Skip to main content
sharethis

กลุ่ม LGBTQ+ ในสหรัฐฯ แสดงความยินดี หลังจากศาลสูงสุดตัดสินยืนยันว่าไม่ควรจะมีการกีดกันเลือกปฏิบัติเรื่องหน้าที่การงานต่อชาว LGBTQ+ หนึ่งในผู้ที่ผลักดันด้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศในครั้งนี้คือ เอมี สตีเลนส์ หญิงข้ามเพศผู้ล่วงลับก่อนที่คำตัดสินของศาลจะออกมา การตัดสินของศาลในครั้งนี้ยังนับว่าน่าแปลกใจเพราะศาลสูงสุดสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันถูกมอง่วาอนุรักษ์นิยม อีกทั้งยังเป็นการต่อต้านการผลักดันของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พยายามจะทำให้เกิดการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ กลับมา

ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และรัฐบาลภายใต้การนำของเขาจะพยายามทำให้สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศถดถอยลง แต่เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตัดสินยืนยันว่ากฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ยังคงมีผลบังคับใช้เพื่อห้ามไม่ให้มีการกีดกันเลือกปฏิบัติทางเพศวิถีหรือต่อคนข้ามเพศในเรื่องการทำงาน นั่นหมายความว่าจะการอ้างเรื่องความเป็น LGBTQ+ ในการเลิกจ้างหรือไม่ยอมจ้างงานบุคคล จะถือเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย

ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ มีมติเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมาด้วยเสียง 6-3 ระบุให้กฎหมายลักษณะที่ 7 (Title VII) ของกฎหมายสิทธิพลเมืองปี 2507 ยังคงมีผลบังคับใช้ โดยที่กฎหมายฉบับดังกล่าวระบุห้ามไม่ให้มีการกีดกันเลือกปฏิบัติในด้านอัตลักษณ์รวมถึงเรื่องเพศวิถีเช่น เกย์ เลสเบียน ไบเซ็กชวล หรือเพศสภาพอย่างคนข้ามเพศ

สื่อระบุว่าเรื่องนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศรวมถึงกลุ่มผู้เคลื่อนไหวประเด็นคนข้ามเพศ ทั้งนี้ยังถือเป็นเรื่องน่าแปลใจที่ศาลสายอนุรักษ์นิยมของสหรัฐฯ ตัดสินเช่นนี้ โดยที่ผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนหนึ่งคือ นีล กอร์ซุช ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ยังเป็นผู้ที่โหวตสนับสนุนการคุ้มครอง LGBTQ+ ในที่ทำงานด้วย

กอร์ซุช ระบุว่า นายจ้างคนใดที่ไล่บุคคลออกเนื่องจากเป็นคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ควรจะออยู่บนฐานของเรื่องคุณสมบัติหรือการกระทำของคนนั้นๆ และไม่ควรจะเป็นเรื่องเพศสภาพหรือเพศวิถีของพวกเขา เพราะการไล่คนออกด้วยฐานเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ถูกระบุห้ามไว้ในกฎหมายสิทธิพลเมืองของสหรัฐฯ

"มีเพียงแค่ข้อความที่ระบุไว้เท่านั้นที่นับเป็นกฎหมาย และทุกคนมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้" กอร์ซุช ระบุไว้ในข้อความศาล

สื่อเอ็นบีซีระบุว่าในสหรัฐฯ มีอยู่ 21 รัฐ ที่มีกฎหมายตัวเองในการห้ามไม่ให้มีการกีดกันเลือกปฏิบัติทางหน้าที่การงานเช่นการไล่ออกหรือการไม่ยอมจ้างด้วยฐานเรื่องเพศวิถีหรือเพศสภาพ มีอยู่ 7 รัฐที่ให้การคุ้มครองเรื่องนี้แต่กับตำแหน่งงานข้าราชการเท่านั้น แต่การตัดสินของศาลสูงในวันจันทร์ที่ผ่านมาจะถือว่าการคุ้มครองดังกล่าวนี้ครอบคลุมไปถึงทั่วทุกส่วนของประเทศ

ทรัมป์ผู้ที่เคยพยายามยกเลิกการคุ้มครองสิทธิของ LGBTQ+ ในสหรัฐฯมาก่อนกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อศาลตัดสินในเรื่องนี้แล้วพวกเขาก็ต้อง "อยู่ไปตามการตัดสินใจ" ของศาลสูงสุด

สำหรับกลุ่มสิทธิ LGBTQ+ นั้นเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก มากยิ่งกว่าในเรื่องการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน เพราะชาว LGBTQ+ เกือบทุกคนต้องการมีงานทำ และถ้าหากมีการไล่พนักงานออกเพราะเพศสภาพหรือเพศวิถีของเขาก็จะกลายเป็นการกีดกันเลือกปฏิบัติ ขัดต่อหลักกฎหมายสหรัฐฯ

เจมส์ เอสเซกส์ ผู้อำนวยการฝ่าย LGBTQ+ ของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันกล่าวว่า การที่ศาลสูงสุดตัดสินเช่นนี้เป็นเพราะว่าชาว LGBTQ+ ต่อสู้เพื่อสิทธิมาเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ นั่นทำให้ศาลสูงสุดต้องเร่งตามให้ทันคนในประเทศซึ่งส่วนใหญ่รู้แล้วว่าการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ นั้นทั้งไม่เป็นธรรมและขัดต่อหลักกฎหมาย

ซาราห์ เคท เอลลิส ประธานและกรรมการบริหารขององค์กรผู้มีความหลากหลายทางเพศ GLAAD กล่าวว่าคำตัดสินนี้ให้ความหวังกับพวกเขาว่าพวกเขายังคงสามารถรวมมือกันในฐานะประเทศชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะและจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อการยอมรับ LGBTQ ต่อไป

แชนนอน มินเตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายขององค์กรศูนย์เพื่อสิทธิเลสเบียนประจำชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ไม่เพียงแค่สำหรับ LGBTQ+ เท่านั้นแต่รวมถึงประเทศสหรัฐฯ เองด้วย เพราะประเทศสหรัฐฯ ได้รับผลประโยชน์มากจากการที่ที่ประชาชนชาว LGBTQ+ มีส่วนร่วมในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม นอกจากนี้มินเตอร์ยังชื่นชมบทวามสำคัญของนักสู้เพื่อสิทธิคนข้ามเพศ เอมี สตีเฟนส์ ผู้ที่ต่อสู้ในเรื่องกฎหมายคุ้มครองนี้มาโดยตลอด

เอมี สตีเฟนส์ เป็นหญิงข้ามเพศคนแรกในสหรัฐฯ ที่ผลักดันจนนำคดีสิทธิพลเมืองเข้าสู่กระบวนการศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้ ทำให้เธอเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด แต่เธอก็เสียชีวิตด้วยอายุขัย 59 ปี เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการตัดสินคดีนี้

นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม LGBTQ+ สหรัฐฯ มากมายหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความยินดีต่อคำตัดสินครั้งนี้

คำตัดสินในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากกรณีที่ เจอราลด์ โบสต็อก ถูกไล่ออกหลังพบว่าเขาเข้าร่วมทีมซอฟต์บอลเกย์ อีกกรณีหนึ่งคือโดนัลด์ ซาร์ดา ที่ถูกไล่ออกหลังเปิดเผยกับลูกค้าผู้หญิงว่าเขาเป็นเกย์ แต่น่าเสียดายที่ซาร์ดาเสียชีวิตก่อนที่ศาลสูงสุดจะตัดสินในประเด็นนี้ ส่วนโบสต็อกกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเขารู้สึกดีมากต่อคำตัดสินนี้ เขาเคยรู้สึกเจ็บปวดมากเมื่อถูกไล่ออก 7 ปีที่แล้ว แต่ในตอนนี้เขาสามารุไปทำงานได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่ออกเพียงเพราะเรื่องเพศวิถีของเขา แต่โบสต็อกก็บอกว่ายังมีเรื่องอีกมากที่ต้องทำ "ไม่ควรจะมีการกีดกันเลือกปฏิบัติบนโลกใบนี้ และพวกเราจะไม่หยุดยั้งจนกว่าพวกเราจะได้สิทธิความเท่าเทียมสำหรับทุกคน" โบสต็อกกล่าว

ก่อนหน้านี้รัฐบาลทรัมป์เคยเรียกร้องให้ศาลตัดสินโดยระบุว่าลักษณะที่ 7 ของกฎหมายสิทธิพลเมืองไม่ครอบคลุมถึงเรื่องเพศวิถีมาก่อน ซึ่งถือเป็นทำให้ล้าหลังลงจากความก้าวหน้าในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา

เรียบเรียงจาก : 


Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, สิทธิมนุษยชน, แรงงาน, ความหลากหลายทางเพศ, LGBTQ+, คนข้ามเพศ, การกีดกัน, การเลือกปฏิบัติ, การจ้างงาน, สภาพการจ้างงาน, เอมี สตีเฟนส์, ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา, โดนัลด์ ทรัมป์, สหรัฐอเมริกา, กฎหมายสิทธิพลเมืองสหรัฐอเมริกา, 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net