Skip to main content
sharethis

กสม.-ภาคีเครือข่ายเร่งระดมสมองจัดทำข้อเสนอแนะเชิงระบบ ส่งให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องป้องกันปัญหาและยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กนักเรียน ชี้ปัญหาคือผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความ ด้วยโครงสร้างสังคมปิตาธิปไตยและวัฒนธรรมเชิงอำนาจ

17 มิ.ย. 2563 วันนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคประชาสังคม ศึกษาปัญหาและแนวทางการยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กนักเรียน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบเสนอต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสม. ได้เห็นชอบให้มีการศึกษาปัญหาและแนวทางการยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กนักเรียนโดยครูหรือบุคลากรทางการศึกษา เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งในเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ หลายมิติ จึงได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนภาคประชาสังคมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมี ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง อารีวรรณ จตุทอง และสุวัฒน์ เทพอารักษ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม

นอกจากนี้ยังมีผู้มีประสบการณ์การทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองเด็กเยาวชน ประกอบด้วย ทิชา ณ นคร สุนี ไชยรส เจษฎา แต้สมบัติ และแสงจันทร์ เมธาตระกูล และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ของ กสม. ประกอบด้วย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เฉลิมชัย พันธ์เลิศ สุคนธ์ สินธพานนท์ และ สมบัติ ตาปัญญา โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญ คือ ปัญหาและผลกระทบ กฎหมายและกลไกการคุ้มครองเด็ก มาตรการป้องกันและการช่วยเหลือของสถานศึกษา กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก มาตรการและแนวทางการฟื้นฟูเยียวยา บทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าว

ประกายรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงต่อเด็กในสถานศึกษา พบว่าการที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กนักเรียนสะท้อนถึงการขาดความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิเด็ก เป็นการสร้างและตอกย้ำวัฒนธรรมการใช้อำนาจของครูที่มีต่อเด็ก และการขาดระบบคุ้มครองเด็กที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพในสถานศึกษา การล่วงละเมิดเด็กนักเรียนนี้มักเกิดกับเด็กที่ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ นอกจากนี้ หากเป็นกรณีที่เกิดในต่างจังหวัดก็อาจมีเรื่องอิทธิพลในท้องถิ่นมาเกี่ยวข้อง และนำไปสู่การไกล่เกลี่ยเพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ทั้ง ๆ ที่เป็นฐานความผิดที่ไม่สามารถยอมความกันได้ก็ตาม นอกจากนี้ การล่วงละเมิดต่อเด็กไม่ได้จำกัดวงเฉพาะครูอาจารย์ที่ใกล้ชิดเด็กเท่านั้น แต่คนในครอบครัวก็อาจเป็นผู้ล่วงละเมิดต่อเด็กได้เช่นกัน

ประกายรัตน์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาจึงต้องสร้างกลไกในการคุ้มครองเด็กที่มีประสิทธิภาพโดยนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน สามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและป้องกันการกระทำที่ไม่เหมาะต่อเด็กนักเรียน ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งเด็กนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปให้ตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสร้างวัฒนธรรมในการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย

“เป็นที่น่ายินดีว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและสั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ นำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัย – มัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่ง กสม. จัดทำขึ้น ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน โดย กสม. จะมุ่งส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษานี้ให้แพร่หลายออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น” ประกายรัตน์ ระบุ

ด้านอารีวรรณ จตุทอง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญอีกประการที่เกิดขึ้นคือ ส่วนใหญ่แล้วเด็กนักเรียนหรือผู้เสียหายมักจะไม่กล้าพึ่งพากระบวนการยุติธรรมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ด้วยโครงสร้างสังคมปิตาธิปไตยและวัฒนธรรมเชิงอำนาจ ทำให้เด็กไม่กล้าเปิดเผยเรื่องการถูกละเมิดทางเพศให้ผู้ปกครองหรือบุคคลในครอบครัวทราบ เนื่องจากวุฒิภาวะการตัดสินใจ ความกลัว เห็นว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย ทำให้ครูบางคนอาศัยจุดอ่อนนี้เป็นเครื่องมือในการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก นอกจากนี้ แม้จะมีบุคคลอื่นร่วมรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ก็มักจะไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลเพราะครูผู้กระทำผิดนั้น มักเป็นที่ยอมรับของบุคลากรในโรงเรียน ทำให้เด็กอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกระทำล่วงละเมิดทางเพศซ้ำ ๆ เรื่อยไปโดยไม่ทราบวิธีการในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายบางกรณีบุคคลอื่นกลับเห็นว่าการกระทำล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในสังคม ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพราะทั้งตัวเด็กผู้ถูกละเมิด พยานแวดล้อม หรือแม้กระทั่งผู้บริหารของโรงเรียนก็ไม่มีใครอยากจะเอ่ยถึงเรื่องที่เกิดขึ้น กล่าวได้ว่าการล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียน เป็นปัญหาเฉกเช่นฝีหนองของระบบการศึกษาไทยที่ต้องเร่งรีบรักษาอย่างเป็นระบบ เพื่อมีมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

นอกจากการรับฟังข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนภาคประชาสังคมแล้ว กสม. จะเชิญผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNICEF) มาร่วมแลกเปลี่ยนในวันที่ 22 มิถุนายน นี้ จากนั้นจะประมวลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากทุกภาคส่วนมาจัดทำร่างข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบให้ กสม. พิจารณาก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องโดยเร็ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net