Skip to main content
sharethis

ตามไปดู 10 จุดเช็คอินสถานที่ในกรุงเทพฯ ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร และ “การวางแผน” เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของพวกเขาเมื่อปี 2475 เชื่อว่าหลายแแห่งอยู่ใกล้ตัว หลายที่เราเคยเดินผ่าน แต่กลับไม่เคยรู้ประวัติความเชื่อมโยง เช่น วัดแคนอก, วัดพระศรีมหาธาตุ หรือวัดประชาธิปไตย  ‘ตำบลนัดพบ’ บนถนนประดิพัทธ์, ตรอกกัปตันบุช จนถึง ซอยทองหล่อ และอีกหลายที่ที่เรารู้จักกันดีแต่ถูกรื้อ/ย้าย/หายตัวไปแล้ว เช่น หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์หลักสี่ หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

1. หมุดคณะราษฎร
จุดอ่านคำประกาศคณะราษฎร

ตำแหน่ง: https://goo.gl/maps/YXS9Ued64BGK8t5c9 (สถานะปัจจุบัน: หายแบบไร้ร่องรอย)
สามารถดูหมุดคณะราษฎรผ่าน Google Street View ในปี 2557 ได้ที่ 
https://goo.gl/maps/QuwegUeHsPz6CZKP7
พิกัด N 13.769234 E 100.512216
การเดินทาง: รถเมล์สาย 70, 72, 503 | รถไฟฟ้า BTS สถานีพญาไท ห่างออกไป 2.87 กม.

หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ หรือ “หมุดคณะราษฎร” เป็นหมุดทองเหลืองฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อ่านประกาศคณะราษฎรเมื่อรุ่งสางวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ที่หมุดมีข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" จัดทำขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย มีพีธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและหัวหน้าคณะราษฎรเป็นผู้ฝังหมุด โดยตอนหนึ่งกล่าวสุนทรพจน์ว่า

“ข้าพเจ้าขอถือโอกาสวางหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ณ ที่นี้ ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จงสถิตย์เสถียรอยู่คู่กับประเทศชาติชั่วกัลปาวสาน เทอญ”

ปัจจุบันหมุดคณะราษฎรหายไปแล้วตั้งแต่หลังวันที่ 5 เมษายน 2560 โดยต่อมาในวันที่ 8 เมษายน นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำวิจัยเรื่องหมุดคณะราษฎรพบว่ามีหมุดใหม่มาแทนที่โดยในหมุดใหม่ดังกล่าวได้เขียนข้อความว่า “ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” และ “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดีในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

อ่านประกอบ
สุเจน กรรพฤทธิ์, เหตุการณ์ในวันวาง "หมุดคณะราษฎร" เว็บไซต์สารคดี, 22 เมษายน 2560

 

2. ตำบลนัดพบ
จุดนัดพบของพระยาพหลพลพยุหเสนาและคณะราษฎรสายทหาร

ตำแหน่ง: https://goo.gl/maps/RRYTZ7s3UytescEW8
พิกัด N 13.792453 E 100.535218
การเดินทาง: รถเมล์ สาย 3, 90 97, 117, 524 | เรือด่วนท่าเกียกกาย ห่างออกไป 2.03 กม. | BTS สถานีสะพานควาย ห่างออกไป 1.84 กม.

ไม่ไกลจากแหล่งทำเลฮิปสเตอร์อย่างย่านถนนประดิพัทธ์นั้นมีสถานที่ซึ่งเป็นรหัสเรียกขานของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า “ตำบลนัดพบ” คือเป็นจุดนัดหมายในเวลา 05.00 น. เช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสายทหาร  “ตำบลนัดพบ” ที่ว่าก็คือจุดที่ทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ์

ในบทความ "หัวมุมที่ถนนประดิพัทธ์ตัดทางรถไฟสายเหนือ" ของ นรนิติ เศรษฐบุตร ที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า เสนอว่า จุดนัดพบที่ว่านี้ห่างจากบ้านพระยาทรงสุรเดช ที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของ ถ.ประดิพัทธ์ เมื่อยืนอยู่บน ถ.ประดิพัทธ์และหันหน้าไปทางทิศตะวันตกด้านทางรถไฟ ประมาณ 200 เมตร และจากจุดนี้จะไปสู่จุดเป้าหมายของคณะผู้ก่อการที่จะเข้าไปจู่โจมยึดกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์และขนกำลังพลก็อยู่บนถนนทหารที่อยู่เบื้องหน้าต่อจากถนนประดิพัทธ์

"เมื่อ 82 ปีก่อน บริเวณนี้น่าจะเปลี่ยวมาก แต่ถึงวันนี้ก็ไม่ได้มีบ้านเรือนชาวบ้านทั่วไปเพิ่มขึ้นมากแต่อย่างใด เพราะถนนทหารทั้งถนนก็มีหน่วยงานของทหารไปทั้ง 2 ฝั่งถนนไปตลอดผ่านสะพานแดงจนถึงเกียกกายที่อยู่ปลายถนนทางด้านตะวันตก"

โดยตั้งแต่เวลา 04.30 น. พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ขับรถไปรับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่บ้านพักย่านบางซื่อก่อนจะเดินทางไปยังตำบลนัดพบ โดยพระยาพหลพลหยุหเสนาจิบเพียงโกโก้ร้อนรองท้องก่อนออกจากบ้านเท่านั้น

ส่วน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ตื่นตั้งแต่เวลา 04.00 น. และรับประทานข้าวผัดที่เหลือจากเมื่อคืน ก่อนออกจากบ้านไปพร้อมกับ ร.อ.หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) ที่มารับถึงบ้าน โดยเดินเท้าไปยังจุดนัดหมายที่ห่างจากบ้านไป 200 เมตร

ที่จุดนัดหมายนั้นยังมี พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) หลวงพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) ร.ท.ขุนปลดปรปักษ์ (ปลด ภานุสะวะ) ร.ท.ขุนเรืองวีรยุทธ (บุญเรือง วีระหงส์) ร.ท.ไชย ประทีปเสน
เมื่อมาถึงที่นัดหมายพระยาทรงสุรเดช ได้สั่งดำเนินการตามแผนคือบุกยึดคลังอาวุธที่กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) แยกเกียกกาย เพื่อลวงเอากำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้ โดยต้องทำการก่อนเวลาเป่าแตรปลุกทหารเวลา 05.30 น

หลังจากนั้น พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป. 1 รอ.) ซึ่งถือเป็นผู้เดียวในวันนั้นที่มีกองกำลังพลในบังคับบัญชา เป็นผู้ออกคำสั่งให้ทหารปืนใหญ่ในบังคับบัญชาตนเองรวมพลกับกำลังทหารและอาวุธที่มาจาก ม.1 รอ. และนำกำลังหลักมาถึงลานพระบรมรูปทรงม้าในเวลา 06.05 น.

นอกจากนี้ยังมีกองทหารที่รออยู่ก่อนแล้ว นำโดยกองพันพาหนะทหารเรือ นำโดย น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. และกำลังจากนักเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยมี พ.ท.พระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก ส่วนกองพันทหารราบที่ 11 ของ พ.ต.หลวงวีระโยธา ซึ่งฝึกทหารอยู่ที่สนามหลวง ถูกลวงให้ตาม พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธตามมาภายหลัง

หลังจากนั้น พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้รับคำสั่งให้จับตัวผู้นำฝ่ายระบอบเก่า ได้แก่ (1) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต “ผู้รักษาพระนคร” ในช่วงที่รัชกาลที่ 7 ไปประทับที่หัวหิน และยังเป็นประธานอภิรัฐมนตรี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ฯลฯ (2) พล.ท.พระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก และ (3)

พล.ต.พระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ใช้เวลา 55 นาทีก็สามารถควบคุมตัวได้ทั้งหมดมากักไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม มีเพียง พล.ต.พระยาเสนาสงคราม ที่ต่อสู้ขัดขืน จึงถูกยิงได้รับบาดเจ็บต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล

หลังจัดเตรียมกำลังและจับตัวผู้นำฝ่ายระบอบเก่าได้แล้ว เวลาประมาณ 07.00 น. พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งรอใต้ต้นโศกบริเวณสถานกาแฟนรสิงห์ หน้าสนามเสือป่า ก็อ่านประกาศคณะราษฎร

อ่านประกอบ

นรนิติ เศรษฐบุตร. "หัวมุมที่ถนนประดิพัทธ์ตัดทางรถไฟสายเหนือ", สถาบันพระปกเกล้า https://goo.gl/fZtJi9

ปรามินทร์ เครือทอง. นาทีปฏิวัติ ๒๔๗๕: "ย่ำรุ่ง" คือกี่โมง, พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศตรงไหน, อ่านอะไร? , มติชนออนไลน์, 23 มิถุนายน 2555

 

3. ไปรษณียาคาร
ควง อภัยวงศ์ นำคณะผู้ก่อการตัดสายโทรศัพท์-โทรเลข

ตำแหน่ง: https://goo.gl/maps/ifooPsBbp1VVb8MB9
พิกัด: 13.739855, 100.499756
การเดินทาง: รถเมล์สาย 8, 12, 53, 60, 73, 73ก | เรือด่วนท่าสะพานพุทธ | MRT สายสีน้ำเงิน สถานีสนามไชย ห่างออกไป 850 เมตร

ไปรษณียาคาร หรือชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบ เป็นอาคารที่ตั้งเดิมของกรมไปรษณีย์และที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองโอ่งอ่าง ฝั่งพระนคร ทางด้านทิศใต้ของสะพานพุทธ ในเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อาคารไปรษณียาคารเป็นสถานที่แรกๆ ซึ่งผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะต้องบุกยึด เพื่อตัดการสื่อสารโทรศัพท์และโทรเลข

คณะราษฎรสายพลเรือนกลุ่มที่นำโดย หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) ซึ่งต่อมาจะเป็นนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เขาเป็นผู้รับหน้าที่ตัดสายโทรศัพท์และโทรเลขที่ชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบร่วมกับ วิลาศ โอสถานนท์, ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี และทหารเรืออีกจำนวนหนึ่ง ที่นำโดย ร.อ.หลวงนิเทศกลกิจ ร.น. (กลาง โรจนเสนา)

ในหนังสือ “การต่อสู้ของข้าพเจ้า นายควง อภัยวงศ์” เขาบันทึกถึงความรู้ทรงจำในเวลานั้นว่า “เราถอนหายใจยาวพร้อมกัน 4 น. ครึ่งผ่านไปแล้ว ข้าพเจ้ายกมือขึ้นเป็นสัญญาณ อันเป็นฤกษ์งามยามดีของเรา แล้วสัญญาณแห่งการปฏิวัติก็อุบัติขึ้น สายโทรศัพท์ทางด้านนอกได้ถูกตัดลงแล้ว แล้วพวกเราก็กรูกันเข้าไปในที่ทำการชุมสายวัดเลียบ เพื่อตัดสายจากหม้อแบตเตอรี่ อันเป็นการตัดอย่างเด็ดขาดและสิ้นเชิง”

ทั้งนี้แม้ผู้ก่อการจะสามารถกระทำการได้สำเร็จ แต่มีพนักงานไปรษณีย์หนีไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจจึงทราบเรื่องจากเหตุนี้เอง จึงรุดเข้าวังบางขุนพรหมเพื่อถวายรายงานแด่กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการ แต่คณะราษฎรโดย พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ ก็เข้าพบกรมพระนครสวรรค์วรพินิตอยู่ก่อนแล้ว

อนึ่ง ใกล้กับไปรษณียาคาร ยังมีโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยด้วย โดยไม่นานมานี้มีบทความของ “สมเกียรติ โอสถสภา” อ้างว่าคณะราษฎรจับเด็กนักเรียนเป็นตัวประกัน ทั้งนี้ได้มีผู้ชี้แจงเผยแพร่อยู่ในเพจ “นักเกรียน สวนกุหลาบ” ว่าคณะราษฎรไม่ได้จับเด็กเป็นตัวประกัน และต้นเรื่องที่อ้างกันนั้นมาจากหนังสือที่จัดทำขึ้นในปี 2538 ที่ชื่อ "ตำนานสวนกุหลาบ" ซึ่งเขียนขึ้นจากหลายกลุ่มหลายฝ่าย และมีกระบวนการเรียบเรียงจัดทำไม่เป็นระบบ

นอกจากนี้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือมีทั้งโรงเรียนเสาวภา (โรงเรียนช่างฝีมือ) โรงเรียนเพาะช่าง (โรงเรียนศิลปะ) โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อาคารสามัคยาจารย์สมาคม ที่ตั้งอยูในรั้วสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นทั้งที่พบปะสังสรรค์ เป็นอาคารทำงานของกระทรวงธรรมการ รวมถึงสนามฟุตบอลสวนกุหลาบในยุคนั้นก็เทียบเคียงกับสนามกีฬาแห่งชาติ มีสนามเทนนิสหลัก อีกทั้งในแง่การเป็นจุดยุทธศาสตร์ ตรงนั้นก็ใกล้โรงไฟฟ้าวัดเลียบ ชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบ และ กรมไปรษณีย์โทรเลข (ปากคลองโอ่งอ่าง) รวมถึงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่

“การนำรถถังเข้ามาควบคุมพื้นที่ในบริเวณนี้ หากไม่ได้มองด้วยสายตาแบบสวนกุหลาบคือแกนกลางเขาพระสุเมรุแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่า การควบคุมกรมไปรษณีย์โทรเลข โรงไฟฟ้า และสะพานข้ามแม่น้ำ เพื่อป้องกันกำลังรบนอกฝั่งพระนคร ย่อมเป็นเหตุเป็นผลกว่าการทึกทักว่านำรถถังออกมาโดยมีเป้าประสงค์จับกุมคุมตัวนักเรียนคนใดคนหนึ่งเป็นตัวประกันมากนัก”

สำหรับอาคารไปรษณียาคาร ถูกทุบทิ้งเมื่อ พ.ศ. 2525 เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างสะพานพระปกเกล้า ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานอยู่ทางทิศใต้ของสะพานพุทธ โดยต่อมาอาคารไปรษณียาคารถูกสร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิม ในตำแหน่งใกล้เคียงกับที่ตั้งเดิม เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์กิจการไปรษณีย์ไทย

อ่านประกอบ

ไปรษณียาคาร. วิกิพีเดีย 

4. วัดแคนอก
สถานที่ประชุมลับคณะราษฎรก่อนร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ตำแหน่ง: https://goo.gl/maps/trcHcDFbkKYMtTkB8
พิกัด: 13.879844, 100.481888
การเดินทาง: รถเมล์สาย 69, 191 | รถสองแถวท่าน้ำนนท์-สนามบินน้ำ | MRT สายสีม่วง สถานีสะพานพระนั่งเกล้า ห่างออกไป 1.3 กม.

วัดแคนอก อยู่ที่หมู่ 2 ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี ตั้งอยู่บนถนนสนามบินน้ำ หรือถนนนนทบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2367 สมัยรัชกาลที่ 3 เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดแคร่เบ็ญจ้น” เป็นวัดที่พระยารามัญมุนี ผู้นำชาวมอญสร้างขึ้น ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดแค

ภายในวัดแคนอก มีอุโบสถหลังเก่าซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก และหน้าอุโบสถยังมีเจดีย์ทรงรามัญ 2 องค์ และมีหอพระไตรปิฎกโบราณด้วย

ในปี 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนาผู้นำคณะราษฎรได้นำคณะมาหารือที่นี่ และกราบสักการะพระประธานในอุโบสถ ปัจจุบันคืออุโบสถหลังเก่า พระยาพหลพลหยุหเสนาเกิดความเลื่อมใสที่เห็นพระประธานหันหน้าลงทางทิศตะวันตกและสถานที่ปกคลุมไปด้วยต้นโพธิ์ใหญ่มีอายุหลายร้อยปี คิดว่า สถานที่นี้น่าจะเป็นสถานที่สถิตของเทวดาผู้ทรงฤทธิ์ จึงพากันอธิษฐานจิตถวายต่อพระพุทธศาสนา ถ้าแม้กระทำการปฏิวัติสำเร็จ จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาที่ตรงนี้ให้เจริญ และแม้ละโลกนี้ไปแล้วก็ขอให้เอาอัฐิ มาบรรจุ ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อให้เป็นการบูชา เมื่อท่านได้ละโลกนี้ไปแล้ว ลูกหลานตระกูล “พหลโยธิน” ได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุไว้ ณ วัดแคนอกแห่งนี้ และให้ลูกหลานได้บำรุงวัดแห่งนี้ให้เจริญต่อไป

ทั้งนี้ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มาสร้างหอระฆังรูปทรงดอกบัวตูมถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยมีความดำริว่า “เราเคยชนะคนอื่นด้วยหอกด้วยดาบ อีกไม่ช้านานหอกและดาบนั้นคงคืนสนองแก่เรา” จึงสร้างซุ้มทั้ง 4 ทิศ เพื่อเป็นเครื่องป้องกันหอระฆัง และสร้างโรงเรียนให้แก่ชุมชนชื่อว่า โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง 1 (โรงเรียนวัดแคนอก)

สำหรับซุ้มบัว 4 ทิศนั้น บริเวณซุ้มบัวด้านทิศเหนือ มีพระพุทธรูปที่พระยาพหลพลพยุหเสนาได้รับเป็นที่ระลึกในโอกาสเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดคือวันพฤหัสบดี โดยบรรจุอัฐิที่ฐานรองและผนึกด้วยซีเมนต์นำไปประดิษฐานที่ซุ้มบัวดังกล่าว

อนึ่ง หลังการอสัญกรรมของพระยาพหลพลพยุหเสนาในปี พ.ศ. 2490 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493 เปลี่ยนชื่อ “ถนนประชาธิปัตย์” ที่เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังดอนเมือง และไปถึง จ.ลพุบรี ว่า “ถนนพหลโยธิน” และเมื่อขยายเส้นทางไปทางทิศเหนือเรื่อยๆ ในที่สุดก็รวมถนนสายลำปาง-เชียงราย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของถนนพหลโยธินด้วย

อ่านประกอบ

“วัดแคนอก” ที่ประชุมลับคณะราษฎร ก่อนก่อการปฏิวัติสยาม, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, 9 มิถุนายน 2560
วัดแคนอก,
เทศบาลนครนนทบุรี, 23 มิถุนายน 2017

 

5. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตลาดวิชาและมหาวิทยาลัยเปิดยุคคณะราษฎร

ตำแหน่ง: https://goo.gl/maps/FvtioThYXFjwPwWAA
พิกัด N 13.757419 E 100.490035
การเดินทาง: รถเมล์สาย 1, 3, 15, 32, 53, 60, 65, 70, 82, 91, 503, 524 | เรือด่วนท่าช้าง | MRT สายสีน้ำเงิน สถานีสนามไชย ประตูทางออก 3 ห่างออกไป 2.0 กม.

หลัก 6 ประการในคำประกาศฉบับที่ 1 ของคณะราษฎรนั้น ประการที่ 6 ในคำประกาศระบุว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ในเวลาต่อมาจึงมีการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นโดยมีชื่อเมื่อเริ่มก่อตั้งว่า "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" (มธก.) มหาวิทยาลัยนี้ถือกำเนิดมาจากความคิดริเริ่มของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น โดยเล็งเห็นว่าขณะนั้นระดับอุดมศึกษามีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ.2475 ประเทศชาติมีความจำเป็นต้องมีบุคคลที่มีความรู้ ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม มารับใช้ประเทศชาติโดยด่วน

จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 เพื่อเปิดสอนในวิชาแขนงดังกล่าว เมื่อพระราชบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ได้มีพิธีเปิดมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก เสด็จในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ณ ที่ตั้งเดิมของโรงเรียนกฎหมาย ริมถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา 

ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กล่าวในโอกาสก่อตั้งมหาวิทยาลัยว่า “การตั้งสถานศึกษาตามลักษณะมหาวิทยาลัยย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นปัจจัยในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยามจะเจริญในอารยธรรมได้ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้น การที่จะอำนวยความประสงค์และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้จึงจำต้องมีสถานการศึกษาให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น”

และ “มหาวิทยาลัย ย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร เห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติ จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น”

ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงเป็นตลาดวิชา และเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย โดยให้สิทธิแก่ผู้ที่เคยศึกษาในโรงเรียนกฎหมายผู้สำเร็จประโยคมัธยมศึกษา และเปิดกว้างให้ถึงผู้ที่เป็น ข้าราชการ สมาชิกสภาผู้แทนฯ ผู้แทนตำบล ครู ทนายความ เข้าเรียนได้ด้วย ปรากฏว่าในปีแรกมีผู้สมัครเข้าศึกษาถึง 7,094 คน และต่อมาเมื่อปี 2479 ก็ได้ย้ายมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน บริเวณท่าพระจันทร์ซึ่งเดิมป็นที่ของทหาร โดยมีการปรับปรุงอาคารเดิมพร้อมทั้งสร้างตึกโดม

ในช่วงที่เปิดตลาดวิชานี้เอง ทำให้คนธรรมดาสามัญมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา อย่างเช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พลพรรคเสรีไทยและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลานั้นเพิ่งจบชั้นมัธยมและเป็นครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สอนวิชาคณิตศาสตร์และภาษาฝรั่งเศส ก็ได้สมัครเรียนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักศึกษารุ่นแรก โดยในเวลานั้นทางมหาวิทยาลัยได้จัดพิมพ์คำบรรยายออกจำหน่ายในราคาถูก วิชาละประมาณ 2 บาท เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่กำลังทำงานอยู่สามารถศึกษาเองได้ โดยป๋วยใช้เวลาในตอนค่ำและวันหยุดเรียนอยู่ 4 ปี ก็สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางกฎหมาย การเมืองและเศรษฐการ (หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต, ธ.บ.) และในเวลาต่อมา ป๋วยสอบชิงทุนรัฐบาลได้ไปเรียนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่ London School of Economics & Political Science (LSE) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน

อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกเปลี่ยนเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ตำแหน่ง “ผู้ประศาสน์การ” ถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นอธิการบดี หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิตถูกเปลี่ยนแปลงเป็น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ความเป็นตลาดวิชาหมดไป ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคหลังตลาดวิชายังคงเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ โดยเป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนเมื่อ 6 ตุลาคม 2519

ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณประตูทางออกด้านถนนพระอาทิตย์ บริเวณที่ปัจจุบันเป็นสำนักงานของกองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ในอดีตคือ “ทำเนียบท่าช้าง” เป็นที่พัก ที่ทำการของปรีดี พนมยงค์ ในช่วงที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในระหว่างปี พ.ศ. 2485-2490 โดยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดีภายใต้รหัสลับว่า “รูธ” ยังตั้งกองบัญชาการเสรีไทยอยู่ที่ทำเนียบท่าช้างและภายในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอีกด้วย

อ่านประกอบ

ประวัติมหาวิทยาลัย, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ป๋วย อึ๊งภากรณ์, วิกิพีเดีย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิกิพีเดีย
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. 100 ปีของสามัญชนนามปรีดี พนมยงค์, นิตยสารสารคดี, เมษายน 2543

 

6. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
หมุดหมายประชาธิปไตยและพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง

ตำแหน่ง: https://goo.gl/maps/VwKuXnAdfpgm2wqU6
พิกัด N 13.756667 E 100.501667
การเดินทาง: รถเมล์สาย 2, 12, 15, 44, 60, 70, 79, 82, 203, 503, 511 | เรือด่วนคลองแสนแสบ ท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ | MRT สายสีน้ำเงิน สถานีสามยอด ประตูทางออก 3 ห่างออกไป 1.2 กม.

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล อันเป็นแบบที่ชนะการประกวดการออกแบบอนุสาวรีย์แห่งนี้ การออกแบบได้นำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสาน ตรงกลางเป็นสมุดไทยที่สื่อถึงรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า นอกจากการเป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงประชาธิปไตยนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยอีกด้วย

ในส่วนของครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พานทูนฉบับรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดป้อม กลางตัวอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน เนื่องจากในขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี โดยมิถุนายนเป็นเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยังหมายถึง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

ปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก ปากกระบอกปืนฝังลงดิน โดยรอบฐานของอนุสาวรีย์ที่มีโซ่เหล็กร้อยไว้ หมายถึงปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ พ.ศ. 2475 ส่วนโซ่ที่ร้อยไว้ด้วยกันหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ 

ลายปั้นนูนที่ฐานครีบทั้ง 4 เน้นถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎรตอนที่นัดหมายและแยกย้ายกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
อ่างตรงฐานปีกทั้ง 4 ด้านเป็นรูปงูใหญ่ หมายถึง ปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปีมะโรง หรือ ปีงูใหญ่

หลังยุคของคณะราษฎรไปแล้ว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงเป็นพื้นที่สำคัญของการชุมนุมทางการเมืองที่สำคัญหลายครั้ง อาทิ การเคลื่อนขบวนผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปี 2551 การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติปี 2553 และการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปี 2556-2557 เป็นต้น

อ่านประกอบ
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย,
วิกิพีเดีย

 

7. อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
สถานที่รำลึกการปราบกบฏบวรเดชที่ถูกยกย้ายบ่อยครั้ง

ตำแหน่ง: https://goo.gl/maps/ddQDv4qeG3R5CJCX9 (สถานะปัจจุบัน: หายไปจากวงเวียนหลักสี่) สามารถดูอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญผ่าน Google Street View ในปี 2561 ได้ที่ : https://goo.gl/maps/yMXWeMHnoUwMWvwT7
พิกัด N 13.875736 E 100.597110
การเดินทาง: รถเมล์สาย 26, 34, 51, 59, 95, 107, 114, 185, 503, 522, 524, 543 | BTS สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ ณ วงเวียนหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญจัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีการบรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ภายในรวม 17 นาย

ทั้งนี้ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 1 ปีกว่า ในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารยกกำลังทหารมาจากหัวเมืองเรียกตัวเองว่า "คณะกู้บ้านกู้เมือง" เข้ามายึดพื้นที่ดอนเมือง ส่วนฝ่ายรัฐบาลตั้งกองอำนวยการปราบกบฏขึ้นที่สถานีรถไฟบางซื่อข้างโรงงานปูนซีเมนต์ไทย โดยการสู้รบเป็นไปตลอดแนวเส้นทางรถไฟจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2476 ฝ่ายกบฏที่ตั้งกำลังอยู่ที่สถานีรถไฟหลักสี่ได้รุกไล่จนฝ่ายรัฐบาลถอยร่นและเข้ายึดคลองบางเขนไว้ได้ แต่พอถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2476 ฝ่ายรัฐบาลได้หนุนกำลังพร้อมอาวุธหนักขึ้นรถไฟจนประชิดแนวหน้าฝ่ายกบฏทำให้ต้องถอยกลับไปตั้งหลักที่ปากช่อง โดยฝ่ายกบฏถูกฝ่ายรัฐบาลตามไปปราบถึงสถานีรถไฟหินลับ-ทับกวาง และปากช่อง ได้รับความเสียหายอย่างหนัก พระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีลี้ภัยไปไซ่ง่อน และฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามฝ่ายกบฏได้ในที่สุด โดยนักโทษจากเหตุกบฏบวรเดชถูกส่งตัวไปขังที่เกาะตะรุเตา จ.สตูล

ภายหลังเหตุการณ์ รัฐบาลได้จัดให้มีรัฐพิธีแก่ผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คนที่เสียชีวิตในการต่อสู้ปราบปรามกบฏครั้งนั้น โดยจัดสร้างเมรุชั่วคราวที่ท้องสนามหลวง ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช แต่ปัจจุบันนิยมเรียกชื่อเพียงตามแหล่งที่ตั้งว่า "อนุสาวรีย์หลักสี่”

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญออกแบบลักษณะเป็นเสาและสื่อถึงหลักทางการเมืองของรัฐบาล 5 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กองทัพ และรัฐธรรมนูญ เสาของอนุสาวรีย์มีลักษณะคล้ายลูกปืน สื่อความหมายถึงกองทัพ ประดับกลีบบัว 8 ซ้อนขึ้นไป 2 ชั้น บนฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งหมายถึงทิศทั้งแปดตามคติพราหมณ์ ฐานของอนุสาวรีย์มี 4 ทิศ มีบันไดวนรอบฐาน ส่วนบนสุดของเสาอนุสาวรีย์เป็นพานรัฐธรรมนูญซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญ

ผนังของเสาแต่ละด้านของอนุสาวรีย์มีการจารึกและประดับในเรื่องราวที่ต่างกันไป โดยผนังด้านทิศตะวันตกหรือผนังที่อยู่ด้านหน้าของถนนพหลโยธินมีการจารึกรายนามของทหารและตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิต ด้านทิศใต้เป็นรูปแกะสลักของครอบครัวชาวนาคือ พ่อ แม่ และลูก โดย ผู้ชายถือเคียวเกี่ยวข้าว ผู้หญิงถือรวงข้าว และเด็กถือเชือก ซึ่งสื่อถึงชาติและประชาชนในชาติ ด้านทิศเหนือเป็นรูปธรรมจักรซึ่งหมายถึงศาสนา และด้านทิศใต้เป็นแผ่นทองเหลืองจารึกโคลงสยามานุสติ ซึ่งเป็นโคลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

อนึ่งบริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญมีการปรับปรุงบ่อยครั้ง โดยในปี 2536 กรมทางหลวงได้ปรับปรุงทางจราจรบริเวณอนุสาวรีย์โดยทุบพื้นที่โดยรอบเหลือเพียงแต่เสาอนุสาวรีย์ ทำเป็นสี่แยก ต่อมาได้ยกเลิกการใช้สี่แยกดังกล่าวเนื่องจากได้ขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์แทน

ในปี 2553 กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแยกเพื่อเชื่อมถนนแจ้งวัฒนะ-รามอินทรา จึงมีการเคลื่อนย้ายตัวอนุสาวรีย์ออกไปจากบริเวณเดิม ท่ามกลางการคัดค้านของนักโบราณคดีและชาวบ้าน
 ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และผู้เกี่ยวข้องได้ทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบำเพ็ญอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนทหารหาญก่อนที่จะย้ายที่ตั้งอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิมไปทางทิศเหนือ 45 องศา ไปทางถนนพหลโยธินฝั่งขาออกไปทางสะพานใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายมาจากรถไฟฟ้า BTS สถานีหมอชิต

ล่าสุดกลางดึกวันที่ 27 ธันวาคม 2561 พบว่าอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหายไปจากวงเวียนหลักสี่ เหลือเพียงฉากกั้นแต่ไม่ปรากฏตัวอนุสาวรีย์ฯ แล้ว

อ่านประกอบ
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ,
วิกิพีเดีย
ย้ายกลางดึกอนุสาวรีย์วงเวียนหลักสี่ หลีกทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว, ข่าวสด, 4 พฤศจิกายน 2559
ย้ายแล้วเงียบๆ ‘อนุสาวรีย์หลักสี่’ สัญลักษณ์ปราบกบฏบวรเดช,
มติชนออนไลน์, 4 พฤศจิกายน 2559
พบอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหายไปจากวงเวียนหลักสี่ ไม่ทราบอยู่ไหน,
ประชาไท, 28 ธันวาคม 2561

 

8. วัดพระศรีมหาธาตุ
ชื่อเดิม “วัดประชาธิปไตย” และสถานที่เก็บอัฐิสมาชิกคณะราษฎร

ตำแหน่ง: https://goo.gl/maps/yn4YPcox6LJbSrey7
พิกัด N 13.873833 E 100.594180
การเดินทาง: รถเมล์สาย 26, 34, 51, 59, 95, 107, 114, 185, 503, 522, 543 | BTS สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ

ใกล้เคียงกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยังมีวัดพระศรีมหาธาตุ หรือ “วัดประชาธิปไตย” เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2483 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็น พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีขออนุมัติเงินเพื่อสร้างวัด เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตยและประสงค์จะให้แล้วเสร็จทันงานวันชาติ คือ 24 มิถุนายน 2484 สถานที่ที่จะสร้างนั้นควรอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ โดยให้เหตุผลว่าชาติกับศาสนานั้นเป็นของคู่กัน จะแยกจากกันมิได้ และหลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรสร้างวัดขึ้นใกล้กับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งได้จารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปราบกบฏบวรเดช และประสงค์จะให้วัดดังกล่าวตั้งชื่อว่า "วัดประชาธิปไตย"

ในระหว่างดำเนินการนั้น รัฐบาลอินเดียซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้จักรวรรดิอังกฤษได้มอบพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบค้นพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ทำให้รัฐบาลไทยในเวลานั้นอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่วัดสร้างใหม่แห่งนี้ และนำกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาปลูก จึงตั้งนามวัดว่า “วัดพระศรีมหาธาตุ”

นอกจากนี้ผนังด้านในของเจดีย์ประธานยังเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของสมาชิกคณะราษฎรผู้ล่วงลับอีกด้วย โดยแทบทุกปีในวันที่ 24 มิถุนายน ลูกหลานของคณะราษฎรจะนัดหมายเพื่อทำบุญในวันดังกล่าวที่วัดพระศรีมหาธาตุ

อ่านประกอบ
วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร, วิกิพีเดีย

 

9. ถนนทองหล่อ
นามระลึกถึงหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร-เยี่ยมสถาบันปรีดี พนมยงค์

ตำแหน่ง: https://goo.gl/maps/prTE5zfoXyg7q9xr9
พิกัด N 13.723736 E 100.579533
การเดินทาง: รถเมล์สาย สาย 2, 25, 38, 40, 48, 98, 501, 508 | BTS สถานีทองหล่อ

ถนนทองหล่อ หรือ ซอยสุขุมวิท 55 ซึ่งปัจจุบันเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญ โดยที่มาของชื่อถนนสายนี้ตั้งชื่อตามชื่อเดิมของ ร.ท.ทองหล่อ ขำหิรัญ (ร.น.) หรือต่อมาเปลี่ยนชื่อและมียศสูงสุดคือ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ สมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ เจ้าของที่ดินในซอยแต่เดิม

ในเวลานั้น ร.ท.ทองหล่อ ขำหิรัญ มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมวด ประจำกองร้อยที่ 3 กองพันพาหนะ มีที่ตั้งอยู่หน้าเรือนจำกลางทหารเรือ ปัจจุบันย้ายไปอยู่บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรจากการชักชวนของ พล.ร.ต.สังวรณ์ สุวรรณชีพ เพื่อนทหารเรือและมีศักดิ์เป็นญาติกัน ซึ่งทางทหารเรือมีความจำเป็นต้องใช้กำลังนาวิกโยธิน ซึ่งชำนาญการรบบนบกมากกว่าทหารเรือพรรคอื่นจึงเข้าร่วม

เขามีบทบาทนำทหารจากกองพาหนะจำนวน 400 นายเศษ พร้อมด้วยอาวุธปืนรวมทั้งกระสุน และเฟ้นหานายทหารนาวิกโยธินอีก 4 นายเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยลวงว่าจะนำไปรวมพลในตอนเช้าตรู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อจะไปปราบการจลาจลจีนอั้งยี่ย่านสำเพ็ง และวัดเกาะ จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงการครองลุล่วงไปด้วยดี

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2478 พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหารเรือ เสนอให้มีการปรับปรุงกิจการของนาวิกโยธิน โดยในเวลานั้น พล.ร.ต.ทหาร ได้เป็นผู้บังคับบัญชาและได้ให้นายทหารนาวิกโยธินเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในปี พ.ศ. 2479 เป็นรุ่นแรก นอกจากนี้ยังได้ส่งไปเรียนเหล่าทหารราบ ทหารช่าง ทหารม้า และทหารปืนใหญ่ ในส่วนของกองทัพบก ส่วนนักเรียนจ่าและจ่าสำรองพรรคนาวิกโยธิน ได้ส่งไปศึกษาในโรงเรียนนายสิบทหารบกเหล่าต่างๆ และเพื่อที่จะให้ทหารนาวิกโยธินได้มีที่ตั้งใหม่ในอัตราการจัดกรมผสมจึงได้เตรียมพื้นที่ที่บริเวณทุ่งไก่เตี้ย อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2479–พ.ศ. 2481 และเป็นที่ตั้งของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินในปัจจุบัน

ในช่วงกรณีพิพาทไทย-อินโดจีน ระหว่าง พ.ศ.2483-2484 น.ต.ทองหล่อ ขำหิรัญ ในเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการกองพลจันทบุรี 1 ใน 5 กองพลของกองทัพบูรพา ได้สนธิกำลังรบระหว่างทหารหน่วยต่างๆ ผสมกับตำรวจสนาม อาสาสมัครพลเรือนชาวจันทบุรี ปะทะกับกองกำลังอินโดจีนฝรั่งเศส และในวันที่ 28 ม.ค.2484 ได้เข้ายึดพื้นที่ข้าศึกได้สำเร็จถึง 12 ตำบลในวันเดียวกัน ต่อมาญี่ปุ่นได้เสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ยเพื่อยุติสงครามอินโดจีน

ในทางการเมือง พล.ร.ต.ทหารได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ไม่ได้ประจำกระทรวง หรือ ‘รัฐมนตรีลอย’ ในรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง

ต่อมาหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ที่ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรีต้องออกนอกประเทศ หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2492 ปรีดีและทหารเรือบางส่วนเป็นแกนนำก่อกบฎที่เรียกว่า กบฎวังหลวง โดย พล.ร.ต.ทหาร ได้เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ เป็นผู้นำกองกำลังทหารเรือและนาวิกโยธินจากชลบุรีเข้าสู่พระนคร แต่ก่อการไม่สำเร็จ และต่อมายังเข้าร่วมกบฏแมนฮัตตันซึ่งเป็นการก่อกบฎของทหารเรือในปี พ.ศ. 2494 อีกด้วย

ทั้งนี้ พล.ร.ต.ทหาร ลงรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 สมัย ในพื้นที่จังหวัดธนบุรีและกรุงเทพมหานคร คือในการเลือกตั้งปี 2500, การเลือกตั้งปี 2512 และการเลือกตั้งปี 2518
ในรายงาน "ประวัติศาสตร์ 'ประชาธิปไตย' จากอนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร" ในมติชนออนไลน์เมื่อ 15 มิถุนายน 2560 ซึ่งนำเสนองานของนริศ จรัสจรรยาวงศ์ เขียนถึงหนังสืออนุสรณ์งานศพของสมาชิกคณะราษฎร 50 เล่มเผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนมิถุนายน 2560 โดยส่วนหนึ่งในอนุสรณ์งานศพ "กุหลาบ(กำลาภ) กาญจนสกุล" พล.ร.ต.ทหาร เขียนคำรำลึกอุทิศและแสดงความคิดเห็นต่อชาติบ้านเมืองไว้ว่า

“ในทรรศนะของข้าพเจ้า กล่าวตามภาวะทางการเมืองงานของคณะราษฎรสิ้นสุดยุติลง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งควรจะถือว่าคณะราษฎรต้องประสบความปราชัยทางการเมือง แต่ความรับผิดชอบในส่วนตัวบุคคลยังไม่สิ้นสุด เปรียบด้วยหนี้สินบุคคลชาวคณะราษฎรยังชำระหนี้ไม่หมด คงเป็นลูกหนี้ประชาชนอยู่ จนกว่าประชาชนชาวไทยจะได้รับการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ คุณกำลาภจากไปแล้ว คนอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องรับสนอง

ชาวคณะราษฎรที่ยังมีชีวิตอยู่นับว่าเป็นผู้โชคดี ที่ได้เห็นผลงานของตนซึ่งช่วยกันสร้างสรรค์เอาไว้ ทิ้งปัญหาที่เป็นบทเรียนอันควรแก่การศึกษาวิจัยวิจารณ์กันหลายบท ที่นับว่าสำคัญมี ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยนานหลายสิบปีแล้ว เพราะเหตุใดจึงยังมีความเห็นกันว่า เข้าไม่ถึงระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง...”

นอกจากนี้ภายในถนนทองหล่อ ห่างจากต้นซอยราว 380 เมตร ยังเป็นที่ตั้งของ “สถาบันปรีดี พนมยงค์” ก่อเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ปรีดี พนมยงค์ โดยที่ดินซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสถาบัน “ครูองุ่น มาลิก” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิไชยวนา ได้อุทิศให้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2526 โดยอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2538

นับตั้งแต่เปิดดำเนินการเป็นต้นมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่องในด้านวิชาการและได้จัดปาฐกถา ปรีดี พนมยงค์ เป็นประจำทุกปีในช่วงวันชาติ 24 มิถุนายน นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมหลากหลายแขนงอีกด้วย

อ่านประกอบ

รองผู้บัญชาการนาวิกโยธิน พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมงาน รำลึก “76 ปี วันกองพลจันทบุรี”, New Delight, 28 มกราคม 2017
ประวัติศาสตร์ ‘ประชาธิปไตย’ จากอนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร,
มติชนออนไลน์, 15 มิถุนายน 2560
ทหาร ขำหิรัญ,
วิกิพีเดีย
เกี่ยวกับสถาบันปรีดี พนมยงค์, เว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์

 

10. ตรอกกัปตันบุช
สำนักงานหนังสือพิมพ์ ‘ไทยใหม่’ ยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย

ตำแหน่ง: https://goo.gl/maps/72LSYJHcGhYjXD4g8
พิกัด N 13.729140, E 100.515712
การเดินทาง: รถเมล์สาย 1, 35ร, 36, 45ส, 75, 93, 187 | เรือด่วนท่าสี่พระยา | MRT สายสีน้ำเงิน สถานีหัวลำโพง ห่างออกไป 1.1 กม.

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช้าวันต่อมามีหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับที่รายงานข่าวการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ฉบับวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตีพิมพ์ "ประกาศคณะราษฎร" หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ พาดหัวข่าว "เกร็ดการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กษัตริย์สยามอยู่ใต้กฎหมายไทย" กรณีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ "ดวงประทีป" ฉบับประจำวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 บรรยายถึงเหตุการณ์ปฏิวัติและเหตุการณ์ต่อเนื่องอย่างละเอียด

สำนักงานของหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ เคยอยู่ที่ตรอกกัปตันบุช ถนนสี่พระยา ในปัจจุบันคือซอยเจริญกรุง 30  แม้จะไม่มีสำนักงานของหนังสือพิมพ์ไทยใหม่บริเวณดังกล่าวแล้ว แต่ละแวกใกล้เคียงเป็นย่านคาเฟ่ และสถานที่แสดงงานศิลปะหลายแห่ง รวมทั้ง Warehouse 30 นอกจากนี้บนกำแพงสถานทูตโปรตุเกส ยังมีงานกราฟฟิตี้ เป็นภาพที่เกิดจากเทคนิคการเจาะกำแพงของศิลปินชื่อดังชาวโปรตุเกส Vhils จากโครงการ Scratching the Surface Project ด้วย

หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตีพิมพ์ “สำเนาประกาศคณะราษฎร”

สื่อมวลชนในห้วงการเปลี่ยนแปลง

หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ นับเป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนที่เติบโตมาตั้งแต่ก่อนยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง และขานรับการเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ “ระบอบใหม่” โดยหนังสือพิมพ์ไทยใหม่เริ่มต้นปลายปี พ.ศ. 2473 เจ้าของคือเอกโป้ย วีสกุล บรรณาธิการคือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งชักชวนคณะสุภาพบุรุษมาช่วยจัดทำ คำขวัญของหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ตั้งคือ “ตั้งต้นชีวิตใหม่ โดยอ่านไทยใหม่” หนังสือพิมพ์ไทยใหม่มีนโยบายผลัดเปลี่ยนกันเป็นบรรณาธิการคนละ 1 ปี ดังนั้นเมื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ครบปี ปีที่ 2 จึงให้สนิท เจริญรัฐ เป็นบรรณาธิการและได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง“มนุษยภาพ” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบทความที่เสนอความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้ถือหุ้นมีนโยบายไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กุหลาบกับคณะจึงพากันตบเท้าลาออก

ในระหว่างนี้กุหลาบได้ใช้เวลาว่างเขียนทั้งเรื่องสั้น นวนิยายและบทความลงหนังสือพิมพ์ บทความที่ลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง คือบทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ที่เคยเขียนลงในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ส่วนคณะสุภาพบุรุษที่ออกมาจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุงได้ไปก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ “ผู้นำ” มีทองอิน บุณยเสนา เจ้าของนามปากกา “เวทางค์” นักเขียนและนักประพันธ์เพลงชื่อดัง เป็นบรรณาธิการ ผู้ออกทุนคือนายเทียน เหลียวรักวงศ์ เจ้าของโรงพิมพ์สยามพานิชการ จำกัด เริ่มออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2475

ในปี พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ซึ่งในภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็น พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นเจ้านายนักภาษาศาสตร์ ที่สนพระทัยในระบอบประชาธิปไตย จึงได้ออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน มอบให้กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ประชาชาติมีสำนักงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ของพระยาศรีบัญชา แถวสี่กั๊กเสาชิงช้า ฉบับปฐมฤกษ์วางตลาดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2475 มีคำขวัญประจำหนังสือพิมพ์ว่า “บำเพ็ญกรณีย์ ไมตรีจิตต์ วิทยาคม อุดมสันติสุข” คณะผู้จัดทำส่วนใหญ่เป็นเพื่อนในคณะสุภาพบุรุษที่เคยร่วมงานกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้แก่ มาลัย ชูพินิจ, สนิท เจริญรัฐ, เฉวียง เศวตะทัต, โชติ แพร่พันธุ์ ฯลฯ

อ่านประกอบ

ศราวุฒิ วิสาพรม. ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ 2475, กรุงเทพฯ: มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 1 — มีนาคม 2559

ในลิ้นชักความทรงจำ : นักเขียนเทพศิรินทร์นักเขียนที่ถือกำเนิดจากสถานศึกษามากที่สุดในประเทศไทย (11), สยามรัฐ, 11 พฤศจิกายน 2561 https://siamrath.co.th/n/52315

ในลิ้นชักความทรงจำ : นักเขียนเทพศิรินทร์นักเขียนที่ถือกำเนิดจากสถานศึกษามากที่สุดในประเทศไทย (12), สยามรัฐ, 18 พฤศจิกายน 2561 https://siamrath.co.th/n/53316

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net