Skip to main content
sharethis

หลังถูกเพจหนุนรัฐบาลฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ ฐานนำเข้ามูลเท็จ อันกระทบต่อความมั่นคง จากกรณีแสดงความเห็นว่า “สถาบันกษัตริย์ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน” ทนายอานนท์ เตรียมยื่นหนังสือทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องนายกฯ  ตรวจสอบและชี้แจงเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ เพื่อนำเป็นหลักฐานในคดี พร้อมขอให้นายกฯ คืนงบฯ ที่เกินความจำเป็น เพื่อนำมาเป็นงบแก้ไขวิกฤติโควิด-19

ภาพจาก:Banrasdr Photo

18 มิ.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้(19 มิ.ย.) จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสื่อถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตรวจสอบและชี้แจงเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ เพื่อนำเป็นหลักฐานในคดีที่ตนเองถูกเข้าแจ้งความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ฐานนำเข้าข้อมูบอันเป็นเท็จ จากกรณีที่ได้แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สถาบันกษัตริย์ใช้เงินงบประมาณของรัฐที่มาจากภาษีของประชาชน และถูกเฟซบุ๊กแฟนเพจ อึ้งเอี๊ยะซือ เทื้อเอี้ยวเกีย V10 แคปภาพไปกล่าวหาว่า ให้ข้อมูลเท็จ พร้อมย้ำว่าสถาบันกษัตริย์ไม่เคยใช้เงินภาษีประชาชน จากนั้นอานนท์ ได้แสดงหลักฐานที่อ้างจาก รายงานพิเศษของของประชาไทเรื่อง เปิดงบประมาณปี 2563 ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.9 หมื่นล้านบาท และท้าให้ไปฟ้องร้องเพื่อพิสูจน์ความจริงว่า สถาบันกษัตริย์ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนจริงหรือไม่ จนกระทั่งนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกเปิดเผยโดยเฟซบุ๊กแฟนเพจ อึ้งเอี๊ยะซือ เทื้อเอี้ยวเกีย V3 (เพจ V10 ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว) ระบุว่า ได้มีคนรู้จักที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าแจ้งความในกรณีนี้แล้ว พร้อมย้ำว่า 

“พวกที่จาบจ้วง แชร์ข้อมูลเท็จ ใส่ร้ายป้ายสี สถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เกิดความเสื่อมเสีย ก็จงเตรียมรับผลของการกระทำ ที่ตนเองได้ทำลงไป ฝ่ายความมั่นคงเขาแฝงตัวเก็บข้อมูลอยู่ในทุกแพลทฟอร์ม มีรายชื่อพวกจาบจ้วงล่วงละเมิดมากมาย กำลังไล่ติดตามมาดำเนินคดี เราก็มารอดูกันว่าใครจะเป็นผู้โชคดีรายต่อไป”

จากสิ่งที่เกิดขึ้น อานนท์จึงตัดสินใจไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการใช้สิทธิในการแสวงหาพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และสิทธิในการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม โดยขอให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงการใช้งบประมาณอันเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งให้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีทำหนังสือถึงสำนักพระราชวังให้ชี้แจงการใช้งบประมาณแผ่นดิน และเงินคงเหลือทั้งหมด พร้อมให้นายกรัฐมนตรีขอคืนเงินที่เกินความจำเป็นเพื่อนำมาแก้วิกฤติโควิด มาเยียวยาประชาชนที่ได้รับความลำบากจากวิกฤติการคราวนี้ เช่น เงินที่เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนิน(ค่าเดินทางทั้งในและต่างประเทศเฉพาะส่วนที่เกินจำเป็น) เงินที่จัดสรรให้ส่วนราชการในพระองค์ รวมทั้งเงินที่กระทรวงพาณิชย์จัดเป็นค่าจัดงานประชาสัมพันธ์แฟชั่นยี่ห้อ Sirivannavari และให้นายกรัฐมนตรีเตรียมเอกสารทั้งหมดจากการดำเนินการข้างต้นเป็นเอกสาร และส่งให้พนักงานสอบสวนในคดีที่ตนตกเป็นผู้ต้องหา รวมทั้งมาเป็นพยานในคดีด้วยตนเอง 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งไม่ให้ใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 กับประชาชน และพล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวเตือนกลุ่มที่เคลื่อนไหวจาบจ้วงสถาบันฯ ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการติดตามความเคลื่อนไหวที่มีลักษณะพาดพิงสถาบันฯ ว่า อยู่ระหว่างติดตามรายชื่อเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ไม่ใช้ มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญามาดำเนินคดี

ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มีคณะทำงานเรื่องนี้อยู่ ประกอบด้วยด้านกฎหมาย การสืบสวน และความมั่นคง ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ โดยมี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) เป็นผู้กำกับดูแล ขณะนี้มีข้อมูลบุคคล มีการติดตาม ตรวจสอบบุคคล และกลุ่มคน ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเรื่องนี้อยู่ เรามีรายชื่อมีข้อมูลอยู่แล้ว อยู่ในกระบวนการติดตามดำเนินคดี

“สิ่งสำคัญคือขอเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อข้อมูลเช่นนี้ หากได้ข้อมูลเหล่านี้ให้ใช้วิจารณญานดีๆ เพราะเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง อย่าตกเป็นเหยื่อของคนกลุ่มนี้” รองโฆษกตร.กล่าว

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวด้วยว่า การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ทำความผิด ได้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ในมาตราที่เกี่ยวข้องเช่น มาตรา 14  การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง  หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน มาใช้ ทั้งนี้ต้องดูพฤติการณ์การกระทำความผิด ว่าเข้าข่ายผิดมาตราไหนอย่างไรก็ต้องพิจารณาไปตามกฎหมาย

"การกระทำใดๆ ที่เป็นความผิดฐานละเมิดสถาบันฯ หากเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมถึงช่องทางไลน์ ทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่นิยามได้ว่าเป็นระบบคอมพิวเตอร์ ก็ต้องพิจารณาดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมาตราที่เกี่ยวข้อง" รองโฆษกตร.กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net