Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 29 ปี การหายตัวไปของทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานที่เคลื่อนไหวท้าทายคณะรัฐประหารปี 2534 จนได้ฉายา ‘หมูไม่กลัวน้ำร้อน’ ประชาไทนั่งคุยกับ ‘เอ๋’ อดิศร โพธิ์อ่าน ลูกชายคนโตที่ติดรถพ่อไปแทบทุกที่ เกี่ยวกับความทรงจำที่ต่อพ่อ ความผูกพันของพวกเขา ประสบการณ์ไล่จับคนสะกดรอยตาม จนถึงวันที่พ่อหายไปโดยไม่อาจทราบชะตากรรม ถึงอย่างนั้นอดิศรก็ยังมองว่า "ถ้าพ่อผมเกิดช็อกตายแบบคนธรรมดาทั่วไปคนก็คงลืมไปหมดแล้ว แต่วันนี้เกือบ 30 ปีแล้ว คนก็ยังไม่ลืม มันกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเมืองไทย"

พ่อในความทรงจำ

คุณพ่อเป็นฮีโร่ของผม และฮีโร่ของผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากว่าพ่อเขาจะทำเพื่อคนส่วนใหญ่ เพื่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานมากกว่า สำหรับครอบครัวตัวเองพ่อก็ไม่ได้ละเลย ในทุกสัปดาห์ หรืออาจะเดือนละสองครั้ง เราก็จะต้องไปเที่ยวกันทั้งครอบครัว พ่อเขาก็จะพาเราไปเที่ยวด้วย ถ้าเขาไม่ค่อยมีเวลา บางทีถ้าเขามีสัมมนาที่พัทยา บางแสน หัวหิน เขาก็จะพาเราไปด้วย เราก็เลยได้คลุกคลีกับวงการแรงงานมาโดยตลอด ปัจจุบันผู้นำแรงงานส่วนมากก็คือพี่น้อง บางคนอุ้มผมมาตั้งแต่ผมยังเด็กๆ เราก็เลยเหมือนไม่ต่อก็ติด มีความผูกพันเหมือนสายเลือดเดียวกัน คนบ้านเดียวกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน

อดิศรเปิดดูภาพเก่าของทนง โพธิ์อ่าน

ความประทับใจที่มีต่อพ่อ

พ่อเขาเขาเป็นนักต่อสู้ เขาสอนลูกเสมอว่า เกิดมาต้องสู้ สู้เพื่อที่จะได้มา คุณพ่อเขาก็สู้ แต่พ่อผมแปลก ไม่เหมือนคนทั่วไป ตรงที่เขาไม่ได้สู้เพื่อตนเองและครอบครัวเท่าไหร่ แต่จะสู้เพื่อคนอื่นเสียมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะใหญ่มาก สู้เพื่อตนเองมันเป็นเรื่องเล็ก แต่การสู้เพื่อสังคม ขณะนั้นมันยากมากที่จะเรียกร้องอะไรแต่ละเรื่อง กฎหมายแต่ละฉบับ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะพ่อเขาไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎร และไม่มีมี ส.ส. อยู่ในมือ เขาก็ต่อสู้โดยใช้การขับเคลื่อนเคลื่อนไหวจากภายนอกกดดันรัฐบาล

สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดเกี่ยวกับคุณพ่อก็คือความฝันของเขา เขาอยากจะเห็นกระทรวงแรงงาน  เขาอยากจะให้คนไทยมีกฎหมายประกันสังคมบังคับใช้ เท่าที่ผมจำได้ ตั้งแต่ผมยังเด็กๆ สมัยก่อนยังเป็นค่าจ้างลอยตัวอยู่เลย ใครนึกจะจ้างเท่าไหร่ก็ได้ พ่อผมก็กำหนดให้เป็นค่าจ้างขั้นต่ำ ใครนึกจะจ้างเท่าไหร่ก็ได้ไม่ได้แล้ว ค่าจ้างจะต้องเป็นไปตามพื้นที่ โดยเทียบจากอัตราค่าครองชีพแต่ละจังหวัด กฎหมายประกันสังคมที่บังคับใช้ได้ ก็ผ่านการเรียกร้องมายาวนาน แต่มามีผลบังคับใช้ก่อนพ่อผมหายไป รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เซ็นอนุมัติไว้ในปี 2533 แล้วมาประกาศใช้ตอนรัฐบาลชวน 1 ตอนปี 2535 แล้วก็กระทรวงแรงงานแยกออกจากกระทรวงมหาดไทย อันนี้เป็นความฝันอันสูงสุดของพ่อผม เพราะพ่อผมบอกว่าแรงงานในเมืองไทย คนวัยทำงานอายุ 20-60 ปี มีมากมหาศาล แต่ไม่มีกระทรวงมารองรับ ต้องไปพึ่งกระทรวงมหาดไทย ควรจะต้องแยกออกมาจากมหาดไทยได้แล้ว กฎหมายประกันสังคมสมัยก่อน คุณพ่อผมเขาจะใช้สโลแกนว่า “ชีวิตดีมีหลักประกัน ผลักดันประกันสังคม” ก็เรียกร้องเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 กว่า แต่มาได้ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย

ผมค่อนข้างสนิทกับพ่อ ผมชอบรถ เวลาไปไหนก็จะได้นั่งรถ ผมก็จะมีความสุข มีสหภาพแรงานก็ได้ไป เวลามีประชุม มีการเรียกร้องต่างๆ เราก็ไป สนามหลวงเราก็ไปตลอด อาจจะไม่ได้เข้าวงใกล้เท่าไหร่ เพราะพ่อเขากลัวจะเกิดเหตุอะไรไม่ดี เขาก็ให้น้าผมพาไป แล้วก็ไปดูการเคลื่อนไหวทุกๆ ครั้งที่สนามหลวง สมัยก่อนสถานที่ประจำที่ใช้ในการแสดงออกก็คือสนามหลวง ทุกวันแรงงานก็จะมีการเดินขบวนเรียกร้อง ก็ต้องไป

วันที่พ่อรัก

พ่อผมดีใจที่มีวันแรงงานมากกว่าวันเกิดอีก ปกติพ่อจะเป็นคนตื่นสาย 8 โมง ถึง 8 โมงกว่า แต่พอวันแรงงานเขาจะตื่นตั้งแต่ตี 5-6 โมงเช้า เพื่อเตรียมของ ไปดูหน้างาน เตรียมเคลื่อนไหว ผมเห็นนะว่าเป็นวันที่เขามีความสุขที่สุด ผมก็ไม่เข้าใจหรอกว่าแกมีความสุขยังไง ร้อนก็ร้อน เราก็ยังเด็กนะ ตื่นมาแต่เช้า ร้อนก็ร้อน ต้องมาเดินตามถนนจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปถึงสนามหลวงทุกๆ ปี ซึ่งเราต้องถูกบังคับให้ไป

ภาพของทนง โพธิ์อ่าน ในวันแรงงานแห่งชาติ

ขณะเดียวกันพ่อผมก็ได้สอนว่า ให้มองมุมที่ต่าง พี่น้องผู้ใช้แรงงานขณะนั้น สมัยนั้นเป็นนิกส์ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (newly industrialized country, NIC) บางคนก็เพิ่งจะมีตู้เย็น มีมอเตอร์ไซค์ ผ่อนตู้เย็น ผ่อนทีวี ถ้าเป็นเพลงคาราบาวก็คือเพลงราชาเงินผ่อน พ่อบอกว่าพวกเขาไม่มีโอกาสแม้จะฝันว่าจะมีบ้าน มีรถได้ เราก็ต้องมาสร้างบรรทัดฐานให้กับเขา ให้เขามีโอกาสที่จะสร้างฝันได้ ให้เขากล้าที่จะสร้างฝัน และให้เขาทำตามความฝันนั้นได้ เพราะเป้าหมายของทุกๆ คนก็คือความมั่นคงในชีวิต คือบ้าน และครอบครัวที่อบอุ่น สามารถมีสตางค์ที่จะไปเลี้ยงลูกได้ ดูแลพ่อแม่ได้ ผ่อนบ้านได้ อาจจะมีรถแล้วแต่อัตภาพ บางคนอาจจะเป็นมอเตอร์ไซค์ บางคนอาจจะเป็นรถยนต์ รถกระบะ สมัยก่อนรถกระบะก็หรูแล้ว

ทุกๆ วัน บางทีผมก็น้อยใจนะ วันเกิดใครพ่อเขาก็มีความสุขแหละ แต่ว่าวันแรงงานเขามีความสุขมาก แล้วเขาฮึกเหิมมาก เขารู้สึกว่าเขาทำอะไรบางอย่างให้กับคนส่วนใหญ่ได้ คือพ่อผมเขาเป็นคนพันธุ์แปลกน่ะ ชอบทำอะไรเพื่อคนอื่น ทำอะไรเพื่อส่วนรวม ทำอะไรเพื่อสังคม แล้วก็วาดฝันให้มันใหญ่โต ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ผมสัมผัสได้ บางทีผมก็น้อยใจนะว่า พ่อไม่ใช่พ่อของเราคนเดียว มันเหมือนเป็นพ่อของแรงงานที่ยากลำบากขณะนั้น (เสียงเครือ)

คือแม้จะเที่ยงคืน ตี 1-2 ถ้ามีคนงานตกน้ำ สมัยก่อนพ่อผมดูแลแรงงานขนถ่ายสินค้าขาออก รายได้หลักของประเทศไทยมาจากการขายข้าวสาร แป้ง ผลิตภัณฑ์การเกษตรทุกอย่าง ก็ต้องใช้กรรมกรแบกของ ซึ่งพ่อผมดูแลตั้งแต่คลองเตยจนถึงปากน้ำทั้งหมด บางทีมีคนงานตกเรือตาย หรือบาดเจ็บ ดึกดื่นเที่ยงคืนพ่อผมจะนอนแล้วนะ พอมีคนโทรมาบอกก็ต้องขับรถออกไปดู เราก็โอ้โห! ขนาดนั้นเลยเหรอพ่อ แต่เราก็ไปนะบางที พ่อเขาบอกให้ไป นั่งเป็นเพื่อนพ่อ เพราะว่ากลัวพ่อหลับ บางทีเห็นศพคนงานลอยอยู่ข้างๆ เพราะเขายังไม่ได้เก็บเราก็สงสาร ก็จำภาพได้

ผมกล้าบอกเลยนะว่ายุคที่แรงงานเข้มแข็งที่สุดคือยุคพ่อผม ผมยังเคยคุยกับประธานสภา (แรงงาน) หลายๆ คน ซึ่งเป็นลูกน้องของพ่อผมเลยว่า “เอ๊ะพี่! ผมถามจริงๆ เถอะ พ่อผมเขาคุมพวกพี่ได้ไง พวกพี่ยอมรับพ่อเขาได้ยังไง” เขาบอกว่าพี่โหน่ง (ชื่อเล่นของทนง โพธิ์อ่าน) ใจถึง ลุยคือลุย ชนคือชน ถอยคือถอย แล้วเขาเป็นคนพูดคำไหนคำนั้น เป็นคนที่รักษาคำพูดมาก ฉะนั้น ทุกคนยอมรับเขา ยอมรับพ่อผม

วันแรงงานที่ผมจำได้ตอนเด็กๆ สมัยก่อนสภาแรงงานจะมีอยู่สี่สภา ซึ่งความฝันของพ่อผมต้องการรวมเป็นหนึ่งสภา เป็นสภาเดียว ไม่จำเป็นว่าใครจะเป็นประธาน เวียนกันก็ได้ มุมมองของพ่อผมต่างจากปัจจุบันที่มีหลายสภา เพื่อจะได้มีงบประมาณไปดูงานต่างประเทศ เพื่อนั่น เพื่อนี่ แต่ผิดถนัด พ่อผมไม่ได้คิดอย่างนี้ พ่อผมคิดว่าอำนาจการต่อรองมันจะถูกกดลงมา มันกระจาย แต่ถ้าเกิดเป็นหนึ่งสภา หนึ่งเดียว แรงงานพูดยังไงต้องอย่างนั้น รัฐบาลต้องไปทางซ้ายก็ต้องไปทางซ้าย ต้องรับฟัง บอกไปทางขวาก็ต้องรับฟัง ถ้าไม่รับฟังอาจจะเคลื่อนไหว ซึ่ง พล.อ.ชาติชาย นายกรัฐมนตรีขณะนั้นก็เข้าใจ ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ การส่งออกกำลังเติบโต การส่งออกด้านอุตสาหกรรมกำลังเข้ามาในเมืองไทย นิคมอุตสาหกรรมก็เกิดขึ้นมากมาย ก็ต้องใช้แรงงาน ถ้าแรงงานเรียกร้องอะไร ขออะไรคุณก็ต้องให้ตามกฎหมาย ไม่ใช่อะไรที่มันเยอะแยะเกินไป คุณจะมากดเขาว่าค่าแรงจ่ายเท่านั้นเท่านี้ไม่ได้ มุมมองในขณะนั้นของการจัดงานวันแรงงาน คือ แรงงานค่อนข้างมีศักยภาพ มีเพียงแค่สี่สภาแรงงาน สภาลูกจ้าง การต่อรองค่อนข้างจะได้ผลเป็นหลัก ค่อนข้างได้ผลดี

วันเมย์เดย์ (1 พ.ค.) ก็จะไปเดินขบวน พ่อผมชอบ ขนาดเขาเป็นเบาหวานนะฮะ น้ำตาลก็ค่อนข้างสูง เขาก็ชอบน่ะ แล้วทุกคนในบ้านขณะนั้น มีน้า มีแม่ มีน้อง ทุกคนต้องถูกบังคับให้ไปช่วงแรกๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ ที่ต้องไปร่วมงานวันแรงงานทุกๆ ปี ถ้าเกิดลูกคนไหนง่วงนอนไม่อยากตื่น ก็ไปนอนในรถตู้เอา

สัมพันธ์พ่อ-ลูก

ผมชอบรถ พ่อผมก็ชอบรถเหมือนกัน ผมชอบรถก็เลยติดรถไปกับคุณพ่อ ไปไหนก็ไปด้วยถ้ามีโอกาสได้นั่งรถ เราชอบน่ะ พ่อก็พาล้างรถ เช็ดทำความสะอาดรถ กิจกรรมอื่นก็มี ไปเที่ยวทะเลนานๆ ที นับได้เลย ไปบ่อยนะแต่ว่าต้องแยกเป็นสองกรณี กรณีหนึ่ง ทุกครั้งพ่อจะเอาน้องๆ เอาครอบครัวไป ส่วนตัวเขาเองจะเข้าประชุมสัมมนา แล้วก็ปล่อยให้ลูกๆ เล่นน้ำในสระ กับเล่นน้ำในทะเล อีกกรณีก็คือไปกับครอบครัวจริงๆ เลย ก็จะมีบ้างแต่ว่าน้อยมาก มีประมาณ 3-4 ครั้ง ที่บอกว่าไปบ่อยๆ แทบทุกสัปดาห์ คือไปทำงาน ไปทะเลทุกเดือน ใช่ แต่ไปในกรณีแรกเวลาเขาไปประชุมสัมมนา

พอเริ่มโตเราก็อยากขี่มอเตอร์ไซค์ อยากได้มอเตอร์ไซค์เหมือนเพื่อน พ่อเขาก็ไม่ให้ เราก็ไม่เข้าใจสาเหตุทำไมเขาไม่ให้ มอเตอร์ไซค์มันคันละไม่กี่หมื่นเอง สามหมื่นบาทประมาณนี้ ทำไมเขาไม่ให้เรา เราก็ไม่พอใจ ไม่ไปโรงเรียน 2-3 วัน เขาก็บอกให้ดูรถอย่างอื่นดีกว่า เราเลยบอกว่างั้นไม่เป็นไร อยากได้ออสติน มินิ สมัยก่อนมันถูกมากนะ สามหมื่นบาท เขาก็บอกไม่เอารถเก่าๆ เราก็เลยบอกว่ารถกระบะก็ได้ เขาก็ไม่เอา

วันหนึ่งเขาก็ซื้อรถมาให้คันหนึ่ง จริงๆ แล้วที่เขาซื้อให้เขาไม่ได้มีสตางค์นะฮะ แต่เพราะว่าตาทวดยายทวดผมมีสตางค์ ผมก็ไปบอกตายายว่าผมอยากได้รถ เขาก็มากดดันให้พ่อผมซื้อ ถ้าพ่อไม่ซื้อเดี๋ยวตายายเขาจะซื้อให้เอง เขาก็เลยต้องมาซื้อ แต่จริงๆ ก็ใช้เงินแม่ผม เป็นเงินกู้สหกรณ์มาซื้อ

อดิศร โพธิ์อ่าน

ผมเริ่มขับแล้วไปเรียนรู้เองจากเพื่อนๆ แก๊ง 1.5 ชาร์จเจอร์ ซึ่งพ่อผมเตือนตลอดว่าห้ามขับรถซิ่งเด็ดขาด จะเป็นพวกขยะสังคม แต่ผมไม่เชื่อ เราเข้าไปคลุกคลีแล้วก็รู้ว่ามันไม่ใช่ขยะอย่างที่พ่อสอน มันมีมุมดีๆ อีกหลายๆ มุม พ่อผมอาจจะมองมิติเดียว มิติว่าคนขับรถซิ่งเป็นพวกก่อกวนเมือง สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมอะไรอย่างนี้ แต่พอผมได้ไปคลุกคลีผมก็ได้รู้ว่า พวกเขามีอีกหลายมิติที่สามารถหาประโยชน์ให้กับประเทศชาติ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ปั่นรอบ อะไรเยอะแยะไปหมด ก่อให้เกิดรายได้ เกิดการหมุนเงินอีกเกือบสิบรอบ

ครอบครัวตอนนั้นก็มีความสุขดี ผมก็มีรถ ตอนนั้นพ่อผมไม่ค่อยมีเวลา คุณพ่อมอบหมายหน้าที่เป็นข้อแลกเปลี่ยน ทุกวันต้องส่งน้อง ต้องรับน้องรับแม่ พ่อจะได้ไม่ต้องคอยไปรับ เขาเอาหน้าที่ตรงนี้มาให้ผมแทน ผมก็ยินดี จะได้ขับรถไปเรียนหนังสือ

ตอนนั้นน่าจะอายุ 16-17 เอง ยังไม่มีใบขับขี่นะ แต่ว่าเขาเลี่ยงไม่ให้เราขี่มอเตอร์ไซค์ ผมก็มาถามว่าทำพ่อไม่อยากให้ขี่มอเตอร์ไซค์เหมือนเพื่อน เขาบอกว่าพ่อไม่ใช่คนรวยนะ ผมจำได้เลย พ่อไม่ใช่คนรวย พ่อไม่ได้มีเงินเยอะแยะมากมาย แต่พ่อรักลูก พ่อไม่อยากให้ลูกต้องเอาเนื้อไปหุ้มเหล็ก เพราะมันเกิดอะไรขึ้นมาแล้วตายเลย พ่อก็ต้องไปกู้เงินเขามาเพื่อจะซื้อรถให้ลูก เพราะว่าพ่ออยากให้เหล็กหุ้มเนื้อของลูก ลูกก็ต้องมีหน้าที่ตามนี้แล้วกัน ตามที่พ่อมอบหมาย ห้ามบกพร่อง ถ้าบกพร่องเราจะมีกติการะหว่างกัน ถ้าทำผิดกฎหมาย ทำอะไรไม่ดี ผิดกติกา รถก็ต้องยึดมาจอดไว้ ก็มีความสุขดี

เงื้อมเงารัฐประหาร

ช่วงนั้นหลัง 23 ก.พ. 2534 ยึดอำนาจรัฐประหาร หลังรัฐประหารเขาก็เรียกผู้นำแรงงาน ตอนนั้นมีสี่สภา ก็มีบางพวกแตกไป ในมุมมองผม ผมคิดว่าอาจจะทุกสังคม ทุกชนชั้นจะมีพวกที่เห็นผิดเป็นชอบ คืออยากจะได้ตำแหน่ง ได้นั่น ได้นี่ ไปเอาใจเขา ไปมอบดอกไม้ให้คณะปฏิวัติรัฐประหาร แต่ทนง โพธิ์อ่าน ไม่เคยเลยที่จะยืนเคียงข้างเผด็จการ โจรที่มาปล้นอำนาจจากประชาชนไป ขณะนั้นเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง และมีแต่งตั้งบางส่วน ก็คือประชาธิปไตยครึ่งใบที่คนเขาเรียกกัน พ่อผมก็พยายามจะผลักดันให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ

หลังจากที่เขาเรียกผู้นำแรงงานเข้าพบ และมีบางส่วนไปมอบกระเช้าดอกไม้ แต่พ่อผมไม่ได้ไป แล้วมีวันหนึ่งเขาไปที่สนามเสือป่า อันนี้เป็นคำที่พี่ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์เขาเล่าให้ผมฟัง เขาบอก โห! พี่ทนงพูดแรง ทุกคนตกใจ เขาบอกว่าคุณทนง โพธิ์อ่าน ลุกขึ้นยืนพูด ผมจำได้ประโยคหนึ่งว่า ประเทศไทยประชาธิปไตยกำลังจะเต็มใบ เสือกมีควายมาขวาง แล้วหลังจากนั้นก็จะมีการทะเลาะกันในหน้าสื่อหนังสือพิมพ์ ทุกฉบับออกหมด หมูไม่กลัวปังตอ หมูไม่กลัวน้ำร้อน พ่อผมก็ตอบโต้ไป ทางฝ่ายรัฐบาลทหารเขาก็ด่าพ่อผมว่า ทนงตัวเป็นไทยแต่ใจเป็นทาส มีอะไรก็จะฟ้องแต่ต่างชาติ พ่อผมก็โต้กลับไปว่าคุณคงจะไม่ทราบถึงระบบสิทธิมนุษยชน เขามีนานาประเทศช่วยเหลือกันด้านเพื่อนมนุษย์ ประมาณนี้

ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมาค่อนข้างที่จะยาวนาน แล้วพ่อผมก็ขู่ว่า ไม่เป็นไร เราจะมีนัดกัน เคลื่อนไหวใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เขาก็เตรียมการเคลื่อนไหวใหญ่ที่จะขับไล่รัฐบาล ฐานเสียงของคุณพ่อขณะนั้นประมาณสามแสนคน ซึ่งตอนนั้นกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอยู่ในขาของพ่อ พอเขารู้ เขาเลยออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 (และแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์) ยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ให้มีการนัดหยุดงานหรือเคลื่อนไหว เขาก็ใช้เป็นสมาคมแทนมายาวนาน ซึ่งพ่อผมก็รู้สึกว่าฐานของเขาโดนตัดออกไป ถ้าเปรียบระบบสหภาพแรงงานในมุมมองผม สหภาพแรงงานเอกชนก็คือแขนของพ่อ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจคือขาของพ่อ กฎหมายต่างๆ ที่เขาเรียกร้องมาได้เพราะว่าเขามีแรงงานรัฐวิสาหกิจเป็นฐานสำคัญ ไม่ว่า ขสมก. ก็ดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฝ่ายภูมิภาค ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาแรงงานที่พ่อเป็นประธานอยู่ มันก็ง่ายกับการต่อรอง พอมีประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 นี้แล้ว พ่อผมก็ทะเลาะกับ รสช. มาโดยตลอด แต่เคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะเอกชนกำลังไม่พอ กำลังที่จะเคลื่อนไหวขย่มรัฐบาลได้คือแรงงานรัฐวิสาหกิจ

หลังจากนั้น เขาก็ประกาศออกมาว่า ไม่เป็นไร ถ้าประเทศไทยยังอยู่ในสังคมอันคลุมเครืออย่างนี้ โดยที่มีพวกปล้นประชาธิปไตยมาออกอะไรแบบนี้ เขาจะไปแฉในเวทีนานาชาติ ในการประชุม ILO (องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ) ที่เจนีวา ให้นานาประเทศที่ช่วยเหลือประเทศไทย ตัดสิทธิพิเศษด้านการค้า ตัด GSP (สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) ตัดความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย เพื่อจะเป็นการบีบอีกทาง ให้รัฐบาลชุดนี้ไปเอง อันนี้คือมุมมองของพ่อผมนะ

พอขู่เขาไปอย่างนี้ เขาก็เริ่มส่งคนมาตาม เขาก็รู้ว่า ประมาณวันที่ 20 มิ.ย. จะมีคิวของพ่อผมต้องไปประชุม ILO ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาก็ประกาศออกมาว่าทนง โพธิ์อ่าน ห้ามเดินทางออกนอกระเทศ โดยกระทรวงมหาดไทย

ทนง โพธิ์อ่าน

พอพ่อผมไม่ได้ไปเขาก็น้ำตาซึมๆ เลย น้ำตาเขาไหล เขารู้ เขาบอกผมมาก่อนว่า ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร สุดท้ายประชาชนต้องเสียเลือดเสียเนื้อ เขาบอกเดี๋ยวต้องมีแน่นอน เสียเลือดเสียเนื้อ เขาก็ต้องเตรียมการนั่งเรือไปต่ออะไรสักอย่าง ผมจำได้ว่าตอนนั้นทางสหรัฐอเมริกาไม่ยอม เขาส่งตั๋วเครื่องบินมาใหม่ บอกคนอื่นที่รัฐบาลไทยส่งไปเขาไม่เอา ก็ส่งตั๋วเครื่องบินมาให้ในนามทนง โพธิ์อ่าน แล้วติดต่อมาว่าจะไปช่องทางไหนให้บอกเลย เขาจะส่งคนมาอำนวยความสะดวกให้ เพื่อจะได้ให้เข้าไปเวทีประชุม แล้วให้คุณทนงอยู่ที่โน่นไปก่อนเลย ไม่ต้องกลับมา เขายินดีรับรองดูแลทุกอย่าง

ในขณะเดียวกันช่วงนั้นพ่อเขาก็ถูกสะกดรอยตาม ตั้งแต่ประมาณเดือน เม.ย. - พ.ค. ระหว่างช่วงที่ทะเลาะกับ รสช. อยู่นั้น มีคนติดต่อเสนอเงินให้ถึง 30 ล้านบาท แล้วก็บอกว่าคุณทนงไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ เงียบๆ สมัยก่อน 30 ล้านบาทเยอะนะฮะ รถเบนซ์คันละ 1-2 ล้านบาท ซึ่งพ่อผมก็บอกว่า เงินเขาก็อยากได้นะ แต่เขาทำไม่ได้ เขาหักหลังพี่น้องประชาชน เขาหักหลังผู้ใช้แรงงานไม่ได้ เขาก็ยินดีที่จะต้องทำต่อไป ซึ่งสิ่งที่เขาเดินไปข้างหน้า เขาก็รู้อยู่แล้วว่าเดินไปสู่ความตาย เดินไปสู่ความหายนะ

เรากับแม่เคยคุยกับพ่อ ร้องไห้น้ำตาไหลเลยนะว่าทำไมพ่อต้องทำอย่างนี้... ทำไมพ่อต้องทำอย่างนี้ เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องทำอย่างนี้ คนบ้าอะไรวะ รู้ว่าเขาจะฆ่าตัวเองยังเดินเข้าไปหา รู้ว่าข้างหน้าเดินไปตายยังเดินเข้าไปอีก แต่ตอนหลังเราก็เข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำเขาต้องการทำเพื่อความถูกต้องจริงๆ ถ้าพ่อผมเกิดช็อกตายแบบคนธรรมดาทั่วไปคนก็คงลืมไปหมดแล้ว แต่วันนี้เกือบ 30 ปีแล้ว คนก็ยังไม่ลืม มันกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเมืองไทย

คนที่หายไป

ประมาณสองเดือนก่อนเขาหาย บ้านผมอยู่ประชาสงเคราะห์ 24 ดินแดง จะมีมอเตอร์ไซค์มาดูหน้าบ้าน แล้วก็วิ่งไปวิ่งมาดูตลอด สมัยก่อนจะมีรถจอดอยู่บ้านสามคัน เขาก็จะไม่รู้หรอกว่าเอารถคันไหนออก แต่รถทุกคันพอออกเขาก็จะไปตามดู เพราะว่ารถติดฟิล์ม บางทีมันมองไม่ค่อยชัด เขาก็จะคอยตามดูว่าใช่ไหม ถ้าเป็นผมขับออกมาเขาก็จะมาเฝ้ารอใหม่

หน้าปากซอยบ้านผมก็จะมีแยกซ้ายกับแยกขวา จะมีรถจอดดักอีกสองคัน รถเก๋ง คนแถวนั้นเขามาบอก เราก็ไม่เชื่อ ก็เอ๊ะ! มันมาเฝ้าทำไมวะ เด็กนะ เราก็ไม่รู้เรื่อง เราขับรถไปส่งน้อง เจอบางทียังบีบแตรแซวเลย เราไม่คิด เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า สังคมไทยมันเลวร้ายถึงขนาดต้องอุ้มฆ่ากันขนาดนั้นเลยเหรอ เราไม่รู้ไง เราเด็ก

จนมาวันหนึ่งผมมาขับรถให้พ่อ ประกอบกับผมได้ประสบการณ์จากการขับรถซิ่งสมัยก่อน ขับรถให้พ่อแล้วเลี้ยวซ้ายออกไปแค่ 2 กม. ตั้งแต่มีรถเก๋งมาจอดรอ ผมเพิ่งรู้วันนั้น ผมบอกพ่อว่ามีรถตามสองคันนะ พ่อบอก เฮ้ย! ไม่จริงหรอก ผมบอกว่าจริงพ่อ มีรถตามมาสองคัน มีวอทั้งสองคันด้วย มันคงสื่อสารอะไรกันอยู่ มันก็ตามเรามา ไปทางอนุสาวรีย์แล้วเข้ารัฐสภา ตอนแรกพ่อผมจะต้องไปเยี่ยมคนงานที่บางปะแก้ว ก็จะมีนมตราหมีเป็นกระป๋องเหล็กและอะไรอีกนิดหน่อยเพื่อจะไปเยี่ยมคนงาน ผมก็บอกให้พ่อเข้ารัฐสภา เพราะสมัยก่อนพ่อเขาเป็น ส.ว. ก่อนการปฏิวัติ เขาก็เข้าสภา เสร็จแล้วพอจะกลับออกมาข้างนอกมันก็ดักอยู่สองประตู พ่อเขาเลยบอกเพื่อนๆ ว่ามีรถตามนะ สงสัยมันจะถล่มแล้ว

พ่อผมก็ตกใจกลัว ไม่รู้ว่ากลัวจะถล่มโดนเขา หรือถล่มโดนลูกด้วย ผมก็เลยบอกพ่อว่าไม่ต้องกลัวหรอก พ่อไม่ต้องกลัวเลย พ่อนั่งเฉยๆ เอ๋อยู่ 1.5 ชาร์จเจอร์ (ตบอกตนเอง) เราก็ขับรถพ่อ วอลโว่คันเดิมนั่นแหละ เขาก็ดักออกมาอีกทาง สมัยก่อนพ่อเขาใช้มือถือแล้ว ผมก็เลยบอกพ่อให้โทรไปสหภาพเลย ให้คนงานมาปิดถนน เรียกมาสักร้อยคน ปิดถนนตามที่เราบอก มายืนรอกระจายๆ แล้วพอรถเราเข้าไปตรงกลางแล้วก็ดักปิดหัวท้าย แล้วก็ลงไปรีดมัน ถามว่ามันทำอะไรอยู่ สมัยก่อนบ้านเมืองมันค่อนข้างเถื่อนนิดนึง

ผมก็ขับรถบนทางด่วน ขึ้นทางด่วนขับ 120 กม./ชม. มันก็ตามมาติดเลยนะ สองคันประกบซ้าย-ขวาเลย แสดงให้เห็นชัดเลย เร่ง 140 กม./ชม. มันก็ประกบต่อ ผมก็เร่ง 160 กม./ชม. ก็ประกบต่อ พ่อผมก็ตกใจ บอกว่า เอ๋! เบาๆๆๆ ผมบอกไม่ต้องกลัวเลย ผมชัวร์ รุ่นพี่สอนมาดี พอลงทางด่วนก็เข้าล็อกตามที่เราดักไว้ เราก็จับปลาได้สองตัว รถมีสองคัน คันละสี่คน ผมจำได้แม่นเลย รถคันหนึ่งเป็นเปอร์โยต์ 305 สีขาว หมายเลขทะเบียนผมเคยให้อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น อีกคันหนึ่งเป็นรถโตโยต้า โคโรน่า ปี 1987 สีเทา ก็มีหัวเกรียนนั่งอยู่สองคน

ผมเดินไปถามรถคันหน้า เพราะวิธีการคือเราต้องดักคันหน้าก่อน ถ้ามีอะไรเราก็ดักได้ทั้งสองคัน ทั้งคันหน้าและคันหลัง ผมก็เดินไปถามว่ามึงตามมาทำไมวะ เขาบอกว่ามาหาเพื่อน ผู้ชายเป็นพวกหัวเกรียนทั้งหมดเลย ผมก็เลยบอกว่าเพื่อนพ่อมึงดิ ไอ้เหี้ย มึงตามมาตั้งแต่ห้วยขวาง ผมชี้หน้ามัน แต่ผมเดินไปแบบมีลูกน้องพ่ออีก 2-3 คน แต่ก่อนลูกน้องที่ติดตามพ่อผมอยู่คนหนึ่งเขาจะมีฉายาว่า ‘ฉลามลาย’ อีกคนชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว พวกนี้เขาจะมาจากกรรมกรแบกข้าวสาร เขาจะมีวิธีฆ่าคนด้วยมือเปล่า อัดคนตายแบบไม่ต้องใช้อาวุธเลย ไม่ธรรมดา ผมก็เดินไปจัดการ เขาก็บอกมาหาเพื่อนครับพี่ ผมก็ตอบว่ากูไม่ใช่พี่มึง กูน้องมึงอีก เขาก็รีบขับหนีออกไป ลูกน้องพ่อผมอาจจะไม่ทันเกม แต่ในมือผมถือถุงกระป๋องนมอยู่นะ

ผมเลยเดินไปดักอีกคัน อีกคันก็ตกใจ เขาคงวอคุยกันให้หนี ผมก็จะเหวี่ยงกระป๋องนมใส่รถ แต่พ่อผมตะโกนขึ้นมาว่า เอ๋ อย่า! ผมเสียดายมากเลย ถ้าปล่อยมือไปวันนั้นนะ ตู้ม! กระป๋องนมก็ไปโดนกระจกหน้ารถแตก เพล้ง! เรื่องก็จะต้องไปแจ้งความบันทึกประจำวันที่ สน. ก็จะต้องได้รู้รายชื่อพวกมัน ผมเสียดายมากเลย เพียงเพราะว่าพ่อผมเสียดายสตางค์ค่ากระจกสามพันกว่าบาท จริงๆ แล้วน่าทำ เพราะว่ามันจะขับมาชนผมไง ผมไม่กลัวหรอก รถมันวิ่งมาผมก็กระโดดปีนข้ามบนหลังคาไปได้เลย เรารู้เทคนิคเพราะเราแสบมาก่อน

วันนั้นผมเสียใจจริงๆ นะ เสียใจที่ไม่ได้ทำ

หลังจากนั้นไม่กี่วัน เขาก็ตามพ่อผมมาเรื่อยๆ จนพ่อผมรู้ตัวแล้วล่ะว่าเขาจะถล่ม ซึ่งจริงๆ ในรถพ่อผมก็มีอาวุธเหมือนกัน เพราะพ่อผมคิดว่าจะต้องโดนถล่มแบบแคล้ว ธนิกุล เพราะสมัยก่อนแคล้วก็โดนฆ่า ทีนี้ทางพ่อผมก็รู้จักกับคุณแคล้วดีพอสมควร เนื่องจากแคล้วจะจัดแข่งมวยให้กับพ่อผม เพื่อเอาเงินมาปรับปรุงสภาแรงงานขณะนั้น แล้วเขาก็สนิทสนมกับแคล้ว

มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาเคยเล่าให้พี่อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม อดีต ส.ส.ลพบุรี เขาเป็นคู่กัน สมัยก่อนเขาเป็นแกนนำเกษตรกร คุณพ่อเป็นแกนนำแรงงาน ว่ามีครั้งหนึ่งเขาไปประชุมเรื่องโรงงานน้ำตาลที่ชลบุรี วันนั้นพ่อผมก็คิดว่าเขาจะตายแล้วนะ เขาเล่าให้ผมฟังว่าวันนั้นพ่อผมคิดว่ารถจะโดนยิงถล่มระหว่างเส้นทางชลบุรีกลับกรุงเทพฯ พ่อผมก็เลยเข้าไปหากำนันเป๊าะ เขาก็ส่งรถคุ้มกันให้มาถึงกรุงเทพฯ ครั้งนั้นก็รอดไป

แล้วก็มาถึงวันที่ 19 มิ.ย. เจอรถจอดอยู่หน้าสหภาพแรงงาน คนที่สหภาพโทรมาบอกตอน 7 โมงเช้า โทรเข้ามาที่บ้านว่าพี่โหน่งกลับบ้านหรือเปล่า ทุกคนก็ตกใจ วันนั้นผมเอะใจอยู่แล้ว เพราะพ่อผมกลับบ้านดึกแค่ไหนก็ไม่เคยเกินเที่ยงคืนหนึ่งนาที ทุกวันผมจะนั่งรออยู่กลางซอยกับแก๊งเพื่อนๆ เพราะผมถูกห้ามกลับบ้านดึก เราก็นั่งรอ ทุกครั้งเวลาพ่อมาเราจะขึ้นรถกลับบ้านกับพ่อ แต่วันนั้นวันเดียว เวลาเที่ยงคืนแล้วพ่อยังไม่มาอีก เราเลยกลับบ้านนอน เช้าขึ้นมาก็ได้ยินโทรศัพท์เข้ามาที่บ้าน ทุกคนก็ตกใจ แต่ผมไม่ได้พูดเลยสักคำ ทุกคนก็งงว่าผมไม่พูดอะไรเลย

ความเศร้าที่ยิ่งกว่าน้ำตาไหล

สมัยก่อนนักข่าวจะชอบพูดว่า คุณทนงหายจริงหรือเปล่า ลูกไม่เคยร้องไห้สักแอะเลย ผมบอกว่าทำไมผมต้องร้องไห้ให้ใครเห็น ที่เราไม่เคยร้องไห้ให้ใครเห็นเพราะเรารู้สึกว่ามันหนักยิ่งกว่าน้ำตาไหลอีกน่ะ เราเก็บอยู่ข้างในแล้วมันแทบจะระเบิด แล้วเราก็กลายเป็นเด็กที่เสียอนาคตเลย แต่ถ้าเพื่อนสนิทผมจะรู้ หลังจากนั้นรถผมก็ติดฟิล์มดำทั้งคัน ผมจะร้องไห้ทุกวันที่ฝนตก ร้องไห้...

ถึงตรงนี้ อดิศรขอพักการสัมภาษณ์พร้อมเดินออกไปซับน้ำตา

จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้ผมไม่เคยพูด ผมไม่อยากพูด ถ้าเกิดนักข่าวจำได้ จะมีแม่ผมพูดคนเดียวตลอด ผมจะมาพูดอีกทีประมาณ 10 ปีให้หลัง เพราะว่าผมผูกพันกับพ่อมาก ผมพูดไม่ได้ จริงๆ ก็เกือบ 30 ปีแล้ว เรายังรู้สึกเลย

ที่ผมไม่ค่อยได้พูดเพราะผมอัดอั้นตันใจมากเลย สมัยก่อนผมมีรถซิ่งคันเดียวที่ผมรักมากที่สุด ผมยังเคยคิดจะขายรถซิ่ง ผมจำแม่นเลย พวกมันมาเลี้ยงฉลองที่โรงแรมดิเอมเมอรัล พวกที่ปล้นประชาชนมา ผมยังเคยอยากจะขายรถผม ผมจะเอากระเช้าดอกไม้ใส่ระเบิดรีโมทไปมอบให้มัน แล้วระเบิดให้ตายห่าทั้งโรงแรมไปเลย แต่คือเราไม่รู้เรื่องระบบระเบิดเลย ไม่รู้เรื่องระบบแรงดัน ไม่รู้ว่ามันจะไปหาซื้อได้ที่ไหนวะ เรารู้แค่ว่าเขามีการนัดกันที่ไหน คือเราคิดว่ามันเหมาะสมที่สุดแล้ว ทุกคนมาร่วมแสดงความยินดีกัน มันคงมาครบทุกคนไง

ผมคิดแบบนี้เลยนะ เราเก็บกดขนาดนั้น เก็บทุกอย่าง กดดันทุกอย่าง ไม่อยากพูดเลย อย่ามาถาม คุยได้ทุกเรื่อง แต่อย่าคุยเรื่องพ่อเรา

เป็นสิบปีกว่าเรื่องมันจะซาลง สมัยก่อนผมคิดอย่างเดียวว่าผมจะแก้แค้นยังไง เวลา เวลาเท่านั้นที่มันจะรักษาทุกอย่าง รักษาแผลใจและแผลกาย แต่ว่าก็ยังเศร้า

คนที่ยังอยู่

หลังจากนั้นชีวิตผมก็เปลี่ยน จากครอบครัวที่มีทุกอย่าง มีความอบอุ่น มีสตางค์ สมัยก่อนพ่อเป็นวุฒิสมาชิก เขาก็มีรายได้ประมาณสามหมื่นกว่ามั้ง ค่านู่นนี่เบ็ดเสร็จตกห้าหมื่น เขาเป็นที่ปรึกษาหลายๆ ที่ รายได้น่าจะถึงแสนขณะนั้น ก็ไม่ได้น้อย เราก็มีครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างจะใช้ได้ ต้นตระกูลทางคุณพ่อผมก็มาจากลูกทูต บ้านเก่าผมอยู่สาทรใต้ แต่ว่าบ้านไม่เหลือ เพราะว่าพ่อผมขายเอามาเล่นแรงงานหมด บ้านเก่าไม้สักแผ่นละเมตร ของเก่าๆ เต็มเลย ผมเลยไม่ค่อยชอบเก็บของเก่า เพราะสมัยก่อนบ้านที่พ่ออยู่ที่สาทรมีแต่ของเก่าๆ

หลังจากพ่อผมหายไป แม่ผมเป็นข้าราชการซี 5 อยู่โรงพยาบาลราชวิถี มีเงินเดือน 8,000 บาท แล้วคิดดูว่าครอบครัวอยู่ยังไง หนี้ที่พ่อทิ้งไว้ให้ ค่าผ่อนรถอีกสองคัน หนี้บ้านก็เป็นหนี้สหกรณ์ ค่าเทอมลูก แต่ไม่กี่สตางค์เพราะเรียนโรงเรียนรัฐบาล ลูกสามคนจะเลี้ยงยังไง จะกินยังไง ชีวิตก็พัง

ผมก็เกเรไม่เรียนหนังสือ เพื่อจะหลบให้น้องได้เรียนหนังสือ น้องคนกลางก็คิดมากหลายเรื่อง ก็มีปัญหาเรื่องเนื้องอกในสมอง แม่ก็เครียด น้องต้องผ่าตัดเปิดกะโหลก สมัยก่อนเป็นตายเท่ากัน แต่เขาก็มีระบบแกมม่า ทำแกมม่าก็ต้องใช้เงินสี่แสน ครั้งละสี่แสน สองครั้งก็แปดแสน เราก็ไม่มีปัญญาหรอกที่จะไปแกมม่า คนที่เข้ามาช่วยคือ อ.ชาตรี ดวงเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพขณะนั้น ผมจำไปจนวันตายเลย สมัยก่อนเราจะกินยังไม่มีเลยนะ ผมถามว่าทำไมอาจารย์ถึงมาช่วยครอบครัวผม อาจารย์เขาบอกว่า คุณทนงช่วยแรงงาน ช่วยประเทศชาติมาเยอะแยะมากมาย ทำไมโรงพยาบาลกรุงเทพจะช่วยครอบครัวคุณทนงไม่ได้ ผมกราบตักอาจารย์แล้วบอกว่า ถ้าวันหนึ่งผมรวยขึ้นมา ผมจะมาตอบแทนคืนให้กับโรงพยาบาลกรุงเทพ

น้องคนเล็กก็เรียนโดยทุนจาก อ.สายหยุด เจ้าของโรงพยาบาลเวชธานี เป็นอาจารย์ของคุณแม่ผม น้องคนเล็กเรียนหนังสือเก่งมาก ปัจจุบันเป็นข้าราชการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องบังคับให้ทำกระทรวงแรงงานเพราะว่าพ่อเขาบอกไว้ เขาสั่งไว้ ขณะวันที่พ่อผมโดนอุ้ม น้องผม 5 ขวบเองนะ แล้วเราบอกเขาว่า ยังไงก็ต้องอยู่กระทรวงแรงงาน เพราะเป็นกระทรวงของพ่อ เป็นกระทรวงที่พ่อรัก ถ้าพี่ไม่ได้อยู่ น้องคนกลางไม่ได้อยู่ น้องคนเล็กก็เป็นข้าราชการไปก่อน เผื่อวันหน้าไปเติบโตแล้วไปทำตามความฝันของพ่อ

ทำร้ายหนึ่งคนอาจกระทบทั้งสังคม

ตัวผมก็เข้าขั้นเกเรเต็มสูบ หนังสือไม่ไปเรียน สรุปก็คือไม่มีเงิน มีรถซิ่งคันเดียว รถพ่อก็ต้องขายเอาเงินบางส่วนมาใช้หนี้ มาปิดหนี้บางส่วน ก็เหลืออีกคันหนึ่ง แม่บอกว่าจะต้องขาย ผมก็บอกว่า ไม่ เอ๋ให้ขายไม่ได้ รถคันนี้คือชีวิตของเอ๋ ถ้าแม่ขายเอ๋ไม่อยากอยู่แล้ว รถคันนั้นคือคันที่พ่อซื้อให้ ก็เลยเก็บคันนั้นไว้

แล้วผมก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมีอนาคตนะ หลังจากวันนั้นผมไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ต่อเพื่ออะไร พังหมดแล้ว แต่โชคดีที่ชีวิตผมมียายาทวดอยู่ มียายอยู่ มีแม่อยู่ แล้วเราเป็นลูกชายคนเดียว ถ้าเราไม่อยู่แล้วใครจะมาอยู่ดูแลเขา ชีวิตตอนนั้นมีแต่ความมืดมน มืดจริงๆ ชีวิตผมตกนรกมา 12 ปี ตั้งแต่ผมอายุ 17-18 ถึงอายุ 30 ปี มันนานมากนะฮะ ผมเคยถามหมอดูเพราะผมรู้สึกว่าอยู่ไม่ไหวแล้ว มันนานมากนะ เป็นสิบๆ ปี ผมนับวันนับคืน จนถึงอายุ 30 ปี ชีวิตผมก็เปลี่ยน

ก่อนจุดเปลี่ยน สมัยก่อนผมนรก คือคนห้วยขวาง-ดินแดงเขาจะเรียกกลุ่มแก๊งที่ผมอยู่ว่าเด็กแก๊งนรกแตก หมายถึงนรกไม่รับ ออกมาจากนรก สร้างความเดือดร้อนให้คนแถวนั้น พื้นฐานจิตใจเราอาจจะเป็นคนดี แต่ที่เราทำแบบนั้นเพราะเราเป็นเด็กมีปมด้อย อาชีพคือเที่ยว เที่ยวอย่างเดียว แต่เราไม่มีสตางค์นะ แต่ผมโชคดีมีเพื่อนคนรวยๆ เยอะมาก มีเงินใช้เยอะมาก บางคนได้เงินใช้วันละหมื่น ต้องใช้เที่ยวให้หมดทุกวัน ส่วนมากไม่มีพ่อ  ก็ตั้งแก๊งเป็นแก๊งพ่อตายมารวมตัวกัน ไปเที่ยวด้วยกัน คนมีสตางค์เขาก็ออกตังค์ เราไม่มีสตางค์ แต่ก็ไปด้วยเพราะเราเป็นลูกคนดัง ไปอยู่กับกลุ่มพวกเขา จนมีเพื่อนคนหนึ่งพูดว่า เฮ้ย! เอ๋ ถ้ามึงจะอยู่คุมรัชดาก็ไม่มีใครว่ามึงนะเว้ย เราก็เป็นจิ๊กโก๋แถวๆ นั้น ไม่มีใครกล้าวุ่นวายกับเรา แต่เราไล่เอะอะระรานคนอื่น สมัยก่อนใครขับรถมาเปรี้ยวๆ แถวรัชดาพวกเราก็จะออกไปหาเรื่อง ขับรถตามไปประกบหาเรื่อง แสบ

ผมเกเรมาจนถึงวันหนึ่ง อายุ 25 ปี แม่ผมไปคุยกับพวกลูกน้องเก่าของพ่อ เขาก็เริ่มเติบโตในวงการแรงงานแล้ว เขาให้ผมไปสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาสมทบ เขาบอกลองดูพี่ เดี๋ยวเขาจะช่วยจัดการให้ เพราะงานตรงนี้มีจรรยาบรรณที่เข้มข้นในการดูแลตนเอง เราก็เลยไปทำดู ก็ไปสอบคัดเลือก ผ่านการคัดเลือกในระบบโควต้า ไตรภาคี แล้วก็ได้เป็น ชีวิตเราก็เริ่มเปลี่ยนขึ้นมา ไม่ได้เปลี่ยนในฐานะที่มีสตางค์ที่ดีขึ้น คือตัวเองผมไม่รัก แต่องค์กรหรือหน่วยงานของผมจะเสียหายไม่ได้ เราไปทำตรงนั้นก็มีกฎกติกาในการดำรงตน ห้ามไปกินเหล้า ห้ามเที่ยว ห้ามสังสรรค์ มันก็เลยค่อยๆ ปลดไปทีละอย่าง มันก็เริ่มเปลี่ยนตอนเข้ามาทำงาน

ขณะเดียวกันผมก็แอบไปเป็นเลขาประจำคณะกรรมาธิการการแรงงาน ชุด นพ.เปรมศักดิ์ เพียรยุระ ก็ไปเรียนรู้ยุทธศาสตร์เยอะแยะมากมาย เวลาเราก็ไม่มีแล้ว เพราะถ้ามีคดีที่ศาลก็ต้องไปศาล พอไม่มีคดีที่ศาลก็ต้องเข้าสภา ไม่มีงานที่สภาก็ต้องลงพื้นที่เยี่ยมแรงงาน ผมไม่มีเวลาเลย ผมต้องเดินทางทั่วประเทศ ก็เปลี่ยน

สิ่งที่ยังไม่สูญหาย

ผมมีพระอยู่องค์หนึ่ง รถทั้งคันตอนคุณพ่อผมโดนอุ้มหาย ปืน กระเป๋า โทรศัพท์ ไม่มีอะไรเหลือในรถเลย ไม่มีอะไรสักอย่างเหลือในรถเลย พ่อผมใส่พระสองเส้นประมาณสิบองค์ ไม่มีอะไรเหลือเลย แต่มีพระอยู่องค์หนึ่ง ผมห้อยเป็นตัวแทนของพ่อผมโดยตลอด ผมถือว่าผมจะทำอะไรผมต้องนึกถึงพ่อผม

พระเครื่ององค์เดียวที่หล่นอยู่ในรถ หลังทนง โพธิ์อ่าน ถูกอุ้มหาย

เขาปลูกฝังครอบครัวมาตลอดว่า อย่าลืมนะ อย่าลืมคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม ถ้าเรามีโอกาสดีเราต้องช่วยเขา ก็เหมือนกันที่ผมกลัว ตัวผมเองก็ทำธุรกิจนะ ผมกลัวที่สุดว่าจิตใจของคนมันอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ หน้าห้องผมต้องมีรูปพ่อรูปใหญ่ๆ ไว้ เพื่อให้ทุกวันผมเปิดประตูออกมาผมต้องเจอหน้าพ่อ ก่อนกลับบ้านมาเข้านอนผมต้องเจอหน้าพ่อ เพราะพ่อผมจะเตือนเสมอว่า อย่าลืมตัวตน อย่าลืมคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม พอเราผ่านไปอีกชั้นหนึ่ง กลายเป็นกลุ่มนักธุรกิจหรือกลุ่มทุน เราอาจจะรู้สึกว่าจิตใจเราจะเปลี่ยนแปลง เราก็เลือกที่จะไม่เปลี่ยน แต่ว่าเราต้องทำอย่างที่เราต้องการด้วย แล้วก็มาช่วยเหลือคนด้อยโอกาสทางสังคมด้วย

สิ่งที่พ่อผมสั่งไว้เป็นตัวแทนของผมก็คือให้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด โดยการช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม ให้เขามีโอกาสที่ดีขึ้น ให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ถ้าถามว่าทำไมผมไม่ได้ไปอยู่กับสายแรงงานอย่างเต็มที่ ถ้าเกิดว่าไม่มีพรรคอนาคตใหม่ก่อเกิดขึ้นมา แล้วก็ให้เกียรติแก่ตัวแทนแต่ละสาขาอาชีพเข้าไปเป็นผู้แทนรษฎร ผมก็คงจะดูแลเรื่องแรงงานแทนพ่อผมต่อไป แต่วันนี้มีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว แม้กระทั่งปัจจุบันจะโดนยุบไปแล้ว ก็มีตัวแทนของแรงงานจริงๆ หลายท่านเหมือนกัน อย่างคุณวรรณวิภา ไม้สน คุณสุเทพ อู่อ้น แล้วก็มีหลายๆ คนที่เข้ามาดูแลวงการแรงงาน ผมก็สบายใจ เพราะเขารู้ความต้องการของแรงงานจริงๆ สิ่งที่จะต้องทำ สิ่งที่ต้องการคืออะไร เราก็ดีใจแล้ว อาจจะไม่ได้เหมือนมุมมองของพ่อผมทั้ง 100% แต่อย่างน้อยๆ คือแรงงานมีตัวแทนเป็น ส.ส. แล้ว อันนี้คือความฝันของพ่อผมอีกอย่างนะครับ

ภาพวาดขนาดใหญ่ของทนงที่หน้าห้องนอนอดิศร

ถ้าถามว่าเสียใจไหมที่พ่อตัดสินใจเดินหน้าต่อในสิ่งที่เขาคิด 7 ปีแรก ผมด่าพ่อผมทุกวันเลย แต่ผมด่าต่อรูป 7 ปีแรก ผมเสียใจมาก หลังจากนั้นผมไม่เสียใจอีกเลย คือผมว่าพ่อผมทุกวันนะ พ่ออยากให้เป็นอย่างนี้ใช่ไหม อยากให้ครอบครอบครัวฉิบหายแบบนี้ใช่ไหม เป็นไงพ่อ สะใจไหม ครอบครัวฉิบหายขนาดนี้ ผมว่ากับรูปพ่อผมทุกวัน ทุกๆ วัน แต่พอเวลาผ่านไป ชีวิตได้เกิดการเรียนรู้ ก็เลิกด่า แต่ตอนที่ด่าชีวิตมันมีแต่ปัญหา

เรามาเข้าใจหลังผ่านไปแล้ว 7-10 ปี ว่าทำไมพ่อเราหายไปนานแล้ว คนยังต้องมาจัดงาน ทำบุญรำลึกให้ ต้องมามีกิจกรรมทุกๆ วันที่ 19 มิ.ย. มีคนมาพูดถึง มันก็ย้ำว่าพ่อไม่ใช่ของเรานะ แต่พ่อเป็นของคนส่วนรวม ก็ยังดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net