Skip to main content
sharethis

รังสิมันต์ เผยก้าวไกลเตรียมเสนอ ร่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับใหม่ เพิ่มอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายบริหารโดยสภาฯ และศาล ยกเลิกอำนาจในการออกข้อกำหนดห้ามนำเสนอข่าวสาร พร้อมทั้งยกเลิกการยกเว้นความผิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

18 มิ.ย. 2563 ที่รักฐสภา เกียกกาย รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้แถลงข่าวเปิดเผยว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล กำลังจะเสนอร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. …. ต่อรัฐสภา เพื่อบังคับใช้แทนที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

โดยรังสิมันต์ ระบุว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมานั้น พรรคก้าวไกลแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยการการบังคับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเชื่อว่าการแก้ไขสถานการณ์สามารถดำเนินการได้โดยใช้เพียงกฎหมายปกติ และการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในครั้งนี้นำมาซึ่งปัญหาหลายอย่าง เช่น การออกข้อกำหนดห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานตามเวบาที่กำหนดได้ การห้ามชุมนุม การห้ามนำเสนอข่าวบางประการ การห้ามใช้เส้นทางคมนามคม หรือเส้นทางสาธารณะ โดยประกาศเหล่านี้บล้วนเป็นประการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพขอวงประชาชน

เขากล่าวต่อว่า ตลอด 85 วันนับตั้งแต่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีการออกมาตรการต่างๆ แต่ตอนนี้นับเป็นวันที่ 23 ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ ดังนั้นการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้จึงไม่มีความชอบธรรมจะยังคงใช้กฎหมายฉบับนี้ต่อไป จึงตั้งข้อสังเกตว่า การคงสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่นั้น อาจจะไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไขสถานการณ์โรคระบาด หากแต่เป็นการป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ตามที่มีข่าวปรากฎว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งผู้ที่ถูกดำเนินคดีล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล จึงมาสู่คำถามว่า สุดท้ายแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีไว้เพื่ออะไรกันแน่ เพื่อปกป้องประชาชนจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือมีไว้เพื่อปกป้องรัฐบาล

เขากล่าวต่อไปถึงปัญหาของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า เป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่ โดยไม่มีองค์กรใดสามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวได้ สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจได้ อีกทั้งการกระทำต่างๆ ของฝ่ายรัฐบาล และเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับหน้าที่ให้ปฏิบัติงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่ต้องรับผิดใดๆ

รังสิมันต์ ระบุว่า พรรคก้าวไกลขอเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฉบับใหม่ ที่จะเป็นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญไปจากกฎหมายเดิม ได้แก่

1. ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยฝ่ายบริหารสามารถบังคับใช้ได้คราวละไม่เกิน 30 วัน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรภายใน 7 วันนับแต่วันประกาศ รวมถึงในการขยายระยะเวลาแต่ละครั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน และหลังสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วนายกรัฐมนตรีจะต้องทำรายงานผลการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย

2. ยกเลิกอำนาจในการออกข้อกำหนดห้ามนำเสนอข่าวสาร เพื่อให้สื่อมีอิสระในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

3. ยกเลิกข้อยกเว้นที่ให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง และยกเลิกข้อยกเว้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เพื่อให้การใช้อำนาจภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถูกตรวจสอบได้โดยองค์กรตุลาการ

4. ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยภายใต้การประกาศสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง จะต้องดำเนินการด้วยกระบวนการปรกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง, ต้องควบคุมตัวภายในสถานีตำรวจที่ญาติและทนายความเข้าถึงได้

ดูร่าง พ.ร.บ. ได้ที่: https://drive.google.com/…/1Mb1VN0vWFoyoeF74XUFVni1Pr…/view…

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net