สปสช.เตรียมขยับ ‘รับยาใกล้บ้าน’ สู่รูปแบบ 3 นำร่องปี 63 ลดภาระงานโรงพยาบาล

สปสช.เตรียมนำร่องโครงการรับยาใกล้บ้าน รูปแบบ 3 ให้ร้านยาจัดการยา-ลดภาระโรงพยาบาล ตั้งเป้าเริ่ม 6 โรงพยาบาลในปี 2563

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จับมือเตรียมนำร่องโครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) หรือโครงการรับยาใกล้บ้าน ในรูปแบบที่ 3 ซึ่งจะเป็นการลดภาระโรงพยาบาลในการจัดส่งยาไปร้านยา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า โครงการรับยาใกล้บ้าน มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยไม่ต้องรอคอยการรับยาที่โรงพยาบาล รวมถึงลดความแออัดและลดภาระด้านยาให้กับโรงพยาบาล โดยให้บริการกับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน หอบหืด จิตเวช รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ผู้ป่วยมีภาวะคงที่ ขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์

ทั้งนี้ สปสช.ได้สนับสนุนค่าบริการจัดการเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาล จำนวน 33,000 ต่อร้านยา และให้กับร้านยา จำนวน 70 บาทต่อใบสั่งยา ซึ่งตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562 เป็นต้นมา ได้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 130 แห่ง ร้านยา 1,033 แห่ง และผู้ป่วยรวม 14,391 คน ซึ่ง รพ.พระจอมเกล้า นับเป็นหน่วยบริการที่สามารถกระจายผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านได้สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโรงพยาบาลส่วนใหญ่กว่า 80% ได้ดำเนินการในรูปแบบที่ 1 คือหน่วยบริการจะจัดยาผู้ป่วยเป็นรายบุคคลส่งให้ร้านยา ขณะที่บางส่วนดำเนินการในรูปแบบที่ 2 คือหน่วยบริการสำรองยาไว้ที่ร้านยา และให้ร้านยาจัดยา แต่ทั้ง 2 รูปแบบนี้ยังไม่สามารถลดภาระงานของโรงพยาบาลที่ยังต้องบริหารจัดการยาได้ ดังนั้น สปสช.จึงผลักดันให้เกิดการนำร่องสู่รูปแบบที่ 3 คือให้ร้านยาจัดการด้านยาแทน ผ่านหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดหา โดยตั้งเป้านำร่องในโรงพยาบาล 6 แห่งภายในปี 2563

“รพ.พระจอมเกล้า เป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการนำร่องรูปแบบที่ 3 ได้ โดยมีร้านยาในพื้นที่ร่วมเป็นเครือข่าย 14 แห่ง ซึ่งในช่วงแรกทาง สปสช. จะสำรองเงินให้แก่ร้านยาแห่งละ 8,000 บาทต่อปี เพื่อใช้เป็นทุนเริ่มต้นสำหรับการหมุนเวียน โดยจะดูผลการดำเนินงานและนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาต่อไป” นพ.ศักดิ์ชัย ระบุ

นพ.ชุมพล เดชะอำไพ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้เริ่มดำเนินโครงการรับยาใกล้บ้านในรูปแบบที่ 1 ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 ซึ่งในช่วงแรกมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการยังไม่มาก แต่จากการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทำให้มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากที่มีผู้ป่วยรับยา 25 ครั้งในเดือน ธ.ค. ค่อยๆ เพิ่มเป็น 64, 78 และ 140 ครั้งตามลำดับในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2563

ขณะเดียวกันผลจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้ทำให้ตัวเลขของผู้ป่วยรับยาที่ร้านพุ่งสูงขึ้นเป็น 598 ครั้ง ในเดือน เม.ย. 2563 ซึ่งยอดรวมจนถึงปัจจุบัน รพ.พระจอมเกล้า มีผู้ป่วยรับยาที่ร้านแล้ว 1,132 ครั้ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่รูปแบบที่ 3 รวมถึงการเตรียมระบบออนไลน์ที่รับ-ส่งข้อมูล ระหว่างโรงพยายาลกับร้านยาได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาของ สปสช. ซึ่งคาดว่าจะพร้อมได้ในช่วงปลายเดือน ก.ค.

“รพ.พระจอมเกล้า เป็นโรงพยาบาลจังหวัดที่ประชาชนส่วนใหญ่จากทุกอำเภอมักเข้ามาใช้บริการ ทำให้เกิดความแออัดจากจำนวนผู้ป่วยกว่า 2 พันรายในทุกวัน โดยเฉพาะส่วนของผู้ป่วยนอกที่เกิดคอขวดในช่วงของการรอรับยา ฉะนั้นการรับยาใกล้บ้านจะช่วยผ่อนตรงนี้ไปได้ ยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่เราต้องการให้เกิดระยะห่างมากยิ่งขึ้น โดยเรามีเป้าหมายที่จะลดความแออัดตรงนี้ลงให้ได้ประมาณ 20%” นพ.ชุมพล ระบุ

ด้าน นพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า โครงการรับยาใกล้บ้านได้ช่วยทั้งในเรื่องของการเพิ่มระยะห่าง และลดความแออัดของโรงพยาบาล ซึ่งคาดหวังว่าการดำเนินในรูปแบบที่ 3 นี้จะได้รับความร่วมมือมากขึ้น ครอบคลุมไปถึงโรงพยาบาลทั้ง 8 แห่ง รวมไปถึงร้านยาอีก 102 ร้านในจังหวัด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท