant ตามภาษาสเปน และได้รับการรำลึกถึงตั้งแต่ปี 1456 กลายเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของแคว้นกาตาลุญญา หรือบางทีทั้งอัศวินผู้ช่วยเจ้าหญิงจากปากมังกรกับนักบุญผู้พลีชีพนั้นอาจจะเป็นบุคคลเดียวกันก็เป็นได้

หนังสือนิทานเรื่องราวของซาน ฆอร์ดิ  เป็นภาษากาตาลัน

ซาน ฆอร์ดิ ในฐานะนักบุญ นี้ได้รับการยอมรับและคงไว้จนถึงปัจจุบันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในแคว้นกาตาลุญญา ตั้งแต่สมัยอาณานิคมของอารากอน และขยายไปถึงเกาะ Baleares ในบัลแกเรีย และ กรีซ ในเอธิโอเปีย และ อังกฤษ เลบานอน ลิทัวเนีย จอร์เจีย เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สโลวีเนีย เม็กซิโก

ทุกวันที่ 23 เมษายน ของทุกปีจะถือเป็นวัน ซาน ฆอร์ดิ (Dai de Sant Jordi) ที่ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วหมายถึงชายคนใดกันแน่ แต่ในตำนานผู้กล้าปราบมังกรที่มาของดอกกุหลาบแดงนี้ผู้คนจดจำเพียงแค่ชื่อของซาน ฆอร์ดิ ส่วนชื่อของเจ้าหญิงแสนงามผู้กล้าหาญยอมรับชะตากรรมกลับหายไปพร้อมกับลมแรงในเมืองบาร์เซโลนา ไม่มีใครจดจำชื่อของเธอได้ เธอจึงเป็นเพียงแค่เจ้าหญิงในเรื่องเล่าเท่านั้น

“เพราะว่าเรื่องเล่านี้เกิดในยุคที่ผู้ชายครอบครองทุกอย่าง และผู้หญิงเป็นเพียงแค่ชนวนเหตุแห่งเรื่องราว รวมถึงการต่อสู้มากมายก็เกิดเหตุมาจากผู้หญิง ความงาม ความไร้เดียงสา ราคะ คือสิ่งที่ผู้ชายปรารถนา พวกเขาไม่เคยชินกับการที่ผู้หญิงออกมาต่อสู้กับระบบที่ผู้ชายครอบครอง” 

Lola Doroles  นักศึกษาปริญญาโทด้านภาษาศาสตร์ เอกภาษาสเปนของมหาวิทยาลัยแห่งบาร์เซโลน่า พ่วงตำแหน่งคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกชาย 2 คน

Lola Doroles  นักศึกษาปริญญาโทด้านภาษาศาสตร์ เอกภาษาสเปนของมหาวิทยาลัยแห่งบาร์เซโลน่า พ่วงตำแหน่งคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกชายสองคนเล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของไวรัสโคโรนานั้น ในเทศกาลหรือในสัปดาห์แห่งการเฉลิมเกียรติแก่ ซาน ฆอร์ดิ ทั่วเมืองจะมีการจัดซุ้มขายหนังสือ หรือ แจกหนังสือมากมายให้แก่ประชาชน ร้านดอกไม้จะคึกคัก และบางร้านก็จัดมันเข้าด้วยกันเพื่อให้สะดวกต่อการซื้อหา “โดยปกติเราจะฉลองกันล่วงหน้าหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้ผู้หญิงมีโอกาสได้เลือกและเตรียมหนังสือ ส่วนผู้ชายก็สรรหาดอกไม้สำหรับคนสำคัญของเขาได้” โลล่าบอกด้วยน้ำเสียงสดใส

โดยปกติเมื่อถึงวันที่ 23 เมษายนแล้ว หญิงสาวจะมอบหนังสือหนึ่งเล่มให้แก่คนรัก หรือคนสำคัญของเธอ และโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ส่วนชายหนุ่มจะมอบกุหลาบแดงให้แก่หญิงสาวที่เขารัก หรือคนสำคัญ เช่นแม่ของเขา หรือพี่สาว เพราะวันนี้ถือเป็นวันแห่งความรักของชาวแคว้นกาตาลุญญา และถ้าคุณอาศัยอยู่ที่นี่คุณจะไม่มีทางได้รับดอกไม้ในวันวาเลนไทน์หรอก โดยเฉพาะจากหนุ่มชาวกาตาโลเนีย

“ประเพณีนี้มีจุดกำเนิดที่แตกต่างกัน ตำนานและรูปแบบเชิงพาณิชย์ทั้งหมดมีจุดกำเนิดในศตวรรษที่ 20” โลล่า เริ่มเล่า 

ที่มาของสองสิ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้มีความเป็นไปได้ว่าดอกไม้นั้นอาจจะมีที่มาจากเทศกาลดอกกุหลาบที่เกิดในศตวรรษที่ 15 ในปาเลาเดอลาเจริติทัต (สาธารณรัฐปาเลาในปัจจุบัน) เป็นการประดับประดาดอกไม้โดยเฉพาะกุหลาบตามสภาเมืองและสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อการท่องเที่ยวแล้วส่งผลเป็นอิทธิพลกระจายมาถึงดินแดนแถบนี้เมื่อครั้งที่ชาวสเปนได้เดินทางไปถึงหมู่เกาะปาเลาที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อนานมาแล้ว แต่ก็ไม่มีคำยืนยันที่ชัดเจนว่ามาจากไหนกันแน่ หรือที่แท้แล้วมาจากตำนานแทงทะลุดวงใจมังกรที่เลือดหลั่งออกมาเป็นกุหลาบสีแดงสดของซานฆอร์ดิ  ส่วนหนังสือนั้นมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20  Cervantes Vicente Clavel Andres นักเขียนและผู้อำนวยการสำนักพิมพ์แห่งแคว้นกาตาลัน เสนอให้หอการค้าอย่างเป็นทางการของบาร์เซโลน่า จัดงานเทศกาลส่งเสริมการอ่านในวันที่ 7 ตุลาคม ปี 1929 และได้รับการอนุมัติให้เป็นวันแห่งหนังสือ (Dia del libro) มีงานแสดงสินค้านานาชาติและการตั้งร้านขายหนังสือตามท้องถนนแล้วทั้งสองสัญลักษณ์ก็กลายเป็นธรรมเนียมเดียวกันโดยใช้ตำนานของอัศวินปราบมังกรเป็นการอธิบายอย่างย่นย่อสืบมาจนถึงปัจจุบัน และจากเทศกาลหนังสือในวันที่ 7 ตุลาคม ถูกเปลี่ยนเป็นวันที่ 23 เมษายน ในปี 1930 ซึ่งตรงกับวันฝังศพของ มิเกลเดเซร์ บันเต (Miguel de Cervantes) นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของสเปน  และมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นวันหนังสือแห่งสเปนหรือรู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า Spanish Book festival

UNESCO ประกาศให้วันที่ 23 เมษายนของทุกปีเป็นวันหนังสือโลกในปี 2001 เนื่องจากวันนี้เป็นวันสำคัญของวงการนักเขียน คือเป็นวันเสียชีวิตของ William Shakespeare วันฝังศพของ Miguel de Cervantes และเป็นวันเกิดหรือวันเสียชีวิตของนักเขียนอีกหลายคน เช่น Maurice Druon, Manuel Mejia Vallejo และ Wiliam Wordsworth ถ้าหากไม่มีการระบาดของโคโรนาไวรัส ผู้เขียนคงได้เห็นเดินในเทศกาลนี้ร่วมกัน 

การมอบดอกไม้และหนังสือ อาจจะไม่มีนัยยะใดสำคัญนอกจากการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคหนังสือและส่งเสริมการอ่านของชาวกาตาลันพร้อมกับส่งเสริมประวัติศาสตร์อันยาวนานของนครบาร์เซโลน่าผ่านเรื่องราวความรักที่กล้าหาญของซาน ฆอร์ดิ 

“ก่อนหน้านี้ผู้หญิงต้องคิดถึงวันนี้มากกว่าผู้ชาย ในยุคที่ผู้หญิงยังถูกกดอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชาย แม้ว่าผู้หญิงชนชั้นกลางถึงชนชั้นสูงจะได้เรียนหนังสือ แต่การจะมีชีวิตที่เป็นอิสระหรือมีตัวตนจริงๆ นั้นเป็นเรื่องยาก” โลล่าบอกและอธิบายเพิ่มเติมว่าสำหรับหญิงสาวแล้วการมอบหนังสือเล่มหนึ่งให้ใครสักคนคือการเตือนเขาว่ามันสำคัญแค่ไหนที่เขาจะรู้ว่าควรจะอ่านมันอย่างไร และเหนือสิ่งอื่นใดคือ หนังสือเล่มหนึ่งสามารถเปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้ และเหนือไปมากกกว่านั้นหนังสือสักเล่มอาจจะช่วยให้ผู้หญิงคนนั้นมีชีวิตที่เปลี่ยนไปได้เช่นกันถ้าชายผู้ปกครองอ่านมันอย่างเปิดใจ 

เพราะผู้ชายงี่เง่าหรือเปล่า ผู้หญิงถึงต้องมอบหนังสือให้เขา ผู้เขียนถามขณะที่เราทั้งคู่เดินไปบนถนนอันเงียบสงบไร้ผู้คนของบาร์เซโลน่า โลล่ายิ้มกว้างแล้วขำกับคำถามของผู้เขียน

“ทุกวันนี้ ผู้หญิงเราก็ได้รับหนังสือเช่นกัน และผู้ชายไม่ได้งี่เง่าทุกคนหรอก ฉันมีเพื่อนผู้ชายมากมายที่เขาเข้าใจผู้หญิงและสิทธิสตรี แต่มันไม่ใช่เพราะพวกเขาเมตตาให้เราหรอกนะ  ผู้หญิงมากมายในอดีตเสียสละเพื่อให้เรามีวันนี้ในวันที่เราสามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้มีอิสระและไม่ต้องสนใจคำครหาจากใคร ถ้าหากคุณจะเลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียว" 

โลล่าขณะสาธิตหลักสูตรการสอนภาษาสเปน

โลล่าเล่าว่าผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อสังคมในรูปแบบใหม่เมื่อพวกเธอเริ่มเข้าร่วมรบในสงครามกลางเมืองสเปนในช่วงปี 1936-1939 เวลานั้นผู้ชายเริ่มเห็นความเข้มแข็งในฐานะนักรบของผู้หญิง พวกเขาทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ และพวกเขาเริ่มเข้าใจแนวคิดของความเท่าเทียมมากขึ้น และหลังจากนั้นเมื่อแคว้นกาตาลุญญาถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสเปน ความต้องการเรียกร้องเอกราชก็ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายต้องผนึกกำลังเพื่อการทำงานร่วมกันมากขึ้น  ทั้งกวี นักเขียน ปัญญาชนและประชาชนทั่วไป

“สิ่งที่ทำให้ขบวนการสตรีนิยมของเราขยับมาได้ไกลขนาดนี้ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ได้แยกเรื่องผู้หญิงออกจากเสรีภาพ ประชาธิปไตย และเอกราชของเรา เราจะไม่มีทางได้เอกราชหรือเสรีภาพใดๆ ถ้าเราไม่เริ่มสร้างความเท่าเทียมทางเพศ” โลล่าทิ้งท้าย 

ทุกวันนี้ตำนานการฆ่ามังกรของ ซาน ฆอร์ดิ กลายเป็นแค่เรื่องราวเล็กๆ ในเทศกาลส่งเสริมการอ่าน หนังสือถูกกระจายให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่บทบาทในการเลือกหนังสืออยู่ที่ผู้หญิงที่จะเป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลงของผู้ชายที่เธอรัก และที่สำคัญตำนานนี้มันคือเครื่องย้ำเตือนให้เรารู้ว่าผู้หญิงในอดีตที่เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กน้อยในเรื่องเล่า อยู่อย่างไร้ชื่อเสียงเรียงนามให้จดจำนั้นพาเรามาไกลขนาดไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net