เกณฑ์ทหารเอาไงดี?: สภาฯเปิดรับฟังความเห็นเลิกลุ้นจับสลาก ใช้ระบบสมัครใจแทนดีไหม

สภาเปิดรับฟังความเห็นร่างกฎหมายทหารเกณฑ์ที่พรรคก้าวไกลเสนอ สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ ยกเลิกการบังคับเป็นทหารเกณฑ์ เปลี่ยนมาใช้ระบบสมัครใจแทนโดยผ่านการสอบคัดเลือก และเพิ่มสวัสดิการครอบคลุมถึงครอบครัว ระยะเวลาเป็นทหารเกณฑ์ 5 ปี และเปิดโอกาสสอบเป็นนายทหารชั้นประทวนและชั้นสัญญาบัตรได้ พร้อมกำหนดเงื่อนไขการฝึกทหารต้องเป็นมาตราฐานเดียว เพิ่มความรู้ด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และกำหนดโทษหากผู้บังคับบัญชานำทหารไปรับใช้ส่วนตัว รวมทั้งกระทำการละเมิดต่อร่างกาย จิตใจ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หลังจากมีการประกาศเลื่อนการเกณฑ์ทหารออกไป เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว การเรียกเกณฑ์ทหารก็กลับมาดำเนินการได้ตามเดิม โดยมีการกำหนดช่วงเวลาในการคัดเลือกทหารกองประจำการประจำปี 2563 ไว้ในช่วงวันที่ 23 ก.ค. - 31 ส.ค. นี้

การเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมานานหลายปีแล้วว่า ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเกณฑ์ทหารอยู่หรือไม่ และความจำเป็นที่กองทัพต้องการทหารเกณฑ์จำนวนมากคืออะไร อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้ไม่เคยเข้าไปถึงขั้นตอนในการแก้ไขกฎหมายได้เลย จนกระทั่งในการเลือกตั้งปี 2562 มีพรรคการเมืองหลากหลายพรรคหยิบยกประเด็นเรื่องการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารมาเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง

ถึงวันนี้ ประเด็นดังกล่าวเริ่มผลิดอกออกผลแล้ว หลังจากพรรคอนาคตใหม่(ก่อนถูกยุบ) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร โดยผู้เสนอคือ พล.ท.พงศกร รอดชมพู แต่หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสินทางการเมือง ร่างกหมายได้กล่าวได้ถูกเสนอใหม่โดยใช้ชื่อของ รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล

สถานะของร่างกฎหมายดังกล่าว หลังจากมีการการยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2562 เวลานี้กำลังอยู่ในกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป ที่เว็บไซต์ คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (คลิกเพื่อเข้าแสดงความคิดเห็น)

ทั้งนี้เมื่อเข้าไปในเว็บไซต์ ที่หน้าแสดงความคิดเห็นจะพบว่ามีแบบสอบถาม 2 ชุดหลัก ชุดแรกเป็นการสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยจะเป็นตัวเลือกให้คลิกเลือกคำตอบที่ถูกต้อง โดยในส่วนนี้มีการเก็บข้อมูลทั้งหมด 5 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย เพศ (มีให้เลือกเพียงชาย-หญิงเท่านั้น) , อายุ , ระดับการศึกษา , อาชีพ และมีความเกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัตินี้ในฐานะใด (ไม่มีตัวเลือกสำหรับเพศหญิง และกลุ่มเพศหลากหลาย)

ส่วนที่สองเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับประเด็นที่เปิดรับฟังความคิดเห็น มีทั้งหมด 7 ด้วยกันประกอบด้วย

1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะมีการแก้ไขเพิ่มบทบัญญัติดังกล่าว

เห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีการแก้ไข พ.ร.บ. รับราชการทหาร สำหรับกฎหมายนี้ถูกตราขึ้นครั้งแรกในในปี 2497 ผ่านการแก้ไขทั้งหมด 5 ครั้ง ครั้งแรกปี 2498 ครั้งที่สอง 2507 ครั้งที่สามและครั้งที่สี่แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติในปี 2515 และครั้งที่ห้าแก้ไขในปี 2516 โดยสาระสำคัญที่แตกต่างกันระหว่าง กฎหมายเดิม กับร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่มีการเสนอในครั้งนี้คือ เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดที่ว่า ชายไทยมี “หน้าที่” ต้องรับราชการทหาร(ทหารเกณฑ์) เป็น ชายไทยมี “สิทธิ” เข้ารับราชการทหาร

2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ให้ถือเอาที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของบุคคลเป็นเป็นภูมิลำเนาทหาร

เดิมทีมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.รับราชการทหาร กำหนดให้บุคคลต้องลงบัญชีทหาร กองเกินตามอำเภอที่กำหนด และให้การลงบัญชีดังกล่าว ถือว่าผู้นั้นมีภูมิลำเนาทหารในท้องที่อำเภอที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ กล่าวคือตามกฎหมายเดิม เมื่อบุคคลซึ่งมีเพศกำเนิดเป็นชาย เมื่อมีอายุถึง 17 ปี จะต้องไปลงบัญชีทหารกองเกินตาม ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต ท้องที่ที่บิดามีภูมิลำเนาทะเบียนบ้าน ในกรณีที่บิดาเสียชีวิต หรือไม่รับรองบุตร ให้ถือตามท้องที่ที่มารดามีภูมิลำเนาทะเบียนบ้านอยู่ และในกรณีที่บิดา มารดาเสียชีวิตทั้งหมดให้ยึดตามท้องที่ของผู้ปกครอง

ทั้งนี้ในทางปฏิบัติพบว่า มีผู้ที่เข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการจำนวนมากที่มีการย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ที่อื่น อันเนื่องมาจากการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ประกอบอาชีพ และกรณีอื่นๆ ซึ่งเมื่อถึงเวลาตรวจคัดเลือก ทำให้ต้องเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาทหารที่ได้ลงทะเบียนไว้เมื่อตอนอายุ 17 ปี

3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดมีสิทธิสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการ

สาระสำคัญที่แตกต่างกันระหว่าง กฎหมายเดิม กับร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่มีการเสนอในครั้งนี้คือ เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดที่ว่า ชายไทยมี “หน้าที่” ต้องรับราชการทหาร(ทหารเกณฑ์) เป็น ชายไทยมี “สิทธิ” เข้ารับราชการทหาร

โดยคำว่าสิทธินั้นหมายถึง การเลือกได้ว่า จะรับสิทธินั้นหรือไม่ ก็ได้ ขณะที่ หน้าที่ หมายถึงว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำตามเท่านั้น

4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับราชการทหาร หลักเกณฑ์การบรรจุ และการเกษียณอายุราชการของทหารกองประจำการ

ตามกฎหมายเดิม บุคคลที่จะต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นทหารกองประจำการนั้น มีคุณสมบัติเพียงแค่การเป็นบุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย และมีอายุ 21 ปี แต่ในร่างกฎหมายนี้ ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับสิทธิเป็นทหารกองประจำการ โดยต้องมีคุณสมบัติคือ จบการศึกษาในระดับมัธยมตอนปลาย

ส่วนหลักเกณฑ์ใในการบรรจุเป็นทหารกองประจำการนั้น เดิมทียึดตามวุฒิการศึกษา และความสมัครใจร้องขอเป็นทหารกองประจำการ กล่าวคือ หากมีวุฒิการศึกษาไม่ถึงปริญญาตรี และจำสลากได้ใบแดง จะต้องเป็นทหารกองประจำการเป็นเวลา 2 ปี แต่ถ้าสมัครใจร้องขอฯ จะลดเวลาลงเหลือ 1 ปี 

ส่วนผู้ที่จบปริญญาตรีหากจับสลากได้ใบแดงจะต้องเป็นทหารกองประจำการเป็นเวลา 1 ปี แต่หากสมัครใจร้องขอฯ จะลดเวลาลงเหลือ 6 เดือน ขณะที่ร่างกฎหมายนี้กำหนดหลักเกณฑ์บรรจุ และการเกษียณอายุราชการของทหารกองประจำการไว้ โดยผู้ที่ต้องกรเข้ารับสิทธิเป็นทหารกองประจำการจะต้องเข้าสอบแข่งขันเพื่อเข้าบัญชีผู้ที่สมควรได้รับการบรรจุ โดยหลักเกณฑ์วิธีการสมัคร การคัดเลือก และกหารบรรจุ ให้เป็นไปตามกระทรวงกลาโหมกำหนด ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการบรรจุจะต้องเป็นทหารกองประจำการเป็นเวลา 5 ปี โดยอายุของผู้ได้รับการแต่งตั้งต้องไม่เกิน 40 ปี บริบูรณ์ ซึ่งทหารกองประจาการที่อยู่ครบกำหนดมีสิทธิสมัครเป็นทหารกองประจาการได้อีกครั้งหนึ่งในระยะเวลา ไม่เกิน 5 ปี โดยให้ครองชั้นยศไม่เกินสิบโทกองประจำการ นอกจากนี้ยังมีการกาหนดให้ทหารกองประจาการที่ ได้รับการแต่งตั้งครบ 5 ปีมีสิทธิสมัครแข่งขันเพื่อเป็นข้าราชการทหารชั้นประทวนและชั้นสัญญาบัตรตามลำดับ ทุก 5 ปี โดยครองยศสูงสุดได้ไม่เกินพันโท และให้เกษียณอายุราชการเมื่ออายุครบ 46 ปีบริบูรณ์

5.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดวิธีการและหลักสูตรการฝึกทหารกองประจำการ เงินเดือนและสวัสดิการที่ได้รับ และห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่นใดให้ทหารกองประจำการทำงานลักษณะรับใช้ส่วนตัว

ในร่างกฎหมายนี้ ได้เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการฝึกทหารเพิ่มเข้ามาด้วย โดยกำหนดให้ต้องใช้วิธีการฝึกแบบรวมการ โดยให้มีการ ฝึกเป็นมาตรฐานเดียวกัน และหลักสูตรที่ใช้ฝึกต้องรวมถึงความรู้ด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ประเพณีทางทหารแบบสากล และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทหาร ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่อำนวยการฝึกทหารกองประจำการให้มีความปลอดภัย สวัสดิภาพ สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์

ส่วนสวัสดิการนั้น เดิมทีทหารกองประจำการจะได้รับเงินเดือนจำนวน 10,000 บาท แต่เงินในจำนวนนี้จะถูกหักออกไปเป็นค่าชุด ค่าเครื่องแบบต่างๆ ด้วย ในช่วงแรกที่เข้าประจำการ แต่ร่างกฎหมายนี้ กำหนดให้ทหารกองประจำการได้รับเงินเดือน สวัสดิการ ซึ่งต้องรวมถึง ทุนการศึกษา ประกันชีวิต ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงครอบครัว และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตาม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด และให้กระทรวงกลาโหมจัดให้มีทุนประกอบอาชีพแก่ทหาร กองประจำการที่ถูกปลดพ้นจากราชการทหาร อย่างไรก็ตามกรณีที่ทหารดังกล่าวปลดประจาการก่อนครบ กำหนด 5 ปี เนื่องจากลาออก ไล่ออก หรือเหตุอื่นใดที่ไม่ได้เป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ย่อมไม่ได้รับสิทธิ ประโยชน์จากเงินเดือน สวัสดิการต่าง ๆ ประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น รวมถึงทุนประกอบอาชีพดังกล่าว

นอกจากนี้ยังเพิ่มบทบัญญัติที่กำหนดโทษหากมีนายทหารเรียกตัวพลทหารไปเป็นทหารบริการ หรือทหารรับใช้ส่วนตัวด้วย โดยกำหนดห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่นใดให้ทหาร กองประจำการทางานลักษณะรับใช้ส่วนตัว ทั้งนี้ หากมีการกระทาความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นให้ดาเนินการสอบสวน โดยเร็ว และถ้าผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการทหารให้ถือว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยวินัยข้าราชการ

6.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้อำนาจคณะรัฐมนตรีตราพระราชกฤษฎีกาเรียกระดมพลให้ทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการในกรณีที่อาจเกิดภาวะสงคราม

ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีตรา “พระราชกฤษฎีกาเรียกระดมพลให้ทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการ” ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าอาจเกิดภาวะสงครามในระยะเวลาอันใกล้ โดยการเรียกระดมพลให้ กำหนดระยะเวลาคราวละไม่เกิน 1  ปี

7.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กับการกำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาการเข้ารับราชการทหารกองประจำการที่จะปลด เป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 และช่วงอายุที่ให้ปลดพ้นราชการทหารกองหนุนประเภทที่ 1

ให้เพิ่มบทบัญญัติจากกฎหมายเดิมขึ้นใหม่เป็นมาตรา 9 ทวิ เพื่อกำหนดวันเริ่มเข้ารับราชการ ทหารกองประจาการ โดยให้นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุกองประจำการ และเมื่ออยู่ในกองประจำการครบกำหนด แล้ วให้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 คือ อายุไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ เป็น ทหารกองหนุนชั้นที่ 1 อายุ 30 ปีบริบูรณ์แต่ไม่ถึง 40 ปีบริบูรณ์ เป็นทหารกองหนุนชั้นที่ 2 และอายุ 40 ปี บริบูรณ์แต่ไม่ถึง 46 ปีบริบูรณ์ เป็นทหารกองหนุนชั้นที่ 3 และหากเป็นบุคคลที่มีอายุมากกว่า 46 ปีบริบูรณ์ให้ ปลดพ้นราชการทหารกองหนุนประเภทที่ 1

 

ทั้งนี้สามารถอ่านร่างกฎหมายฉบับเต็มได้ที่นี่

https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20200601113513_1_82.pdf

https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20200606124546_3_82.pdf

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท